ถ้าชาวทวิตภพหันหลังให้ทวิตเตอร์ จะย้ายไปใช้แอปฯ อะไรกัน

ถ้าชาวทวิตภพหันหลังให้ทวิตเตอร์ จะย้ายไปใช้แอปฯ อะไรกัน

ถ้าชาวทวิตภพหันหลังให้ทวิตเตอร์ จะย้ายไปใช้แอปฯ อะไรกัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่อีลอน มัสก์ นักธุรกิจ นักลงทุน ผู้ประกอบการ วิศวกร นักประดิษฐ์ มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก และวันนี้ก็เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มนกฟ้าอย่าง Twitter อย่างเป็นทางการ หลังจากปิดดีลการซื้อขายที่รุงรังเป็นมหากาพย์ไปเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในราคาสูงถึง 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หลายคนคงเห็นปรากฏการณ์วุ่นวายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากเจ้าของทวิตเตอร์คนใหม่เข้าทำงาน ทั้งการลาออก-ไล่ออก พนักงานและผู้บริหารชุดเก่า การปิดสำนักงาน แนวทางการปราบปรามบอต นโยบาย freedom speech นโยบายให้ผู้ใช้งานจ่ายเงินรายเดือนเพื่อซื้อเครื่องหมายถูกยืนยันตัวตนบัญชี การจะนำแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น Vine กลับมา การคืนบัญชีให้โดนัลด์ ทรัมป์ ฯลฯ

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อไหวต่าง ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในองค์กรของทวิตเตอร์หลังจากที่เปลี่ยนชื่อเจ้าของ เพราะตัวบรรดาผู้ใช้งานทั่วไปอย่างเรา ๆ หลายคนก็รู้สึกไม่พอใจกับความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างของนโยบายใหม่ที่กระทบกับการใช้งาน และอาจรวมถึงความไม่ชอบพอเป็นการส่วนตัวกับชื่อของเจ้าของคนใหม่ ชาวทวิตภพส่วนหนึ่งจึงกำลังมองหาแพลตฟอร์มทางเลือกอื่น ๆ เพื่อหนีจากทวิตเตอร์

สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องใหญ ถึงขนาดที่ Daily Mail รายงานว่าเทรนด์การค้นหา “วิธีลบทวิตเตอร์” เพิ่มขึ้นถึง 500 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงวันที่ 24-31 ตุลาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ เทรนด์การค้นหาคำว่า “คว่ำบาตรทวิตเตอร์” ก็เพิ่มขึ้นถึง 4,800% ในช่วงวันที่ 26 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน ที่สำคัญ ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายรายก็ออกจากแพลตฟอร์มโดยการลบบัญชีของตนเองออกไปแล้ว นับเป็นการรับน้องใหม่เจ้าของคนปัจจุบันที่ค่อนข้างจะแสบพอตัว เพราะมันคงไม่มีประโยชน์อะไร หากอีลอน มัสก์จะเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มที่ค่อย ๆ ร้างผู้คนใช้งานลงเรื่อย ๆ

ถึงอย่างนั้นทุกวันนี้โซเชียลมีเดียก็เปรียบเสมือนลมหายใจของใครหลายคนไปแล้ว ให้เลิกเล่นเลยคงยาก เพราะฉะนั้น จึงน่าจะเป็นการย้ายไปยังแพลตฟอร์มทางเลือกอื่น ๆ มากกว่า และถ้าชาวทวิตภพหันหลังให้กับแพลตฟอร์มนกฟ้าจริง ๆ แล้วย้ายไปแพลตฟอร์มใหม่ จะมีแพลตฟอร์มอะไรที่น่าหมายตาบ้าง

Mastodon

Mastodon กลายเป็นแพลตฟอร์มทางเลือกใหม่ของผู้ใช้ทวิตเตอร์เดิมที่กำลังได้รับความสนใจ เนื่องจากมีการลงทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ปัญหาความรุงรังในทวิตเตอร์กลายเป็นข่าว จริง ๆ Mastodon ไม่ใช่แพลตฟอร์มใหม่ เพราะเปิดตัวครั้งแรกในปี 2016 โดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์อย่าง Eugen Rochko มีการนิยามตนเองว่า “เป็นแพลตฟอร์มฟรีที่ทุกคนสามารถปรับแต่งได้ และมีการกระจายอำนาจ” ทุกคนสามารถสร้าง Mastodon ของตนเองได้ (ที่เรียกว่าการสร้างเซิร์ฟเวอร์) พร้อมกฎและข้อบังคับที่เป็นของตนเองเท่านั้น

สำหรับการใช้งาน แม้จะไม่ได้มีโครงสร้างเหมือนกับทวิตเตอร์เสียซะดีเดียว โดยเฉพาะข้อแตกต่างสำคัญคือเรื่องเซิร์ฟเวอร์ แต่ก็น่าจะพอแทนกันได้ แทนที่จะ “tweet” การเล่น Mastodon จะเรียกว่า “toots” โดยผู้อื่นสามารถกดไลก์ รีโพสต์ และติดตามกันและกันได้เหมือนกับในทวิตเตอร์เลย

Minds

การหนีทวิตเตอร์ไปยัง Minds ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่กระแส #ไม่เอาทวิตเตอร์ไทยแลนด์ รอบก่อน หรือประมาณ 2 ปีที่แล้ว คร่าว ๆ ก็คือช่วงนั้นทวิตเตอร์ได้ปรับนโยบายความเป็นส่วนตัวใหม่ ให้สามารถแบ่งข้อมูลผู้ใช้งานให้กับพาร์ทเนอร์ ทำให้คนไทยที่ใช้ทวิตเตอร์เริ่มกังวลเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะความคิดเห็นในทางการเมือง และกลัวว่ารัฐบาลไทยจะขอข้อมูลผู้ใช้จากทวิตเตอร์ได้ง่ายขึ้น รวมถึงการปรากฏตัวของบัญชี Twitter Thailand ที่ทำให้หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทวิตเตอร์ไม่ปลอดภัยที่จะเล่นอีกต่อไป

ในเวลานั้น ชาวทวิตภพเลือก Minds ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียที่สามารถโพสต์ข้อความ รูปภาพ วิดีโอ เขียนบล็อก ใส่แฮชแท็ก และแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระโดยไม่มีการจำกัดเนื้อหาที่โพสต์ อีกทั้งยังไม่เก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้อย่างหมายเลข IP ไม่มีการขอหมายเลขโทรพท์หรือชื่อจริงของผู้ใช้ วิธีการสมัครใช้งานก็ง่ายแค่กรอกชื่อ รหัสผ่าน อีเมล จากนั้นก็ยืนยันอีเมล และหลังจากนั้นไม่นานก็รองรับการใช้งานภาษาไทยด้วย ทำให้ Minds มียอดติดตั้งและใช้งานเพิ่มมากขึ้นในตอนนั้น แต่ทุกวันนี้กระแสก็ค่อย ๆ แผ่วไป

gettyimages-180464664

Gettr

หากทวิตเตอร์มีแนวโน้มที่จะล่มจริง ๆ ตามที่หลายคนคาดว่าทวิตเตอร์อาจจะใกล้ถึงคราวอวสานในอีกไม่นานนี้ จึงต้องรีบหาแพลตฟอร์มใหม่มาใช้งาน Gettr เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่คนพูดถึงกันมาก โดยเป็นโซเชียลมีเดียที่สร้างขึ้นโดย Jason Miller อดีตเลขาธิการและโฆษกของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่งเปิดตัวใช้งานเป็นทางการเมื่อ 4 กรกฎาคม 2021 ที่ผ่านมานี้เอง มีเป้าหมายหลักเพื่อการสนับสนุนกลุ่มอนุรักษ์นิยมอเมริกัน

Gettr เป็นแอปฯ ที่มีความคล้ายคลึงกับทวิตเตอร์อยู่หลายอย่างทีเดียว แบบว่าถ้าย้ายไปใช้งานก็ใช้เวลาศึกษาไม่นาน โดยเน้นเสรีภาพในการสื่อสารและการแสดงความคิดเห็น แอปฯ จะอนุญาตให้ผู้ใช้งานโพสต์เนื้อหา, ปักหมุด, แชร์เรื่องราว และรีโพสต์คอนเทนต์ของบัญชีอื่น ๆ ได้

Bluesky Social

ปิดท้ายที่โซเชียลมีเดียในอนาคตอันใกล้ ที่ Jack Dorsey อดีตผู้ก่อตั้งและผู้บริหารทวิตเตอร์ประกาศที่จะเปิดตัวหลังจากลาออกจากทวิตเตอร์ในยุคที่อีลอน มัสก์เข้ามากุมบังเหียน เขาตั้งใจจะสร้างเครือข่ายโซเชียลมีเดียแบบกระจายอำนาจขึ้นมา ให้บัญชีผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงตลาดเปิดของอัลกอริทึม และหวังว่าแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วย Bitcoin ของเขาจะดึงผู้ใช้ออกจากโซเชียลมีเดีย Web2 ที่เต็มไปด้วยสแปมและการหลอกลวงได้

อย่างไรก็ตาม เขาประกาศเปิดตัว Bluesky ครั้งแรกในปี 2019 โดยมีจุดประสงค์ที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียแบบเดิม ได้รับแรงบันดาลใจจากการสร้างพื้นที่สำหรับครีเอเตอร์และผู้ใช้ที่ไม่ถูกควบคุมจากศูนย์กลาง และในเวลานี้ มีการเปิดให้ผู้คนลงชื่อเพื่อทดสอบโซเชียลมีเดียใหม่ใน waiting list มากกว่า 30,000 คน ภายในเวลา 2 วัน ผู้ใช้งานทั่วไปอย่างเรา ๆ ก็เตรียมตัวรอลงทะเบียนใช้งานแอปฯ ใหม่แกะกล่องนี้ในอนาคตกันได้เลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook