เปิดมุมมองเยาวชน เกาะติดข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครนผ่านโซเชียล

เปิดมุมมองเยาวชน เกาะติดข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครนผ่านโซเชียล

เปิดมุมมองเยาวชน เกาะติดข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครนผ่านโซเชียล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัจจุบัน การเกาะติดความคืบหน้าของวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนในหมู่เยาวชนมักเกิดขึ้นจากการรับข่าวสารผ่านโลกโซเชียล ความโหดร้ายหรือข่าวปลอมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เวลาที่เด็กๆเลื่อนปัดหน้าจอทำให้หลายคนประเมินสถานการณ์ต่างกันไป

เนธาน ซาร์พัล หนุ่มน้อยชาวอเมริกันวัย 12 ปี บอกกับ วีโอเอ ว่า เขาเลือกใช้ยูทิวป์ (YouTube) เป็นช่องทางโซเชียลหลักเวลาติดตามสงคราม ซึ่งทำให้เขาได้เห็นภาพ “อาคารต่างๆ ที่ถูกยิงถล่มและผู้คนที่เข้าไปหลบภัยสงครามตามศูนย์ช่วยเหลือและสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินต่างๆ จากภาวะสงครามที่อยู่ภายนอก”

ซาร์พัล ยอมรับว่า สิ่งที่ตนได้เห็นนั้น ทำให้ตัวเองรู้สึกหดหู่และเศร้าใจมาก แต่ไม่ได้ติดอยู่กับความรู้สึกเช่นนั้นนานเท่าใด และระบุว่า ตนเอง “ช็อกอยู่สักพัก และค่อยๆ ประมวลทุกสิ่งที่เห็นในหัว ก่อนจะเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไปตามปกติ”

สิ่งที่ ซาร์พัล ทำนั้นเป็นปฏิกิริยาคล้ายๆ กับของ อิซาเบลลา เวกา ดาวซ์ นักเรียนชาวเม็กซิโก ที่รับอัพเดทข่าวสารสงครามในยูเครนจากช่องทางอินสตาแกรม (Instagram)

ดาวซ์ กล่าวว่า ภาพวิดีโอหลายภาพที่ปรากฏขึ้นมาในอินสตาแกรม “เป็นคลิปของคนขณะตะโกนโหวกเหวกและพยายามหนีภัย หรือไม่ก็เป็นภาพนิ่งของผู้คนที่กำลังนอนหลับอยู่ในสถานที่ที่ดูเหมือนสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน”

อย่างไรก็ตาม สาวน้อยวัย 15 ปีคนนี้ มักหยิบยกประเด็นความรู้สึกด้านลบต่างๆ ที่ได้จากการติดตามสถานการณ์นี้ขึ้นมาพูดคุยกับพ่อแม่ของเธอ ซึ่งเธอยอมรับว่า ช่วยลดความรู้สึกหดหู่ทั้งหลายได้ พร้อมกล่าวว่า เธอเองเลือกที่จะใส่ใจประเด็นการช่วยเหลือผู้ประสบภัยมากกว่า

ส่วน มาเรีย คานโทวิช วัยรุ่นสาวชาวโปแลนด์ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณที่เกิดสงครามอยู่ บอกกับ วีโอเอ ว่าช่องทาง ติ๊กตอก (TikTok) นั้นเต็มไปคลิปวิดีโอที่น่าตกใจและทำให้เธอได้รับรู้เรื่องราวใหม่ๆ มากมาย

คานโทวิช กล่าวว่า เธอต้องการจะรู้ว่า “คนรุ่นเดียวกันกับฉันเขาคิดอย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ พวกเขารู้สึกยังไงที่ต้องอพยพออกจากประเทศบ้านเกิดของตนเองและไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศอื่น บางคนอาจจะไม่มีพ่อแม่อีกต่อไปหรือไม่มีครอบครัวด้วยซ้ำ ฉันรู้สึกกลัวแทนผู้คนเหล่านี้จริงๆ”

ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองของเด็กทั้งสามคนที่อนุญาตให้สำนักข่าววีโอเอสัมภาษณ์ลูกๆ ของพวกเขา ต่างมั่นใจว่า ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่พอประมาณ เด็กๆ นั้นสามารถแยกแยะข้อมูลเท็จออกจากความเป็นจริงได้

แต่ จูลส์ เทอร์แปก ผู้ผลิตเนื้อหาให้สื่อบนโลกโซเชียลแย้งว่า การแยกแยะความเป็นจริงออกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เทอร์แปก กล่าวว่า แม้แต่นักข่าวที่ผ่านการตรวจสอบภูมิหลังมาแล้วและมีประสบการณ์ในสายงานของตนยอมรับว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะแยกแยะตรวจสอบว่าข้อมูลไหนจริงหรือเท็จบนช่องทางโซเชียล โดยเฉพาะเรื่องของคลิปวิดีโอและภาพความรุนแรงต่างๆ

ส่วน คาห์ลิล กรีน ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียล (social media influencer) ที่เพิ่งเข้ารับการสรุปข่าวสงครามยูเครนที่ทำเนียบขาวเมื่อเร็วๆ นี้ เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว ได้แสดงความคิดเห็นในแนวกัน

กรีน กล่าวว่า เป็นเรื่องง่ายมากๆ ที่ผู้คนจะถูกปลุกปั่นและรู้สึกหึกเฮิมกับวิกฤต (รัสเซีย-ยูเครน) แต่ถ้าสถานการณ์นี้ได้รับการคลี่คลายหรือลดความตึงเครียดลงได้บางส่วน จนถึงระดับที่ไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อคนเหล่านั้น พวกเขาก็จะหมดความสนใจในประเด็นข้างต้นและหันไปดูวิกฤตอื่นๆ แทน

เมื่อผู้สื่อข่าวลองสอบถาม เนธาน ซาร์พัล วัยรุ่นชาวอเมริกันเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแยกแยะเรื่องจริง จากเรื่องแต่ง หนุ่มน้อยวัย 12 ปีรายนี้ กล่าวว่า “บางครั้งผมรู้สึกไม่มั่นใจ 100% แต่สุดท้าย ผมก็ต้องเชื่อเอาว่า สิ่งที่เห็นนั้น เป็นเรื่องจริง”

ทั้งนี้ วีโอเอได้ติดต่อไปยัง เมตา (Meta) ซึ่งบริษัทแม่ของ เฟซบุ๊ก (Facebook) และอินสตาแกรม แต่ทางบริษัทปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นนี้ ขณะที่ ยูทิวป์ ติ๊กตอก และช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ ยังไม่ได้ติดต่อวีโอเอกลับมา เพื่อแสดงความคิดเห็นใดๆ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook