ซีอีโอ "TikTok" ตอบคำถามวุฒิสภาสหรัฐฯ กรณีความกังวลด้านความมั่นคง

ซีอีโอ "TikTok" ตอบคำถามวุฒิสภาสหรัฐฯ กรณีความกังวลด้านความมั่นคง

ซีอีโอ "TikTok" ตอบคำถามวุฒิสภาสหรัฐฯ กรณีความกังวลด้านความมั่นคง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ซีอีโอสื่อสังคมออนไลน์ ติ๊กตอก (TikTok) ตอบคำถามคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดี เกี่ยวกับความกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติและเนื้อหาที่เป็นภัยต่อเยาวชน โดยยืนยันว่าแอปฯ แชร์วิดีโอยอดนิยมนี้ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของสมาชิกและไม่สมควรถูกห้ามใช้ในสหรัฐฯ

โจว ชู ซื่อ ซีอีโอของติ๊กตอกวัย 40 ปี ผู้มีถิ่นกำเนิดในสิงคโปร์ ขึ้นตอบคำถามต่อคณะกรรมาธิการด้านพลังงานและการพาณิชย์ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในช่วงเวลาที่ติ๊กตอกมีจำนวนผู้ใช้แตะหลัก 150 ล้านคน และกำลังถูกกดดันอย่างหนักจากทางการสหรัฐฯ โดยติ๊กตอกและบริษัทแม่ ไบต์แดนซ์ (ByteDance) กำลังตกอยู่ภายใต้ความขัดแย้งด้านการค้าและเทคโนโลยีระหว่างจีนกับอเมริกา

tiktok

สมาชิกคณะกรรมการดังกล่าวจากทั้งพรรครีพับลิกันและเดโมแครตต่างร่วมกันตั้งคำถามต่อซีอีโอผู้นี้ในหลายประเด็น ตั้งแต่การควบคุมดูแลเนื้อหาในติ๊กตอก แผนการเก็บรักษาข้อมูลผู้ใช้ในอเมริกาจากรัฐบาลกรุงปักกิ่ง และกรณีการสอดแนมผู้สื่อข่าวหลายคน

ส.ส.แคธี แม็คมอร์ริส รอดเจอร์ส ประธานคณะคณะกรรมาธิการด้านพลังงานและการพาณิชย์ของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน มีแถลงการณ์ว่า “ชาวอเมริกันต้องการทราบความจริงเกี่ยวกับภัยคุกคามของติ๊กตอกที่มีต่อความมั่นคงแห่งชาติและความปลอดภัยส่วนตัว” และว่า “ติ๊กตอกได้เลือกเส้นทางที่นำไปสู่การควบคุม ตรวจสอบและจัดการมากขึ้น”

โจว ชู ซื่อ ยืนยันกับคณะกรรมาธิการฯ ว่า ติ๊กตอกให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของผู้ใช้ พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่าแอปฯ นี้สร้างความเสี่ยงด้านความมั่นคงแห่งชาติ เขายังเน้นย้ำด้วยว่าทางบริษัทมีแผนปกป้องข้อมูลส่วนตัวของสมาชิกด้วยการนำข้อมูลนั้นไปเก็บไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ที่มีบริษัทซอฟต์แวร์ออราเคิล (Oracle) เป็นเจ้าของและผู้ดูแล และกล่าวว่า “ไบต์แดนซ์ไม่ใช่ตัวแทนของรัฐบาลจีนหรือประเทศใด”

ในวันพุธ ทางบริษัทส่งผู้ใช้ติ๊กตอกที่มีชื่อเสียงหลายสิบคนไปยังรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อช่วยล็อบบี้บรรดานักการเมืองให้อนุญาตใช้แอปฯ นี้ได้ในอเมริกา นอกจากนี้ยังโฆษณาทั่วกรุงวอชิงตันเกี่ยวกับความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ และการสร้างแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชน

ข้อกล่าวหาและความกังวลที่มีต่อติ๊กตอก

ที่ผ่านมา เจ้าของบริษัทไบต์แดนซ์ถูกกล่าวหาว่ามีความใกล้ชิดกับรัฐบาลปักกิ่งซึ่งทำให้ข้อมูลของผู้ใช้ในอเมริกาอาจตกอยู่ในมือของรัฐบาลจีนได้ รวมถึงความกังวลว่าติ๊กตอกอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือนำเสนอเนื้อหาที่สนับสนุนผู้นำจีนหรือแนวคิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เมื่อปีค.ศ. 2019 สื่อเดอะการ์เดียนรายงานว่า ติ๊กตอกได้สั่งให้ผู้ตรวจสอบเนื้อหาในแอปฯ เซนเซอร์วิดีโอที่พูดถึงจัตุรัสเทียนอันเหมินและภาพต่าง ๆ ที่ไม่ถูกใจรัฐบาลจีน ซึ่งทางติ๊กตอกยืนยันว่าได้ปรับเปลี่ยนนโยบายด้านเนื้อหาใหม่ตั้งแต่นั้นมา ขณะที่บริษัทไบต์แดนซ์เปิดเผยเมื่อเดือนธันวาคมว่า ได้ไล่พนักงาน 4 คนออกจากเหตุการณ์ที่พวกเขาเข้าถึงข้อมูลของนักข่าวหลายคน รวมทั้งเครือข่ายผู้ติดตามนักข่าวเหล่านั้น ในขณะที่กำลังพยายามสืบสวนต้นตอของรายงานที่รั่วไหลของบริษัท

ไบต์แดนซ์ บริษัทแม่ของติ๊กตอก ก่อตั้งขึ้นโดยนักธุรกิจจีนที่กรุงปักกิ่งเมื่อปี 2012 แต่ที่ผ่านมาทางบริษัทพยายามแสดงให้เห็นว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาลจีน โดยระบุว่า 60% ของผู้ถือหุ้นในไบต์แดนซ์ คือสถาบันลงทุนระหว่างประเทศ

ระหว่างการตอบคำถามในวันพฤหัสบดี โจว ชู ซื่อ กล่าวต่อ ส.ส.อเมริกันว่า “ความจริงคือสิ่งที่เราทำอยู่” “สัดส่วนความเป็นเจ้าของนั้นไม่ใช่ประเด็นหลักในการจัดการความกังวลในเรื่องนี้”

ในช่วงหนึ่ง ส.ส.พรรครีพับลิกัน แคท แคมแมค นำวิดีโอจากติ๊กตอกขึ้นมาแสดงซึ่งเป็นภาพปืนและมีข้อความที่ระบุถึงการตอบคำถามของโจวต่อคณะกรรมาธิการชุดนี้ ซึ่งลงวันที่ก่อนที่จะมีการประกาศวาระนี้ออกมาอย่างเป็นทางการ โดยส.ส.แคมแมค กล่าวว่า “คุณหวังให้เราเชื่อว่าคุณสามารถรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงของชาวอเมริกัน 150 ล้านคนได้ ในขณะที่คุณยังไม่สามารถปกป้องพวกเราทุกคนในห้องนี้ได้เลยหรือ”

บรรดานักการเมืองอเมริกันยังพยายามสร้างภาพลักษณ์ของติ๊กตอกว่าเป็นบริษัทที่ได้รับอิทธิพลจากจีน และต้องการเข้ามาหาผลกำไรโดยไม่สนใจต่อปัญหาสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจของชาวอเมริกัน โดยหนึ่งในคณะกรรมาธิการฯ แสดงวิดีโอชิ้นหนึ่งในติ๊กตอกที่สนับสนุนให้ผู้ใช้ทำร้ายและปลิดชีวิตตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีการตั้งคำถามว่า ทำไมแอปฯ อื่นของจีนที่มีลักษณะคล้ายกัน เช่น Douyin จึงไม่ถูกกล่าวหาหรือวิจารณ์เรื่องเนื้อหาที่เป็นอันตรายเหมือนกับแอปฯ ติ๊กตอกในอเมริกา ซึ่งโจวตอบว่าขึ้นอยู่กับกฎหมายของแต่ละประเทศ พร้อมระบุว่าตนมีเจ้าหน้าที่ดูแลเนื้อหาในติ๊กตอกราว 40,000 คนที่คอยตรวจสอบเนื้อหาที่เป็นภัย และยังมีระบบอัลกอริทึมที่คอยตรวจสอบเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม

รัฐบาลสหรัฐฯ จะสั่งห้ามใช้ติ๊กตอกได้อย่างไร?

หากรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งห้ามใช้ติ๊กตอกจริงจะถือเป็นครั้งแรกที่มีการทำเช่นนี้ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะบังคับใช้อย่างไร

อาห์เหม็ด แกพพัวร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและความมั่นคงทางไซเบอร์ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน กล่าวว่า ทางการสหรัฐฯ อาจใช้วิธีบังคับให้บริษัทแอปเปิล (Apple) และกูเกิล (Google) ถอดแอปฯ ติ๊กตอกออกจากแอปสโตร์ หรืออาจบล็อกการเข้าถึงเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลของติ๊กตอก รวมทั้งอาจยึดโดเมนเนม หรือบังคับให้บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น คอมแคสต์ (Comcast) และ เวอไรซอน (Verizon) เป็นผู้กรองหรือสกัดข้อมูลติ๊กตอก

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญผู้นี้ชี้ว่า ผู้ใช้ที่มีทักษะสูงอาจสามารถหลบเลี่ยงข้อจำกัดดังกล่าวได้ด้วยการใช้เทคโนโลยี VPN (virtual private network) ที่ทำให้ดูเหมือนว่าผู้ใช้คนนั้นอยู่ในประเทศอื่นซึ่งไม่ถูกปิดกั้นการใช้แอปฯ

ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ และหลายประเทศได้สั่งห้ามติดตั้งแอปฯ ติ๊กตอกในอุปกรณ์สื่อสารของหน่วยงานรัฐบาลและกองทัพแล้วเพื่อเลี่ยงการถูกเก็บข้อมูล

เดวิด เคนเนดี อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของรัฐบาลอเมริกัน และเป็นเจ้าของบริษัทรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ TrustedSec เห็นด้วยกับการห้ามใช้ติ๊กตอกในอุปกรณ์ของรัฐบาลเพราะอาจมีข้อมูลสำคัญ แต่การสั่งห้ามใช้ในอุปกรณ์ของประชาชนทั่วประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจรุนแรงเกินไป

“เทสลา ไมโครซอฟต์ แอปเปิล ต่างเข้าไปลงทุนในจีน บริษัทเหล่านั้นจะได้รับผลกระทบไปด้วยหรือเปล่า? ความขัดแย้งอาจยกระดับขึ้นอย่างรวดเร็วได้” เคนเนดีกล่าว

โดยทั่วไปแล้ว นักวิจัยกล่าวว่าการเก็บรวบรวมข้อมูลของติ๊กตอกในสหรัฐฯ นั้น มิได้แตกต่างจากสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ แต่อย่างใด โดยรายงานวิจัยเมื่อปี 2021 ซึ่งจัดทำโดย Citizen Lab ของมหาวิทยาลัยแห่งโตรอนโต ในแคนาดา พบว่า ติ๊กตอกและเฟสบุ๊ค ต่างเก็บรักษาข้อมูลผู้ใช้ในปริมาณที่ไม่แตกต่างกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook