YouTube ประเทศไทย อัปเดตเทรนด์เกมและแนวทางสำหรับการทำคอนเทนต์เกมบน YouTube

YouTube ประเทศไทย อัปเดตเทรนด์เกมและแนวทางสำหรับการทำคอนเทนต์เกมบน YouTube

YouTube ประเทศไทย อัปเดตเทรนด์เกมและแนวทางสำหรับการทำคอนเทนต์เกมบน YouTube
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

YouTube ประเทศไทย ร่วมกับบริษัทผู้พัฒนาและให้บริการเกมชั้นนำ ได้แก่ Tencent, True Digital และเน็กซอน ไทยแลนด์ เพื่ออัปเดตเทรนด์วงการเกม พร้อมแชร์เทคนิคและเคล็ดลับการสร้างคอนเทนต์เกมเพื่อการเติบโตไปด้วยกันบนแพลตฟอร์ม YouTube และการอบรมเพื่อต่อยอดให้กับ YouTube ครีเอเตอร์สายเกมโดยทีม YouTube ประเทศไทย ภายในงาน “Gaming Summit 2022” โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งออฟไลน์และออนไลน์รวม 540 คน ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงละครเคแบงก์สยามพิฆเนศ เมื่อเร็วๆ นี้

มุกพิม อนันตชัย หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ YouTube ประเทศไทย และเวียดนาม กล่าวว่า “การจัดงาน Gaming Summit 2022 ครั้งนี้นับเป็นความภูมิใจของเราในการช่วยสนับสนุนและยกระดับวงการเกม ซึ่งภายในงานได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ การสร้างแรงบันดาลใจ และการยกระดับทักษะ เพราะปัจจุบัน คอนเทนต์เกมเข้าถึงผู้ชมเป็นจำนวนมากกว่าที่เราคิด รวมทั้งผู้ชมเกมไม่ได้อยู่ภายใต้แนวคิดเดิมๆ อีกต่อไป

ในปี 2563 ถือได้ว่าเป็นปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคอนเทนต์เกมบน YouTube เท่าที่เคยมีมาจนถึงทุกวันนี้ โดยมีสถิติรายงานว่าในปี 2563 มีครีเอเตอร์เกมกว่า 40 ล้านช่องทั่วโลก มียอดรับชมรวมกว่า 1 แสนล้านชั่วโมง ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีกว่า 80,000 ช่องที่มีผู้ติดตามถึง 1 แสนคน มีกว่า 1,000 ช่องที่มีผู้ติดตามมากกว่า 5 ล้าน และมี 350 ช่องที่มีผู้ติดตามมากกว่า 10 ล้านคน และในปี 2564 จากสถิติทั่วโลกล่าสุด ในช่วงครึ่งปีแรกมียอดเข้าชมวิดีโอที่เกี่ยวกับเกมมากถึง 8 แสนล้านวิว มีจำนวนคอนเทนต์ไลฟ์สตรีมเกมมากกว่า 90 ล้านชั่วโมง และมีวิดีโอเกมถูกอัปโหลดไปมากกว่า 250 ล้านวิดีโอ ซึ่งสามารถพูดได้ว่า YouTube เป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมสำหรับสำหรับคอนเทนต์ประเภทเกม เพราะมีผู้ใช้งานที่แอคทีฟกว่า 200 ล้านแอคเคานท์ที่รับชมวิดีโอเกมทุกวันจากสถิติประจำเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเหตุผลที่ YouTube มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากและเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมของสายเกม เพราะประสบการณ์ของคอนเทนต์เกมบน YouTube เกิดขึ้นได้บนหลายหน้าจอ หรือที่เรียกว่า Multi Screen Experience ได้แก่ สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต สมาร์ททีวี คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และแล็ปท็อป รวมทั้ง YouTube ยังรองรับวิดีโอในความยาวทุกขนาด ตั้งแต่ความยาวเป็นชั่วโมง 45 นาที 20 นาที พร้อมด้วยวิดีโอสั้น Shorts ที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้เข้าชมจากทั่วโลกมากถึง 1,500 ล้าน ในแต่ละวัน และมีจำนวนยอดวิว 30,000 ล้านวิวทุกๆ วัน และยังรวมไปถึงโพสต์ และสตอรี่

นอกจากนี้ ยังมีสถิตินักเล่นเกมที่น่าสนใจคือ 80% เล่นเกมเพื่อพักจากโลกความเป็นจริง 76% เพื่อคลายเคลียด และ 70% เพื่อเข้าสังคมกับเพื่อนๆ  และสำหรับนักเล่นเกมก็ไม่ได้สนใจเพียงแค่คอนเทนต์เกมเท่านั้น แต่ยังมีความสนใจในคอนเทนต์อื่นๆ โดย 5 อันดับแรก ได้แก่ เทคโนโลยี 75% เพลงและการแสดงดนตรี 54% แอนิเมชั่น 48% อาหาร 45% และกีฬา 32%

“ในขณะที่วงการเกมเติมโตไป ทั้งในด้านผู้เล่น ผู้ชม เทคโนโลยี เครื่องมือ รูปแบบในการสื่อสาร และประเภทคอนเทนต์ที่หลากหลาย YouTube เองก็มุ่งมั่นที่จะเติบโตไปพร้อมๆ ก้บทุกคนในชุมชนนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาเราได้นำข้อมูลเชิงลึกที่เราพบถึงการหมุนไปของโลกเกมมาพัฒนาเครื่องมือในแพลตฟอร์มเรา เพื่อให้ตอบโจทย์การเข้าถึงแฟนๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ได้แก่ “Research Tab” เครื่องมือที่จะช่วยให้ครีเอเตอร์ได้เกิดไอเดียใหม่ๆ ในการพูดคุยกับแฟนๆ หรือคนที่กำลังจะกลายมาเป็นผู้ติดตาม และ “Clip” เครื่องมือช่วยสร้างไวรัลให้กับคลิปเรา ด้วยตัวครีเอเตอร์หรือแฟนที่สามารถช่วยกันสร้างคลิปย่อยเพื่อส่งต่อและแลกเปลี่ยนกันในหมู่แฟนๆ ของช่อง เพื่อขยายฐานการรับชมคอนเทนต์ ซึ่งยอดวิว ยอดชั่วโมงการดู และรายได้ จะถูกนับเข้าไปรวมกับคลิปตัวเต็มด้วย

นอกจากนี้ ภายในงานฯ ยังมีการแนะนำการสร้างคอนเทนต์และแนวทางปฏิบัติของช่องเกมเพื่อดึงดูดผู้ชม โดยเริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดรูปแบบและผู้ชม เพราะเนื้อหาเกมนั้นมีหลากหลาย การกำหนดรูปแบบจึงเป็นตัวช่วยในการเข้าถึงกลุ่มผู้ชมเป้าหมายได้เป็นอย่างดี การจัดรูปแบบวิดีโอ เพราะแม้จะเป็นเกมเดียวกัน แต่รูปแบบที่แตกต่างก็สามารถดึงดูดผู้ชมได้ไม่เหมือนกัน การเพิ่มประสิทธิภาพเนื้อหาและช่องด้วยภาพย่อวิดีโอ ชื่อวิดีโอ การสร้างเพลย์ลิสต์ และการสร้างชุมชนกับแฟนๆ นโยบายการสร้างรายได้ ลิขสิทธิ์ รวมไปถึงเทคนิคที่ควรทำและเครื่องมือที่น่าใช้ในการไลฟ์หรือสตรีมมิ่ง รวมไปถึงข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเกมจากบริษัทผู้พัฒนาและให้บริการเกมชั้นนำในไทยมาร่วมพูดคุยถึงข้อมูลที่น่านใจ ดังนี้

พาทิศ มหากิตติคุณ รองผู้อำนวยการฝ่ายผลิตดิจิตอลคอนเทนต์ ออนไลน์ สเตชั่น (True Digital) กล่าวว่า “ภาพรวมอุตสาหกรรมเกมโลกมีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 6.2 ล้านล้านบาท (ปี 2021) ซึ่งมูลค่ากว่าครึ่งหนึ่งมาจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ส่วนมูลค่าตลาดเกมภาพรวมในประเทศไทยโดยประมาณคือ 46,000 ล้านบาท (2021) ซึ่งถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นตลาดใหญ่อันดับที่ 20 ของโลก โดยผู้เล่นในไทยนิยมเล่นเกมจากสมาร์ทโฟนมากที่สุด 77% คอมพิวเตอร์ 17% และคอนโซลเกม 6% และแนวเกมที่คนไทยชอบเล่น ได้แก่ Survival, Moba และ Sandbox ซึ่งจากข้อมูลเกมเหล่านี้สิ่งที่จะคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ เกมบนสมาร์ทโฟนจะได้รับความนิยมยิ่งขึ้นไปอีก คุณภาพจะดีจนไม่น่าเชื่อ ทั้งเนื้อเรื่อง กราฟฟิก และการออกแบบตัวละคร และ VR จะมีมาแน่นอน แต่ยังต้องใช้เวลา และสำหรับคำแนะนำถึงครีเอเตอร์คือต้องสามารถตอบตัวเองได้ว่าตัวเราเก่งแบบไหน คนดูของเราเป็นแนวไหน แล้วขยายผลจากข้อมูลหลังบ้านและเครื่องมือที่มีพัฒนาช่อง”

ปัญญารัตน์ สุธรรมวัต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บริษัท เน็กซอน (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวถึงกรณีศึกษาแคมเปญของ YouTube ครีเอเตอร์ ที่ประสบความสำเร็จว่า “การศึกษาแคมเปญของ YouTube ครีเอเตอร์ ที่ประสบความสำเร็จไม่สามารถพึ่งพาได้จากเครื่องมือหรือหลักการใดหลักการหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำร่วมกันระหว่างบริษัทผู้พัฒนาเกม (พับบลิสเชอร์) เอเจนซี่ และครีเอเตอร์ กล่าวคือ “ผู้พัฒนาเกม” หรือ “พับบลิสเชอร์” มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน รู้จุดเด่น มีงบประมาณที่เหมาะสม ต่อมาคือ “เอเจนซี่” ผู้ที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้พัฒนาเกมและครีเอเตอร์ เนื่องจากในแต่ละวันมีครีเอเตอร์หน้าใหม่และที่น่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย เอเจนซี่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญก็สามารถแนะนำครีเอเตอร์ที่เหมาะสมกับจุดประสงค์และงบประมาณให้กับผู้พัฒนาเกมเพื่อการทำแคมเปญร่วมกันได้ และสุดท้าย “ครีเอเตอร์” ที่ต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ของผู้พัฒนาเกมและรู้จักฐานผู้ชม หรือผู้ที่กดติดตามช่อง เพื่อให้การทำคอนเทนต์หรือแคมเปญตอบโจทย์ทั้งผู้พัฒนาเกมและผู้ชมได้ตรงจุด และเกิดความสำเร็จ นอกจากนี้ ครีเอเตอร์ควรมีความรู้ด้านองค์ประกอบที่จำเป็น เช่น การตั้งชื่อวิดีโด ความยาววิดีโอ รูปภาพหน้าปก Timestamp เพราะ YouTube เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอไลบราลีที่มีระบบหลังบ้าน มีอัลกอริทึม ที่จะพาคลิปใดคลิปหนึ่งไปอยู่หน้า Home ของผู้ชมคนใดคนหนึ่ง หรือระบบแนะนำวิดีโอก่อนที่จะดูจบ ดังนั้นครีเอเตอร์ต้องมีความรู้ในเรื่องเหล่านี้เพื่อสร้างโอกาสที่จะนำวิดีโอคลิปไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่และนำผลลัพธ์ที่ดีมาให้”

ศรัณยู ลีละยุทธโยธิน ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ PUBG MOBILE กล่าวว่า "สิ่งที่ผู้พัฒนาเกมมองหาจากครีเอเตอร์ในการเลือกทำคอนเทนต์ภายในเกม คือ "ความเป็นอัตลักษณ์" ซึ่งครีเอเตอร์ที่มีอัตลักษณ์เด่นชัดมีส่วนช่วยอย่างมากในการออกแบบสร้างไอเทมเกม "ความเข้ากันได้กับเนื้อหาภายในเกม" แต่ละเกมมีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่ต่างกัน ดังนั้นหากผู้พัฒนาเกมและครีเอเตอร์สามารถเข้ากันได้ก็จะสามารถนำอัตลักษณ์ในข้อแรกมาทำงานร่วมกันได้ และ "คอมมูนิตี้ที่แข็งแรง" มีส่วนสำคัญอย่างมากในการที่แบรนด์จะตัดสินใจทำงานร่วมกัน เพราะการทำเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ภายในเกมต่างๆ กับครีเอเตอร์ที่มีจุดแข็งทั้ง 3 สิ่งนี้จะสามารถช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับแบรนด์ได้ และช่วยต่อยอดเนื้อหาคอนเทนต์ได้อีกด้วย"

“YouTube จะพัฒนาฟีเจอร์อีกมากมายเพื่อรองรับการเติบโตของครีเอเตอร์เกม เพื่อให้สอดคล้องกับที่ระบบนิเวศน์ของเกมกำลังพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งทั่วโลก นอกจากนี้ YouTube ครีเอเตอร์ท้องถิ่นสามารถเรียนรู้ออนไลน์ฟรีที่ YouTube.com/creators และยังสามารถรับชมวิดีโอไฮไลท์จากงาน “Gaming Summit 2022” ได้ทางช่อง YouTube “Google Thailand” หรือที่ลิงก์นี้” คุณมุกพิม กล่าวสรุป

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ YouTube ประเทศไทย อัปเดตเทรนด์เกมและแนวทางสำหรับการทำคอนเทนต์เกมบน YouTube

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook