“ดีป้า” เผยผลสำรวจอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2564 แพลตฟอร์มบริการโตแรง คาดปี 2565

“ดีป้า” เผยผลสำรวจอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2564 แพลตฟอร์มบริการโตแรง คาดปี 2565

“ดีป้า” เผยผลสำรวจอุตสาหกรรมดิจิทัล ปี 2564 แพลตฟอร์มบริการโตแรง คาดปี 2565
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดีป้า ร่วมกับ สถาบันไอเอ็มซี เผยผลสำรวจข้อมูลสถานภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล ประจำปี 2564 พบภาพรวมอุตสาหกรรมขยายตัวเฉลี่ย 25% จากปี 2563 โดยมีมูลค่ารวมที่ 8.98 แสนล้านบาท  และหากนับรวมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งสำรวจโดย ดีป้า และอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม ปี 2564 จากการสำรวจโดย กสทช. จะมีมูลค่ารวมที่ 1.58 ล้านล้านบาท ขยายตัว 14.33% สะท้อนว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลทุกภาคส่วนเติบโตอย่างมาก โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงสุดคือ บริการดิจิทัลที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีอัตราการเติบโตกว่า 37% ส่งให้จำนวนบุคลากรในอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดมากกว่า 26% เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งขยายจากกลุ่มคนไอทีมาเป็นการสร้างงานให้คนอาชีพอื่น

ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย ดีป้า ร่วมกับ สถาบันไอเอ็มซี ดำเนินการสำรวจข้อมูลสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ประจำปี 2564 โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 อุตสาหกรรมหลัก ประกอบด้วย อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Devices) และ อุตสาหกรรมบริการดิจิทัล (Digital Services) ทั้งในส่วนของข้อมูลรายได้และการจ้างงาน โดยนำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้คำนวณร่วมกัน ซึ่งผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมบริการดิจิทัลมีอัตราการเติบโต 37% ซึ่งคิดเป็นอัตราเติบโตสูงสุดด้วยมูลค่า 3.46 แสนล้านบาท ขณะที่อุตสาหกรรมสื่อออนไลน์ (Online Media) ซึ่งรวมทั้งยูทูบ (YouTube) และเฟซบุ๊ก (Facebook) พบว่ามีการขยายตัวโดยเฉพาะในส่วนรายได้จากการโฆษณา

“สังคมไทยกำลังเข้าสู่บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ผู้คนใช้งานแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ (e-Retail) มีการรับชมสื่อออนไลน์ และใช้บริการขนส่ง (e-Logistics) มากขึ้น ซึ่งตลาดที่เติบโตชัดเจนคือ e-Logistics เช่น บริการสั่งอาหาร ถือเป็นตลาดที่มีการขยายตัวมากกว่า 57% เช่นเดียวกับ e-Retail ที่เติบโต 44% มูลค่าบริการดิจิทัลนี้เพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกับจำนวนบุคลากร ซึ่งไม่ใช่เพียงคนไอที แต่เกิดการจ้างงานที่ทำให้ผู้คนเข้ามาในอุตสาหกรรมดิจิทัลมากขึ้น” ดร.กษิติธร กล่าว

การสำรวจพบว่าจำนวนบุคลากรในอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลปี 2564 มีการเติบโตเฉลี่ย 26.55% เพิ่มเป็น 84,683 ราย จาก 66,917 รายในปี 2563

istock-1365362282

ล็อกดาวน์พาตลาดฮาร์ดแวร์โต

การสำรวจและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลประจำปี 2564 ยังพบว่า มูลค่าอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะเติบโตขึ้น 20% คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 3.86 แสนล้านบาท โดยการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 53% ด้วยจำนวน 5.8 ล้านเครื่อง มูลค่าการซื้อขายเครื่องสูง ส่งผลให้ตลาดคอมพิวเตอร์เติบโตจนเกินระดับ 1 แสนล้านบาท สถิตินี้ทำให้เห็นการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้าสู่สังคมดิจิทัลของประเทศไทย รวมถึงการล็อกดาวน์ และการทำงานจากระยะไกล (Work from Home) ที่มีผลให้ตัวเลขรายได้ของบริษัทในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะเติบโตขึ้นรวม 12%

อีกหนึ่งส่วนที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์คือตลาดหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Robot & Automation) โดยการสำรวจพบว่ามีการนำเข้ามากกว่า 5.53 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโตกว่า 27% ถือเป็นส่วนที่เติบโตอย่างมากในฝั่งฮาร์ดแวร์

นอกจากนี้ การสำรวจพบว่า จำนวนบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะปรับตัวลดลงในปี 2564 ราว 0.45% โดยบันทึกได้ 311,051 ราย จากปี 2563 ที่มี 312,460 ราย

ซอฟต์แวร์คลาวด์-บิ๊กดาต้า โตต่อเนื่อง

ภาพรวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการด้านซอฟต์แวร์ยังคงเห็นการเติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2563 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 1.63 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จาก 1.44 แสนล้านบาทในปีก่อนหน้า โดยบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่ใช้ในประเทศไทยมีมูลค่าราว 1.21 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 14% สิ่งที่พบจากการสำรวจคือ ส่วนใหญ่ยังเป็นบริษัทขนาดเล็กที่มีการจ้างงานเฉลี่ยต่ำกว่า 10 คน และกว่า 90% เป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่า 10 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่ามูลค่าของซอฟต์แวร์แบบคลาวด์ (Cloud) ที่สามารถใช้งานผ่านระบบเซิร์ฟเวอร์ออนไลน์ได้ยืดหยุ่นเติบโตมากกว่าแบบออนพริมิส (On-Premise) ที่ยังอิงกับระบบเซิร์ฟเวอร์ดั้งเดิม

จำนวนบุคลากรในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ปี 2564 มีจำนวน 129,544 ราย เพิ่มขึ้น 4.64% ในขณะที่ตัวเลขในปี 2563 อยู่ที่ 123,805 ราย

การสำรวจยังพบว่า อุตสาหกรรมบิ๊กดาต้าปี 2564 มีมูลค่ารวม 1.59 หมื่นล้านบาท เติบโตขึ้น 14.25% การสำรวจแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1. ส่วนฮาร์ดแวร์ มีมูลค่า 1.92 พันล้านบาท เติบโต 19.07% 2. ส่วนซอฟต์แวร์ มีมูลค่า 4.76 พันล้านบาท เติบโต 13.91% 3. ส่วนบริการดิจิทัล มีมูลค่า 9.31 พันล้านบาท เติบโต 17.53% ขณะที่บุคลากรมีจำนวน 19,392 คน เพิ่มขึ้น 18%

บริการด้านดิจิทัล แรงแซงทุกกลุ่ม

รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี กล่าวถึงผลคาดการณ์ 3 ปีข้างหน้า
(ปี 2565-2567) โดยวิธีประมาณการจากมูลค่าอุตสาหกรรมปีที่ผ่านมาว่า อุตสาหกรรมที่จะเติบโตมากที่สุดในช่วง 3 ปีจากนี้คือ บริการดิจิทัลและบิ๊กดาต้า ตามมาด้วยอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์

“ถ้าพูดถึง 3 อุตสาหกรรมดิจิทัล ฮาร์ดแวร์ถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในการสำรวจในอดีต แต่เชื่อว่า ใน
3 ปีข้างหน้า ด้วยอัตราการเติบโตของแพลตฟอร์มบริการดิจิทัลจะทำให้ Digital Services เป็นส่วนที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกพื้นที่ในอุตสาหกรรมดิจิทัล และในอีก 3 ปีข้างหน้า มูลค่าอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลจะขึ้นไปถึง 6.9 แสนล้านบาทในปี 2567” รศ.ดร.ธนชาติ กล่าว

นอกจากนี้ ในงานแถลงผลสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ และบริการดิจิทัล ประจำปี 2564 คาดการณ์แนวโน้ม 3 ปี ยังมีช่วงของการเสวนา ในหัวข้อ “ทิศทางอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ก้าวไปพร้อมกันกับ depa” โดย คุณกษมา กองสมัคร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานยุทธศาสตร์และความมั่นคง ดีป้า คุณศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ นักวิจัย สถาบันไอเอ็มซี คุณปฐม อินทโรดม กรรมการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และ คุณกุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นโอกาสทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยซึ่งจะเป็นอีกแรงหนุนในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ดีป้า เชื่อมั่นว่า การมอบหมายให้ สถาบันไอเอ็มซี เป็นผู้ดำเนินการโครงการสำรวจข้อมูลและประเมินสถานภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ และบริการดิจิทัล ประจำปี 2564 คาดการณ์แนวโน้ม 3 ปี จะนำไปสู่มุมมองที่เป็นประโยชน์ สอดรับกับนโยบายเรื่องการมุ่งเน้นสนับสนุนให้เกิดการพัฒนา เพื่อสร้างโอกาสและความได้เปรียบทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยในระยะยาว

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารประกอบการแถลงผลการศึกษาข้อมูลสถานภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล ประจำปี 2564 รวมถึงผลสำรวจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมดิจิทัลในมิติต่าง ๆ ที่ ดีป้า ดำเนินการได้ทางเว็บไซต์ www.depa.or.th/th/depakm/digital-indicators, LINE OA: depaThailand และ Facebook Page: depa Thailand

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook