จากเกมสู่การแพทย์! สหรัฐฯ ผสมผสานเทคโนโลยีเสมือนจริง ช่วยบำบัดผู้ป่วย

จากเกมสู่การแพทย์! สหรัฐฯ ผสมผสานเทคโนโลยีเสมือนจริง ช่วยบำบัดผู้ป่วย

จากเกมสู่การแพทย์! สหรัฐฯ ผสมผสานเทคโนโลยีเสมือนจริง ช่วยบำบัดผู้ป่วย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หน่วยงานสาธารณสุขสหรัฐฯ ดึงประโยชน์ของ Extended Reality หรือ XR ที่เป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีเสมือนจริง (Virtual Reality หรือ VR) เทคโนโลยีเสริมจริง (Augmented Reality หรือ AR) และเทคโนโลยีผสานโลกจริงและโลกเสมือน (Mixed Reality/Merged Reality หรือ MR) เข้าไว้ด้วยกัน มาใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคต่าง ๆ บ้างแล้ว

เทคโนโลยี Virtual Reality หรือ VR คือการจำลองทัศนียภาพรอบทิศทางโดยสร้างจากคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้งานจะได้รับประสบการณ์เสมือนจริง เป็นสิ่งที่คุ้นเคยสำหรับผู้เล่นเกม แต่ปัจจุบันกำลังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในวงการแพทย์

อย่างเช่นที่ศูนย์ Cedars-Sinai Medical Center ในนครลอสแอนเจลิส แพทย์และนักวิจัยได้ดำเนินโครงการ Virtual Medicine ซึ่งโดยใช้เทคโนโลยีดังกล่าวกับผู้ป่วย ผ่านอุปกรณ์สวมศีรษะที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ ผู้ป่วยจะได้เห็นภาพแบบสามมิติ พร้อมแสงและเสียงที่ช่วยให้ผ่อนคลาย รวมถึงอีกหลากหลายการใช้งานในด้านการบำบัด

นายแพทย์ แบรนแนน สปีเกิล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริการด้านสุขภาพของ Cedars-Sinai อธิบายว่า “เทคโนโลยีนี้ ถูกใช้สำหรับทั้งเรื่องของกายภาพบำบัด ผู้ที่มีความผิดปกติเรื่องการกิน คนที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยที่มีอาการด้านจิตเภท ซึมเศร้า วิตกกังวล และผู้ที่เผชิญกับภาวะลำไส้แปรปรวน รวมถึงอีกหลากหลายอาการ”

นอกจากนี้ พบว่าการใช้เทคโนโลยี VR สามารถช่วยเยียวยากลุ่มผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุ ผู้พักฟื้นจากการผ่าตัด ผู้ป่วยมะเร็ง และแม้กระทั่งผู้หญิงที่กำลังทำการคลอดลูก

การจำลองประสบการณ์เสมือนจริง ไม่เพียงแต่ช่วยในการรักษาผู้ป่วย แต่ยังเป็นประโยชน์ในการฝึกหัดแพทย์และพยาบาล

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) เรียกว่าสิ่งนี้ว่า Medical Extended Reality หรือ เทคโนโลยีความจริงขยายที่ใช้ในด้านการแพทย์ ที่เป็นการผสมผสานเทคโนโลยีเสมือนจริงที่มีทั้งหมดเข้าด้วยกัน โดยกำลังพิจารณาให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการใช้งานได้มากขึ้น และประเมินประสิทธิภาพของเทคโนโลยีดังกล่าว

ทอม นอริส ผู้ป่วยที่บำบัดด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว เล่าว่า “มันเหมือนกับเราอยู่ในโรงภาพยนตร์ที่ไม่มีแสง ไม่มีคนอยู่รอบตัว สิ่งที่เห็นคือหน้าจอ เหมือนกับว่ามันดึงให้เราเข้าไป ทั้งฉากที่เป็นทุ่งหญ้าบนเทือกเขาในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่มีวัวกำลังเล็มหญ้าอยู่ หรือฉากการว่ายน้ำพร้อมกับโลมา หรือว่ายร่วมกับวาฬสีฟ้าตัวใหญ่”

นอริสยังกล่าวว่า เทคโนโลยีนี้ช่วยให้เขาจัดการความเจ็บปวดเรื้อรัง ที่มีมาตั้งแต่เข้ารับการรักษาโรคมะเร็งเมื่อหลายสิบปีก่อน

นายแพทย์ โอเมอร์ ไลแรน จากโครงการ Virtual Medicine ของ Cedars-Sinai บอกว่า “อุปกรณ์สวมศรีษะนี้ มีไบโอเซนเซอร์ติดตั้งอยู่ ทำหน้าที่รวบรวมอัตราการเต้นของหัวใจ ตรวจดูความแปรปรวนของหัวใจ เก็บข้อมูลของรูม่านตา รวมถึงติดตามการเคลื่อนไหวของดวงตา” จิตแพทย์ผู้พัฒนาโปรแกรมผ่านอุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนนี้อธิบายว่า ระบบจะให้ข้อเสนอแนะ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานมีภาวะจิตใจที่สงบ และช่วยฝึกการรับรู้ของสมองใหม่

ตัวอย่างเช่น ฉากในโลกเสมือนจริงจะให้ผู้ป่วยมีประสบการณ์บินผ่านน้ำตก จิตใจของเขาจะเกิดภาวะสงบ และร่างกายจะตอบสนองต่อความสงบที่เกิดขึ้น

สำหรับอาการเจ็บปวดเรื้อรังอย่างที่ ทอม นอริส เผชิญอยู่ นายแพทย์สปีเกิล อธิบายว่า ความเจ็บปวดอาจจะฝังอยู่ที่สมอง พอ ๆ กับที่เกิดขึ้นในเชิงกายภาพ

นายแพทย์สปีเกิล กล่าวว่า “สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น ก็คือตัวเนื้อเยื่อของร่างกาย อาจจะรักษาได้สมบูรณ์ หรือเกือบจะสมบูรณ์แล้ว แต่ผู้ป่วยก็ยังมีความรู้สึกเจ็บปวด เหมือนกับว่าความเจ็บปวดได้เคลื่อนไปที่ศูนย์กลาง นั่นก็คือสมอง และสมองก็สร้างความรู้สึกเจ็บปวดขึ้นมาเอง”

กระบวนการรับรู้ในสมองสามารถถูกฝึกให้ย้อนกลับได้ หากผู้ป่วยใช้งานระบบการรักษาดังกล่าวราว 8 ถึง 12 สัปดาห์ โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าเทคโนโลยีนี้ สามารถเยียวยาภาวะสุขภาพต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook