เปิดฉากแล้ว! ศึกแข่งขันหุ่นยนต์ “เวิลด์ โรโบคัพ 2022” พร้อมอวดโฉมความอัจฉริยะของหุ่นยนต์ 45 ชาติ

เปิดฉากแล้ว! ศึกแข่งขันหุ่นยนต์ “เวิลด์ โรโบคัพ 2022” พร้อมอวดโฉมความอัจฉริยะของหุ่นยนต์ 45 ชาติ

เปิดฉากแล้ว! ศึกแข่งขันหุ่นยนต์ “เวิลด์ โรโบคัพ 2022” พร้อมอวดโฉมความอัจฉริยะของหุ่นยนต์ 45 ชาติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วยสหพันธ์โรโบคัพ และบริษัทดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมเปิดฉากงาน World RoboCup 2022 งานแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ครั้งที่ 25 โดยมี 45 ชาติทั่วโลกร่วมนำหุ่นยนต์เข้าร่วมการแข่งขัน พร้อมอวดโฉมความอัจฉริยะ 

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานการจัดแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ครั้งที่ 25 กล่าวว่า การจัดแข่งขัน World RoboCup 2022 มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้น แลกเปลี่ยน และต่อยอดงานวิจัยด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพื่อสร้างบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถด้าน AI และหุ่นยนต์ โดยงานแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 13 - 17 กรกฎาคม 2565 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา (ฮอลล์ EH98 - 100) 

ด้านชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า การพัฒนาเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่กระทรวงฯ มุ่งขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เกิดขึ้น ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่และเมืองที่ทันสมัย ตอบโจทย์ความก้าวหน้าของโลกยุคใหม่ที่เน้นการพึ่งพาดิจิทัลและเทคโนโลยี 

“รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ด้วยการยกเว้นการเก็บภาษี Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี ให้กับนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ทอัพไทย ภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสตาร์ทอัพจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้สตาร์ทอัพไทย เพิ่มขีดความสามารถการระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น โดยสภาดิจิทัลฯ คาดการณ์ว่ามาตรการ Capital Gains Tax จะทำให้ไทยมีเงินลงทุนในสตาร์ทอัพภายในปี 2569 เพิ่มขึ้น 320,000 ล้านบาท” 

ขณะที่ ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง อว. เผยว่า ในฐานะเจ้าภาพการจัดกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ครั้งที่ 25 ในครั้งนี้ กระทรวงได้เล็งเห็นศักยภาพของเยาวชนไทยที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ และความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ ที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นรูปธรรม โดยวางเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ Innovative Economy ตามโมเดล Thailand 4.0 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างยั่งยืน

เช่นเดียวกับจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า การแข่งขันครั้งนี้จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่พร้อมที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเทศ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของภูมิภาค และการเติบโตของระบบนิเวศไอซีที ให้มีความแข็งแกร่งและยั่งยืนมากขึ้น

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ปีเตอร์ สโตน ประธานสหพันธ์โรโบคัพ เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก รายการ World RoboCup จัดขึ้นภายใต้การดำเนินงานของสหพันธ์โรโบคัพนานาชาติ ซึ่งเป็นการจัดแข่งขันวิชาการหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลักดันการวิจัยและพัฒนาวงการหุ่นยนต์ระดับโลก โดยเริ่มจัดการแข่งขันตั้งแต่ปี 2540 และดำเนินการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ มีผู้ร่วมกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 3,000 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก โดยผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลพร้อมประกาศนียบัตรเพื่อเป็นเกียรติคุณ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าแข่งขันสู่การเข้าถึงโอกาสทางวิชาชีพในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้ในระดับสากล

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://2022.robocup.org/index.php หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/RoboCup2022

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook