ความจริงเบื้องหลังของคนที่ใส่หูฟังแต่ไม่ได้เปิดอะไรฟัง!

ความจริงเบื้องหลังของคนที่ใส่หูฟังแต่ไม่ได้เปิดอะไรฟัง!

ความจริงเบื้องหลังของคนที่ใส่หูฟังแต่ไม่ได้เปิดอะไรฟัง!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าถามถึงอวัยวะชิ้นที่ 33 ที่คนมักจะพกติดตัวเสมอจนแทบจะอยากให้มันละลายติดมือไปด้วยเลยจะได้ไม่ลืม หลาย ๆ คนอาจเลือกตอบโทรศัพท์มือถือ แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรที่คนในสังคมยุคนี้จะติดโทรศัพท์หนักมากชนิดที่ขาดไม่ได้ เพราะโทรศัพท์มือถือกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ที่มีบทบาทในทุกกิจกรรมที่ทำและทุกอิริยาบถ บางคนถ้าไม่มีติดตัวจะเกิดอาการวิตกกังวล ถึงขั้นที่มีคำที่ใช้เรียกอาการวิตกกังวลของคนที่ขาดโทรศัพท์มือถือว่า “โนโมโฟเบีย”

แต่รู้หรือเปล่าว่ามีคนอีกกลุ่มที่สามารถใช้ชีวิตโดยขาดโทรศัพท์มือถือได้สบาย ๆ แต่กลับอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มี “หูฟัง” พอพูดแบบนี้ก็อาจสงสัยว่าแล้วการพกหูฟังติดตัวเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 จะมีประโยชน์อะไรถ้าไม่มีอุปกรณ์ที่ใช้คู่กันอย่างโทรศัพท์มือถือที่เอาไว้ใช้เปิดเพลง คำตอบง่ายนิดเดียว คนกลุ่มนี้ไม่ได้พกหูฟังไว้ฟังเพลง เพราะที่พวกเขายัดใส่รูหูหรือครอบหูเอาไว้นั้น พวกเขาก็แค่ใส่หรือครอบเอาไว้เฉย ๆ โดยที่ไม่ได้เปิดเพลง ดังนั้น ต่อให้เป็นหูฟังชนิดมีสายก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเสียบไว้กับอุปกรณ์ที่ใช้ฟังเพลงใด ๆ ทั้งสิ้น ปลายสายอีกข้างแค่หย่อนใส่ไว้ในกระเป๋ากางเกง!

อันที่จริง หูฟังกับคนรุ่นใหม่ ๆ นั้นเป็นของคู่กัน หากเปิดกระเป๋าของวันรุ่นหรือคนวัยทำงานหลาย ๆ คน หูฟังคือสิ่งสำคัญที่พวกเขาต้องพกไปไหนมาไหนพอ ๆ กับโทรศัพท์และกระเป๋าสตางค์ จึงทำให้ “การใส่หูฟัง” เป็นเรื่องปกติของคนในสังคมปัจจุบัน ซึ่งเราจะเห็นได้บ่อย ในคนที่กำลังเดินทาง หรือขณะกำลังทำกิจกรรมอื่น ๆ แทบทุกกิจกรรม ทว่ามันจะไม่แปลกไปหน่อยเหรอกับคนที่ใส่หูฟังเอาเฉย ๆ โดยไม่เปิดอะไรฟัง เรามาดูความจริงเบื้องหลังกันดีกว่าว่าทำไมพวกเขาถึงทำเช่นนั้น

ความรู้สึกปลอดภัยที่เกิดจากการสร้างโลกที่มีแค่ฉัน

ในทางจิตวิทยา มนุษย์ชอบในสิ่งที่ตนเองควบคุมได้ โดยสิ่งแวดล้อมรอบข้างก็เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการควบคุมเช่นกัน เพราะมันเกี่ยวข้องกับความรู้สึกปลอดภัย ในสภาพแวดล้อมที่รายล้อมไปด้วยผู้คนมากมาย แต่เราไม่ได้ต้องการที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเหล่านั้นเสมอไป การใส่หูฟังจึงเปรียบเสมือนการสร้างเกราะกำบังทางสังคม ตัดขาดจากโลกภายนอก (ที่ล้อมรอบ) แสดงออกถึงนัยยะว่า “ห้ามรบกวน” เพราะไม่สะดวกที่จะให้ใครเข้ามาทำลายพื้นที่ส่วนตัวท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่ส่วนตัว ซึ่งต่อให้ไม่ได้เปิดอะไรฟัง ก็ไม่ได้มีใครรู้ด้วยนี่ว่าเราไม่ได้เปิด

เปิดโหมดอยู่ในโลกส่วนตัว

เพราะคนอื่น ๆ ที่มองมาแล้วเห็นว่าเรากำลังใส่หรือครอบหูฟังเอาไว้ เขาจะรับรู้ได้โดยสัญชาตญาณว่าเรากำลังเปิดเพลงหรือกำลังตั้งใจฟังอะไรอยู่ เขาไม่ได้คิดซับซ้อนขนาดที่ต้องพิสูจน์หรอกว่าเราเปิดเพลงฟังอยู่หรือเปล่า ดังนั้น ถ้าไม่ได้มีเรื่องสำคัญคอขาดบาดตายอะไร ตามมารยาทแล้วเขาก็จะไม่เข้ามารบกวนด้วยรู้ว่าเราต้องการความเป็นส่วนตัว ซึ่งต่อให้เราจะไม่ได้กำลังเปิดอะไรฟังก็ตาม พฤติกรรมที่หาอะไรมาปิดหูไว้มันก็เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งว่าไม่พร้อมจะพูดคุยกับใครหรือให้ใครมารบกวน ฉันกำลังอยู่ในโลกส่วนตัวของฉัน หรือฉันกำลังต้องการสมาธิ

istock-492607420

กันเสียงรบกวนภายนอกได้ส่วนหนึ่ง

บางคนไม่ชอบอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง หรือในสถานการณ์ที่โกลาหลโหวกเหวกโวยวาย แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องอยู่ในสถานการณ์ที่ว่า เสียงเหล่านั้นอาจจะไม่ได้ดังขนาดที่ทำให้รู้สึกหนวกหู แต่มันก็เป็นมลพิษทางเสียงที่สร้างความรำคาญอยู่ดี ดังนั้น แค่ใส่หรือครอบหูฟังไว้ มันก็สามารถกันเสียงรบกวนได้บางส่วน ถึงจะไม่ได้กันขนาดที่ว่าเงียบฉี่ แต่มันก็ตัดความน่ารำคาญไปได้บ้างแบบพวกเสียงจ้อกแจ้กจอแจ ที่รบกวนโสตประสาทแบบขั้นสุดก็จะเหลือเพียงเสียงคุยที่เบาลง จากนั้นไม่นานเราก็จะเข้าสู่โหมดโลกส่วนตัวได้ด้วย แม้ว่าจะยังได้ยินเสียงอยู่ก็ตาม

แค่อารมณ์ที่ไม่อยากคุยกับใคร แกล้งทำเป็นไม่ได้ยินได้ง่ายขึ้น

เราสามารถสร้างโลกส่วนตัวที่ “เงียบ ๆ ของฉันคนเดียว” ขึ้นมาได้ง่าย ๆ โดยที่รอบข้างไม่จำเป็นต้องตกอยู่ในความเงียบ อย่างที่บอกว่าพฤติกรรมการใส่หรือครอบหูฟังเป็นภาษากายอย่างหนึ่งที่ใช้สื่อสารให้ผู้รับสารได้เข้าใจตรงกันว่า “ฉันกำลังอยู่ในโลกส่วนตัว ถ้าไม่จำเป็น ได้โปรดอย่างรบกวน” ดังนั้น ถ้าอยู่ในอารมณ์ที่ไม่อยากจะพูดคุยอะไรกับใคร แค่ใส่หรือครอบหูฟังไว้ ให้หูฟังเป็นสัญลักษณ์กันคนเข้ามารบกวน ใครพูดอะไรมาก็แกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน พวกเขาก็จะเข้าใจได้ว่าเราคงฟังอะไรอยู่ บอกเลยว่าได้ผล เพราะปกติแล้วก็จะไม่มีใครเข้ามายุ่งย่ามอะไรกับเราเวลาที่ใส่หูฟัง

อยากรู้เรื่องอะไรล่ะ ได้ยินตั้งแต่ต้นจนจบเลย

สายเนียนเก็บข้อมูลคงจะใช้วิธีนี้บ่อย ๆ คือใส่หรือครอบหูฟังเอาไว้เฉย ๆ โดยที่ไม่ได้เปิดอะไรฟัง การที่ไม่เปิดเพลงทำให้เรายังได้ยินเสียงพูดคุยในระยะใกล้ทุกคำพูด! เอาเข้าจริงคนรอบข้างที่ตั้งใจจะกล่าวถึงเราหรือตั้งใจจะพูดความลับอะไรก็อาจจะระแวงอยู่นิดหน่อยว่าเราจะได้ยินหรือเปล่า แต่การที่เรานั่งไถโทรศัพท์ทำเนียนไปเรื่อย ๆ แกล้งไม่ได้ยิน ไม่เงยหน้าขึ้นมาสบตา ทำอะไรของตัวเองวนไป ก็ทำให้พวกเขาไว้วางใจว่าเราคงเปิดอะไรฟังอยู่จริง ๆ และน่าจะไม่ได้ยินในสิ่งที่พวกเขาคุยกัน จากนั้นพวกเขาก็จะไม่ระวังคำพูดอีกต่อไปแล้ว อื้อหือ! ได้ยินตั้งแต่ต้นจนจบเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook