Whoscall แอปฯ น่าโหลดยุคแก๊งคอลเซ็นเตอร์ป่วนเมือง

Whoscall แอปฯ น่าโหลดยุคแก๊งคอลเซ็นเตอร์ป่วนเมือง

Whoscall แอปฯ น่าโหลดยุคแก๊งคอลเซ็นเตอร์ป่วนเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้คนในสังคมกำลังตื่นรู้กับภัยหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่พยายามโทรหาเหยื่อแล้วเล่นละครโรงใหญ่ให้ดูน่าเชื่อถือ โดยการขยันหามุกใหม่ ๆ มาหลอกให้คนเชื่อ แม้ข่าวทั้งจากสื่อหลักและสื่อออนไลน์จะออกโรงเตือนกันคึกโครม

แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อพวกมันอยู่ดี มุกไหนที่คนเริ่มจับไต๋ได้แล้วจนนำมาเตือนภัยต่อ ๆ กัน กลโกงของแก๊งนี้ก็จะมีการปรับเปลี่ยนพลิกแพลงจากเดิมเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนฉากการดำเนินเรื่อง แต่ตัวบทยังใกล้เคียงเดิม ซึ่งมันก็ยังหลอกคนได้ไม่น้อยเช่นเคย

อย่างไรก็ดี การหลอกลวงทางโทรศัพท์นั้นมีมานานหลายปีแล้ว สมัยก่อนตอนที่โทรศัพท์มือถือของทุกคนยังเป็นโทรศัพท์ 2G ธรรมดา เทคโนโลยียังไม่เจริญเท่าทุกวันนี้ เมื่อมีข่าวเตือนภัยเรื่องแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำให้หลาย ๆ คนระมัดระวังตัวกันมากขึ้น โดยหลีกเลี่ยงที่จะรับเบอร์แปลกที่โทรเข้ามา แต่เบอร์แปลก ๆ ที่ไม่ได้บันทึกชื่อผู้ติดต่อก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแก๊งหลอกลวงไปเสียหมด อาจเป็นญาติหรือคนรู้จักที่แค่ใช้เบอร์ใหม่โทรหา หรือบางทีอาจเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่ติดต่อมา การไม่รับเบอร์แปลกเพราะกลัวสายหลอกลวงจึงทำให้โอกาสตรงนี้เสียไป

ในเมื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังมีวิวัฒนาการ คนในสังคมก็ควรต้องวิวัฒนาการให้ทันเช่นกัน บนโลกที่เทคโนโลยีมาได้ไกลถึงขนาดนี้ ก็น่าจะมีตัวช่วยเด็ด ๆ ไว้รับมือพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างชาญฉลาดกว่าเมื่อก่อน Tonkit360 ขอนำเสนอแอปพลิเคชันตัวหนึ่งที่กล้าเรียกว่าแอปฯ สามัญประจำโทรศัพท์มือถือ เพื่อเอาไว้กรองพวกเบอร์แปลก ๆ ที่โทรเข้ามา ว่าเราควรจะกดรับหรือไม่รับดี

แอปฯ Whoscall ที่ช่วยระบุได้ว่า “ใครโทรมา”

Whoscall ไม่ใช่แอปฯ น้องใหม่ เพราะแอปฯ นี้เปิดตัวครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 2010 แล้ว พัฒนาขึ้นโดยบริษัท Gogolook ซึ่งเป็นบริษัท Startup จากไต้หวัน ที่เห็น “Whoscall” เหมือนจะสะกดแปลก ๆ นั้น เป็นเพราะจริง ๆ แล้วคำว่า Whoscall นั้น ย่อมาจาก Who is calling? นั่นเอง การทำงานหลัก ๆ ของ Whoscall คือการแจ้งเตือนบนหน้าจอโทรศัพท์ของเรา ว่าสายเรียกเข้าที่กำลังโทรหาเราอยู่นั้นคือใคร มาจากไหน แม้ว่าเราจะไม่เคยบันทึกเบอร์นี้ไว้ในเครื่องหรือในซิมโทรศัพท์เราก็ตาม

เนื่องจากปัจจุบัน การซื้อซิมโทรศัพท์มาใช้งาน ทุกหมายเลขจะต้องทำการลงทะเบียนด้วยบัตรประชาชนเสียก่อนจึงจะสามารถใช้งานได้ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ซื้อซิมมาแล้วเสียบใส่เครื่องแล้วใช้ได้เลย ซิมหมายเลขเก่า ๆ ก็ต้องมีการยืนยันตัวตนเช่นกัน ไม่เช่นนั้นก็ใช้งานต่อไม่ได้ ซึ่งการลงทะเบียนใช้งานเบอร์โทรศัพท์นี่แหละทำให้มีฐานข้อมูลว่าเบอร์โทรศัพท์นี้ใครเป็นผู้ถือใช้งาน เมื่อเกิดเรื่องหรือเป็นคดีความขึ้นมาจะได้สาวถูกตัว

ซึ่งแอปพลิเคชัน Whoscall ก็คือตัวช่วยในการตรวจสอบเบอร์แปลกที่โทรเข้ามาหาเรา ด้วยวิธีการดึงข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตและฐานข้อมูลของแอปฯ เองที่มีข้อมูลเบอร์โทรศัพท์กว่า 700 ล้านหมายเลขทั่วโลก และผู้ใช้งานก็สามารถมีส่วนร่วมในการเพิ่มรายชื่อได้ว่าเบอร์นี้เป็นของใคร ทำให้ข้อมูลเบอร์โทรศัพท์อัปเดตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ตลอดเวลาตามที่ผู้ใช้งานเคยรายงานเกี่ยวกับเบอร์นี้

นั่นหมายความว่าหากเป็นเบอร์ของมิจฉาชีพ ผู้ใช้งานก็สามารถรายงานเข้าไปได้ว่าเบอร์นี้อันตราย ห้ามรับ เมื่อระบบตรวจสอบว่าเป็นมิจฉาชีพจริง ๆ หน้าจอก็จะขึ้นว่ามิจฉาชีพ เมื่อเบอร์นี้พยายามโทรไปหาคนเหยื่อรายอื่น ๆ ที่ใช้บริการแอปฯ นี้เหมือนกัน พอเห็นแจ้งเตือนที่หน้าจอว่าเป็นมิจฉาชีพ เราก็เลือกที่จะไม่รับสาย ตัดสายทิ้ง หรือแม้กระทั่งบล็อกเบอร์ไปเลย ทำให้เบอร์นี้จะไม่สามารถโทรหาเราได้อีก

นอกจากนี้ตัวแอปฯ ยังสามารถใช้ค้นหาหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อตรวจสอบว่าเบอร์นั้น ๆ เคยถูกรายงานจากกลุ่มผู้ใช้งานว่าเป็นเบอร์อันตรายหรือไม่ได้ด้วย ในกรณีที่มีได้เบอร์โทรศัพท์มาจากที่ไหนสักที่ หรือเบอร์แปลกที่โทรเข้ามาแล้วเราไม่ได้รับ (แต่ปกติแอปฯ ก็จะขึ้นชื่อที่ถูกผู้ใช้งานรายอื่น ๆ บันทึกไว้) เราจึงสามารถตรวจสอบเบอร์นั้นได้เองแบบง่าย ๆ ว่าปลอดภัยไหมที่จะโทรหาหรือโทรกลับ โดยสามารถกดบล็อกหรือรายงานเบอร์นั้นได้ทันที

ไม่ใช่แค่สายที่โทรเข้า ข้อความที่ส่งมาก็รายงาน

ไม่ใช่แค่การรายงานเบอร์แปลกต่าง ๆ ที่โทรหาเราเท่านั้นว่าเป็นใคร โทรมาจากไหน แต่ Whoscall ยังมีความสามารถในการจัดการกับข้อความหรือ SMS ด้วยว่าปลอดภัยหรือไม่ด้วยหลักการเดียวกัน หากเป็นข้อความมาจากหมายเลขที่น่าสงสัย และตัวข้อความมีลักษณะเป็นสแปม หลอกลวง มีลิงก์ให้กดเพื่อพาเราไปยังหน้าอื่น ๆ ซึ่งการกดลิงก์ก็อาจทำให้เรามีความเสี่ยงที่จะถูกแฮกข้อมูลต่าง ๆ การพนัน กู้เงิน แอปฯ จะรายงานว่าเป็นสแปมและบล็อกให้เราทันที ส่วนข้อความที่น่าเชื่อถือ รู้ที่มาที่ไป ก็จะถูกแสดงให้เราเห็นตามปกติ

หรือถ้าข้อความถูกแสดงให้เราเห็นตามปกติ เพราะฐานข้อมูลไม่ได้แจ้งว่าเป็นข้อความที่อันตราย จะมีฟังก์ชันให้เราสแกนลิงก์ URL ที่แนบด้วยว่าปลอดภัยที่จะกดเข้าไปหรือไม่ด้วย เพิ่มความปลอดภัยให้อีกขั้นในการเปิดอ่านข้อความต่าง ๆ

การมาของโซเชียลมีเดียและแอปฯ แชตต่าง ๆ ทำให้ฟังก์ชันข้อความในมือถือมีการใช้งานน้อยลง จากที่เมื่อก่อนหากไม่สะดวกโทรหา เราก็จะส่งข้อความ SMS หาผู้ติดต่อเพื่อแจ้งให้ทราบ แต่ทุกวันนี้หากเป็นการส่งข้อความหาคนรู้จักกัน เราจะใช้แอปฯ แชตต่าง ๆ แทน ดังนั้น ข้อความที่เราได้รับทางโทรศัพท์ทุกวันนี้จึงมักจะเป็นข้อความจากผู้ให้บริการในด้านต่าง ๆ มากกว่าที่จะเป็นข้อความจากบุคคล เมื่อเป็นเบอร์ส่วนบุคคลส่งข้อความมาหาเราและมีเนื้อหาที่เป็นอันตราย แอปฯ ก็จะแจ้งว่าเป็นข้อความสแปม อันตราย และบล็อกให้เราทันที

แอปฯ ดี ๆ ที่ควรมีติดเครื่อง เพราะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นเยอะ

จุดประสงค์ของแอปฯ นี้ คือแสดงเบอร์แปลก รวมถึงข้อความจากเบอร์ที่เราไม่รู้จักที่กำลังติดต่อหาเราอยู่ ว่าต้นทางมาจากไหน เป็นใคร ถ้าชื่อที่ขึ้นแจ้งเตือนบ่งบอกว่าอันตราย เราก็เลือกที่จะไม่กดรับสาย หรือจะบล็อกเบอร์นั้นไปเลยก็ได้ เพื่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน นอกจากนี้ยังสามารถเช็กได้ด้วยว่าเป็นเบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือเบอร์สำนักงาน รวมถึงจดทะเบียนกับผู้ให้บริการเครือข่ายรายใด สามารถใช้งานแบบออฟไลน์หรือไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ด้วย

ด้วยศักยภาพการทำงานของแอปฯ นี้ ทำให้ได้รับความนิยมดาวน์โหลดมาใช้งานกว่า 50,000,000+ ครั้ง และถูกพัฒนาให้รองรับการทำงานทั้งบน Android, iOS และ Windows Phone

จากประสบการณ์ที่ดาวน์โหลดมาใช้งานได้ราว ๆ 2 ปี พบว่าสามารถใช้งานได้จริงและค่อนข้างแม่นยำทีเดียว ยังไม่เคยประสบปัญหาการใช้งานใด ๆ ที่สำคัญยังมีประโยชน์มากจริง ๆ ต่อการตัดสินใจที่จะรับสายที่โทรเข้า เราสามารถเลือกได้ว่าจะรับเฉพาะสายที่อยากรับ และการเตือนภัยว่าเป็นเบอร์อันตราย ถ้าเรากลัวหรือรำคาญมาก ๆ ก็บล็อกไปซะเลย

ส่วนใครกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว การกดยอมรับกฎ เงื่อนไข หรือการอนุญาตต่าง ๆ ก็ขอให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติที่เราต้องกดอนุญาต ไม่เช่นนั้นแอปฯ ก็ไม่สามารถเข้าถึงเพื่อจัดการและใช้งานได้ ทว่าเราสามารถเลือกได้ว่าเราจะให้แอปฯ เข้าถึงได้มากน้อยแค่ไหน เพราะแอปฯ จะขออนุญาตเป็นส่วน ๆ ไป อย่างกล้องหรือคลังภาพ หากเราไม่สะดวกใจที่จะให้แอปฯ เข้าถึง จะกดไม่อนุญาตก็ได้ เพราะส่วนที่สำคัญกว่าคือฟังก์ชันการโทรและข้อความ ที่ถ้าแอปฯ เข้าถึงไม่ได้และไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้งาน จะใช้งานได้อย่างไร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook