เริ่มแล้ว! บัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) ใช้แทนบัตรจริง

เริ่มแล้ว! บัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) ใช้แทนบัตรจริง

เริ่มแล้ว! บัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) ใช้แทนบัตรจริง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อว่าเหตุผลที่คนไทยบางส่วนยังคงต้องพกกระเป๋าสตางค์ไปไหนต่อไหนกันอยู่ ทั้งที่ปกติใช้บริการพร้อมเพย์หรือกดสแกนคิวอาร์โค้ดชำระค่าสินค้าและบริการเป็นประจำ ตามไลฟ์สไตล์ของสังคมไร้เงินสด นั่นเป็นเพราะต้องพกพวกบัตรต่าง ๆ ติดตัว โดยเฉพาะ “บัตรประจำตัวประชาชน” ซึ่งถือเป็นเอกสารที่มีความสำคัญ ใช้ในการติดต่อทั้งหน่วยงานราชการและเอกชน ใช้พิสูจน์และยืนยันสถานะของตัวบุคคลเมื่อต้องทำธุรกรรมหรือนิติกรรมต่าง ๆ พูดง่าย ๆ ก็คือ ใช้ยืนยันสถานภาพการเป็นคนไทยของตัวบุคคลตามกฎหมาย

นอกจากนี้ ตามกฎหมายแล้ว ความผิดเกี่ยวกับบัตรประชาชนเป็นเรื่องของความมั่นคงด้วยซ้ำไป มันจึงเป็นเอกสารสำคัญที่เราต้องพกติดตัวไว้ควบคู่กับบัตรต่าง ๆ ในกระเป๋า เพราะหากวันดีคืนดีถูกเรียกตรวจสอบจากเจ้าพนักงานตรวจบัตรขึ้นมาแล้วเราไม่ได้พกติดตัว ไม่มียื่นให้ตรวจสอบ มีความผิดที่ต้องได้รับเป็นโทษปรับได้เลย แต่นับตั้งแต่วันนี้ไป คนไทยสามารถใช้ บัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) ซึ่งสามารถแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้โดยไม่ต้องพกบัตรตัวจริง นั่นหมายความว่าสามารถออกจากบ้านด้วยตัวและโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวได้แล้ว ไม่ต้องพกแม้กระทั่งบัตรประจำตัวประชาชน

3

กฎหมายบังคับให้คนไทยพกบัตรประชาชนติดตัว

ตามกฎหมาย พระราชบัญญัติบัตรประจําตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 5 กำหนดให้ผู้มีสัญชาติไทยที่อายุตั้งแต่ 7 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์ และมีชื่ออาศัยอยู่ในทะเบียนบ้านต้องมีบัตรประชาชนตามที่กําหนด อีกทั้งในมาตรา 17 ของกฎหมายดังกล่าว กำหนดไว้ว่า “ผู้ถือบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับซึ่งมีอายุตั้งแต่สิบห้าปีขึ้นไป ผู้ใดไม่สามารถแสดงบัตรหรือใบรับหรือใบแทนใบรับเมื่อเจ้าพนักงานตรวจบัตรขอตรวจ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท”

ดังนั้น ตามกฎหมายแล้ว ผู้ที่ถือบัตรประจำตัวประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีหน้าที่ต้องพกบัตรประชาชนติดไว้กับตัวเสมอ และแสดงบัตรประจำตัวกับเจ้าพนักงานตรวจบัตรเมื่อถูกขอตรวจ มิเช่นนั้นจะมีโทษปรับ 200 บาท โดยถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของ “เจ้าพนักงานตรวจบัตร” ที่สามารถขอตรวจได้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม กับกรณีที่เด็กอายุ 7-14 ปี สามารถทำบัตรประชาชนได้ ซึ่งเป็นการให้ทำไว้ก่อน แต่ไม่ได้บังคับให้ต้องพกติดตัวตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งโทษปรับ 200 บาทตามกฎหมายดังกล่าว ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นในปี พ.ศ.2542 โดยมีเหตุผลการแก้ไขให้มีโทษปรับ 200 บาท เพราะความผิดเกี่ยวกับบัตรประชาชนมีผลกระทบกับความมั่นคง จึงมีการแก้โทษให้หนักขึ้น

อย่างไรก็ดี มีข้อควรรู้ที่ว่า หากคุณถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกตรวจบัตรประชาชน ไม่ใช่ตำรวจทุกนายที่จะมีอำนาจในการตรวจบัตร เพราะตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 1496/2561 เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานตรวจบัตร ระบุว่าเจ้าพนักงานตรวจบัตรที่เป็นข้าราชการตำรวจ ต้องมียศตั้งแต่นายร้อยตำรวจตรีหรือเทียบเท่านายร้อยตำรวจตรีขึ้นไป จึงจะเป็นเจ้าพนักงานตรวจบัตรภายในเขตอำนาจหน้าที่ ส่วนตำรวจชั้นประทวนจะขอดูบัตรประชาชนได้ก็ต่อเมื่อต้องอยู่ที่ด่านตรวจที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น

เพราะฉะนั้น หากคุณถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขอตรวจบัตรประชาชน คุณสามารถขอดูบัตรประจำตัวตำรวจก่อนได้เช่นกันว่าเป็นตำรวจจริงหรือไม่ และมียศระดับร้อยตำรวจตรีขึ้นไปหรือไม่ โดยเฉพาะตำรวจนอกเครื่องแบบที่เข้ามาขอตรวจ ในขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ขอดูได้อย่างเดียว ไม่สามารถถ่ายรูปได้และห้ามยึดบัตรโดยเด็ดขาด

ปิดตำนานการพกกระเป๋าสตางค์เพราะบัตรประชาชนได้เลย

ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ประชาชนสามารถแสดงภาพบัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) บนเครื่องมือสื่อสารผ่านแอปพลิเคชันแทนการแสดงตนด้วยตัวบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิเสธการแสดง Digital ID ของประชาชนได้ เพราะฉะนั้น ใครที่เข้าสู่สังคมไร้เงินสดเต็มตัว เลิกใช้เงินสดไปพักใหญ่ แต่ยังพกกระเป๋าสตางค์ไปไหนมาไหนเนื่องจากบัตรประชาชนก็ไม่ต้องพกอีกแล้ว มีสมาร์ตโฟนเครื่องเดียวจบ!

หลายคนอาจสงสัยว่า บัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) คืออะไร คำตอบก็คือ ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของทางภาครัฐ ซึ่งงบในอดีตที่ผ่านมา การให้บริการของภาครัฐแก่ภาคประชาชนและภาคธุรกิจ หรือการให้บริการของภาคธุรกิจแก่ประชาชน จะต้องมีขั้นตอนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนก่อน ซึ่งมันมีความซ้ำซ้อน สิ้นเปลืองทั้งเวลาและทรัพยากร อีกทั้งยังเกิดภาระต่อผู้มีหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องและยืนยันตัวตน และก่อให้เกิดภาระความไม่สะดวกต่อผู้ใช้บริการด้วย ดังนั้น Digital ID จะช่วยอำนวยความสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอนและการใช้หลักฐาน ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ โดยระบบดังกล่าวจะประกอบด้วยสองส่วน ได้แก่

  • ส่วนของการระบุตัวตน (Identification) การแสดงหลักฐานว่าตัวผู้ใช้เป็นใคร เช่น ชื่อผู้ใช้ หรือ Username
  • ส่วนการพิสูจน์ตัวตน (Authentication) เป็นขั้นตอนการตรวจสอบหลักฐานเพื่อแสดงว่าบุคคลเป็นบุคคลที่เข้าใช้งานจริง เช่น รหัสผ่าน หรือ Password

 

โดยปกติ ในการทำธุรกรรมใด ๆ ก็ตาม มักจะต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนเสมอ ว่าเราคือบุคคลเดียวกันกับที่ระบุไว้จริง ๆ เพื่อให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ มีผลและเชื่อถือได้ ในอดีตที่ผ่านมานั้น เราจะใช้บัตรประชาชนในการยืนยันตัวตน และมีเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการเป็นผู้ตรวจสอบบัตรประชาชนของเรา โดยอาจจะแค่ตรวจสอบใบหน้าว่าเราคือคนเดียวกันกับในบัตรประชาชน หรือนำบัตรของเราไปตรวจสอบข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมก็ได้ บัตรประชาชนจึงเป็นเอกสารสำคัญในการระบุยืนยันตัวตนของเราตามกฎหมาย

จริง ๆ แล้ว ประเทศไทยได้เริ่มมีการผลักดันเทคโนโลยี Digital ID มาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีการใช้งานจริงทั้งในหน่วยงานภาครัฐ, สถาบันการเงิน, ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัพท์ และอื่น ๆ แต่มีคนไทยหลายคนที่ยังไม่ทราบ แต่ในท้ายที่สุด ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ก็จะต้องมี Digital ID เพื่อใช้ในการระบุยืนยันตัวตนบนโลกออนไลน์ และใช้ทำธุรกรรมต่าง ๆ แม้แต่การเข้ารับบริการหรือสวัสดิการจากภาครัฐ ก็จะสามารถใช้ Digital ID ได้ทั้งหมดเช่นกัน ทำให้ Digital ID กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ประชาชนทั่วไปอย่างเรา ๆ ต้องรู้

ในปัจจุบัน บริการจากภาครัฐและเอกชนส่วนใหญ่ต่างก็ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัล จึงต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยี Digital ID ขึ้นมา เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้อย่างถูกต้องแม่นยำและมั่นคงปลอดภัย ในขณะเดียวกัน ก็นำไปใช้ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริง เพื่อทำธุรกรรมอื่น ๆ ได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น

ดังนั้น ตามประกาศพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมให้การบริการของภาครัฐใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก บางส่วนของกฎหมายมีผลบังคับมาตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2565 แล้ว และบางส่วนก็เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ต้องเตรียมการรองรับการให้บริการแก่ประชาชน

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จึงได้ส่งหนังสือเวียนแจ้งทุกจังหวัดและปลัดกรุงเทพมหานคร เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบถึงการมีผลบังคับของมาตรา 14 พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ ที่ประชาชนจะสามารถแสดงภาพบัตรประชาชนทางดิจิทัล (Digital ID) บนเครื่องมือสื่อสารผ่านแอปพลิเคชัน DOPA-Digital ที่กรมการปกครองได้พัฒนาระบบขึ้นสำหรับใช้ Digital ID แทนการแสดงตนด้วยตัวบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการใช้บริการต่าง ๆ โดยที่เจ้าหน้าที่จะไม่สามารถปฏิเสธการแสดง Digital ID ของประชาชนได้

ใช้ Digital ID จะปลอดภัยกว่าจริงเหรอ?

การพัฒนาระบบ Digital ID เข้ามาแทนที่การยืนยันตัวตนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนใบจริง จะมีความปลอดภัยสูงกว่า เนื่องจาก Digital ID มีลักษณะเป็นคิวอาร์โค้ด ในขณะที่บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงนั้นจะเอื้อโอกาสที่มิจฉาชีพสามารถเห็นข้อมูลหน้าบัตรของเราได้ทันทีจากการทำธุรกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการแลกบัตร การติดต่อหน่วยงาน หรือแม้กระทั่งการใช้ประกอบการทำธุรกรรมการเงิน โดย Digital ID จะช่วยลดการปลอมแปลงบัตรประชาชน หรือการสวมรอยแทนเจ้าของที่แท้จริงได้

ซึ่งการใช้บัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตนก็มีปัญหามาโดยตลอด หลัก ๆ คือเรื่องของการปลอมแปลงบัตรประชาชน หรือการฉ้อโกงในรูปแบบต่าง ๆ ที่เห็นได้ชัดว่าบัตรประชาชนนั้นไม่เพียงพอต่อการใช้ยืนยันตัวตนอีกต่อไป ในท้ายที่สุดก็อาจถูกสวมรอยได้จากคนที่ไม่ใช่เจ้าของบัตร

นอกจากนี้ เนื่องจากยุคสมัยและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้ทั้งบริการจากภาครัฐและเอกชนต่างก็ถูกเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัลเป็นส่วนใหญ่ และอาจจะครอบคลุมเกือบทั้งหมดในอนาคต ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยี Digital ID ขึ้นมา ก็เพื่อให้สามารถใช้ระบุยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัลได้นั่นเอง และนำไปใช้ทดแทนบัตรประชาชนตัวจริงเพื่อทำสิ่งต่าง ๆ ได้ ในกรณีที่ถูกเรียกขอตรวจบัตร ก็สามารถใช้ยื่นแทนได้เลยในทันที

หากต้องการใช้งาน Digital ID ต้องทำอย่างไร

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA ได้ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง จัดทำ Digital ID Framework ระยะที่ 1 พ.ศ. 2565-2567 เพื่อผลักดันให้มีการใช้ Digital ID อย่างกว้างขวาง ครอบคลุมทั้งบุคคลและนิติบุคคล และต่อยอดการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ บริการออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการออนไลน์ต่าง ๆ ของรัฐโดยการใช้ Digital ID ได้โดยไม่ต้องพิสูจน์ตัวตนซ้ำซ้อนอย่างที่เคย

ผู้สนใจใช้ระบบ Digital ID สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “D.DOPA” ของกรมการปกครอง ลงในโทรศัพท์มือถือซึ่งรองรับทั้งระบบไอโอเอส (IOS) และระบบแอนด์ดรอย (Android) จากนั้นดำเนินการลงทะเบียน ซึ่งในระยะแรกนี้ ให้ประชาชนใช้บัตรประชาชนตัวจริงเพื่อลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ได้ที่สำนักทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง ทุกเขตในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในระยะต่อไป ระบบลงทะเบียนนี้จะมีการพัฒนาเป็นระบบออนไลน์

หลังจากลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เมื่อต้องติดต่อรับบริการจากหน่วยงานรัฐ หรือมีเจ้าพนักงานตรวจบัตรเรียกตรวจบัตรประชาชนในกรณีต่าง ๆ ประชาชนก็สามารถใช้สมาร์ตโฟนเครื่องที่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแล้วจากการลงทะเบียน แสดงต่อเจ้าพนักงานที่เรียกตรวจแทนการใช้บัตรประชาชนตัวจริงได้เลย

ผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล DOPA-Digital ID สามารถดำเนินการได้ ดังนี้

  1. ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “D.DOPA” ของกรมการปกครอง ลงในโทรศัพท์มือถือก่อนเข้ารับบริการลงทะเบียน ซึ่งรองรับทั้งระบบไอโอเอส (IOS) และระบบแอนด์ดรอย (Android)
  2. ผู้ประสงค์ขอลงทะเบียนจะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนใบล่าสุด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียนทำการตรวจสอบข้อมูลก่อนการลงทะเบียน ณ สำนักทะเบียน
  3. เปิดแอปพลิเคชัน D.DOPA พร้อมทั้งอนุญาตให้ใช้อุปกรณ์ของเครื่องมือ ระบุเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักให้ถูกต้อง
  4. ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการเพื่อทำการลงทะเบียนแทนเอกลักษณ์ดิจิทัล (D.DOPA)
  5. ทำการสแกนคิวอาร์โค้ดในแอปพลิเคชัน
  6. ระบบแจ้งเตือนให้ตั้งค่ารหัสผ่าน โดยทั้ง 2 ครั้งต้องเหมือนกัน
  7. เมื่อระบุครั้งที่ 2 ถูกต้อง ระบบแจ้งเตือนขอยินยอมโดยระบุรหัสผ่านอีกครั้งเพื่ออัปโหลดข้อมูลลงในแอปพลิเคชันมือถือของตน
  8. เมื่อลงทะเบียนเสร็จสิ้น หน้าจอจะแสดงสถานะการสมัครสำเร็จ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook