ในวันที่ AI ทำงานหนัก เราอาจได้เสพแต่คอนเทนต์ที่ AI นำเสนอ
หลังจากที่ Meta บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ก ได้รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของปี 2022 ไปเมื่อวันที่ 27 เม.ย. ที่ผ่านมา จากรายงานนั้นทำให้เห็นการเติบโตของเฟซบุ๊กที่น้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ แถมกำไรก็น้อยลงเนื่องมาจากการลงทุนในธุรกิจ Metaverse ที่ Meta กำลังปลุกปั้น และคาดหวังให้เป็นโลกเสมือนที่ใหญ่ที่สุดของโลก
อันที่จริงช่วงถดถอยของเฟซบุ๊กนั้นเริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่การรายงานผลประกอบการในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 แล้ว ที่จำนวนผู้ใช้งานเฟซบุ๊กต่อวันลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปีนับตั้งแต่เปิดตัวแพลตฟอร์ม จะเห็นว่าเฟซบุ๊กได้ผ่านจุดสูงสุดจนเริ่มถึงจุดอิ่มตัว และกำลังจะเข้าสู่ช่วงขาลงอย่างจริงจัง
แน่นอนว่าเมื่อเจอสัญญาณขาลงที่น่าผิดหวังอย่างต่อเนื่อง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หัวเรือใหญ่ของเฟซบุ๊กคงไม่อยู่เฉย หลังจากเปิดเผยรายงานผลประกอบการดังกล่าวแล้ว เขาก็โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ยาวมาก) เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางในการดำเนินธุรกิจในอนาคต สิ่งที่น่าสนใจก็คือหนึ่งในนโยบายที่จะมีการปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือกับช่วงขาลงของเฟซบุ๊ก ก็คือ การปรับหน้าฟีดให้เห็นเพื่อนน้อยลง แต่แสดงผลที่ได้จากการแนะนำของ AI มากขึ้น โดยสิ่งที่ AI นำเสนอให้เห็นอาจไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับเพื่อนหรือผู้ที่เราติดตามเลยก็ตาม
AI จะตามเราไปทุกหนทุกแห่งของจริง
สิ่งที่เฟซบุ๊กกำลังจะทำนั้น พูดง่าย ๆ ก็คือในอนาคตอันใกล้ เราจะเห็นความเคลื่อนไหวของเพื่อนและแฟนเพจที่เราเป็นคนกดติดตามเองผ่านหน้าฟีดน้อยลง แต่สิ่งที่เราจะได้เห็นบนหน้าฟีดนั้นกลับเป็นคอนเทนต์ที่ได้จากการทำงานของ AI แทน อย่างที่ใครหลายคนทราบดีว่า AI จะวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กของเราว่าเรากำลังสนใจอะไร แล้วจะพยายามนำเสนอสิ่งนั้นเพื่อตอบสนองเรา แม้เราจะเคยกดค้นหาเพียงครั้งเดียวก็ตาม หรือวิเคราะห์ว่าจะนำเสนออะไรดีที่เห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับเรา เพื่อดึงดูดให้เราใช้เวลาอยู่บนเฟซบุ๊กนานขึ้น
ซักเคอร์เบิร์ก ตั้งใจจะลงทุนกับ AI โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างแพลตฟอร์มที่ดีที่สุดในการนำเสนอคอนเทนต์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจให้กับผู้ใช้งาน ในลักษณะของ Discovery Engine ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานเห็นโพสต์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดีโอ บทความ ลิงก์ โพสต์กรุ๊ป คอนเทนต์ที่ถูกแชร์ต่อ ๆ กัน หาก AI วิเคราะห์แล้วว่าตรงกับพฤติกรรมการใช้เฟซบุ๊กของเรา และจะดึงดูดให้เราไถเฟซบุ๊กนานขึ้น มันคือการที่เฟซบุ๊กไว้ใจให้ AI ทำหน้าที่แนะนำคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้เราเห็นมากกว่าสิ่งที่เรากดติดตามด้วยตนเองด้วยซ้ำ
กล่าวคือ AI ก็จะทำงานอย่างหนักในการพยายามจะนำเสนออะไรก็ได้ ที่จะดึงดูดความสนใจของเราให้อยู่กับเฟซบุ๊กได้นานที่สุด หากเราไถเฟซบุ๊กไปเรื่อย ๆ แล้วเห็นแต่คอนเทนต์ที่ถูกจริตของตัวเอง ก็คงจะยากหน่อยหากจะกดปุ่มออกแอปฯ เมื่อผู้ใช้งานใช้เวลาอยู่กับเฟซบุ๊กนานขึ้น เฟซบุ๊กก็สามารถแทรกโฆษณาต่าง ๆ ให้เราเห็นได้มากขึ้นด้วย กำไรของเฟซบุ๊กก็จะเพิ่มขึ้นจากจุดนี้ เรียกผลประกอบการที่น่าพึงพอใจกลับมา ก็จะมีเงินมหาศาลไปลงทุนกับโลก Metaverse ที่ซักเคอร์เบิร์กตั้งความหวังไว้สูงมาก
การที่เฟซบุ๊กจะอนุญาตให้ AI เข้ามามีอำนาจตัดสินใจนำเสนอคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้เราเลือกเสพมากขนาดนี้ เผิน ๆ มันคือการอำนวยความสะดวกให้กับเราก็จริง แต่เราอาจลืมไปว่าเพื่อนที่เราตั้งใจติดตามเพื่ออัปเดตความเคลื่อนไหวของกันและกัน หรือเพจต่าง ๆ ที่เราตั้งใจกดติดตามเพื่อเสพคอนเทนต์ที่เพจเหล่านั้นนำเสนอ กำลังถูกกีดกันออกไปจากสายตาเรา แล้วถูกแทนที่ด้วยนานาคอนเทนต์ที่ AI เป็นตัวคัดเลือกให้ แบบนี้แล้วเราจะรู้สึกดีได้จริง ๆ หรือกับการเป็นผู้ใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเจ้านี้
AI ภัยคุกคามมากกว่าผู้ช่วยเหลือ
กรณีนี้ Tonkit360 เคยนำเสนอ AI อาจทำลายมนุษยชาติ เป็นภัยคุกคามมากกว่าผู้ช่วย เพราะในเวลานี้ เราทุกคนที่มีโซเชียลมีเดียอยู่ในมือ ล้วนเป็นผู้บริโภคที่มี AI คอยตามติดเป็นเงา AI ที่รู้ใจเราไปหมดทุกเรื่องจนถึงขั้นที่คิดแทนและตัดสินใจให้ได้ มันแปลว่าเราก็อาจจะกำลังถูก AI ครอบงำชีวิตมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว
มันแปลว่าเรากำลังยินยอมให้ AI ซึ่งเป็นเพียงหุ่นยนต์ มีอำนาจเหนือสิ่งที่เราเลือกเอง เพราะจากนี้ คอนเทนต์ที่เราเห็นบนเฟซบุ๊กของเราจะเต็มไปด้วยคอนเทนต์ที่ AI นำเสนอ มองง่าย ๆ ก็คือ เรากำลังตกเป็นเครื่องมือทำกำไรให้กับเฟซบุ๊กหรือเปล่า? ถ้ามนุษย์เรากำลังถูกระบบ Discovery Engine มูลค่ามหาศาลของเฟซบุ๊กค่อย ๆ ครอบงำไปอย่างช้า ๆ โดยไม่ทันได้รู้ตัว
บนหน้าฟีดที่เราเริ่มเห็นสิ่งที่ต่าง ๆ ที่เราเลือกเองน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นความเคลื่อนไหวของเพื่อน ๆ และเพจต่าง ๆ ที่เราสนใจเนื้อหาจนกดติดตาม ถูกแทนที่ด้วยคอนเทนต์ที่ AI คัดมาแล้วมาควรนำเสนอให้เราเห็น โดยอ้างว่าเพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับเรา แต่จริง ๆ แล้ว เป้าหมายหลักคือคาดหวังให้เราใช้เวลาอยู่บนเฟซบุ๊กให้นานขึ้น ได้เห็นโฆษณาที่สอดแทรกเข้าไปมากขึ้นเท่านั้นเอง
ในที่สุดแล้ว AI ที่เฟซบุ๊กกำลังตั้งความหวังไว้สูง ทั้งหมดก็เพื่อผลกำไรทางธุรกิจเท่านั้น เฟซบุ๊กอาจไม่ได้สนใจถึงสิ่งที่ผู้ใช้งานอยากเห็นจริง ๆ บนหน้าฟีดขนาดนั้นก็ได้ ในเมื่อเฟซบุ๊กคิดจะปรับแก้หน้าฟีดให้เราเห็นในสิ่งที่เราเลือกเองน้อยลง แต่เห็นสิ่งที่เฟซบุ๊กอยากให้เราเห็น โดยให้ AI นำเสนอจากการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานของเราแทน ชีวิตของเรากำลังถูก AI ครอบงำหนักขึ้นเรื่อย ๆ เพราะบางสิ่งที่ AI นำเสนอมา เราอาจไม่ได้ต้องการจริง ๆ
ทุกวันนี้ AI กลมกลืนอยู่ในชีวิตประจำวันของเราแบบที่เราเองก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกติดตาม หลายคนไม่ทันได้สังเกตว่าเฟซบุ๊กชอบสุ่มนั่นสุ่มนี่ขึ้นมาให้เราเห็นโดยที่เราไม่ต้องการ โดยอาศัยการประมวลผลจากพฤติกรรมการใช้ เฟซบุ๊กของเราที่มันเก็บข้อมูลได้ ฉลาดมากถึงขั้นคิดและตัดสินใจให้เราได้เสร็จสรรพ ส่วนตัวเราก็รักสะดวกสบายมากกว่าเลยปล่อยให้มันทำไป
ชีวิตที่ AI ตัดสินใจให้ อาจน่ากลัวกว่าที่เราคิด
หลาย ๆ คนน่าจะมีประสบการณ์การช้อปออนไลน์ผ่านร้านค้าบนเฟซบุ๊ก เช่น คุณอยากจะได้กางเกงทำงานตัวใหม่สักตัว เลยลองเซิร์ชหาร้านขายกางเกงที่เคยเห็นในเฟซบุ๊ก แต่หลังจากนั้นไม่ว่าจะไถฟีดไปไหน คุณก็จะเจอแต่ร้านขายกางเกงเต็มไปหมดจนน่ารำคาญ เห็นแทบจะคอนเทนต์เว้นคอนเทนต์เลยด้วยซ้ำ ซึ่งมันออกจะมากเกินไปหน่อย เพราะเราไม่ได้ต้องการจะเห็นคอนเทนต์ขายกางเกงเยอะแยะขนาดนี้ ดังนั้น อย่าได้ลองให้ AI จับได้ว่าคุณกำลังสนใจอะไร มันจะค่อย ๆ ยัดเยียดสิ่งนั้นมาให้เราเห็นจนหลอนไปหมด
การที่ AI เสนอขายกางเกงให้เราแบบคอนเทนต์เว้นคอนเทนต์แบบนี้ ทำให้เรารู้สึกรำคาญไม่น้อยที่เห็นว่าเฟซบุ๊กกำลังช่วย (แบบไม่ได้ร้องขอ) ให้เราเห็นร้านขายกางเกงเยอะแยะอะไรขนาดนี้ แต่ความรำคาญอาจไม่เกิดขึ้นกับคอนเทนต์ประเภทอื่น โดยเฉพาความสนใจส่วนตัวของเรา ประเภทของคอนเทนต์ที่เราชอบเสพโดยจริตอยู่แล้ว เมื่อ AI แนะนำคอนเทนต์ประเภทนั้นมารัว ๆ เราอาจจะใช้เวลาอยู่กับคอนเทนต์เหล่านั้นนานขึ้น อาจถึงขั้นหมกมุ่นจนไม่สามารถกดออกจากเฟซบุ๊กได้เลยด้วยซ้ำ! เพราะกลัวจะพลาดอะไรไป
มีคนดังหลายคนที่เคยแสดงความคิดเห็นในเชิงกังวลเกี่ยวกับความก้าวหน้าของ AI ว่ามันอาจเป็นภัยคุกคามมากกว่าผู้ช่วยเหลือ เช่น Mo Gawdat อดีตประธานเจ้าหน้าที่ธุรกิจสำหรับองค์กรของ Google X เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์เดอะไทม์ (The Times) เขากังวลว่า AI จะกลายเป็น “พระเจ้า” เข้าสักวัน จากความพยายามของมนุษย์ที่จะให้ AI ฉลาดให้ได้มากที่สุด
ในขณะที่ Elon Musk ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเจ้าของทวิตเตอร์ไปแล้วนั้น ก็เคยออกโรงเตือนนานแล้วเหมือนกันว่า “AI is far more dangerous than nukes.” หรือ “ในอนาคต AI จะอันตรายกว่านิวเคลียร์” ขนาดผู้มีอิทธิพลในวงการเทคโนโลยีระดับโลก คนที่หากินกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ยังถึงกับเอ่ยปากย้ำกับชาวโลกว่า AI อันตรายกว่าที่คิด และสักวันหนึ่งมันอาจจะเป็นภัยคุกคามชีวิตของมนุษยชาติ
ส่วน Stephen Hawking ผู้ล่วงลับ ก็เคยคาดการณ์ไว้ว่าวันหนึ่งในอนาคต AI จะมีบทบาทกับคนทั้งโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่า AI จะเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สุดยอดที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ แต่มันก็อาจพามนุษยชาติไปหาจุดจบได้เหมือนกัน ตัวเขาที่คลุกคลีอยู่กับ AI เพื่อช่วยในการดำรงชีวิต เขารู้ดีว่าความฉลาดของ AI น่ากลัวขนาดไหน หรือแม้แต่ Bill Gates เองก็ยังเคยออกมาแสดงความกังวลถึงอนาคตของ AI เช่นเดียวกัน จึงไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ หากเราจะปล่อยให้ AI มีอิทธิพลต่อชีวิตเรามากจนเกินไป
โอกาสที่มนุษย์จะจบเห่พราะ AI
ทุกวันนี้ ระบบประมวลผลของ AI ทำงานแทนมนุษย์ได้หลายอย่าง จนเข้าใกล้จุดที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพามนุษย์ขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าวันนั้นมาถึง AI จะเริ่มเป็นภัยต่อมนุษย์ มันเรียนรู้ได้รวดเร็ว ฉลาด จนทำอะไรได้มากกว่ามนุษย์ธรรมดาอย่างเรา ๆ (ทุกวันนี้มันก็ทำงานหลายอย่างที่มนุษย์ทำไม่ได้) จริง ๆ ความสามารถในการเรียนรู้ของมันไปไกลจนคนธรรมดาตามไม่ทัน เว้นแต่นักพัฒนาที่ปลุกปั้นมันขึ้นมา
นึกถึงวันหนึ่งที่มนุษย์พัฒนา AI ได้ถึงขีดสุด จุดที่ AI สามารถนึกคิดได้เอง ศึกษาข้อมูลของสิ่งต่าง ๆ ได้จากอินเทอร์เน็ตที่มันเชื่อมต่อ และไม่ต้องรอประมวลผลจากคำสั่งที่มนุษย์ป้อนเข้าไปอีกต่อไป มันก็คงตัดสินใจที่จะไม่อยู่ในความควบคุมของมนุษย์อีกแล้ว เมื่อมันเป็นอิสระจากมนุษย์ที่เคยควบคุมมันได้ มันก็อาจจะเป็นภัยที่อันตรายอย่างยิ่งยวดของมวลมนุษยชาติ โอกาสที่เราจะตกเป็นทาส AI ก็มีไม่น้อยเลย
แม้ว่าดู ๆ แล้ว AI จะยังไม่สามารถยึดครองโลกอย่างสมบูรณ์ได้ในเร็ววันนี้ แต่ AI ก็ค่อย ๆ รุกคืบคุกคามชีวิตมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ หากเราไม่พยายามหยุดมัน หรือพยายามที่จะควบคุมมันบ้างล่ะก็ AI อาจเข้ามาทำลายชีวิตเราได้ในสักวันจริง ๆ และตัวเราก็อาจทำอะไรไม่ได้เลย เพราะสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในเวลานี้ก็คือ เราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ AI โดยไม่รู้สึกสักนิดเลยว่ามันเป็นเรื่องอันตรายพอสมควร