จีเอ็ม-ฟอร์ด-กูเกิล จับมือพัฒนา 'โรงไฟฟ้าเสมือน'
บริษัทรถยนต์ เจเนรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) และ ฟอร์ด จับมือกับบริษัทเทคโนโลยี กูเกิล และผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์อีกหลายแห่ง เปิดเผยโครงการจัดทำมาตรฐานสำหรับยกระดับการใช้ โรงไฟฟ้าเสมือนจริง หรือ Virtual Power Plant (VPP) ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยผ่อนเพลาภาระการผลิตไฟฟ้าในกรณีที่ขาดแคลนปัจจัยการผลิต
บริษัทพลังงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร RMI เป็นผู้เริ่มจัดทำโครงการที่มีชื่อว่า Virtual Power Plant Partnership (VP3) ที่มีเป้าหมายจัดทำนโยบายเพื่อสนับสนุนระบบดังกล่าว โดยรวมศูนย์แหล่งพลังงานหลายพันแห่งเข้าด้วยกันซึ่งควบคุมด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ เช่น เนสต์ เทอร์โมสแตท (Nest Thermostat) ของกูเกิล
โครงการนี้ใช้ซอฟต์แวร์ที่ล้ำสมัยและวิธีการต่าง ๆ ในการจัดการกับปัญหาไฟตกหรือไฟดับ เช่น การเปิด-ปิดแบตเตอรีของรถยนต์ไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ หรือการเปลี่ยนระบบการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าไปเป็นแบบประหยัดพลังงานในทันที โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้บริโภคเสียก่อน
ในช่วงที่เกิดวิกฤติคลื่นความร้อนในสหรัฐฯ เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว บริษัทขายส่งไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย System Operator สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาไฟดับได้ด้วยการจัดสรรไฟฟ้าทดแทนจากแหล่งต่าง ๆ รวมทั้ง VPP เพื่อให้สามารถจ่ายไฟได้เพียงพอภายใต้ภาวะฉุกเฉิน โดยมีเทคโนโลยี Nest ของกูเกิล เป็นตัวช่วยในการจัดสรรไฟฟ้า
โครงการโรงไฟฟ้าเสมือนจริงนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในอเมริกา ด้วยการสนับสนุนภายใต้กฎหมาย Inflation Reduction Act ซึ่งผ่านรัฐสภาเมื่อปี 2021 ที่ได้มอบผลประโยชน์ทางภาษีแก่เทคโนโลยีพลังงานทางเลือกต่าง ๆ
RMI คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 โรงไฟฟ้าเสมือนจริง หรือ VPP จะช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าของคนอเมริกันในช่วงสูงสุดได้ราว 60 กิกะวัตต์ หรือเพียงพอป้อนความต้องการไฟฟ้าโดยเฉลี่ยของ 50 ล้านครัวเรือน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 200 กิกะวัตต์ภายในปี 2050