กูรูเอไอ โวยงานวิจัยโผล่ในหนังสือเปิดผนึกของ 'อิลอน มัสก์'
ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ได้แสดงความกังวลหลังจากผลงานของพวกเขาถูกอ้างถึงในหนังสือเปิดผนึก ที่อิลอน มัสก์ ซีอีโอเทสลา และผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกว่าพันชีวิตร่วมลงนามเพื่อเรียกร้องให้ระงับการวิจัยและพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ไว้ชั่วคราว ตามรายงานของรอยเตอร์
มาร์กาเร็ต มิตเชลล์ หัวหน้าฝ่ายจริยธรรมของบริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์ ฮักกิง เฟส ระบุถึงการกล่าวอ้างผลงานวิจัย “On the Dangers of Stochastic Parrots” ของเธอในช่วงที่ทำงานให้กับกูเกิล (Google) ว่าจดหมายดังกล่าวระบุความสำคัญและเนื้อหาที่เป็นประโยชน์แก่ทาง Future of Life Institute แกนนำการยื่นจดหมายเปิดผนึกเพื่อสกัดการพัฒนาเอไอ และไม่ระบุชัดเจนเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่รุดหน้ากว่าระบบ GPT-4 ที่ได้กล่าวถึงด้วย เช่นเดียวกับ ทิมมิต เกบรู และเอมิลี เอ็ม. เบนเดอร์ ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยดังกล่าวที่ออกมาคัดค้านการอ้างอิงงานวิจัยในจดหมายนี้
อีกรายหนึ่ง คือ ชิริ โดริ-ฮาโคเอน อาจารย์จาก University of Connecticut ซึ่งงานวิจัยของเธอถูกอ้างถึงในแง่ที่ว่า ระบบปัญญาประดิษฐ์อาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติ สงครามนิวเคลียร์ และภัยคุกคามอื่น ๆ โดยเธอกล่าวกับรอยเตอร์ว่า “ปัญญาประดิษฐ์ไม่จำเป็นต้องเก่งกาจถึงระดับมนุษย์ที่จะโหมความเสี่ยงเหล่านั้นให้เกิดขึ้นได้” พร้อมกับบอกว่ามีความเสี่ยงมากมายที่สำคัญกว่านี้แต่ไม่ได้รับความสนใจมากมายขนาดนี้
จดหมายเปิดผนึกเมื่อ 22 มีนาคม และมีผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีร่วมลงนามแล้วมากกว่า 1,800 รายชื่อในวันศุกร์ เรียกร้องให้สับคัตเอาท์การพัฒนาระบบโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่ “ทรงพลัง” มากกว่า GPT-4 ของบริษัทโอเพน เอไอ (OpenAI) ที่บริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) ให้การสนับสนุนด้านการเงินอยู่ในตอนนี้ ซึ่งมีศักยภาพในการสื่อสารในบทสนทนาคล้ายมนุษย์ ประพันธ์เพลง หรือสรุปเอกสารต่าง ๆ ได้ดั่งใจ
นับตั้งแต่บรรพบุรุษของ GPT-4 ซึ่งก็คือ ChatGPT เปิดตัวเมื่อปลายปีที่แล้ว บริษัทคู่แข่งต่างเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันนี้เข้ามาในตลาดอย่างดุเดือด
ในจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า ระบบเอไอที่มี “ความอัจฉริยะคล้ายคลึงมนุษย์” สร้างความเสี่ยงต่อมวลมนุษยชาติ โดยอ้างถึงงานวิจัย 12 ชิ้นจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งมีทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยไปจนถึงพนักงานของบริษัทโอเพน เอไอ กูเกิล (Google) และบริษัทดีพไมน์ (DeepMind) ซึ่งอยู่ในส่วนงานพัฒนาปัญญาประดิษฐ์
ทั้งนี้ กลุ่มนักเคลื่อนไหวในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป กดดันนักการเมืองให้เข้ามาควบคุมการวิจัยของโอเพน เอไอ แต่ทางบริษัทโอเพน เอไอ ไม่ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมเมื่อรอยเตอร์สอบถามไปในช่วงเวลาที่รายงานข่าวนี้
ด้านผู้วิจารณ์การยื่นหนังสือเปิดผนึก มองว่าทาง Future of Life Institute (FLI) หน่วยงานที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก Musk Foundation ของอิลอน มัสก์ และเป็นแกนนำในการยื่นจดหมายนี้ ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ความเป็นไปได้อันเลวร้ายมากกว่าความกังวลเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ที่เห็นได้ในปัจจุบัน อย่างเช่น การเหยียดเชื้อชาติและเพศสภาพที่ถูกโปรแกรมในระบบแชตบอตนี้
ด้านอิลอน มัสก์ ไม่ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในช่วงเวลาที่รอยเตอร์นำเสนอข่าวนี้