นวัตกรรมแห่งอนาคต ที่ไม่ได้เป็นเพียงภาพจากนิยายไซไฟ
วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีในปัจจุบันยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องจนทำให้สิ่งที่ปรากฏอยู่ในนิยายไซไฟเริ่มค่อย ๆ กลายมาเป็นความจริงมากขึ้นเรื่อย ๆ และนวัตกรรมบางชิ้นได้ถูกพัฒนาให้มีการใช้งานจริง ขณะที่บางชิ้นใกล้จะได้แจ้งเกิดแล้ว
ที่อาคาร Smithsonian Arts + Industries Building ในกรุงวอชิงตัน เพิ่งมีการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมมากมายที่เป็นทั้งสิ่งประดิษฐ์ที่มีออกมาใช้งานแล้วและชิ้นงานต้นแบบของวิวัฒนาการก้าวล้ำนำสมัยที่มีความหวังว่า จะได้มีการใช้งานจริงในอนาคต เช่น กระสวยรางความเร็วสูงที่จะเดินทางจากนครนิวยอร์กมากรุงวอชิงตันได้ในเวลาเพียงไม่ถึง 30 นาที หรือ พาหนะแท็กซี่ทางอากาศแบบไร้คนขับ
แอชลีย์ โมลีส ภัณฑารักษ์ของ Smithsonian Arts + Industries Building บอกกับ วีโอเอ ว่า นักประดิษฐ์นั้นพยายามมองหาความน่าจะเป็นต่าง ๆ และเดินหน้าออกแบบและพัฒนาความความหวังว่า ความพยายามของตนจะประสบความสำเร็จและนำมาซึ่งสิ่งประดิษฐ์แห่งอนาคตในที่สุด
ในความเป็นจริง ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ผู้คนยอมรับกันนั้นไม่ได้เกิดขึ้นกันง่าย ๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอนก็คือ การที่นักวิจัยและนักประดิษฐ์พยายามแล้ว พยายามอีก แม้ว่าจะประสบความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายอันจะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนเราไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้
โมลีส กล่าวว่า สิ่งที่คนเราทำได้ก็คือ ความพยายามที่จะลากเส้นเชื่อมต่อระหว่างชิ้นงานต้นแบบแรก ๆ เข้าด้วยกัน ก่อนจะผนวกเข้ากับงานออกแบบร่วมสมัยทั้งหลายที่มีการใช้งานกันอยู่ เพื่อให้ออกมาเป็นงานที่ผสมผสานทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน ที่อาจจะไม่ได้เป็นไปในแบบที่ผู้ออกแบบชิ้นงานตั้งต้นนั้นตั้งใจจะให้เป็นก็ได้
ในภาวะที่โลกของเราเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ มากมาย ตั้งแต่ ภาวะอดอยาก ไปจนถึงการระบาดของโรคต่าง ๆ และภัยพิบัติทางธรรมชาติทั้งหลายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เทคโนโลยีสามารถเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาที่ว่านี้ได้
อย่างเช่น ในภาคการเกษตร มีการพัฒนาเครื่อง Mineral Rover ที่มีลักษณะเหมือนโต๊ะขนาดใหญ่ที่เคลื่อนไหวด้วยล้อและวิ่งคร่อมแปลงเพาะปลูกได้อย่างคล่องแคล่ว และทำงานด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อวัดขนาดของใบของต้นและนับจำนวนผลผลิต ซึ่งจะช่วยเกษตรกรดำเนินการกระตุ้นปริมาณพืชผักเพื่อการเก็บเกี่ยวได้
อีกตัวอย่างของความพยายามในการประยุกต์เทคโนโลยีให้เข้ากับการใช้งานในชีวิตจริงก็คือ หุ่นพยาบาล ที่มีลักษณะคล้าย กับรถกระเช้าติดล้อที่สามารถก้าวเดินและไต่พื้นผิวต่าง ๆ ได้ และทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในพื้นที่ซึ่งมีสภาพภูมิศาสตร์ลำบาก ๆ และพาหนะปกติไม่สามารถเข้าถึงได้ เป็นต้น
โมลีส ภัณฑารักษ์ของ Smithsonian Arts + Industries Building กล่าวทิ้งทายว่า ขณะที่ เทคโนโลยีสามารถนำเสนอความหวังต่าง ๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านบวกได้ เราทุกคนต้องร่วมมือกันช่วยเพื่อผลักดันให้เกิดความแตกต่างให้กับโลกนี้ได้