หัวเว่ยเผยเทรนด์อุตสาหกรรมดิจิทัล 2030 ชูเทคโนโลยีเด่น 5G Cloud AI

หัวเว่ยเผยเทรนด์อุตสาหกรรมดิจิทัล 2030 ชูเทคโนโลยีเด่น 5G Cloud AI

หัวเว่ยเผยเทรนด์อุตสาหกรรมดิจิทัล 2030 ชูเทคโนโลยีเด่น 5G Cloud AI
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เผยเทรนด์สำคัญภายใน ปี พ.ศ. 2573 ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและระดับโลก ณ งานประชุมวิชาการ C.P. Symposium 2022 แนะภาคอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยี 5G Cloud และ AI มาประยุกต์ใช้เพื่อการปฏิวัติวงการ ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้อย่างเต็มที่ และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมท่าเรือ 5G Smart Port เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง ทั้งยังมองว่าเทคโนโลยีการประมวลผลคอมพิวเตอร์จะกระจายตัวอย่างเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น เทรนด์พลังงานทางเลือกดิจิทัลจะเข้ามาทดแทนพลังงานฟอสซิลในอีกไม่ช้า และ 7 ภาคอุตสาหกรรมจะเริ่มปรับตัวรับความต้องการของผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ

ดร. ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวในงานประขุมวิชาการ C.P. Symposium 2022 ภายใต้หัวข้อ “ปรับโฉมการเปลี่ยนผ่านของภาคอุตสาหกรรมสู่ยุคอัจฉริยะด้านดิจิทัลอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Shaping Industry Transition towards Digital and Green Intelligent)” ว่า “ในมุมมองของหัวเว่ย เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยผลักดันให้เกิดผลกระทบใหม่ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยถือเป็นนวัตกรรมสำคัญที่องค์กรต้องมีเพื่อให้สามารถปฏิวัติ (Disrupt) วงการและตัวองค์กรเองได้ ถึงแม้ในวงการธุรกิจ การที่เราตามหลังคู่แข่งเป็นเวลา 1-2 ปียังสามารถพลิกกลับมาไล่ตามได้ทัน แต่ในแง่ของเทคโนโลยี หากเราล้าหลังกว่ารายอื่น 1-2 ปีก็ตามไม่ทันแล้ว องค์กรต่าง ๆ จึงไม่ควรวางตัวเองในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ เพราะจะทำให้โดนทิ้งอยู่เบื้องหลังเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากโทรศัพท์มือถือแบบอนาล็อกมาเป็นสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ สิ่งสำคัญของเทคโนโลยีคือช่วยให้องค์กรเข้าใจความคิดและความต้องการของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้คาดการณ์ได้ว่าลูกค้ากำลังอยากจะได้อะไร ไปจนถึงใช้เพื่อช่วยวางกลยุทธ์ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าในอนาคตก่อนที่ลูกค้าจะรู้ตัวเสียอีก”

huawei-industry-trends-2030

ทั้งนี้ ดร.ชวพล ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ จะหันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G Cloud และ AI เป็นหลักในยุคอุตสาหกรรมดิจิทัลที่กำลังจะมาถึง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืออุตสาหกรรม 5G Smart Port ในท่าเรือเทียนจิน ประเทศจีน ที่ต้องรองรับจำนวนตู้คอนเทนเนอร์สินค้ามากถึง 3-5 ล้านตู้ต่อปี ด้วยสภาพแวดล้อมการปฏิบัติงานของท่าเรือที่มีความเสี่ยงและมีอันตรายสูงต่อบุคลากรในพื้นที่ การนำเทคโนโลยี 5G Cloud AI มาประยุกต์ใช้จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถสั่งการจากระยะไกลได้เป็นระยะทาง 1-2 กิโลเมตร ด้วยความเร็วการเชื่อมต่อ 1 Gbps การมีค่าความหน่วง (Latency) ที่ต่ำมาก และการรองรับพื้นที่การเชื่อมต่อเป็นวงกว้าง ทั้งนี้ เทคโนโลยีท่าเรืออัตโนมัติและการควบคุมสั่งการจากระยะไกลช่วยให้ท่าเรือเทียนจินสามารถลดต้นทุนด้านบุคลากรลงไปได้ประมาณ 60-70% ลดต้นทุนการประกอบการในภาพรวมได้ถึง 10% ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน โดยเครือข่าย 5G จะทำให้เจ้าหน้าที่เพียง 1 คน สามารถควบคุมเครนจากระยะไกลได้ถึง 4 ตัว และเปลี่ยนยานพาหนะขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ด้านล่างให้เป็นรถอัตโนมัติไร้คนขับ มีความเร็วและเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังควบคุมมาตรฐานของประสิทธิภาพการทำงานได้ดีขึ้น

“ทิศทางอุตสาหกรรมปี 2030 ใน 7 ภาคอุตสาหกรรมสำคัญจะประกอบด้วย 1. ภาคสาธารณสุขที่จะเน้นเรื่องการป้องกันโรค (Wellness) มากกว่าการรักษา โดยใช้เทคโนโลยีช่วยคาดการณ์ความเป็นได้ของกลุ่มลูกค้าที่อาจมีความเสี่ยงต่อโรค รวมทั้งการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพให้บุคลากรจำนวนเท่าเดิมสามารถดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้น 2. ภาคอุตสาหกรรมอาหาร อาจมีการทำ Precision Farming หรือ เกษตรที่มีความแม่นยำ เพื่อให้ประสิทธิภาพการเพาะปลูกดีขึ้น ลดการใช้ยาฆ่าแมลงหรือสารเคมี รวมถึงไปภาคโภชนาการ สามารถใช้เครื่องพิมพ์ 3D เพื่อทำอาหารประเภทแพลนต์เบส 3. ภาคอสังหาริมทรัพย์จะสามารถใช้เทคโนโลยีจัดการพื้นที่อยู่อาศัยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้อุปกรณ์ในบ้านสื่อสารข้อมูลกันเองได้อัตโนมัติ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมเจ้าของบ้านมากขึ้น 4. ภาคคมนาคม จะเน้นรถอัตโนมัติไร้คนขับแบบคาร์บอนต่ำ 5. ภาคเมือง จะเปลี่ยนเป็นสมาร์ทซิตี้ โดยประชาชนจะสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้สะดวกยิ่งขึ้น 6. ภาคองค์กรธุรกิจ จะนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาปรับกระบวนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และ 7. ภาคอุตสาหกรรมพลังงาน จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง มีการใช้สร้างพลังงานทางเลือกอื่น ๆ มากขึ้น” ดร. ชวพล กล่าว

ทั้งยังกล่าวเสริมว่า บริการต่าง ๆ ในอนาคตจะต้องส่งมอบประสบการณ์แบบ Deterministic Experience เพื่อการันตีความเร็วและค่าความหน่วงให้กับลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมแต่ละแบบที่มีความต้องการใช้งานที่แตกต่างกัน นอกจากนี้เทรนด์การประมวลผลคอมพิวเตอร์ในอนาคตก็จะกระจายตัว (Decentralized) ให้เข้าถึงได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานเชิงพาณิชย์ในวงกว้าง และเทรนด์ดิจิทัลพาวเวอร์ หรือพลังงานสะอาดรูปแบบอื่น ๆ จะเข้ามาทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างแน่นอน

ด้าน ดร. อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด กล่าวถึงความสำคัญของนวัตกรรมในงานประชุมวิชาการดังกล่าวว่า “จุดประสงค์ของการประชุมครั้งนี้คือการแลกเปลี่ยนความรู้ ผนึกกำลังวิชาการ นำไปสู่การปรับปรุง ต่อยอด จนเกิดนวัตกรรมในที่สุด โดยเราจำเป็นต้องอาศัยความก้าวหน้าทันสมัยและการเป็นผู้นำทางวิชาการ จึงจะสามารถขยายประสิทธิภาพการทำงานและสร้างความยั่งยืนได้ โดยในอุตสาหกรรมการเกษตรและการทำอาหารสัตว์ก็จำเป็นต้องพึ่งพาวิทยาการ ความรู้ด้านวิศวกรรม และเทคโนโลยีด้าน IoT แปรรูป ระบบอัตโนมัติ เพื่อให้ผลิตผลได้คุณภาพ ตอบโจทย์ข้อนิยมของเครือซีพีที่ต้องการงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง รองรับการเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การคิดค้นสิ่งใหม่ เพื่อการแข่งขันและเป็นผู้นำทางธุรกิจ ทั้งนี้ ผมต้องขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้มาให้ความรู้แก่พวกเรามา ณ งานประชุมครั้งนี้ด้วย”

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ หัวเว่ยเผยเทรนด์อุตสาหกรรมดิจิทัล 2030 ชูเทคโนโลยีเด่น 5G Cloud AI

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook