โครงการจรวดสำรวจอวกาศญี่ปุ่นสะดุด หลังจุดระเบิดปล่อยยานไม่สำเร็จ

โครงการจรวดสำรวจอวกาศญี่ปุ่นสะดุด หลังจุดระเบิดปล่อยยานไม่สำเร็จ

โครงการจรวดสำรวจอวกาศญี่ปุ่นสะดุด หลังจุดระเบิดปล่อยยานไม่สำเร็จ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โครงการปล่อยจรวดบรรทุกปานกลางของญี่ปุ่นประสบความล้มเหลวในวันอังคาร หลังเครื่องยนต์เครื่องหนึ่งจุดไม่ติด ทำให้ความพยายามของรัฐบาลกรุงโตเกียวที่จะลดต้นทุนในการพัฒนาโครงการทางอวกาศและการแข่งขันกับบริษัท สเปซเอ็กซ์ ของ อิลอน มัสก์ ต้องสะดุดลงไปโดยปริยาย ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

การถ่ายทอดสดโดย Japan Aerospace Exploration Agency (JAXA) หรือองค์การสำรวจอวกาศของญี่ปุ่น แสดงให้เห็นภาพจรวด เอช-3 (H3) ขนาดความสูง 57 เมตรของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นออกจากฐานปล่อยเทเนกาชิมะ ในจังหวัดคาโกชิมะ ทางภาคใต้ของประเทศ โดยไม่มีปัญหาใด ๆ แต่เมื่อตัวจรวดบินขึ้นถึงความสูงระดับหนึ่ง เครื่องยนต์ที่ 2 ของจรวดกลับจุดไม่ติด ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลภารกิจนี้ต้องกดทำลายจรวดด้วยมือ

ผู้บรรยายจาก JAXA กล่าวว่า “มีการตัดสินใจแล้วว่า จรวดนั้นไม่สามารถบรรลุภารกิจของตนได้ ดังนั้น จึงมีการส่งคำสั่งทำลายออกมา” และว่า “แล้วเกิดอะไรขึ้น ก็เป็นเรื่องที่เราต้องสืบสวนตรวจดูข้อมูลทุกอย่างต่อไป”

เหตุการณ์ครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้น หลังญี่ปุ่นต้องสั่งยกเลิกการปล่อยยานไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว

ฮิโรทากะ วาตานาเบะ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโอซากา ที่เชี่ยวชาญด้านนโยบายอวกาศ กล่าวว่า “ไม่เหมือนการยกเลิกหรือการเลื่อนครั้งก่อน ๆ ครั้งนี้ เป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง” และว่า “นี่จะมีผลกระทบร้ายแรงต่อนโยบายด้านอวกาศ ธุรกิจด้านอวกาศและการแข่งขันด้านเทคโนโลยีในอนาคตของญี่ปุ่นด้วย”

จรวดลูกใหม่ในรอบ 3 ทศวรรษของญี่ปุ่นมีภารกิจนำส่งระบบ ALOS-3 ซึ่งเป็นดาวเทียมสังเกตการณ์และจัดการด้านภัยพิบัติที่มีระบบเซนเซอร์อินฟราเรดสำหรับการทดลองเพื่อใช้ตรวจจับการปล่อยขีปนาวุธของเกาหลีเหนือขึ้นสู่อวกาศ

บริษัท Mitsubishi Heavy Industries (MHI) ซึ่งเป็นผู้ผลิตจรวด เอช-3 ไม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ขณะที่ รอยเตอร์จัดทำรายงานเรื่องนี้

หากการปล่อยยานในวันอังคารประสบความสำเร็จดังหวัง จรวดของญี่ปุ่นก็จะขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ก่อนจรวดต้นทุนต่ำลูกใหม่ขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) ถูกปล่อยขึ้นอวกาศในช่วงปลายปีนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook