นาซ่า ไฟเขียวสัญญาสร้างส่วนนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ ให้ ‘บลู ออริจิน’

นาซ่า ไฟเขียวสัญญาสร้างส่วนนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ ให้ ‘บลู ออริจิน’

นาซ่า ไฟเขียวสัญญาสร้างส่วนนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ ให้ ‘บลู ออริจิน’
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทีมงานธุรกิจด้านอวกาศ ‘บลูออริจิน’ (Blue Origin) ของ เจฟฟ์ เบโซส อภิมหาเศรษฐีเจ้าของบริษัทอีคอมเมิร์ซ แอมะซอน (Amazon) เป็นผู้ชนะสัญญาฉบับสำคัญขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า ในการรับหน้าที่สร้างส่วนนำยานอวกาศที่จะพานักบินอวกาศไปเหยียบดวงจันทร์ ตามรายงานข่าวของรอยเตอร์

บิลล์ เนลสัน เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายบริหารของนาซ่า กล่าวว่า “ความเป็นหุ้นส่วนของเราจะยิ่งช่วยส่งเสริมยุคทองของการเดินทางไปอวกาศของมนุษยชาติ” และเสริมด้วยว่า การมีตัวช่วยนำยานลงจอดชุดที่สองสำหรับภารกิจสำรวจอวกาศ อาร์เทมิส (Artemis) นั้นจะยิ่งช่วยส่งเสริมการแข่งขันในวงการ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนของนาซ่าได้มาก

สัญญาที่มอบให้กับบลูออริจินนี้จะช่วยให้นาซ่ามีโอกาสส่งยานลำที่ 2 ไปยังดวงจันทร์ภายใต้โครงการอาร์เทมิสได้ หลังทำสัญญาฉบับแรกมูลค่า 3,000 ล้านดอลลาร์กับบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ของอภิมหาเศรษฐี อิลอน มัสก์ เพื่อสร้างส่วนประกอบแบบเดียวกันนี้ไปเมื่อปี ค.ศ. 2021 เพื่อผลักดันให้มีการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้ง หลังประสบความสำเร็จกับภารกิจอพอลโลไปตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1972

จิม ฟรี หัวหน้าส่วนงานสำรวจอวกาศของนาซ่า เปิดเผยว่า สัญญาที่ทำกับบลูออริจินครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 3,400 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ จอห์น คูลูริส หัวหน้าส่วนงานสร้างส่วนลงจอดบนดวงจันทร์ของบลูออริจิน กล่าวว่า บริษัทนั้นจะช่วยออกเงินเป็นการส่วนตัวในสัดส่วนที่ “สูงกว่าตัวเลขนี้มาก” ด้วย

ขณะเดียวกัน เบโซส ทวีตข้อความแสดงความยินดีต่อข่าวนี้ว่า “รู้สึกเป็นเกียรติที่จะได้ร่วมเดินทางไปกับ @NASA เพื่อนำพานักบินอวกาศไปลงจอดบนดวงจันทร์ ... ครั้งนี้แน่นอนไม่เปลี่ยนแปลง”

รายงานข่าวระบุว่า บลูออริจินจะร่วมมือกับบริษัท ล็อคฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) และบริษัท โบอิ้ง (Boeing) รวมทั้งบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ เดรปเปอร์ (Draper) และบริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ แอสโตรโบติก (Astrobotic) ในการสร้างส่วนลงจอดบนดวงจันทร์ที่จะมีความสูง 16 เมตรภายใต้สัญญาฉบับนี้

การประกาศข่าวความร่วมมือระหว่างนาซ่าและบลูออริจินนี้ เป็นสิ่งที่หลายจับตาเฝ้ารอฟังมานานมากแล้ว หลังบริษัทแห่งนี้ไม่สามารถเอาชนะคู่แข่งคว้าสัญญามาจากนาซ่าได้เลย โดยสัญญานี้จะยิ่งช่วยยกระดับการยอมรับของบลูออริจิน ที่เบโซสลงทุนก่อตั้งมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 2000 เพื่อแข่งกับบริษัทสเปซเอ็กซ์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มีความโดดเด่นในด้านเทคโนโลยีการส่งดาวเทียมและการส่งมนุษย์เดินทางไปในอวกาศ

ทั้งบลูออริจินและสมาชิกสภาคองเกรสจำนวนหนึ่งพยายามกดดันให้นาซ่ายอมทำสัญญาสร้างส่วนนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ชุดที่ 2 เพื่อส่งเสริมการแข่งขันเชิงพาณิชย์และเพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่า หน่วยงานแห่งนี้มีแผนสำรองสำหรับการส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook