10 เทคโนโลยีสำคัญปี 2023 จาก MIT Technology Review

10 เทคโนโลยีสำคัญปี 2023 จาก MIT Technology Review

10 เทคโนโลยีสำคัญปี 2023 จาก MIT Technology Review
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในทุก ๆ ปี MIT Technology Review จะเลือกเอา 10 เทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดแห่งปีมาอัปเดตให้กับพวกเราได้รู้ว่าเวลานี้โลกพัฒนาไปถึงไหนแล้ว มีเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ ออกมาบ้าง หรือเทคโนโลยีใดที่กำลังเป็นกระแส เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีค่อนข้างที่จะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเรามากพอสมควร

เราจึงควรที่จะตามให้ทันเพื่อดูว่ามีเทคโนโลยีใดบ้างที่เราใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้มากที่สุด หรือมีความเกี่ยวข้องจนต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง MIT Technology Review ก็ได้ให้เหตุผลมาด้วยว่าเหตุใดเทคโนโลยีทั้งหมดนี้จึงสำคัญ

1. CRISPR ตัดต่อยีน เพื่อควบคุมคอเลสเตอรอล

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา CRISPR (คริสเปอร์) ซึ่งเป็น gene-editing tool ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วจากห้องแล็บสู่คลินิก โดยเริ่มต้นมาจากการใช้รักษาเชิงทดลองสำหรับความผิดปกติทางพันธุกรรมที่หายาก แต่ ณ เวลานี้ CRISPR เริ่มเป็นที่แพร่หลายสู่การทดลองทางคลินิกสำหรับสภาวะทั่วไป จนถูกนำมาใช้รักษาโรคที่พื้นฐานมากขึ้น เช่น การควบคุมภาวะคอเลสเตอรอลสูง รูปแบบใหม่ของ CRISPR กำลังดำเนินต่อไป

2. AI ที่สร้างรูปภาพขึ้นมา

ในปีที่ผ่านมา AI ได้รุกคืบเข้าสู่วงการศิลปะอย่างเต็มตัวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผลที่ตามมาก็คือเกิดดราม่าต่าง ๆ นานา เกี่ยวกับผลงานศิลปะที่ AI สร้างขึ้น และที่ยืนของศิลปินที่เป็นมนุษย์ ทว่าปีนี้จะเป็นอีกปีของศิลปิน AI ซึ่งเป็นโมเดลซอฟต์แวร์ที่พัฒนาโดย Google, OpenAI และบริษัทอื่น ๆ ในการสร้างงานศิลปะสุดน่าทึ่งตามคำสั่งเพียงไม่กี่คำสั่ง พูดง่าย ๆ ก็คือ เพียงแค่คุณพิมพ์คำอธิบายสั้น ๆ ว่าต้องการรูปภาพแบบไหน คุณจะได้รูปภาพตามที่คุณขอภายในเวลาไม่กี่วินาที ทำให้ “จะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป”

3. การออกแบบชิป (chip) ที่เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งอย่าง

เนื่องจากอุตสาหกรรมชิปกำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก จากที่ผ่านมา ผู้ผลิตจะต้องซื้อลิขสิทธิ์ในการผลิตไมโครชิปจากบริษัทขนาดใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า แต่ในเวลานี้มี open standard ตัวใหม่ที่ชื่อว่า RISC-V เข้ามาทำให้วงการออกแบบชิปเปลี่ยนไป ซึ่งทำให้ผู้ผลิตไม่ต้องพึ่งพา chip designers ที่มีเพียงไม่กี่เจ้าในตลาดอีกต่อไป ทุกคนสร้างชิปได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะมีบริษัท startup เป็นจำนวนมากที่กำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการสร้างชิปขึ้นมาเอง

4. โดรนที่ใช้ทางการทหารในตลาดทั่วไป

เดิมที โดรนทางการทหารที่กองทัพใช้นั้นเป็นสิ่งที่ประเทศเล็ก ๆ ไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากมีราคาแพงและกฎหมายควบคุมการส่งออกที่เข้มงวด แต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาขึ้นมา ทำให้หลายบริษัทสามารถสร้างโดรนสู้รบที่มีความซับซ้อนได้ในราคาที่ย่อมเยาลงมามาก อย่าง Bayraktar TB2 ของตุรเคียและโดรนราคาถูกอื่น ๆ ได้เปลี่ยนธรรมชาติของสงครามโดรนเสียแล้ว

5. การจ่ายยาทำแท้งผ่านระบบแพทย์ทางไกล (telemedicine)

เนื่องจากศาลสูงสุดสหรัฐอเมริกาได้วินิจฉัยว่า รัฐต่าง ๆ สามารถออกกฎหมายต่อต้านการทำแท้งได้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2022 ทำให้การทำแท้งไม่ใช่สิทธิตามรัฐธรรมนูญในสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป หลายรัฐในอเมริกาแบนคลินิกทำแท้ง ผู้หญิงจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการทำแท้งได้ ผู้ที่ต้องการทำแท้งจึงต้อง “หาหมอ” ผ่านวิดีโอคอล ดังนั้น ผู้ให้บริการด้านสุขภาพและบริษัท startup จึงหันมาใช้ telehealth เพื่อสั่งจ่ายยาและจัดส่งยาข้ามรัฐเพื่อช่วยให้ผู้คนทำแท้งได้อย่างปลอดภัยที่บ้าน

6. อวัยวะตามสั่ง

ในทุก ๆ วัน จะมีผู้ป่วยเฉลี่ย 17 คนในสหรัฐอเมริกาที่ต้องเสียชีวิตลงระหว่างรอการปลูกถ่ายอวัยวะ เนื่องจากไม่มีอวัยวะให้เปลี่ยน แต่คนเหล่านี้อาจจะรอด รวมถึงคนอื่น ๆ ก็จะได้รับความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีปัจจุบัน ที่ทำให้มีอวัยวะที่แข็งแรงรอให้เปลี่ยน ซึ่งมันอาจมีอยู่อย่างไม่จำกัดด้วย เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์สามารถปลูกถ่ายอวัยวะจากหมูที่ได้รับการตัดต่อพันธุกรรม รวมถึงการสร้างปอดด้วย 3D-printing โดยใช้เซลล์ของผู้ป่วยเองเป็นหมึกพิมพ์

7. รถ EV ที่มาแรงจนขวางไม่ได้

ในที่สุด รถยนต์พลังงานไฟฟ้าก็กลายเป็นตัวเลือกให้กับโลกใบนี้เสียที ทุกวันนี้ รถ EV ได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากแบตเตอรี่รถมีราคาที่ถูกลง และรัฐบาลในหลายประเทศได้ผ่านกฎการปล่อยมลพิษ ออกกฎหมายที่เข้มงวดขึ้นในเรื่องของการควบคุมรถที่ใช้น้ำมัน ส่วนผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หลายรายก็ได้ออกมาให้คำมั่น ประกาศออกสื่อว่าจะมุ่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด และในไม่ช้านี้ ผู้บริโภคทุกหนทุกแห่งก็จะมีเหตุผลดี ๆ มากมายในการเลือกซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้ามากกว่าที่จะปฏิเสธ

8. กล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb

กล้องโทรทรรศน์อวกาศ James Webb ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสืบทอดภารกิจของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Hubble ในการสำรวจเอกภพ มันถูกส่งออกไปถ่ายภาพในอวกาศเมื่อปลายปี 2021 อย่างไรก็ดี ภาพจักรวาลอันไกลโพ้นที่ถ่ายได้โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวนี้นั้นน่าทึ่งตะลึงงันมาก และมันก็ส่งภาพลักษณะนี้กลับมายังโลกมากมาย กลายเป็นว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทรงพลังที่สุดในโลกตัวนี้ทำให้การค้นพบใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วพอ ๆ กับที่นักวิทยาศาสตร์สามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากภาพมากมายนั้น นี่คือการเริ่มต้นศักราชใหม่ของวงการดาราศาสตร์

9. การวิเคราะห์ DNA ยุคดึกดำบรรรพ์

เมื่อก่อน การจะหาลำดับจีโนม จำเป็นต้องมีกระดูกหรือฟันของคนในยุคนั้น แต่ตอนนี้ มีเครื่องมือหาลำดับจีโนมสมัยใหม่ที่ละเอียดมากพอที่จะวิเคราะห์และช่วยให้เราอ่าน DNA ของมนุษย์ที่เก่าแก่มาก ๆ ได้ โดยใช้เพียงตัวอย่างเป็นดินที่มนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์เคยปัสสาวะใส่ ทำให้การศึกษาร่องรอยของมนุษย์ที่เคยอาศัยอยู่เมื่อนานมาแล้วทำได้ง่ายขึ้น เผยให้โลกเห็นว่าพวกเขาใคร และเหตุใดโลกสมัยนั้นจึงเป็นเช่นนั้น นอกจากนี้ยังช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจชีวิตของผู้คนทั่วไปที่มีชีวิตอยู่ในสมัยนั้น ไม่ใช่แค่ชีวิตของผู้คนที่สามารถจ่ายเงินค่าฝังศพอย่างประณีตได้เท่านั้น

10. การรีไซเคิลแบตเตอรี่

เมื่อรถ EV มีจำนวนมากขึ้น ทำให้ความต้องการแบตเตอรี่ก็มากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้หลายบริษัทกำลังสร้างโรงงานที่จะนำแบตเตอรี่เก่ามารีไซเคิล เรียกคืนลิเธียม นิกเกิล และโคบอลต์ จากนั้นก็ป้อนโลหะเหล่านี้กลับไปยังผู้ผลิตแบตเตอรี่ lithium-ion การรีไซเคิลมีความสำคัญในแง่ของการตัดวงจรการทิ้งแบตเตอรี่ในจำนวนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ แบตเตอรี่จะต้องไม่จบลงที่การฝังกลบ เพราะมันอาจเป็นแหล่งโลหะที่จำเป็นอย่างมากสำหรับการจ่ายพลังงานให้กับรถ EV ในอนาคต วิธีนี้จะทำให้ต้นทุนแบตเตอรี่ถูกลงกว่าเดิม อีกทั้งยังลดขยะอันตรายลงได้อีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook