นับถอยหลังเข้าสู่ปี 2566 “สังคมไร้เงินสด” คืบหน้าแล้วแค่ไหน

นับถอยหลังเข้าสู่ปี 2566 “สังคมไร้เงินสด” คืบหน้าแล้วแค่ไหน

นับถอยหลังเข้าสู่ปี 2566 “สังคมไร้เงินสด” คืบหน้าแล้วแค่ไหน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อีกไม่กี่อึดใจ เราก็จะข้ามผ่านปี 2565 เดินหน้าเข้าสู่ปี 2566 เฉลิมฉลองเทศการปีใหม่กันอีกครั้ง ความคืบหน้าเรื่องการผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ “สังคมไร้เงินสด” ไปถึงไหนแล้ว หลังจากที่เมื่อช่วงปลายปี 2564 ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ได้ประกาศนโยบายการรู้จักและการบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้าสำหรับการชำระเงินด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (Know Your Merchant : KYM) เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจชำระเงินใช้เป็นแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการรู้จักและบริหารติดตามความเสี่ยงร้านค้า นโยบายนี้ถือเป็นแนวทางสำคัญในการเตรียมความพร้อมสู่การเข้าสู่สังคมไร้เงินสดและการใช้เงินดิจิทัล โดยเริ่มบังคับใช้เมื่อ 1 มกราคม 2565

และหลังจากนโยบาย KYM ปังคับใช้ได้ครึ่งปี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยข้อมูลจากการสำรวจของ ACI Worldwide ภายใต้ความร่วมมือกับ GlobalData ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลระดับโลกและศูนย์วิจัยทางเศรษฐกิจและธุรกิจ (Centre for Economics and Business Research – CEBR) พบว่าในปี 2564 ประเทศไทยติดกลุ่ม TOP5 หรือ 5 ประเทศที่มียอดการทำธุรกรรมชำระเงินแบบเรียลไทม์มากที่สุดของโลก โดยมียอดการทำธุรกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์จำนวนสูงถึง 9.7 พันล้านครั้ง ติดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากอินเดีย (48.6 พันล้านครั้ง) และจีน (18.5 พันล้านครั้ง) ส่วนอันดับ 4 และ 5 ได้แก่ บราซิล (8.7 พันล้านครั้ง) และเกาหลีใต้ (7.4 พันล้านครั้ง)

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก VISA ผู้นำการให้บริการการชำระเงินดิจิทัลระดับโลก ที่ได้เผยผลการสำรวจเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องทัศนคติการชำระเงินของผู้บริโภค ประจำปีของ VISA ระบุว่า คนไทยมากกว่า 4 ใน 5 หรือกว่า 82% ของจำนวนประชากรได้ลองใช้ชีวิตแบบไร้เงินสด พบว่าโดยเฉลี่ยคนไทยสามารถใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งเงินสดได้มากกว่าหนึ่งสัปดาห์ นานสูงสุดถึง 8 วัน! โดยมีสมาร์ตโฟนเป็นทางเลือกแรกที่ผู้บริโภคทดลองใช้การแตะเพื่อจ่าย (26%) รองลงมาคือ Contactless Card (23%) และสแกนจ่ายผ่าน QR Code (21%)

สังคมไร้เงินสด ภาพที่เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น

เอาเข้าจริงข้อมูลดังกล่าวก็ไม่ได้น่าแปลกใจเท่าไรนัก เพราะแนวคิดสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) มีมาพักใหญ่แล้วในสังคมไทย แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ที่ทำให้ยังใช้ไม่ได้จริงเต็มรูปแบบเหมือนในต่างประเทศ อาจด้วยกลุ่มผู้ที่ไม่ใช้เงินสดในการจับจ่ายต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย เช่น วัยรุ่น วัยทำงาน ชนชั้นกลาง และในอดีตยังมีเทคโนโลยีรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ได้ไม่มากนัก อีกทั้งความปลอดภัยก็ยังมีน้อย ทว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไป ทำให้การเข้าสู่สังคมไร้เงินสดจึงมีข้อดีและตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่มากกว่าที่คิด

อย่างแรก เกิดมาจากการขับเคลื่อนนโยบายการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) จากทางภาครัฐ ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, โครงการ “พร้อมเพย์” (Prompt pay) และ QR Payment และ Government Wallet (G-Wallet) ผ่านแอปฯ เป๋าตัง เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ชิมช้อปใช้ การขายสลากดิจิทัล เป็นต้น รวมถึงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญของการเพิ่มขึ้นของการทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์ ไปไหนมาไหนคนก็พกเงินสดกันน้อยลง บางคนสามารถออกจากบ้านโดยพกแค่โทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวเท่านั้น

เนื่องจากในช่วงที่ COVID-19 ระบาดรุนแรง ผู้คนพบว่าการทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ โดยไม่ใช้เงินสด มีข้อดี คือ ช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ลดการเดินทางไปต่อคิวในธนาคาร และยังช่วยให้สามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวของบัญชีได้ง่ายขึ้นแม้อยู่บ้าน ทำให้ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้

ชีวิตเปลี่ยนไปแค่ไหนกับสังคมไร้เงินสด

อย่างที่เราทราบกันดีแล้วว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมไร้เงินสดมาหลายปีแล้ว แม้จะยังไม่เต็มรูปแบบแต่ก็เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ความเป็นดิจิทัลพัฒนาขึ้นจากเดิม ทุกคนจึงสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายมากแค่มีสมาร์ตโฟน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ต่างก็ปรับตัวตาม พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียก็ส่งผลต่อการใช้อินเทอร์เน็ต รัฐบาลจึงได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) สนองนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อผลักดันให้เกิดสังคมไร้เงินสดในประเทศไทย

ปัจจุบัน คนไทยมีกระเป๋าเงินออนไลน์ทั้ง Mobile Banking บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรโดยสารสาธารณะ และอีกสารพัดบัตรตามแต่ห้างร้านและองค์กร รัฐบาลเองก็ยังมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมีกฎหมายรองรับการทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนค่อย ๆ เลิกใช้จ่ายเงินสด แล้วใช้จ่ายออนไลน์ให้ปลอดภัยและง่ายขึ้นแทน

อย่างที่เห็นว่าคนไทยปรับตัวรับสภาพสังคมไร้เงินสดเป็นอย่างดีในช่วง 2-3 ปีของการระบาดของ COVID-19 คนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะจับเงินสด หันมาพกบัตรต่าง ๆ แทนการพกเงินสด โหลดแอปฯ ของธนาคารไว้สำหรับจับจ่ายใช้สอยด้วย QR Code หรือกดหมายเลขพร้อมเพย์ ร้านค้าต่าง ๆ ก็ปรับเปลี่ยนวิธีจ่ายเงินของลูกค้า รับชำระเงินในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเติมเงิน e-wallet (กระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์) มีเลขบัญชีธนาคารหรือเลขพร้อมเพย์ (PromtPay) หรือกระทั่งชำระเงินด้วย QR Code ให้ลูกค้าสแกน เป็นต้น

ทุกวันนี้ เราจะเห็นเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่หันมาพัฒนาให้ตอบโจทย์กับสังคมไร้เงินสดมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ หรือ Vending Machine ของหลาย ๆ แบรนด์ ที่เพิ่มฟังก์ชันการจ่ายเงินในรูปแบบที่ไม่ใช่เงินสด เช่น ชำระเงินได้ด้วยระบบสแกน QR Code หรือ Digital Payment ผ่านช่องทางต่าง ๆ ทุกธนาคาร หรือเทคโนโลยีที่เรียกว่า Cashless Payment Parking ที่จอดรถแบบดิจิทัลไร้สัมผัส อย่างในไทยเราสามารถจ่ายเงินค่าจอดรถได้ 3 แบบ คือ 1.สแกน QR Code ที่หน้าตู้ตอนออก 2.จ่ายผ่านจุดบริการตู้ Kiosk ที่มีบริการโมบายแบงก์กิ้ง ตามจุดต่าง ๆ ทั่วห้าง 3.E-Stamp ที่ต้องไปจ่ายผ่านเคาน์เตอร์ภายในห้าง

การเปลี่ยนแปลงสภาพสังคมที่จากเดิมต้องพกเงินสดออกจากบ้านทุกครั้งมาเป็นสังคมไร้เงินสด ที่เราไม่ต้องพกเงินสดออกจากบ้านอีกต่อไป แต่ก็สามารถจับจ่ายซื้อของได้ สำหรับหลาย ๆ คนเป็นเรื่องที่สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น คนเฒ่าคนแก่หลาย ๆ คนก็สามารถสแกนจ่ายผ่านสมาร์ตโฟนเป็นแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทางรัฐบาลที่ใช้วิธี “บังคับ” ให้ประชาชนต้องใช้จ่ายแบบไร้เงินสดให้เป็น อย่างการที่ต้องโหลดแอปฯ เป๋าตังมาใช้งานถึงจะเข้าถึงการช่วยเหลือจากรัฐ เวลาจะใช้จ่ายได้ก็ต้องทำผ่านแอปฯ ไม่สามารถดึงออกมาใช้เป็นเงินสดได้

อย่างไรก็ดี ก็ไม่ใช่ทุกที่ที่เราจะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสะดวกสบายหากออกจากบ้านโดยไม่มีเงินสดติดตัวเลยแม้แต่บาทเดียว เพราะมีการจับจ่ายใช้สอยอีกหลายอย่างทีเดียวที่ยังนิยมใช้จ่ายด้วยเงินสด หรือไม่ค่อยเอื้อกับการจ่ายเงินในรูปแบบที่ไม่ใช่เงินสด อย่างการจ่ายค่ารถเมล์ที่ไม่ใช่รถของขสมก. หรือรถโดยสารในท้องที่แบบรถสองแถว เงิน 5-10 บาท จ่ายเงินสดง่ายกว่า ทำให้อาจเกิดกรณีฉุกเฉินที่ขึ้นรถไปแล้วแต่หลาย ๆ คนไม่มีเงินสดจ่าย จะโอนหรือสแกนจ่ายก็ไม่ได้ ทำให้ต้องหยิบยืมเงินสดจากเพื่อนร่วมทางมาจ่ายก่อนแล้วค่อยโอนคืนให้ก็มีมาแล้ว เป็นข้อจำกัดและความเดือดร้อนอยู่บ้างสำหรับคนที่ไม่มีเงินสดพกติดตัวเลย คนไทยจึงควรมีเงินสดติดตัวไว้บ้างเผื่อในกรณีฉุกเฉิน

istock-1306105191

ข้อดี-ข้อเสียของสังคมไร้เงินสด

ข้อดีของการไม่ใช้เงินสด คือ ใช้ง่าย ประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณ กระตุ้นการใช้จ่ายและเศรษฐกิจ และยังตรวจสอบย้อนหลังได้ สังคมไทยจึงมีแนวโน้มที่จะก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบในไม่ช้า แต่ด้วยความที่ “ซื้อง่ายจ่ายคล่อง” จึงอาจทำให้ฟุ้งเฟ้อเกินจำเป็น อีกทั้งมีข้อเสียในเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย เมื่อต้องนำข้อมูลส่วนตัวไปผูกกับระบบและออนไลน์ รวมถึงยังเสี่ยงที่จะทำบัตรหรือทำมือถือหายด้วย ซึ่งเท่ากับว่าเงินอาจหายทั้งบัญชีได้ ถ้าคนอื่นเข้าถึงข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือได้

แต่ถึงกระนั้น โดยรวมการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดก็ยังปลอดภัยกว่าการถือเงินสด ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมากต่อการฉกชิงวิ่งราว หรือฉ้อโกงที่ตรวจสอบย้อนหลังไม่ได้ ในขณะที่การทำธุรกรรมออนไลน์ยังมีวิธีการยืนยันตัวตน และมีการพัฒนาระบบเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้มากขึ้น โดยลดการใช้รหัสผ่าน แต่ใช้รูปแบบการยืนยันตัวตนอย่างอื่นเฉพาะของบุคคลแทน เช่น การใช้ลายนิ้วมือ ตา เสียง หรือการใช้รหัส OTP (One Time Password) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีข้อดี-ข้อเสียอื่น ๆ อีก เช่น

ข้อดี

  • ลดต้นทุนการผลิตธนบัตรและเหรียญกษาปณ์

แต่ละปี ประเทศต้องเสียงบประมาณส่วนหนึ่งไปกับการผลิตธนบัตรและเหรียญกษาปณ์เพื่อนำมาใช้หมุนเวียนในระบบ ทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในส่วนของการจัดการเงินสด อาทิ ค่าขนส่งธนบัตรไปตามศูนย์เงินสดหรือธนาคารพาณิชย์ และค่าทำลายธนบัตรเก่า ฉะนั้น หากเราลดการทำธุรกรรมด้วยเงินสดลง จะทำให้ประเทศประหยัดเงินส่วนนี้ได้ไม่น้อย

  • สามารถจัดการเรื่องเงินได้ดีขึ้น

การจัดการบัญชีจะเป็นเรื่องง่ายขึ้นทั้งในส่วนของผู้ขายและผู้ซื้อ เนื่องจากการโอนเงินทุกครั้ง จะมีการแจ้งเตือนจากธนาคารมาถึงเจ้าของบัญชีเสมอไม่ว่าจะเงินเข้าหรือเงินออก โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจ การรับเงินผ่านช่องทางออนไลน์ จะช่วยให้จัดการรายได้ดีกว่ารับเงินสด เนื่องจากไม่ต้องมาเสียเวลานับเงินสดตอนปิดร้าน ยิ่งวันไหนยอดขายดีอาจได้นั่งทำบัญชีและนับเงินกันนานนับชั่วโมง ทั้งยังลดโอกาสที่จะถูกลูกจ้างโกงหรือทอนเงินผิดอีกด้วย

  • ไม่ต้องเสียเวลาไปทำธุรกรรมที่ธนาคารอีกต่อไป

ในยุคสังคมไร้เงินสด เราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปต่อแถวเพื่อฝาก-ถอนเงินที่ธนาคารอีกต่อไปแล้ว เพราะเราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบริการของ Mobile Banking ได้ นั่ง ๆ นอน ๆ เปิดแอปฯ ธนาคาร ก็จัดการได้ทุกอย่าง

  • ธุรกิจคล่องตัวและเติบโตขึ้น

เนื่องมาจากความสะดวกในการชำระเงิน ทำให้เจ้าของธุรกิจสามารถขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ได้ทุกรูปแบบ และรับชำระเงินผ่าน Mobile Banking บัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบริการพร้อมเพย์ (PromptPay) อำนวยความสะดวกสบายแก่เจ้าของธุรกิจที่ไม่มีหน้าร้านเป็นของตนเอง และนักช้อปออนไลน์ที่ไม่สะดวกเดินทางออกจากบ้าน

  • ลดปัญหาอาชญากรรม

เมื่อลดการใช้เงินสด ก็ย่อมทำให้คนพกเงินสดน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งการที่เราถือเงินสดติดตัวกันน้อยลงก็มีส่วนช่วยในการลดอัตราการฉกชิงวิ่งราว และกรณีทำเงินสดสูญหายไปด้วย เพราะเงินของคุณถูกเก็บรักษาอยู่ในบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด

  • ตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางการเงินได้ง่าย ๆ

ไม่ใช่แค่การใช้จ่ายเท่านั้นที่สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่การเปลี่ยนเป็นสังคมไร้เงินสดช่วยให้ตรวจสอบเรื่องการโอนเงินที่ผิดปกติได้ง่ายขึ้น โดยหากมีการโอนเงินจำนวนมากข้ามบัญชีในลักษณะผิดปกติ รัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐก็สามารถเข้ามาตรวจสอบได้ทันทีว่าเงินจำนวนดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทาหรือไม่

  • ช่วยเรื่องการจัดเก็บภาษี

เมื่อสามารถตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินได้ มีหลักฐานเป็นข้อมูลเดินบัญชี ทำให้รัฐบาลสามารถเรียกเก็บภาษีจากผู้เสียภาษีได้ถูกต้อง ครบถ้วน และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อเสีย

  • ความปลอดภัยของบัญชี

การที่เรานำข้อมูลการเงินทุกอย่างเข้าไปไว้ในรูปแบบออนไลน์ อาจจะทำให้ถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวได้ง่ายขึ้น ดังนั้น ควรหามาตรการรักษาความปลอดภัยของระบบการเงินออนไลน์ให้รัดกุมมากขึ้น อาทิ Log out จากระบบแอปฯ ธนาคารทุกครั้งที่เลิกใช้บริการ ใช้การปลดล็อกแบบรหัสที่คาดเดายากและมีเพียงเราเท่านั้นที่รู้ เป็นต้น ระวังการใช้อวัยวะในร่างกายช่วยในการปลดล็อก ที่ชัดเจนที่สุดคือนิ้วมือ ซึ่งไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป

  • อาจเกิดการใช้จ่ายเกินตัว

เนื่องจากการทำธุรกรรมแบบไร้เงินสดนั้นง่ายเพียงปลายนิ้วสัมผัส อาจกระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าและบริการที่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น เพราะความสะดวกสบายที่เกิดขึ้น ซื้อง่ายจ่ายคล่อง จนทำให้บางครั้งเราก็เพลิดเพลินจนลืมดูตัวเลขค่าใช้จ่ายว่ามันเกินเพดานไปแล้ว

  • ต้องใช้งานอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา

การที่เาจะสามารถใช้จ่ายเงินในบัญชีผ่านระบบออนไลน์ เราจำเป็นต้องพึ่งพาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่มีความเสถียรและรวดเร็ว ฉะนั้น หากอินเทอร์เน็ตหมดหรือไปอยู่ในจุดอับสัญญาณ เราก็ไม่สามารถใช้บริการอะไรได้เลย มีเงินของตัวเองแท้ ๆ แต่นำมาใช้ไม่ได้

  • ระบบทำธุรกรรมออนไลน์ที่ไม่เสถียร

กรณีที่ระบบแอปฯ ของธนาคารล่ม โดยเฉพาะช่วงสิ้นเดือนหรือต้นเดือนที่เงินเดือนออกจะเกิดขึ้นบ่อยมาก เราจะไม่สามารถใช้บริการใด ๆ ได้เลย ไม่ต่างอะไรจากการที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต กรณีนี้ต่อให้อินเทอร์เน็ตจะเร็วและแรงแค่ไหน ถ้าระบบล่มก็กดใช้งานไม่ได้อยู่ดี ในกรณีที่เราต้องใช้เงินจ่ายแบบปัจจุบันทันด่วนแต่จ่ายแบบไร้เงินสดไม่ได้ เราก็ไปต่อไม่ได้เช่นกัน นี่จึงเป็นอีกเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรมีเงินสดติดตัวไว้บ้าง เผื่อในกรณีฉุกเฉินเช่นนี้ มีเงินสดจ่ายก็จบ

ช่วยเรื่องการจัดเก็บภาษี แต่เป็นภาษีที่ใครบางคนไม่อยากจ่าย

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าข้อดีอย่างหนึ่งของสังคมไร้เงินสด คือช่วยเรื่องการเก็บภาษี เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านระบบต่าง ๆ จะมีบันทึกการทำธุรกรรมการเข้า-ออกของเงินทุกรายการ มีหลักฐานเป็นข้อมูลเดินบัญชี ทำให้ภาครัฐสามารถตรวจสอบความเคลื่อนไหวทางการเงินได้ทั้งหมด ซึ่งตรงจุดนี้นี่เองที่ทำให้ร้านค้าหลายร้านเลือกที่จะติดป้ายว่า “ไม่รับโอน/สแกน” หรือ “รับเฉพาะเงินสด” เพราะเงินสดที่รับมา ยื่นให้กันก็จบ ไม่มีหลักฐานใด ๆ ให้ตรวจสอบ

กรณีคล้าย ๆ กันนี้เคยเกิดขึ้นตอนที่รัฐบาลเปิดโครงการ “คนละครึ่ง เฟสที่ 4” เมื่อช่วง 1 ก.พ. – 30 เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ด้วยร้านค้าที่เคยเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งในเฟสที่ผ่านมาจำนวนหลายร้ายต่างพากัน “ยกเลิก” การเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง หากติดตามข่าวจะพบว่าในเนื้อหาข่าวต่างรายงานไปแนวทางเดียวกันว่าที่พ่อค้าแม่ค้าจำนวนหนึ่งยกเลิกการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เนื่องมาจากถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่ม โดยที่หลายคนเข้าใจว่าเป็นการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง

จากกรณีดังกล่าว ทำให้กรมสรรพากรต้องออกมาชี้แจงว่าการที่ร้านค้าเข้าร่วมโครงการคนละครึ่งโดยมีบัญชีถุงเงินซึ่งทางภาครัฐเป็นผู้ดำเนินโครงการ ทำให้ระบบฐานข้อมูลผู้เสียภาษีตรวจสอบรายรับได้ง่ายขึ้น เมื่อร้านค้ามีรายรับเพิ่มขึ้น “จนถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี” ก็เป็นหน้าที่ของร้านค้าที่จะต้องเสียภาษีตามรายรับที่มีตามกฎหมายเท่านั้นเอง ทว่าพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยหลายรายไม่เคยต้องเสียภาษีมาก่อน เพราะเป็นการค้าขายเล็ก ๆ น้อย ๆ ผู้ค้าจึงไม่ได้แจ้งยอดรายได้จากการค้าขาย ทำให้ในอดีตทางกรมสรรพากรไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้จากทางพ่อค้าและแม่ค้าได้

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเรื่องของกฎหมายภาษี e-Payment หรือพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562 ที่เริ่มบังคับใช้แล้ว มีผลให้สถาบันทางการเงินต้องรายงานข้อมูลบุคคลที่มีธุรกรรมเฉพาะให้แก่กรมสรรพากร สำหรับบัญชีที่มีเงื่อนไขคือ มียอดฝากหรือโอนเงินเข้าทุกบัญชี 3,000 ครั้งต่อปีขึ้นไป หรือมียอดฝากหรือโอนเงินทุกบัญชีตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี และมียอดเงินรวมตั้งแต่ 2,000,000 บาทต่อปีขึ้นไป เพื่อไม่ให้มีตัวเลขเหล่านี้ปรากฏจนต้องจ่ายภาษี การรับเงินสดจึงปลอดภัยที่สุด

เมื่อการจับจ่ายใช้สอยแบบไร้เงินสดทำให้มีบันทึกการทำธุรกรรมเป็นหลักฐานเดินบัญชี ร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีรายได้สูงถึงเกณฑ์ที่ต้องจ่ายภาษีจึงพยายามหลีกเลี่ยงไม่รับการทำธุรกรรมที่มีหลักฐานเงินเข้าบัญชีแบบนี้ แล้วเรียกรับเฉพาะเงินสดแทน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจ่ายภาษี เหตุผลที่ผู้ค้าหลายรายอ้างก็คือ เพราะไม่คุ้มกับรายได้ที่ได้รับ เนื่องจากต้นทุนสูง กำไรเลยน้อย มันเลยไม่คุ้มหากต้องเสียภาษีที่มากขึ้นตามรายได้ เพราะในความเป็นจริง เมื่อมีรายได้มาก ใคร ๆ ก็อยากจะเก็บเงินไว้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า ไม่อยากเสียภาษี ทั้งที่เป็นหน้าที่ในฐานะพลเมือง

การที่ร้านค้าต่าง ๆ งดรับการจ่ายเงินแบบไร้เงินสดแล้วรับเฉพาะเงินสดเท่านั้น ก็ไม่ต่างอะไรกับช่วงที่ร้านค้าทยอยยกเลิกการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เนื่องจากภาครัฐสามารถตรวจสอบรายได้ในระบบได้ง่ายขึ้น ซึ่งพอรายได้สูงขึ้นแล้วต้องเสียภาษีก็ไม่อยากที่จะเสียกัน ถ้าไม่อยากเสียภาษี (เพิ่ม) ก็ต้องค้าขายด้วยเงินสดแบบเดิมเพื่อไม่ให้มีหลักฐานในระบบ แต่คำถามคือ ในเมื่อคุณเองก็เป็นผู้มีรายได้ เหตุใดจึงพยายามหลบเลี่ยงภาษี ทั้งที่มันเป็นหน้าที่ของผู้มีรายได้ (ถึงเกณฑ์) ทุกคน

กล่าวคือ พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ที่เปิดรับการจ่ายเงินแบบไร้เงินสด ก็เพื่อเพิ่มช่องทางและความสะดวกในการขายของให้กับลูกค้า หลาย ๆ รายที่ยอดขาย ยอดเงินโอนเข้าไม่ได้มากพอที่จะจ่ายภาษี สรรพากรก็จะไม่เก็บอยู่แล้ว ก็แค่มีหน้าที่ยื่นแบบภาษีตามปกติ แต่ร้านค้าขนาดใหญ่บางร้านที่เสียภาษีแบบเดิม ๆ อยู่แล้ว หรือไม่เคยเสียภาษี พอมีรายได้เข้าเพิ่มขึ้นจนถึงเกณฑ์ที่ใกล้เสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น (ภาษีแบบขั้นบันได) จึงไม่รับชำระเงินแบบไร้เงินสด

หลายคนในสังคมไทยมีพฤติกรรมเช่นนี้จริง ๆ คือ “การไม่อยากจ่ายแต่อยากได้” ถามหาสิ่งนั้นสิ่งนี้จากทางภาครัฐ แต่ในขณะเดียวกันตนเองก็พยายามหลีกเลี่ยง “หน้าที่ในการจ่ายภาษี” ทั้งที่ตนเองเป็นผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีตามหน้าที่ เพื่อให้ “ภาษี” เป็นรายได้ที่นำเข้าภาครัฐเพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศ นำไปสร้างสาธารณูปโภค จัดทำรัฐสวัสดิการ และอื่น ๆ แต่ในเมื่อยังมีคนบางกลุ่มที่กลัวการเสียภาษีอยู่ และพยายามจะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้ภาครัฐไปพร้อม ๆ กับเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ จากรัฐ แบบนี้ก็ไม่ถูกต้องเท่าใดนัก ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่ภาครัฐต้องหาวิธีจัดการกันต่อไป ผู้บริโภคพร้อมปรับตัวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด แต่ถ้าคนขายไม่พร้อม ทุกอย่างก็จบโดยปริยาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook