กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) กับการใช้จ่ายในสังคมไร้เงินสด

กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) กับการใช้จ่ายในสังคมไร้เงินสด

กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) กับการใช้จ่ายในสังคมไร้เงินสด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนในหลาย ๆ ด้านก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย หลายสิ่งอย่างถูกขยับขยายเข้าสู่ดิจิทัลไลฟ์สไตล์มากขึ้น ที่เห็นได้ชัดเจนว่าเรากำลังปรับตัวกันอยู่ ก็คือรูปแบบของการเงินก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่าการทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มีบทบาทในสังคมไร้เงินสดมากขึ้น สืบเนื่องมาจากช่วงที่มีโรคระบาดรุนแรง เงินสดทั้งประเภทเหรียญกษาปณ์และธนบัตรที่ผู้คนใช้จับจ่ายใช้สอยในสังคมกลายเป็นแหล่งเชื้อโรคชั้นดี เนื่องจากเงินสดเหล่านี้ถูกเปลี่ยนมือกันไปมาแบบร้อยพ่อพันแม่เลยทีเดียว

ทำให้ในช่วงเวลานั้น เพื่อหลีกเลี่ยงกับจับเงินสดและลดความเสี่ยงในกาสรับเชื้อโรคจากเงินสด ผู้คนจึงหันไปใช้จ่ายในรูปแบบที่ไม่ต้องใช้มือจับเงินสดกันมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด/บาร์โค้ด การโอนเงินผ่านเลขบัญชีและระบบพร้อมเพย์ หรือวิธีการชำระรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเปิดกระเป๋าสตางค์หยิบเงินสด แถมยังเสร็จจบง่าย ๆ ไม่กี่วินาทีด้วยสมาร์ตโฟนเพียงเครื่องเดียว เร็วกว่าการเทเศษเหรียญออกมานับให้ครบเสียอีก ทำให้คนหลายคนถือเงินสดติดตัวน้อยลงไปโดยปริยาย ขณะเดียวกัน สังคมไร้เงินสดก็เริ่มเติบโตอย่างก้าวกระโดด การใช้จ่ายแบบสังคมไร้เงินสดดูเป็นรูปธรรมขึ้นมากกว่าช่วงที่คนยังไม่รู้จักโควิด-19

ถึงเวลานี้ คนไทยส่วนมากคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านสมาร์ตโฟน อินเทอร์เน็ต และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่สามารถเก็บเงินของเราไว้ได้บนออนไลน์ ซึ่งแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันที่เราใช้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทางออนไลน์กันนี้ หากจะให้เปรียบเทียบ จะพบว่าฟังก์ชันของมันแทบไม่ต่างอะไรกับ “กระเป๋าเงิน” ของเรา เวลาจะจับจ่ายใช้สอย ก็แค่เปลี่ยนจากการหยิบกระเป๋าเงินมาหาเงินจ่าย เป็นการหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาไถ ๆ กด ๆ จ่อ ๆ แล้วกดยืนยันจ่ายเท่านั้นเอง กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) เป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยมาสักพักแล้ว

นี่คือยุคที่ผู้คนในสังคมต่างก็มีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์กันหมดแล้ว

กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Wallet อาจดูจะเป็นศัพท์ใหม่ในสังคมไทย แต่จริง ๆ แล้วคนไทยจำนวนไม่น้อยมีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ใช้กันมานานแล้ว ที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือกระเป๋นเงินประเภท Mobile Wallet ซึ่งอยู่ในรูปของแอปพลิเคชันบนสมาร์ตโฟน ด้วยความที่เข้าถึงง่าย ทุกคนที่มีสมาร์ตโฟนใช้สามารถดาวน์โหลดแอปฯ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ให้บริการต่าง ๆ มาใช้งานได้ตามต้องการ นั่นทำให้ในมือถือของหลายต่อหลายคนไม่ได้มีกันแค่แอปฯ เดียวเท่านั้น ที่มีใช้กันในประเทศไทยก็อย่างเช่น TrueMoney, Rabbit LINE Pay, ShopeePay (รีแบรนด์จาก AirPay), mPay, GrabPay, Google Pay, Samsung Pay และ WePay

ดังนั้น กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) จึงเป็นเครื่องมือหรือตัวกลางที่ทำหน้าที่แทนกระเป๋าเงินที่เราเคยต้องพกไปไหนมาไหนกันในชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้ เราสามารถไปไหนมาไหนโดยไม่จำเป็นต้องพกกระเป๋าสตางค์อีกต่อไป แค่มือถือเครื่องเดียวก็จบแล้ว เนื่องจาก e-Wallet มันอยู่ในรูปของแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถืออยู่แล้ว ทำหน้าที่ช่วยเก็บเงินสดที่โอนเข้ามาในระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่นวัตกรรมการจ่ายเงินโดยเพิ่มบัตรเครดิตของเราลงไปในสมาร์ตโฟน แล้วเราก็สามารถนำเงินก้อนนั้นไปจับจ่ายใช้สอย จ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ซื้อของออนไลน์ ซื้อสินค้าตามห้างร้าน รับประทานอาหาร และบริการอื่น ๆ ได้อย่างอิสระ ตอบรับเทรนด์สังคมไร้เงินสดได้อย่างไร้ขีดจำกัด

การมี e-Wallet ทำให้เราไม่จำเป็นต้องพกทั้งเงินสดและบัตรเครดิตไปไหนมาไหนอีกต่อไป เพราะเราสามารถใช้จ่ายทุกการใช้จ่ายได้ผ่านสมาร์ตโฟน (ถ้าปลายทางเขารับล่ะก็นะ) มันจึงช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี จ่ายเงินรวดเร็วได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ต้องหยิบเงินสด ไม่ต้องพกบัตรเครดิตมารูด แถมยังได้ส่วนลดหรือโปรโมชันเมื่อชำระสินค้าและบริการอีกต่างหาก

แต่สิ่งที่ผู้คนอยากรู้ก็คือ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) มีความปลอดภัยแค่ไหน เพราะสิ่งสำคัญคือเรานำเอาเงินจริงของเราเปลี่ยนสภาพให้เป็นเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่จับต้องไม่ได้ แต่มีมูลค่าที่ใช้ได้จริงและใช้ได้ทันที มันคือกระเป๋าเงินออนไลน์ที่เก็บเงินจริงของเราไว้ เพราะเป็นเทคโนโลยีรูปแบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเงิน ผู้ให้บริการจึงต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานสากล มีการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล มีการให้เข้ารหัสส่วนตัวก่อนเปิดกระเป๋าใช้งาน เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นล้วงข้อมูลจากกระเป๋าเงิน (แอปฯ) ได้

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่คนจะเก็บเงินไว้ใน e-Wallet น้อยกว่าบัญชีเงินฝาก พูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ มีไว้แค่พอใช้จ่ายเท่านั้น ใช้เกือบหมดแล้วค่อยเติมเข้าไปใหม่ เรื่องทำเรื่องหักจากบัญชีเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้แทน ยกเว้น e-Wallet ประเภทที่ผูกบัตรเครดิต/เดบิต ที่เราไม่ต้องเติมเงินเข้ากระเป๋า แต่เมื่อเราทำธุรกรรมเสร็จสิ้น ระบบถึงจะตัดเงินจากบัตรเครดิต/เดบิตของเราไป แต่สำหรับ Samsung Pay ได้นำเทคโนโลยี Tokenization ซึ่งเป็นระบบรักษาความปลอดภัยทางการเงินมาใช้ (แปลงหรือทำให้สินทรัพย์ต่าง ๆ อยู่ในรูปแบบดิจิทัล)

ดังนั้น การใช้ Samsung Pay จะมีการแปลงบัญชีข้อมูลส่วนบุคคลของเราให้เป็น token ก่อน แล้วจึงค่อยนำ token ไปใช้ในการชำระเงินแทนเงินจากบัญชีโดยตรง และหมายเลขบัตรเครดิตของเราจะถูกแทนด้วย Device Card Number ตรงนี้จะเห็นว่าการรักษาความปลอดภัยของเทคโนโลยีกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Wallet ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องให้มีความปลอดภัยสูง ผู้ใช้สามารถควบคุมบัญชีของตัวเองได้อย่างอิสระ สามารถเติมเงินเข้าตามจำนวนที่ต้องการ ไม่จำเป็นต้องผูกกับบัตรใด ๆ รวมถึงมีระบบตรวจสอบบัญชีและยอดเงินเข้าออกที่รวดเร็ว หากพบปัญหา ก็สามารถแจ้งผู้ให้บริการได้ทันที

ข้อดี-ข้อเสียของการใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์

เนื่องจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการใช้จ่ายผ่านทางอินเทอร์เน็ต ทุกอย่างทำผ่านออนไลน์ ซึ่งแน่นอนว่ามันช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี แต่การทำธุรกรรมผ่านออนไลน์ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้น ผู้ใช้งานจึงต้องศึกษาให้ดีก่อนใช้งาน

ข้อดี

  • ลดการสัมผัสเงินสดจากมือสู่มือและยังช่วยเรื่องการเว้นระยะห่าง
  • ชำระค่าสินค้า บริการ และบิลต่าง ๆ ได้สะดวกรวดเร็ว ทำได้ทันทีแค่มีสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ต ที่สำคัญ ไม่มีค่าธรรมเนียมด้วย
  • มีโปรโมชันมากมายตลอดทั้งปี ทำให้ผู้ใช้งานได้ใช้จ่ายซื้อสินค้าแบบคุ้มราคาและประหยัดมากกว่าเดิม
  • ระบบความปลอดภัยที่มั่นใจได้ มีระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนา ทั้งการยืนยันตัวตน 2 ชั้น การตั้งรหัส Pin ไปจนถึงการใช้รหัส OTP และลดความเสี่ยงการพกเงินสดติดตัวคราวละมาก ๆ
  • เช็กยอดเงินได้ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จึงสามารถตรวจสอบยอดรับ-จ่าย-โอนได้ตลอดเวลา
  • ไม่มีเงินสดก็ไม่มีปัญหา ปัจจุบันร้านค้าทั้งรายใหญ่ รายย่อย ไปจนถึงผู้ให้บริการในชีวิตประจำวัน หันมารับชำระผ่านระบบ e-Wallet กันแล้ว แค่มีสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ต
  • มีให้ยืม การใช้ e-Wallet พัฒนาต่อยอดไปถึงการให้ยืมเงินสดมาจับจ่ายใช้สอยในเวลาฉุกเฉิน

ข้อเสีย

  • ต้องระวังการตั้ง PIN/Password ที่คาดเดาได้ยาก ต้องเก็บรักษา User ID และ Password ให้เป็นความลับ หมั่นเปลี่ยน Password เป็นระยะ ๆ
  • ห้ามละเลย SMS หรืออีเมลที่ได้รับจากระบบ ส่วนใหญ่จะมีการส่งมาแจ้งเตือนหลังจากที่เงินถูกตัดไปแล้ว และควรตรวจสอบยอดเงินคงเหลือทุกครั้งหลังชำระเงิน
  • ต้องศึกษารูปแบบธุรกรรมและวิธีการรักษาความปลอดภัยของระบบก่อนตัดสินใจใช้บริการ รวมถึงการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล
  • อย่าลืมเช็กโปรโมชันให้เหมาะกับพฤติกรรมการใช้งาน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
  • ความง่าย อาจทำให้เกิดการใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยเกินตัว
  • จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานในเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต
  • อินเทอร์เน็ตต้องเสถียรและรวดเร็ว หากอินเทอร์เน็ตของคุณหมดหรือไปอยู่ในจุดอับสัญญาณ คุณก็ไม่สามารถใช้บริการอะไรได

เงินอิเล็กทรอนิกส์กับเงินดิจิทัลไม่เหมือนกันนะ!

อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนหนึ่งที่เข้าใจสับสนเรื่องเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) กับเงินสกุลดิจิทัล (Digital Currency) เนื่องจากเงินทั้งสองประเภทมีความใกล้เคียงกันมาก ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันมีความแตกต่างกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงการเงินการธนาคาร หรือแค่มีระบบให้ใช้ก็ใช้ ไม่ได้สนใจที่จะศึกษาจริง ๆ จะเข้าใจสับสนกันได้

  • เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ธนาคารแห่งประเทศไทยนิยามว่าเป็นมูลค่าเงินที่บันทึกในชิพคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในบัตรพลาสติก หรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ อย่างโทรศัพท์มือถือ หรือเงินในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มันคือ “เงินจริง” ที่เรานำไปชำระล่วงหน้าแก่ผู้ให้บริการ อาจจะเติมเงินเข้าไป ตัดเงินในบัญชีเรา ตัดบัตรเครดิต/เดบิต เพื่อเปลี่ยนเงินที่เราจับต้องได้ให้เป็นมูลค่าอยู่ในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ระบบจะมีการบันทึกมูลค่าหรือจำนวนเงินไว้แน่นอน มีหลักฐานการใช้จ่ายอ้างอิง และผู้ให้บริการจะรับผิดชอบต่อ e-Money ที่อยู่ใน e-Wallet ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ เงินคงเหลือที่ถูกบันทึกไว้จะยังเป็นของผู้ใช้บริการตามมูลค่าเงินนั้น ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นการย้ายเงินจริงเข้าไปอยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่คนยุคใหม่ใช้จ่ายกันปกติในชีวิตประจำวัน
  • เงินดิจิทัล (Digital Currency) หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อเรียก คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เงินนี้ไม่ใช่เงินจริง แต่เป็น “เงินเสมือนจริง” ที่ถูกสร้างโดยกลไกลทางคอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ โดยกำหนดให้สามารถชำระ โอน และแลกเปลี่ยนกันได้เฉพาะในเครือข่ายเท่านั้น ปัจจุบัน เงินดิจิทัลนี้ยังไม่ถือว่าเป็นเงินที่ได้รับการยอมรับจากธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเป็นเงินที่ไม่ได้รับการยอมรับทางกฎหมาย ไม่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ และไม่มีมูลค่าในตัวเอง เงินดิจิทัลจะมีเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ดูแลรักษาความปลอดภัย เราจะต้องใช้คีย์ส่วนตัวเท่านั้นในการเข้าถึง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook