ไวรัลจดหมาย “ถึงคุณคนธรรมดา” กับความประทับใจแบบ “คนพิเศษ”

ไวรัลจดหมาย “ถึงคุณคนธรรมดา” กับความประทับใจแบบ “คนพิเศษ”

ไวรัลจดหมาย “ถึงคุณคนธรรมดา” กับความประทับใจแบบ “คนพิเศษ”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลาย ๆ คนน่าจะได้เห็นไวรัล “คนธรรมดา” จากแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง แรกเริ่มก็เห็นแค่ 2-3 แบรนด์ แต่หลัง ๆ เริ่มเห็นแบรนด์อื่น ๆ กระโดดลงมาเล่นด้วยจนเต็มหน้าเฟซบุ๊กไปหมด ทำให้จดหมายที่ส่งถึง “คนธรรมดา” กลายเป็นไวรัลฮิตชั่วข้ามคืนให้คนนอกวงการโฆษณาหยิบยกมาพูดถึง

ไวรัลดังกล่าว เริ่มเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2565 จุดเริ่มต้นมาจากภาพที่เป็นโฆษณา แต่มีลักษณะเหมือนกับจดหมาย ส่งข้อความถึง “คุณ…คนธรรมดา” โดยผู้ส่งจดหมายฉบับนี้เจ้าแรกคือ แบรนด์ดังที่ชื่อคุ้นหูคนไทยมาช้านานอย่าง “เสื้อตราห่านคู่” ผ่าน Facebook Fanpage ห่านคู่ Double Goose ด้วยข้อความว่า

“ถึงคุณ..คนธรรมดา

เรารู้ว่าคุณเหนื่อยกับการใช้ชีวิตในฐานะคนธรรมดา ที่ไม่โดดเด่นหรือพิเศษแบบคนอื่น ๆ ถึงแม้จะตั้งใจใช้ชีวิตแค่ไหน ชีวิตก็อาจจะสู้กลับอยู่เสมอ

ห่านคู่อยากบอกว่า ถ้าคุณรู้สึกเหนื่อย เราจะเป็นความสบายใจให้กับคุณ อยู่เคียงข้างคุณในช่วงเวลาธรรมดาของชีวิต เราอยู่ง่าย อยู่ทน ไม่ต้องดูแลมากมาย และจะคอยเป็นพื้นที่ที่คุณสามารถเป็นตัวเองได้เสมอ

ขอเพียงแค่คุณอย่ารู้สึกผิดกับการเป็นคนธรรมดาก็พอ

เพราะเราเชื่อว่า ในความธรรมดา คุณได้ทำมาดีในแบบของตัวเองแล้ว”

ห่านคู่ เสื้อยืดธรรมดา

Facebook : ห่านคู่ Double Goose

หลังจากเสื้อตราห่านคู่ส่งจดหมายถึงคุณคนธรรมดาเพียงวันเดียว ก็มีการโต้ตอบกลับจากแบรนด์ “รองเท้านันยาง” ที่เพิ่งจับมือกันเฉพาะกิจโชว์ความเก๋าของแบรนด์เพื่อนร่วมรุ่นที่มีอายุ 69 ปี “ช้างดาว x ห่านคู่” เมื่อประมาณเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา นันยางก็ส่งจดหมายถึงห่านคู่ ผ่าน Facebook Fanpage นันยาง Nanyang ของตนเองเช่นกัน ด้วยข้อความว่า

“ถึง ห่านคู่…เสื้อยืดธรรมดา

ขอบคุณที่เข้าใจคนธรรมดา เราเคยเหนื่อยกับการตอบคำถามว่าเรามีอะไรพิเศษ จุดเด่นเป็นยังไง เพราะเราก็เป็นรองเท้าธรรมดา ไม่หวือหวา ไม่ทันสมัย ไม่พิเศษ

ขอบคุณที่ให้กำลังใจคนที่ไม่มีตัวตน คนที่นั่งดูเพื่อนซ้อมดนตรี ตัวสำรองที่ไม่เคยได้ลงตัวประกอบในละครเวที คนคุมบูธร้าง ๆ ในงานโรงเรียน คนที่มีอะไรก็บ่นในโซเชียล

เมื่อดอกไม้ยังบานไม่พร้อมกัน ชีวิตคนเราก็ใช้เวลาเติบโตไม่เท่ากัน

ธรรมดา ไม่เห็นเป็นไรเลย”

นันยาง รองเท้าธรรมดา

Facebook : นันยาง Nanyang การสื่อสารระหว่างแบรนด์ถึงแบรนด์ และแบรนด์ถึงผู้บริโภค

จดหมาย 2 ฉบับจากเสื้อห่านถึงคนธรรมดา และรองเท้าช้าง (ดาว) ถึงเพื่อนห่าน ที่พยายามจะส่งกลับไปที่คนธรรมดาอีกที กลายเป็นคอนเทนต์โฆษณาที่สร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภคในวงกว้าง คนแห่กดไลก์ กดแชร์ จนกลายเป็นไวรัลในที่สุด และหลังจากนั้นไม่นาน แบรนด์ต่าง ๆ ก็แห่เล่นตามกระแส จนทำให้เราเห็นจดหมายลักษณะนี้เกลื่อนหน้าเฟซบุ๊กไปหมดนั่นเอง

ด้วยข้อความที่ทั้ง 2 แบรนด์สื่อออกมาให้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแค่ “คนธรรมดา” การใช้คำคำพูดที่แสนจะเรียบง่ายและธรรมดาสุด ๆ ในจดหมายสามารถเข้าถึงหัวอกของธรรมดาได้อย่างไม่มีอะไรมากั้น อ่านแล้วชวนยิ้มตาม มอบความรู้สึกที่ดีต่อใจ หรือบางคนอ่านแล้วอาจมีน้ำตาซึมเลยก็มี

เชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในฐานะผู้บริโภค รู้ดีว่านี่ก็เป็นเพียงคอนเทนต์โฆษณารูปแบบหนึ่ง จุดประสงค์หลัก ๆ ก็เพื่อสร้างความประทับใจในแบรนด์ ในท้ายที่สุดก็เพื่อจะขายของนั่นแหละ การใช้กลวิธีเล่นกับความรู้สึกซึ้ง ๆ กินใจ เพื่อซื้อใจผู้บริโภคไม่ได้เพิ่งเริ่มมี แต่มีมานานแล้ว งานโฆษณาไทยเก่า ๆ ที่เล่าเรื่องราวดราม่าของชีวิตธรรมดา เคยเผยแพร่เรียกน้ำตาคนดู เคยได้รางวัล และได้รับการยอมรับระดับโลกมาแล้ว

อย่างไรก็ดี ไวรัลจดหมายถึงคุณคนธรรมดา ที่ใช้คำว่า “คนธรรมดา” เพื่อเล่นกับความรู้สึกของคนนั้นให้ความรู้สึกที่ “ไม่ธรรมดา” เลย เพราะต่อให้เราจะตระหนักว่าตนเองเป็นคนธรรมดาอย่างที่ถูกเรียกในจดหมาย แต่ความรู้สึกทางใจที่สัมผัสได้ กลับทำให้รู้สึกเหมือนเป็น “คนพิเศษ” เพราะการที่จู่ ๆ คนธรรมดา คนไม่มีตัวตน คนที่ใช้ชีวิตแบบให้ผ่านไปวัน ๆ จะถูกกล่าวถึงขึ้นมาในเชิงที่ว่า “ยังเห็นกัน” แล้วโด่งดังในชั่วข้ามคืนแบบนี้ไม่ใช่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นง่าย ๆ จริง ๆ แล้วสังคมเราก็ยังให้แสง ให้ค่า ให้ราคา กับบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือบุคคลสาธารณะมากกว่าอยู่ดี

ข้อความที่สร้างความประทับใจให้กับแบรนด์ในรูปแบบของการให้กำลังใจคนธรรมดา ๆ ที่ต่างต้องดิ้นรนเอาตัวรอดในสังคม ทั้งที่มีบาดแผลบาดเจ็บสาหัสซ่อนอยู่เบื้องหลังมากมาย ทุกคนล้วนอยากเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ มันจึงเป็นข้อความที่ทำให้คนอ่านรู้สึกอบอุ่นใจ รับรู้ได้ถึงความใจดีที่คนอื่นหยิบยื่นให้ในสังคมปัจจุบัน การให้กำลังใจกันของคนที่ไม่รู้จักกัน มันละมุนใจ ดีต่อใจ และด้วยความที่ทั้ง 2 แบรนด์เป็นแบรนด์ที่จับต้องได้ทั้งคู่ อยู่คู่กับคนไทยทุกช่วงวัยมาอย่างยาวนาน จดหมายถึงคนธรรมดาจึงโดนใจผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้บริโภครู้สึก “เป็นคนพิเศษ”

การที่แบรนด์สามารถทำให้คนรู้สึกอินตามในโฆษณา จนรู้สึกว่าสินค้าเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขาไปแล้วนั้น นับเป็นการสื่อสารที่ประสบความสำเร็จอย่างงามเลยทีเดียว โฆษณาที่มีเป้าหมายมากกว่าการขายของธรรมดา ๆ คือการซื้อใจผู้บริโภคและเข้าไปอยู่ในใจของพวกเขา เป็นภาพจำในภาพลักษณ์ที่ดีของแบรนด์

เมื่อทำแล้วเห็นผล หลาย ๆ แบรนด์ก็เริ่มทำตาม

จากจุดเริ่มต้นของจดหมายจากเสื้อห่านคู่ รองเท้าช้างดาว (นันยาง) เกิดทัชใจผู้บริโภคในวงกว้าง นับเป็นการประชาสัมพันธ์แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในช่วงเวลาไม่กี่วัน เมื่อเห็นว่าทำแล้วประสบความสำเร็จ แบรนด์อื่น ๆ จึงขอเกาะกระแสทำตาม เข้ามาร่วมแจมไอเดียส่งจดหมายถึงคนธรรมดากันอย่างครึกครื้น จนเวลานี้เราจะเห็นจดหมายในลักษณะเดียวกันเกร่อโซเชียลมีเดียไปหมด

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มีแบรนด์ต่าง ๆ แห่ส่งจดหมายถึงคุณคนธรรมดากันจนกลายเป็น Social Media Marketing อย่างชัดเจน แบรนด์แต่ละแบรนด์ต่างก็กระโดดลงมาเล่นเหมือนกัน จนเวลานี้หลาย ๆ เริ่มจะไม่ซึ้งกับจดหมายนี่แล้ว เพราะทำเลียนแบบกันเกลื่อนมากเกินไป ทั้งยังเน้นสื่อสารมาที่ตัวผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งต่างจากรูปแบบที่นันยางสื่อสารกับห่านคู่ เป็นรูปแบบที่แบนด์สื่อสารกันเอง แต่ดึงผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วม

ถึงอย่างนั้น การทำการตลาดในลักษณะนี้ก็ถือว่าทำให้ผู้บริโภครู้สึกอินในความรู้สึกได้มากกว่า จากการที่มันกลายเป็นไวรัลได้ในเวลาไม่กี่วัน เป็นการสื่อสารจากแบรนด์ที่แสดงให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่จำเป็นต้องหวือหวาโลดโผน ก็เข้าถึงใจคนได้ง่าย ๆ ต่างจากการทำการตลาดที่พึ่งเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ ที่ปัจจุบันอยู่ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากที่สุด เนื้อหาก็มักจะออกมาคล้ายคลึงกันไปหมด เมื่อต้องแข่งขันกัน จึงจำเป็นต้องอาศัยความแรง ความเฟียส เพื่อเน้นสร้างกระแสดราม่าให้กับสังคมอย่างรวดเร็ว แบบตู้มเดียวก็เป็นดราม่าเลยทันที

เนื้อหาที่จำเป็นต้องแข่งกันแรงแบบไม่มีใครน้อยหน้าใคร ด้วยเห็นว่าเจ้านี้ทำแรงแบบนี้แล้วประสบความสำเร็จ ฉันก็ต้องทำให้แรงกว่าเพื่อกลบทับ สุดท้ายก็กลายเป็นว่าแรงแข่งกันไปทั้งวงการ แรงแบบไม่รู้ว่าจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน ตามมาซึ่งดราม่าแบบไม่เว้นวัน เพราะในสังคมปัจจุบันนั้น หลายคนตระหนักถึงปัญหาอะไรหลาย ๆ อย่างมากขึ้น พวกเขามีวิจารณญาณว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรเหมาะสมไม่เหมาะสม บางสิ่งบางอย่างสามารถนำเสนอในทางสร้างสรรค์ได้โดยไม่ต้องพึ่งความเฟียส

ดังนั้น ยุคนี้คนจึงเริ่มไม่อินกับการตลาดแบบแรง ๆ อีกต่อไปแล้ว จากแต่ก่อนที่เห็นดีเห็นงามตามน้ำ ไม่เห็นด้วยก็ไม่กล้าพูดเพราะกลัวทัวร์ลง ปล่อยผ่านไป ก็เริ่มมีคนเห็นต่างที่แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยมากขึ้น แสดงเหตุผลว่าทำไมจึงไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาโฆษณาแบบนี้ และก็มีคนที่สนับสนุนความเห็นต่างด้วยเหตุผลมากขึ้น โฆษณาหรือสื่อที่สื่อสารโดยเน้นความแรงไว้ก่อนจึงจะค่อย ๆ เสื่อมลงไปเอง ถ้าคนไม่เอาด้วยมากเข้า แต่โฆษณาที่เน้นสร้างความประทับใจในความรู้สึก ผ่านไปนานแค่ไหนก็ยังอยู่ในความทรงจำ ดีไม่ดีภาพจดหมายถึงคนธรรมดาของแบรนด์ต่าง ๆ อาจถูกเซฟมาทำเป็นมีมให้เราใช้ส่งหาเพื่อน เพื่อให้กำลังใจพวกเขาในวันที่รู้สึกมืดมนในอนาคตก็ได้

จริง ๆ แล้ว เราก็แค่อยากเป็น…คนธรรมดา

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา หลายคนน่าจะเคยเห็นคอนเทนต์ประเภทที่ว่า “ถ้าอยากอายุน้อยร้อยล้าน ต้องทำอย่างไร” หรือ “ต้องมีเงินเก็บ 1 ล้านบาท มีบ้าน มีรถ ขึ้นสู่ระดับผู้บริหารให้ได้ภายในอายุ 30 ปี” กันมาไม่มากก็น้อย แต่คิดว่าจะเห็นกันเยอะมากจนเกิดความรู้สึกสงสัยในตัวเองได้เลย ว่าถ้าฉันอายุเกิน 30 ปีแล้ว แต่ยังไม่มีอะไรสักอย่างที่ว่ามา แปลว่าชีวิตของฉันล้มเหลวน่ะสิ ถูกไหม?

นั่นสิ ทำไมล่ะ ทำไมอายุ 30 ปีจึงต้องรีบประสบความสำเร็จขนาดนั้น ในวัยแค่เลข 3 ขอแค่มีงานทำ มีเงินพอใช้แบบขัดสน ไม่เดือดร้อน เลี้ยงดูตัวเองได้ ไปเที่ยวในที่ที่อยากไป หรือนอนโง่ ๆ ดูหนังดูซีรีส์ แบบนี้ไม่ได้เหรอ? ทำไมฉันถึงต้องกดดันตัวเองเพื่อที่จะประสบความสำเร็จอย่างคนอื่นเขาให้ได้ทั้งที่อายุน้อยแค่นี้เอง “ขอไปนั่งโง่ ๆ ริมทะเล” จึงไม่ใช่คำพูดในเชิงตลกขบขันของใครหลาย ๆ คน แต่มันเป็นความรู้สึกที่อยากจะทิ้งความหนักหน่วงที่แบกเอาไว้ แล้วไปทำอะไรที่มันชิล ๆ แบบนั้นจริง ๆ หลายคนทุกข์ทรมานจากการวิ่งตามความสำเร็จมากเกินไปแล้ว

“ฉันไม่อยากเป็นคนเก่ง ฉันแค่อยากเป็นคนรวย” น่าจะเป็นอีกข้อความที่สื่อถึงการอยากเป็นคนธรรมดา (ที่รวย) ได้เป็นอย่างดี ในชีวิตที่เราล้วนต้องแข่งขันกับอะไรต่ออะไรมากมายเพื่อให้มีเงินมากพอที่จะดำรงชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน ต้องเหนื่อยดิ้นรนเพื่อที่จะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ ยิ่งเร็ววันก็ยิ่งดี พยายามเป็นคนที่ไม่ธรรมดา เพื่อจะได้ประสบความสำเร็จในเร็ววัน เพราะเชื่อว่ามีสายตาจากที่อื่นคอยจับจ้องอยู่ตลอดว่าเราจะใช้ชีวิตได้ดีสักแค่ไหน

จริง ๆ แล้วการเป็นคนธรรมดานั้นไม่ได้ผิดอะไรเลย คนเราย่อมเป็นตัวเองในแนวทางของตัวเอง แต่เรากลับถูกหล่อหลอมให้ต้องไหลตามยุคสมัยและค่านิยมที่เปลี่ยนไปของสังคม เป้าหมายในชีวิตคือต้องพาตนเองไปสู่ความสำเร็จให้ได้ภายในระยะเวลาที่สั้นที่สุด ไม่ต้องสนใจวิธีการ มองข้ามความเสี่ยง และไม่ได้หยั่งถึงความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป้าหมายเช่นนี้บางคนก็ไปถึง บางคนเกือบถึงแล้วอีกนิดเดียว แต่บางคนก็ไปไม่ถึง แล้วมานั่งโทษโอกาสและสังคมที่ทำให้ตนเองเป็นไม่ได้แบบคนอื่น

นั่นทำให้ทัศนคติในการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่นั้นกำลังเปลี่ยนไป พวกเขารู้สึกว่ามันน่าเศร้าเกินไปที่ชีวิตที่มีอยู่แค่ชีวิตเดียว แถมชีวิตก็สั้นเกินกว่าจะให้แรงกดดันทางสังคมมาบังคับทิศทางชีวิต พวกเขาจะทำในแบบที่ตัวเองอยากทำมากขึ้น สนใจแรงกดดันรอบตัวให้น้อยลง เลิกบีบคั้นตัวเองว่าต้องรีบประสบความสำเร็จให้ได้ภายในอายุ 30 ปี พวกเขาแค่อยากจะเป็นคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตธรรมดาให้หมดไปในแต่ละวัน ไม่ต้องทำอะไรมากไปกว่าที่จำเป็น เพราะเอาเข้าจริง มันก็เหนื่อยไม่ใช่เล่นที่ต้องวิ่งตามความสำเร็จให้ได้ในเร็ววัน ชีวิตอุดมคติแบบนั้นไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว

ปัจจัยภายนอกที่ทำให้ต้องละทิ้งชีวิตแบบคนธรรมดา

ต้องยอมรับว่าทัศนคติที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาว่า “คนที่ประสบความสำเร็จในอายุน้อยนั้นเป็นคนเก่ง” ทำให้เราต้องใช้ชีวิตกระเสือกกระสนมากเกินกว่าที่จำเป็น เพราะอยากเป็นคนเก่ง คนที่ไม่ธรรมดา จึงต้องรีบทำทุกอย่างเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ความสำเร็จที่ไม่รู้เลยว่าความสุขที่แท้จริงคืออะไร รีบจนมองข้ามทุกอย่าง แม้แต่ความสุขเล็ก ๆ ใกล้ตัว

อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะสภาพแวดล้อมพาไป อย่าง “การเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น” ที่เห็นชีวิตคนอื่นผ่านหน้าฟีดแล้วรู้สึกเจ็บปวดอยู่ในใจลึก ๆ ว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันมีนั่นมีนี่กันหมดแล้ว แต่ตัวเรากำลังทำอะไรอยู่ มันอาจไม่ชัดเจนว่าเป็นความอิจฉาริษยาคนอื่น แต่ที่แน่ ๆ คือมีผลต่อจิตใจแน่นอน ความคิดที่ว่า แล้วเมื่อไรจะถึงเวลาของเรา! หากความคิดแบบนี้กล่อมเกลาเรานานวันเข้า เราอาจเดินผิดทางเพื่อไปสู่เป้าหมายของคนอื่น แทนที่จะเป็นเป้าหมายของตนเอง

การเปรียบเทียบข้างต้น รุนแรงขึ้นเพราะโซเชียลมีเดีย ซึ่งนับว่าตัวขับเคลื่อนสังคมในปัจจุบัน ที่ทำให้คนเราเปรียบเทียบตนเองกับความสำเร็จของผู้อื่นอยู่เกือบตลอดเวลา รู้สึกโทษตนเองมากขึ้น รู้สึกล้มเหลวมากขึ้น เพราะต้องเห็นความสำเร็จของคนที่ตนเองเอาไปเปรียบเทียบทุกวัน และด้วยความรู้สึกดังกล่าว ก็จะทำให้คุณด้อยค่าตนเองอยู่ทุกวัน และไม่รู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำอยู่เลยแม้แต่นิด เหมือนยิ่งทำก็ยิ่งไร้ค่า เพราะไม่เห็นผลความสำเร็จอะไรเลย

จริงอยู่ว่าในโลกโซเชียลมีเดีย คงไม่มีใครอยากแชร์ความผิดพลาด หรือความล้มเหลวของตนเองผ่านสื่อให้คนอื่นเห็นหรอก เพราะกลัวการโดนตำหนิ โดนประณาม ภาพที่ออกมาให้คนอื่นเห็นจึงมีแต่ภาพความสำเร็จ โดยที่บางส่วนอาจเป็นการสร้างภาพลักษณ์ส่วนบุคคลด้วยซ้ำไป ถึงจะรู้อย่างนี้ หลายคนก็มีความคิดในเชิงลบต่อตนเองอยู่ดี ว่าฉันไม่มีแม้แต่สักช่วงเวลาที่แชร์ความสำเร็จของตัวเองเลยสักครั้ง ไม่มีแม้แต่ความสำเร็จหลอก ๆ โดยที่ไม่เคยถามตัวเองว่าแล้วเราจะแชร์ความสำเร็จแบบหลอก ๆ เพื่อหลอกทั้งตัวเองและคนอื่นไปเพื่ออะไรกัน

อีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่พูดไม่ได้ก็คือ “ครอบครัวที่กดดันให้ต้องประสบความสำเร็จเร็ว ๆ” หลายคนรู้ซึ้งดีว่าเจ็บปวดทรมานแค่ไหน ที่พ่อแม่มักเอาความต้องการที่จะประสบความสำเร็จของตนเองในอดีตไปยัดเยียดให้กับลูกหลาน แล้วเรียกมันว่า “ความหวังดี” ขอร้องแกมบังคับให้พวกเขาแบกรับความคาดหวังที่พวกเขาไม่ได้ต้องการ สิ่งที่ตามมาคือการเปรียบเทียบ กดดัน และผลักดันให้เด็กเหล่านั้นต้องทำให้ได้ ยิ่งมีโซเชียลมีเดียมาเป็นตัวขับเคลื่อนในการอวดความสำเร็จของสมาชิกในครอบครัว เด็กยิ่งต้องแบกรับหน้าของพ่อแม่ไว้ แล้วรีบประสบความสำเร็จเพื่อแสดงความกตัญญู

ดังนั้น ครอบครัวคือหนึ่งในปัจจัยเริ่มต้นที่ทำให้เกิดค่านิยมและทัศนคติทั้งที่ถูกและผิด เป็นสถาบันเล็ก ๆ ที่เริ่มหล่อหลอมให้คนเราเชื่อว่าการมีชีวิตที่ไม่ธรรมดาคือข้อพิสูจน์การเป็นคนเก่ง คนมีความสามารถ การรีบประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้หลายคนต้องทิ้งความธรรมดาในช่วงวัยนั้น ๆ ไป ซึ่งนั่นมันอาจจะเป็นความสุขที่ดีที่สุดของวัยนั้น ๆ เลยก็ได้ สุดท้ายแล้ว เมื่อเราละทิ้งความเป็นคนธรรมดาไปอย่างสิ้นเชิง เพื่อวิ่งตามความไม่ธรรมดาที่ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบขนาดนั้น เราก็ต้องมาแสวงหาความธรรมดาเพื่อหยุดพักให้หายเหนื่อยอยู่ดี

จริง ๆ แล้ว ชีวิตคนเราอาจไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่า “การเป็นคนธรรมดาที่มีความสุขในชีวิต” อย่างอื่นก็แค่เครื่องประดับที่มีก็ดีไม่มีก็ไม่เดือดร้อนอะไร แล้วก็อาจไม่จำเป็นที่ต้องทำให้มันมีมากมายขนาดนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการของคนอื่นมากกว่าความต้องการของตนเอง ดังนั้น แค่ลองอ่านจดหมาย “ถึงคุณ…คนธรรมดา” เพื่อให้รู้สึกได้ถึงการเป็น “คนพิเศษ” จากกำลังใจเหล่านั้นดูสิ แล้วจะรู้ว่าลึก ๆ แล้วตัวเราโหยหาชีวิตธรรมดามากแค่ไหน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook