อิลอน มัสก์ ตั้งอดีตผู้บริหารค่ายสื่อเอ็นบีซีเป็น ‘ซีอีโอทวิตเตอร์’ คนใหม่
หลังแย้มออกมาว่าได้ตัวว่าที่ซีอีโอทวิตเตอร์คนใหม่ได้ไม่ถึงวัน อิลอน มัสก์ อภิมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทสื่อสังคมออนไลนแห่งนี้ประกาศว่า อดีตผู้บริหารฝ่ายโฆษณาของบริษัทสื่อชั้นนำ เอ็นบีซี ยูนิเวอร์แซล (NBC Universal) คือ ผู้ที่จะมาดูแลตำแหน่ง ขึ้นมาเป็นประธานกรรมการบริหารคนใหม่แทนตน ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
มัสก์ ทวีตข้อความออกมาในวันศุกร์ว่า “ผมรู้สึกตื่นเต้นที่จะขอต้อนรับ ลินดา ยัคคาริโน มาเป็นซีอีโอคนใหม่ของทวิตเตอร์!” และว่า “@LindaYacc จะมุ่งเน้นดูเรื่องการดำเนินงานทางธุรกิจเป็นหลัก ขณะที่ผมจะมุ่งไปที่งานการออกแบบผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ”
รอยเตอร์ระบุว่า ยัคคาริโน ซึ่งช่วยพัฒนาธุรกิจโฆษณาของ NBC Universal ในเครือบริษัทคอมแคสต์ (Comcast) บริษัทโทรคมนาคมและสื่อขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ มานานหลายปี จะก้าวเข้ามากุมบังเหียนทวิตเตอร์ในช่วงที่สื่อสังคมออนไลน์แห่งนี้กำลังเผชิญความท้าทายมากมายพร้อม ๆ กับภาระหนี้ก้อนโตที่เกิดขึ้นหลังมัสก์ซื้อกิจการแห่งนี้มาและผู้ลงโฆษณาพากันถอนตัวออกไปเพราะกังวลว่า โฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนจะไปปรากฏอยู่ข้าง ๆ เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากมีการลดพนักงานของบริษัทไปถึงเกือบ 80%
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มัสก์ก็ออกมายอมรับว่า ทวิตเตอร์ประสบปัญหารายได้จากการโฆษณาลดลงอย่างมหาศาลแล้ว
ลู ปาสตาลิส ผู้บริหารในอุตสาหกรรมโฆษณาและ ซีอีโอ ของบริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาด AJL Advisory ให้ความเห็นว่า “วิถี[การดำเนินธุรกิจ]ของทวิตเตอร์จะพลิกกลับ 180 องศาทันที” และว่า “ผมคิดว่า (ยัคคาริโน) ปีนเขามาทุกลูกที่ทำได้เมื่ออยู่ที่ NBCU (NBC Universal) และก็ทำได้ดีเยี่ยมไม่มีที่ติด้วย และก็ไม่มีความท้าทายที่ยิ่งใหญ่กว่าการฟื้นฟูระบบระเบียบที่ทวิตเตอร์อีกแล้ว”
รายงานข่าวระบุว่า การที่มัสก์เลือกผู้บริหารที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านโฆษณามาคุมบังเหียนธุรกิจนี้ส่งสัญญาณว่า ส่วนงานการโฆษณาทางดิจิทัลจะยังคงเป็นเป้าหมายหลักของการทำธุรกิจต่อไป
นับตั้งซื้อธุรกิจทวิตเตอร์มา มัสก์สั่งปลดพนักงานออกไปหลายพันคน และเร่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ต้องมีการสมัครสมาชิกซึ่งกลับเปิดโอกาสให้นักต้มตุ๋นออนไลน์ (scammer) ปลอมตัวมาเป็นบริษัทชื่อดังได้ง่ายได้ ทั้งยังสั่งพักบัญชีใช้งานผู้ที่ตนเห็นต่าง โดยทั้งหมดนี้ส่งผลให้แบรนด์สินค้าต่าง ๆ ตื่นกลัวและถอนโฆษณาของตนไปเป็นทิวแถว
และเพื่อลดผลกระทบจากโฆษณาที่หดหาย มัสก์หันมาเน้นการโปรโมทบริการ ‘ทวิตเตอร์ บลู’ ซึ่งต้องมีการเสียค่าบริการเดือนละ 8 ดอลลาร์เพื่อยืนยันตัวตนของเจ้าของบัญชีว่าเป็นตัวจริง แต่เท่าที่ผ่านมา โครงการนี้ไม่ได้รับการตอบรับมากมายนัก โดยรอยเตอร์ อ้างข้อมูลจาก เทรวิส บราวน์ นักวิจัยอิสระที่ติดตามดูตัวเลขผู้สมัครบริการดังกล่าวมาตลอด และรายงานว่า ณ วันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา มีลูกค้า ‘ทวิตเตอร์ บลู’ ทั้งหมด 619,858 คน
สื่อบลูมเบิร์ก รายงานเมื่อต้นเดือนเมษายนว่า มัสก์ ระบุว่า ทวิตเตอร์มีผู้ใช้งานกว่า 500 ล้านคนในแต่ละเดือน
อัลบั้มภาพ 6 ภาพ