สำรวจกระแสทำเหมืองใต้ทะเลลึก ค้นหาแร่ธาตุและโลหะหายาก
อุตสาหกรรมเหมืองแร่กำลังผลักดันให้มีการสำรวจมหาสมุทรลึก ๆ ของโลกให้มากขึ้น เพื่อค้นหาโลหะและแร่ธาตุที่นำไปใช้สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีอื่น ๆ แต่นักวิทยาศาสตร์บางคนกังวลว่า การทำเหมืองในทะเลลึกจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและระบบชีวภาพที่มีความสำคัญต่อชั้นบรรยากาศได้
บรรดานักวิทยาศาสตร์ นักกฎหมาย และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้ร่วมประชุมกันจนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ประเทศจาไมกา เพื่อหารือเกี่ยวกับการทำเหมืองในทะเลลึก โดยองค์กรพื้นทะเลระหว่างประเทศ หรือ (ISA) ซึ่งเป็นกลุ่มอิสระที่สร้างขึ้นโดยสนธิสัญญาสหประชาชาติเป็นผู้จัดการประชุมนี้
ISA ได้ให้ใบอนุญาตสำรวจน่านน้ำลึกนอกอาณาเขตของประเทศใด ๆ 31 ฉบับ แม้ว่าจะยังไม่ได้ให้ใบอนุญาตใด ๆ ในการเริ่มขุดเจาะ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนกังวลว่าจะมีการให้ใบอนุญาตเร็วเกินไป ก่อนที่จะมีการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในเรื่องนี้
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การขุดเหมืองจะทำให้น้ำสกปรก ส่งเสียงดัง และมีแสงสว่างที่อาจเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศในทะเลลึก และว่าบรรดานักวิทยาศาสตร์ไม่ค่อยรู้เรื่องทะเลลึกมากนัก และจำเป็นต้องเรียนรู้เพิ่มเติมก่อนที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับการขุดเหมือง
ทั้งนี้ มีการสำรวจน่านน้ำลึกในมหาสมุทรของโลกไปเพียงไม่ถึง 1% โดยกิจกรรมการสำรวจส่วนใหญ่ในปัจจุบันอยู่ในพื้นที่น่านน้ำขนาดใหญ่ระหว่างฮาวายและเม็กซิโก
บรรดาบริษัทเหมืองแร่โต้แย้งว่า การขุดเหมืองในทะเลลึกมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าและสร้างความเสียหายน้อยกว่าการขุดเหมืองบนบก
สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศคาดว่า ความต้องการแร่ธาตุจะเพิ่มขึ้นหกเท่าภายในปี 2050 รายงานจากฟิทช์เรทติ้งส์ที่เผยแพร่ในเดือนตุลาคมระบุว่า ความต้องการดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนล้วนต้องการแร่ธาตุที่ค้นพบในทะเล
นาอูรู เกาะเล็ก ๆ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้นำด้านการทำเหมือง หวังว่าจะสามารถทำกำไรจากการขุดแร่ที่นำไปใช้ในเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าได้
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ในประเทศอื่น ๆ มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของการขุดเหมืองและกำลังผลักดันให้มีการใช้กฎใหม่ ๆ เพื่อควบคุม
เอลซา โมเรรา มาร์เซลิโน เด คาสโตร (Elza Moreira Marcelino de Castro) ตัวแทนของบราซิลกล่าวในที่ประชุมกล่าวว่า “เรายังคงมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับผลที่จะตามมา”
เอ็มมานูเอล มาคร็อง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวไว้เมื่อต้นปีนี้ว่า เขาสนับสนุนการห้ามทำเหมืองในทะเลลึก ส่วนเยอรมนีซึ่งมีสัญญาการสำรวจสองฉบับ ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ว่าจะไม่สนับสนุนการขุดเหมืองดังกล่าวในเวลานี้
ทางด้านนิวซีแลนด์ ฟิจิ และซามัว ไม่ต้องการให้มีการทำเหมืองจนกว่าจะทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุนจากนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายบางคน
ดีวา เอมอน (Diva Amon) นักชีววิทยาทางทะเลกล่าวว่า การศึกษาในเรื่องนี้ต้องใช้เวลานานหลายเดือนหรือหลายปีจึงจะเสร็จสมบูรณ์ เนื่องจาก “เรายังไม่เข้าใจว่ามีสัตว์ชนิดไหนบ้างที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น และอยู่กันอย่างไร” และว่าเนื่องจากแร่ธาตุจะเติบโตเพียง 1-10 มิลลิเมตรในทุก ๆ ล้านปี ดังนั้นทะเลลึกจึงฟื้นตัวจากความเสียหายได้อย่างช้า ๆ
ส่วนข้อกังวลอื่น ๆ เกี่ยวกับการทำเหมืองในทะเลลึก ได้แก่ การแบ่งเงินและการกำกับดูแลบริษัทเหมืองแร่
สำหรับประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเลสามารถให้การสนับสนุนบริษัทเอกชนที่แสวงหาใบอนุญาตการสำรวจได้ โดยสหรัฐฯ ก็เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ประเทศที่ไม่ได้ลงนามในอนุสัญญานี้
ไมเคิล ลอดจ์ (Michael Lodge) เลขาธิการของ ISA กล่าวในการประชุมที่จาไมกาว่า ทางหน่วยงานต้องการที่จะรับรองการปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเลในขณะที่บรรดาประเทศสมาชิกดำเนินการตามกฎที่ได้รับการเสนอไว้