‘ปัญญาประดิษฐ์’ พ่วง ‘ภาพถ่ายดาวเทียม’ ฮีโร่ช่วยคนยากยามวิกฤต
ด้วยขุมพลังของภาพถ่ายดาวเทียม ประสานกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ กลายเป็นเครื่องมือที่ประเทศต่าง ๆ สามารถนำมาใช้ในการระบุพิกัดและช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากในช่วงวิกฤตได้
ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์พายุเฮอร์ริเคนในฟลอริดาและเปอร์โตริโกได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา โดยมีการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมและระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อช่วยกำหนดเป้าหมายของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด ซึ่งเป็นวิธีเดียวกันที่เคยใช้ในประเทศโตโก ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 มาแล้ว
อีไล โควมาโค ช่างก่อสร้าง จากประเทศโตโก เล่าว่าเมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในปี 2020 ธุรกิจในเมืองหลวงโลเมต้องหยุดชะงัก เขาบอกว่าในตอนนั้น “หากไม่มีงานจากลูกค้า เราไม่สามารถทำงาน รวมถึงหารายได้เล็กน้อยเพื่อเลี้ยงครอบครัวได้ สิ่งนี้สร้างความเสียหายให้กับเราอย่างมาก"
ผู้คนนับล้านทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาความยากจนไม่ต่างจากโควมาโค รัฐบาลพยายามหาวิธีเพื่อบรรเทาและมอบความช่วยเหลือ
แต่คำถามสำคัญสำหรับประเทศโตโก ที่มีประชากรจำนวนมากกว่า 8 ล้านคน คือ ภาครัฐจะระบุตำแหน่งของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดได้อย่างไร?
จอช บลูเมนสต็อค นักวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์จาก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ ชี้ว่าภาพถ่ายจากดาวเทียมสามารถให้ข้อมูลที่น่าสนใจ
เขาอธิบายว่า "ถ้าดูภาพถ่ายจาก Google Maps หรือผู้ให้บริการข้อมูลดาวเทียม เมื่อพิจารณาภาพถ่ายทางอากาศของเมืองต่าง ๆ เราสามารถบอกได้ว่าเมืองนั้นมีความเป็นอยู่ที่มั่งคั่งร่ำรวยหรือไม่ โดยสังเกตจากหลังคาของที่พักอาศัย บ้านที่ร่ำรวยมักจะมีหลังคาที่ทำจากวัสดุเหล็ก แต่บ้านที่ยากจนกว่ามักจะมีหลังคามุงจากหรือฟางที่ทำมาจากวัสดุธรรมชาติ รวมถึงย่านที่เจริญ ถนนหนทางจะลาดยาง มีที่ดินผืนใหญ่ บ้านเรือนมีรั้วรอบขอบกั้นมิดชิด เป็นต้น จึงสามารถพูดได้ว่า มีข้อมูลมากมายที่เราสามารถวิเคราะห์ได้จากภาพถ่ายทางอากาศ”
นักวิจัยได้นำข้อมูลภาพถ่ายไปใช้ร่วมกับระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เพื่อทำการฝึกให้ระบบจดจำรูปแบบเหล่านี้ จนในที่สุดระบบ AI สามารถสร้างแผนที่ เพื่อแสดงภูมิภาคที่ยากจนที่สุดของประเทศโตโกได้สำเร็จ
ในขั้นตอนต่อไปคือการกำหนดเป้าหมายของกลุ่มคนที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดในภูมิภาคเหล่านี้ เอมิลี ไอเคน นักศึกษาระดับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ ได้ใช้ระบบ AI เพื่อศึกษารูปแบบการใช้งานโทรศัพท์มือถือของคนในพื้นที่
เธอได้ค้นพบว่า "คนที่มีฐานะร่ำรวยมักใช้งานโทรศัพท์มากกว่าคนยากจน อีกทั้งคนรวยอาจจะใช้งานการโทรศัพท์ระหว่างประเทศมากกว่า เนื่องจากการโทรข้ามประเทศมีค่าใช้จ่ายที่สูง นอกจากนี้กลุ่มที่มีฐานะดีจะใช้บริการอินเตอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน แต่กลุ่มยากจนมักเลือกใช้โทรศัพท์ฟีเจอร์โฟน หรือ โทรศัพท์ที่มีรูปแบบการใช้งานพื้นฐานทั่วไป ซึ่งใช้งานง่ายไม่มีความซับซ้อน”
บทความที่ไอเคนและทีมวิจัยได้เขียนลงในวารสาร Nature สรุปไว้ว่า ระบบ AI สามารถทำหน้าที่ช่วยระบุพิกัดของกลุ่มคนยากไร้ ได้ดีกว่าความพยายามครั้งแรกของรัฐบาลโตโก ในการกำหนดเป้าหมายความช่วยเหลือที่ผ่านมา
ผู้เชี่ยวชาญยังกล่าวอีกว่า ข้อมูลจากดาวเทียมและการใช้งาน AI ยังช่วยกำหนดเป้าหมายความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว ทั้งในกรณีที่เกิดภัยพิบัติจากสภาพอากาศ ความขัดแย้ง และสถานการณ์อื่นๆ อีกมากมาย