การศึกษาชี้ รัสเซียใช้ ‘TikTok’ เผยแพร่ข่าวหนุนรัฐบาลมอสโกในประเด็นยูเครน
มีรายงานชิ้นใหม่ที่เผยว่ารัสเซียกำลังใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันแชร์วิดีโอสั้นยอดนิยมอย่าง ติ๊กตอก ในปฏิบัติการแผ่ขยายอิทธิพลของตนในสงครามยูเครน
รายงานฉบับล่าสุดของสถาบัน Alliance for Securing Democracy (ASD) ในกรุงวอชิงตัน ที่เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี พบว่ารัสเซีย “ได้ใช้แอปพลิเคชันเพื่อผลักดันการเผยแพร่เนื้อหาจากฝ่ายตน” ในความพยายามบ่อนทำลายการสนับสนุนยูเครนจากชาติตะวันตก
รายงานของ ASD ซึ่งติดตามการเผยแพร่ข้อมูลด้านความมั่นคงออนไลน์ระบุว่า “อ้างอิงจากการวิเคราะห์ของเรา ผู้ใช้บางรายมีส่วนเกี่ยวข้องกับสื่อของรัฐบาลรัสเซีย และมีความเกี่ยวข้องกับสำนักข่าวอิสระมากกว่าผู้ใช้รายอื่นบนแพลตฟอร์มดังกล่าว” และว่า “ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ติ๊กตอกติดตามสื่อ RT มากกว่า The New York Times เสียอีก”
นอกจากนี้ ในรายงานดังกล่าวยังพบว่า ข้อมูลล่าสุดเมื่อ 22 มีนาคม มีสื่อทุนรัสเซีย 78 แห่งบนแพลตฟอร์มของติ๊กตอก ซึ่งมีผู้ติดตามรวมกันมากกว่า 14 ล้านรายด้วย และแม้ว่าทางติ๊กตอกจะให้คำมั่นว่าจะตรวจสอบและระบุบัญชีสื่อที่รัฐบาลต่างประเทศควบคุมอยู่ก็ตาม แต่พบว่ามี 31 บัญชีสื่อที่ไม่ได้มีการระบุในแพลตฟอร์มของติ๊กตอกแต่อย่างใด ขณะที่การระบุประเภทบัญชีสื่อที่รัฐบาลควบคุมกลับส่งผลน้อยมากต่อความสามารถในการเรียกผู้ชมผู้ติดตามบัญชีเหล่านั้น
บางส่วนในรายงาน ชี้ว่า “โพสต์ยอดนิยมของบัญชีที่ระบุว่าเป็นของสื่อทางการรัสเซียสามารถเข้าถึงผู้ชมกลุ่มใหญ่กว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ ” และ “โพสต์ยอดนิยมของสื่อ RIA Novosti บนติ๊กตอกมีผู้ชมมากกว่า 5.6 ล้านครั้งในปีนี้ ขณะที่บัญชีสื่อดังกล่าวในทวิตเตอร์ โพสต์ยอดนิยมของสื่อดังกล่าวมียอดชมไม่ถึง 20,000 ครั้ง”
ทั้งนี้ รายงานเรื่องการใช้ติ๊กตอกของสื่อรัฐบาลรัสเซีย มีขึ้นในช่วงที่ทางการสหรัฐฯ แสดงความกังวลเกี่ยวกับโอกาสที่จะใช้แพลตฟอร์มติ๊กตอกเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท็จและปฏิบัติการเผยแพร่ข่าวปลอมที่มีอิทธิพลจากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น
จอห์น พลัมพ์ ที่ปรึกษาหลักด้านไซเบอร์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ให้ข้อมูลแก่คณะอนุกรรมาธิการแห่งสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ระบุว่า “มีผู้ใช้ติ๊กตอกจำนวนมหาศาลในสหรัฐฯ” และได้เตือนเรื่อง “การที่จีนอาจกำหนดการเข้าถึงเนื้อหาด้วยแพลตฟอร์มนี้” และใช้มันเป็น “แพลตฟอร์มเผยแพร่ข้อมูลเท็จ”
ด้านพลเอก พอล นากาโซเน (Paul Nakasone) ผู้อำนวยการหน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติ ระบุว่า “สิ่งนี้ (ติ๊กตอก) หยิบยื่นแพลตฟอร์มให้ทำปฏิบัติการด้านข้อมูลของต่างชาติได้” จากที่สหรัฐฯ มีผู้ใช้ติ๊กตอก 150 ล้านคนทั่วประเทศ “1 ใน 3 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ได้รับข่าวสารจากแอปพลิเคชันนี้” ขณะที่ “1 ใน 6 ของลูกหลานของพวกเขาบอกว่าพวกเขาเข้าถึงแอปฯ นี้อยู่ตลอดเวลา”
ฝั่งติ๊กตอก ซึ่งมีบริษัทไบต์แดนซ์ ของจีนเป็นเจ้าของ พยายามปัดความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดย โจว ชู ซื่อ ซีอีโอของติ๊กตอก ตอบคำถามคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า “ไบต์แดนซ์ไม่ใช่ตัวแทนของรัฐบาลจีนหรือประเทศใด” และ “เราไม่ได้เผยแพร่หรือถอดเนื้อหาตามคำขอของรัฐบาลจีน”
เมื่อต้นเดือนมีนาคม ส.ว.มาร์โก รูบิโอ ในฐานะสมาชิกคณะกรรมาธิการข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐฯ เตือนว่าติ๊กตอก “อาจเป็นเครื่องมือสอดแนมอันทรงพลังที่สุดอย่างหนึ่งของโลก” และพลเอกนากาโซเน ระบุกับคณะกรรมการธิการด้านข่าวกรองของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ว่าติ๊กตอกเปรียบเสมือน “ปืนบรรจุกระสุน” ขณะที่ คริสโตเฟอร์ เรย์ ผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนกลางของสหรัฐฯ หรือ FBI ชี้ว่าระบบอัลกอริทึมของติ๊กตอก “อาจนำมาใช้ในปฏิบัติการแผ่ขยายอิทธิพลได้” ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในการตรวจสอบ