ข้อควรรู้กฎหมายใหม่ ปราบอาชญากรรมไซเบอร์

ข้อควรรู้กฎหมายใหม่ ปราบอาชญากรรมไซเบอร์

ข้อควรรู้กฎหมายใหม่ ปราบอาชญากรรมไซเบอร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินเพื่อป้องกันมิจฉาชีพที่จะเข้ามาหลอกลวงประชาชนด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น SMS หลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอปพลิเคชันให้สินเชื่อปลอม และแอปพลิเคชันดูดเงิน ภัยหลอกลวงเหล่านี้ส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องสูญเสียทรัพย์สินหรือรายได้ที่เก็บออม รวมทั้งขาดความมั่นใจในการใช้บริการทางการเงินดิจิทัลของสถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินต่าง ๆ นำไปใช้ป้องกันความเสี่ยงและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากโลกยุคดิจิทัลที่ภัยทุจริตทางการเงินต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน จนมีผู้เสียหายที่ต้องสูญเงินให้กับมิจฉาชีพเป็นจำนวนมาก ในที่สุดก็มีความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางการเงินของภาครัฐที่ทำงานตามหลังโจรอยู่หลายก้าวพอสมควร นั่นก็คือมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้ามาคุ้มครอง ปกป้อง และให้ความเป็นธรรมแก่เหยื่อที่เสียหายจากภัยทุจริตทางการเงิน กฎหมายดังกล่าวคือ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566

ภาพจาก FB: สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2566 และเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันนี้ 17 มี.ค. 2566 เป็นต้นไป กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความสูญเสียทรัพย์สินของประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ หลัก ๆ ก็คือ การที่มิจฉาชีพใช้ “ซิมผี” และ “บัญชีม้า” ในการหลอกลวงเหยื่อ ระงับยังยั้งการโอนเงินต่อเป็นทอด ๆ ของมิจฉาชีพ และเพื่อให้สามารถติดตามทรัพย์สินคืนให้กับผู้เสียหายได้ทันเป็นสำคัญ โดยมีการกำหนดบทลงโทษผู้ที่เปิดหรือใช้บัญชีม้า (หรือซิมผี) รวมถึงการเป็นธุระจัดหา โฆษณาชักชวนให้มีการซื้อขายบัญชีม้าหรือซิมผี จะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ

มีอะไรที่เราควรรู้เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้

ข้อมูลโดยสังเขปของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ จะมีทั้งสิ้น 14 มาตรา แต่มีเนื้อหาที่สำคัญ ๆ ที่เราควรจะรู้ เพื่อเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ดังนี้

  • มาตรา 3 “อาชญากรรมทางเทคโนโลยี” คือ การกระทำหรือพยายามกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เพื่อฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์บุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือโดยประการที่น่าจะทำให้บุคคลอื่นเสียหาย หรือกระทำความผิดฐานฉ้อโกง กรรโชก หรือรีดเอาทรัพย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือ จะเป็นคดีที่อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้
  • มาตรา 4 ให้อำนาจกับสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น สามารถเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนบุคคลได้ เพื่อป้องกัน ปราบปราม หรือระงับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีหรืออาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
  • มาตรา 5 ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีอำนาจสั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ เปิดเผยข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งานหรือข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ได้เท่าที่จำเป็น และส่งข้อมูลดังกล่าวให้แก่ผู้สั่งภายในระยะเวลาที่กำหนด ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
  • มาตรา 6 กรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุอันควรสงสัยว่าเกิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถระงับการทำธุรกรรมนั้น และแจ้งสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนต่อทุกทอด เพื่อระงับการทำธุรกรรมดังกล่าวไว้ทันทีเป็นการชั่วคราวไม่เกิน 7 วันนับแต่วันที่พบเหตุอันควรสงสัย พร้อมทั้งนำข้อมูลเข้าสู่ระบบหรือกระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วย หากตรวจสอบแล้วมีการกระทำความผิด ให้ดำเนินการตามกฎหมายภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการระงับการทำธุรกรรม
  • มาตรา 7 กรณีที่สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้รับแจ้งจากผู้เสียหายโดยตรงว่าได้ทำธุรกรรมที่เข้าข่ายเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ระงับการทำธุรกรรมนั้นไว้ชั่วคราว และแจ้งสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนต่อทุกทอด และให้แจ้งผู้เสียหายให้ไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 72 ชั่วโมง และเมื่อมีการร้องทุกข์แล้ว ให้ดำเนินการตรวจสอบภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องทุกข์ หากไม่มีมีคำสั่งให้ระงับการทำธุรกรรมไว้ต่อไปภายในเวลาดังกล่าว ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจยกเลิกการระงับการทำธุรกรรมนั้น
  • มาตรา 8 การแจ้งข้อมูลหรือหลักฐานในคดีความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถกระทำทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ และการร้องทุกข์ในคดีความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จะกระทำต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจแห่งใดในราชอาณาจักร หรือต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีก็ได้ และจะร้องทุกข์ทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ ไม่ว่าความผิดนั้นจะเกิดขึ้น ณ ที่ใดในราชอาณาจักร
  • มาตรา 9 ผู้ใดเปิดหรือยินยอมที่จะเป็น “บัญชีม้า” หรือใช้ “ซิมผี” โดยประการที่รู้หรือควรรู้ว่าจะนำไปใช้ในการกระทำความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • มาตรา 10 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อขาย ให้เช่า หรือให้ยืม “บัญชีม้า” มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • มาตรา 11 ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขาย “ซิมผี” มีโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • มาตรา 12 การเปิดเผย แลกเปลี่ยน เข้าถึง จัดเก็บ รวบรวม หรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมาย PDPA แต่ผู้ได้รับหรือครอบครองข้อมูลจะเปิดเผยให้บุคคลอื่นซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องทราบมิได้

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กแฟนเพจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบและเข้าใจถึงหลักการตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีรายละเอียดดังนี้

1. อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ คดีออนไลน์เพื่อฉ้อโกง กรรโชก และรีดเอาทรัพย์ ถือเป็นคดีที่ต้องอยู่บังคับของกฎหมายฉบับนี้

2. กรณีเพื่อการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือมีเหตุสงสัยว่าอาจจะมีการทำผิดทางเทคโนโลยี สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าผ่านระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยไม่ถือว่าบัญชีม้าเป็นข้อมูลที่ได้รับรองตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น ข้อมูลบัญชีม้า จะถูกธนาคารและเจ้าหน้าที่ส่งต่อให้กัน เพื่อระงับช่องทางการทำธุรกรรมและอายัดบัญชีด้วยความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยระงับความเสียหายของผู้เสียหายได้

3. ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูล ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนได้

4. ผู้เสียหายสามารถแจ้งข้อมูลไปยังสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจเพื่อแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราว จากนั้นให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในเวลา 72 ชั่วโมง โดยมีการระบุขั้นตอนในการระงับการทำธุรกรรมไว้ชัดเจนและรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้คนร้ายทำธุรกรรมได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน และเมื่อผู้เสียหายไปร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนจะพิจารณาดำเนินการกับบัญชีธนาคารดังกล่าวภายใน 7 วัน

5. มีการเพิ่มช่องทางการแจ้งเหตุ โดยกำหนดให้ผู้เสียหายแจ้งข้อมูลโดยง่ายและเร็ว สามารถแจ้งข้อมูลหรือหลักฐาน ทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์กับสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้

6. ผู้เสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนที่ใดก็ได้ โดยไม่ต้องถามว่าเหตุเกิดที่ใดในประเทศไทย หรือแจ้งผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ถือว่าเป็นการร้องทุกข์ และ พงส. นั้นมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ อาญาซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีวิทยุสั่งการไปยังพนักงานสอบสวนทั่วประเทศให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ จากพี่น้องประชาชนที่เดินทางมาแจ้งความที่สถานีตำรวจ โดยถือว่าเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าเหตุจะเกิดที่ไหน ต้องอำนวยความสะดวกผู้เสียหาย เร่งช่วยเหลือ

7. มีบทลงโทษเครือข่ายอาจจะทำที่รุนแรงขึ้นทั้งบัญชีม้า ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และคนจัดหาบัญชีม้า (หรือซิมผี) ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,0000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กฎหมายมีผลบังคับแล้ว ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนถูกมิจฉาชีพหลอกลวง สามารถติดต่อศูนย์แจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคารเพื่อระงับบัญชีได้ทันทีและตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นกลไกให้ระดับความเสียหายได้ทันท่วงที โดยขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐรวม 15 แห่ง ได้เปิดศูนย์แจ้งเหตุฯ แล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook