รู้ทันเมื่อรับสายจากมิตร (มิจ) ฉาชีพ กับมุกใหม่ “ทายซิใครโทรมา?”

รู้ทันเมื่อรับสายจากมิตร (มิจ) ฉาชีพ กับมุกใหม่ “ทายซิใครโทรมา?”

รู้ทันเมื่อรับสายจากมิตร (มิจ) ฉาชีพ กับมุกใหม่ “ทายซิใครโทรมา?”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อไรก็ตามที่คุณได้เคยเจอกับ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ครั้งแรกในชีวิต ให้คุณจำเอาไว้เลยว่ามันจะไม่มีครั้งสุดท้าย และคุณจะเจอสายเรียกเข้าจากแก๊งนี้ไปอีกเรื่อย ๆ ตราบใดที่คุณรู้ทันมุกหลอกลวงที่แก๊งนี้ใช้หากิน และไม่เคยเสียเงินให้กับแก๊งนี้

นอกจากจะโดนมันด่าสวนกลับมาเวลาที่คุณถูกจับได้ว่ารู้ทัน คุณก็อาจจะแค่หงุดหงิดบ้างหรือรู้สึกว่าเป็นเรื่องตลกของวันที่มีคนมาต่อล้อต่อเถียงลับคมปากของคุณ แต่ถ้าคุณรู้ไม่ทันเนื่องจากมันหลอกได้แนบเนียนมาก หรือเป็นมุกใหม่ที่คุณยังไม่รู้จนคุณตกเป็นเหยื่อ มันจะกลายเป็นความเสียหายทันที

แม้ว่าทุกวันนี้คนในสังคมกำลังตื่นรู้กับภัยหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่พยายามโทรหาเหยื่อแล้วเล่นละครโรงใหญ่ให้ดูน่าเชื่อถือ และขยันหามุกใหม่ ๆ มาหลอกให้คนเชื่อ แม้ข่าวทั้งจากสื่อหลักและสื่อออนไลน์จะออกโรงเตือนกันคึกโครม แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยตกเป็นเหยื่อพวกมันอยู่ดี มุกไหนที่คนเริ่มจับไต๋ได้แล้วจนนำมาเตือนภัยต่อ ๆ กัน กลโกงของแก๊งนี้ก็จะมีการปรับเปลี่ยนพลิกแพลงจากเดิมเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะเปลี่ยนฉากการดำเนินเรื่อง แต่ตัวบทยังใกล้เคียงเดิม ซึ่งมันก็ยังหลอกคนได้ไม่น้อยเช่นเคย

แน่นอนว่าทุกวันนี้แก๊งนี้ยังคงหากินกับมุกเก่าอยู่บ้าง แต่เพราะว่าคนรู้ทันกันเยอะจนเริ่มใช้ไม่ได้ผลแล้ว สมองอันปราดเปรื่องที่ความคิดสร้างสรรค์จะแล่นแต่กับเรื่องทุจริตผิดกฎหมาย ก็จะสรรหาสารพัดวิธีใหม่ ๆ มาหากินต่อไปเรื่อย ๆ และล่าสุดก็ถึงคิวของ “มุกปลอมเป็นคนรู้จัก” ชวนเล่นเกม “ทายซิใครโทรมา?” จากนั้นก็จะขอยืมเงินหรืออะไรก็ว่าไป

อันที่จริง มุกที่แสร้งเลียนเสียงและหลอกให้เราคิดว่าเป็นคนรู้จักนี้มีใช้มาสักพักแล้ว แต่เริ่มมาระบาดหนัก ๆ ในช่วงนี้เพราะมุกเดิมที่เคยใช้บ่อย ๆ เช่น มุกพัสดุผิดกฎหมาย มุกพัสดุถูกตีกลับ มุกค้างชำระค่าบัตรเครดิต มุกเปิดบัญชีผิดกฎหมาย มุกเป็นหนี้นอกระบบ มุกหลอกว่าเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน มุกโอนเงินผิดบัญชีให้โอนกลับ มุกค้างจ่ายภาษีกับกรมสรรพากร ฯลฯ เริ่มที่จะใช้ไม่ได้ผล เพราะมีการออกข่าวและให้ข้อมูลซ้ำ ๆ จนหลายคนตื่นตัว การติดตามข่าวสารทั้งทางสื่อหลักและสื่อออนไลน์ทำให้ผู้คนระมัดระวังตัวมากขึ้น รวมถึงเริ่มที่จะรับมือกับบุคคลปลายสายด้วยเทคนิคต่าง ๆ ทำเอาพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์เสียเวลาไม่น้อยที่ต้องมาเสียเวลาต่อล้อต่อเถียง หลอกเหยื่อก็ไม่ได้อีก

วิธีง่าย ๆ ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้หากินจากการเป็นมิตร

จากประสบการณ์ของคนที่เคยเจอมุกแสร้งทำเป็นคนรู้จักโทรมาหา ซึ่งช่วงนี้จะมีคนจำนวนมากนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวเองมาแชร์เตือนภัยให้กับคนอื่น ๆ ได้ระวังตัวนั้น หลัก ๆ แล้วพวกมิจฉาชีพจะใช้เบอร์แปลกโทรเข้ามาที่เบอร์ของเรา เมื่อเรารับสายแล้ว คนพวกนี้ก็จะตีเนียนทำเหมือนกับเป็นเพื่อนของเรา บทสนทนาต่าง ๆ ที่ใช้เริ่มต้นชวนให้รู้สึกว่าสนิทสนมกันมาก ก่อนที่จะหงายไพ่เด็ดขึ้นมาให้เราทายว่า “จำได้ไหมว่านี่ใคร” ราวกับว่าเป็นเพื่อนเก่าของเราที่ใช้เบอร์ใหม่โทรหา แล้วหยอกล้อเล่น ๆ ให้เราทายว่าจำเสียงได้ไหมว่าเป็นเพื่อนคนไหน และต่อให้เราถามชื่อ คนพวกนี้ก็จะยังคงหลอกล่อแบบติดตลกว่า “จำเพื่อนไม่ได้เหรอ” และ “ตื๊อให้เราทายออกไปสักชื่อ”

เมื่อเราโดนตื๊อหนักเข้า บวกกับเริ่มรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาเสียงปลายสาย เราก็อาจจะ “เผลอเอ่ยชื่อเพื่อน” ของเราที่เรานึกถึงออกออกไปสักชื่อ ทีนี้ก็ที่จะเข้าทางพวกมิจฉาชีพทันที โดยหลังจากที่รู้แล้วว่าเพื่อนของเราชื่ออะไร คนพวกนี้ก็จะสวมรอยเป็นเพื่อนของเราคนนั้นทันที พร้อมทั้งแจ้งว่าไม่ได้ใช้เบอร์เก่าแล้ว และให้บันทึกเบอร์ใหม่ที่ใช้โทรหานี้แทน

จากนั้นก็อาจจะมีการถามไถ่สารทุกข์สุกดิบเล็กน้อยเพื่อให้เหมือนกับที่เพื่อนฝูงจริง ๆ เขาทำกัน เราจะได้ไม่รู้สึกเอะใจสงสัยอะไร บางคนคุยกันเป็นจริงเป็นจังเลยทีเดียว (กรณีที่เข้าใจว่าเป็นเพื่อนเก่าที่ขาดการติดต่อกันไป) เพราะคิดว่าเพื่อนเก่าติดต่อมาจริง ๆ มาถึงตรงนี้ อาจมีการจบบทสนทนาสำหรับวันนี้ไว้เพียงเท่านี้ เนื่องจากขอให้เราเมมเบอร์ใหม่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นก็จะกับเราบอกว่าเดี๋ยวว่าง ๆ จะโทรมาคุยด้วยใหม่ ตอนนี้ขอทำงานก่อนอะไรก็ว่าไป

หลังจากชวนคุยพอหอมปากหอมคอ มิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็จะเริ่มพาเราเข้าประเด็นในเรื่องของเงิน โดยจะทำทีเป็นว่าตอนนี้ตนเองกำลังมีปัญหาเรื่องเงิน อาจจะเป็นปัญหาขัดสนทางการเงิน หรือเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องใช้เงินในทันทีทันใดแต่เงินไม่พอ เลยจะขอยืมเงินจากเราก่อน และจะขอให้เราโอนเงินไปให้นั่นเอง ด้วยความที่เรารู้สึกว่าปลายสายเป็นเพื่อนหรือคนรู้จักที่ต้องการความช่วยเหลือด่วน ยิ่งถ้าจำนวนเงินไม่ได้มากขนาดที่เราจ่ายไม่ไหวหลายคนจึงไม่ทันได้เอะใจจริง ๆ มันจะมีความรู้สึกหวั่นไหวทางอารมณ์เนื่องจากเห็นใจและอยากช่วยเหลือ จึงรีบช่วยเหลือทันที ซึ่งก็เท่ากับว่าเราตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัวสักนิด

ในกรณีที่จำนวนเงินที่ปลายสายขอยืมมาเกินกำลังที่เราจะช่วยเหลือได้ เราอาจจะบอกออกไปว่าตัวเองไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้นที่จะให้ยืม ปลายสายจะไม่ลดละความพยายามที่จะได้หลอกเอาเงินของเรา เข้าทำนองกำขี้ดีกว่ากำตด ได้มาบ้างก็ยังดีกว่าไม่ได้เลย เพราะมิจฉาชีพจะพยายามต่อรองจำนวนเงินไปเรื่อย ๆ ให้เราโอนให้เท่าที่เรามี ถึงตรงนี้บางคนอาจเริ่มรู้สึกตัวจากการที่ถูกเซ้าซี้มากเกินไป ก็จะหาวิธีรับมือขั้นต่อไป แต่อีกหลายคนก็อาจจะยังไม่สงสัย พอจำนวนเงินถูกลดลงมาในราคาที่ตัวเองพอจะให้ยืมไหว ก็จะกดโอนให้ตามที่ตกลงกันทันที

นอกจากนี้ แก๊งมิจฉาชีพบางแก๊งอาจจะล้ำหน้าไปกว่านั้นเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ โดยอาจเป็นไปได้ว่าได้ข้อมูลส่วนตัวของเรามาส่วนหนึ่ง จึงทำการบ้านว่าคนรอบตัวเรามีใครบ้าง และอาจพยายามที่จะเลียนแบบเสียงของเพื่อนคนนั้นเพื่อให้เราหลงเชื่อจริง ๆ กรณีนี้แก๊งมิจฉาชีพอาจใช้เทคโนโลยี AI ที่มีประโยชน์ในเรื่องของการเลียนเสียงเข้ามาช่วยด้วยก็ได้ หลักการทำงานเป็นอาจเป็นเทคนิค voice filter เทคโนโลยี Deepfake ที่ให้ AI จดจำเสียงของเพื่อนคนนั้นจากที่ไหนสักที่ แล้ว AI จะทำการบันทึก เรียนรู้ จดจำ และเลียนแบบใช้เสียงของบุคคลนั้น หรืออาจใช้แอปพลิเคชันง่าย ๆ อย่าง Voice changer และ Jokesphone หรือโปรแกรม Fake voice ในการแปลงเสียงก็ได้

เรื่องดังกล่าว เคยปรากฏเป็นข่าวในสยามรัฐออนไลน์ ที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ถ้าเกินการควบคุมก็อาจถูกนำมาใช้ในทางที่ผิด และถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่อความเสียหายทางลบเป็นวงกว้างได้ ประชาชนควรรู้ข้อมูล และผู้ที่เกี่ยวข้องควรจัดการโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม หากมิจฉาชีพลงทุนใช้วิธีที่จริงจังขนาดนี้ นั่นอาจแปลว่ามิจฉาชีพก็น่าจะรู้จักตัวตนของคุณมากพอสมควร อาจรู้ว่าคุณเป็นคนมีเงิน จึงทำการสืบข้อมูลของคุณมาพร้อม และแน่นอนว่าถ้าถึงขั้นทำขนาดนี้ จะต้องมีเป้าหมายเป็นเงินก้อนใหญ่ และมั่นใจมากว่าคุณจะต้องโอนให้อย่างแน่นอน

วิธีที่ง่ายที่สุดในการเอาตัวรอด คือ เช็กทุกครั้ง

เรื่องเงินเป็นเรื่องที่ไม่เข้าใครออกใครจริง ๆ บางคนที่เจอมุกนี้แล้วเข้าใจทันทีว่าเป็นมุกของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ก็อาจจะบ่ายเบี่ยงเลิกคุยด้วยตัดสายทิ้งไปเลย หรือรับมือแบบกวน ๆ เช่น แกล้งให้ชื่อปลอมเพื่อน แล้วชวนคุยเป็นตุเป็นตะ ก่อนปิดท้ายโดยการเฉลยว่าคุณรู้ทัน และเรื่องที่คุยกันเมื่อครู่เป็นเรื่องแต่งทั้งหมด เพราะคุณไม่มีเพื่อนชื่อนี้ หรืออาจแกล้งให้ชื่อเพื่อนที่เป็นศัตรูไป ชวนคุย แล้วจบที่ว่าเราเป็นอริกัน เคยทะเลาะกันหนักมาก ช่างกล้าที่จะยืมเงินกับคนที่เกลียดกันเข้าไส้ ถ้าไม่ใช่ตัวปลอมทำไม่ได้นะแบบนี้

ถ้าคุณเป็นคนเพื่อนน้อยอยู่แล้ว อาจกล้าที่จะบอกออกไปว่าคุณเป็นคนที่ไม่มีใครคบหาจะมีเพื่อนได้ยังไง หรืออาจจะโยนมุกแสบ ๆ คัน ๆ กลับไปว่าถ้าเป็นเพื่อนกันจริง ๆ ก็ต้องรู้สิว่าคุณเป็นคนไม่มีเงินให้ใครยืมมาแต่ไหนแต่ไร และตอนนี้คุณกำลังลำบากเรื่องเงินเหมือนกัน ไหน ๆ ก็โทรมาแล้ว งั้นขอยืมเงินเธอหน่อยได้ไหมล่ะ หรือถ้าคุณเด็ดขาดมากพอที่จะตัดเพื่อนกับพวกที่ชอบยืมเงิน แม้ว่าจะเป็นเพื่อนจริง ๆ โทรมา ก็บอกไปเลยว่าไม่ให้ยืมจะเลิกคบก็ได้นะคุณไม่แคร์ เป็นต้น

แต่ถ้าคุณไม่แน่ใจว่าคนปลายสายเป็นเพื่อนของคุณจริง ๆ หรือเปล่า และคุณทนเห็นเพื่อนเดือดร้อนไม่ได้จริง ๆ (ถ้านั่นเป็นเพื่อนตัวจริง) คุณก็ต้องเช็กให้ชัวร์ว่าคนที่โทรมาเป็นเพื่อนของคุณจริงหรือไม่ หากเป็นเพื่อนที่มีเบอร์โทรของกันและกัน (ที่ปลายสายเคยบอกว่าเป็นเบอร์เก่าเลิกใช้แล้ว) ให้โทรเช็กเลยว่าใช่คนรู้จักของเราจริง ๆ ไหม แล้วต้องการยืมเงินเราจริงหรือเปล่า หากเช็กแล้วไม่ใช่ก็เลิกคุยไปเลย ถ้าเป็นเพื่อนเก่าที่ไม่มีเบอร์ แต่น่าจะเป็นเพื่อนกันทางโซเชียลมีเดียอยู่ ก็ให้เช็กจากทางโซเชียลมีเดียก็ได้ (กรณีนี้ให้ระวังเพื่อนโดนแฮกบัญชีด้วย) อาจลองแกล้งหลอกถามอะไรก็ได้ที่มีเพียงคุณและเพื่อนเท่านั้นที่รู้ แล้วดูว่าตอบตรงกับประสบการณ์ที่มีร่วมกันหรือไม่

ส่วนวิธีง่าย ๆ ในการสังเกตว่าคุณกำลังเจอกับมุก “ทายซิใครเอ่ย” ของมิจฉาชีพอยู่หรือเปล่านั้น มีสิ่งที่คุณควรเอะใจอยู่ 2-3 ประการ ประการแรกคือเบอร์แปลกโทรมาแล้วเล่นมุกนี้ ในความเป็นจริง ถ้าเป็นเพื่อนของเราที่กำลังเดือดร้อนจริง ๆ คงจะไม่มาเสียเวลาเล่นเกมอะไรเอ่ยให้เราทายชื่ออย่างแน่นอน ประการที่สอง ความเซ้าซี้ในการเร่งให้เราโอนเงิน ให้โอนให้ทันทีหรือเดี๋ยวนี้ ยิ่งถ้าเราพยายามจะเช็กตัวตนฝ่ายตรงข้ามมากเท่าไร อีกฝ่ายก็จะยิ่งร้อนรนให้เราโอนเงินมากเท่านั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่แค่การตรวจสอบไม่กี่นาทียังรอไม่ได้ และประการที่สาม ชื่อบัญชีที่ให้เราโอนไปนั้นไม่ใช่ชื่อหรือนามสกุลของคนที่เรารู้จัก เป็นชื่อใครก็ไม่รู้ที่ไม่คุ้นเลย สันนิษฐานได้เลยว่าโดนแล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นการเตือนภัยแบบคร่าว ๆ และข้อแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะช่วยให้ทรัพย์สินของคุณปลอดภัยได้บ้างไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ดี คุณต้องมีสติทุกครั้งเมื่อรับสายเบอร์แปลก ทุกการสนทนาต้องพยายามคิดตามให้มาก ๆ ยิ่งดูน่าเชื่อถือมากเท่าไร ความไม่น่าไว้วางใจก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้นในการหลอกลวงยุคนี้ อะไรที่ไม่มั่นใจ ให้ใช้วิธีตรวจสอบย้อนกลับด้วยตัวเอง โดยอาจโทรไปที่เบอร์ทางการของหน่วยงานที่อ้างชื่อมาอีกครั้งเพื่อความถูกต้อง นาทีนั้นมีเพียงคุณเท่านั้นที่จะรักษาเงินของตัวเองไว้ได้

แต่ถ้าใครพลาดท่าเสียทีโอนเงินไปแล้ว แนะนำให้แจ้งความหลังถูกหลอกโอนเงิน และเบื้องต้นให้โทรไปยัง Call Center ของธนาคารปลายทางที่เราโอนเงินไปเพื่อทำการอายัดบัญชี แล้วรีบไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในเขตพื้นที่ที่เกิดเหตุ หรือโทรปรึกษาสอบถาม 1441 หรือ 081-866-3000 หรือแจ้งความออนไลน์ที่ https://www.thaipoliceonline.com/ ก็ได้ (ข้อมูลจากเฟซบุ๊กผู้พิทักษ์)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook