นาซ่าทดสอบ 'หุ่นยนต์งู' หวังช่วยเสาะหาสิ่งมีชีวิตในระบบสุริยะ

นาซ่าทดสอบ 'หุ่นยนต์งู' หวังช่วยเสาะหาสิ่งมีชีวิตในระบบสุริยะ

นาซ่าทดสอบ 'หุ่นยนต์งู' หวังช่วยเสาะหาสิ่งมีชีวิตในระบบสุริยะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ นาซ่า กำลังทดสอบยานสำรวจรูปร่างคล้ายงูที่ออกแบบมาเพื่อค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก

หุ่นยนต์ตัวนี้มีชื่อว่า Exobiology Extant Life Surveyor หรือ EELS ซึ่งได้รับการพัฒนาให้สามารถเคลื่อนที่ในลักษณะที่ยานสำรวจโรเวอร์แบบดั้งเดิมไม่สามารถทำได้ โดยบรรดานักวิศวกรของ Jet Propulsion Laboratory (JPL) แห่งนาซ่า ในแคลิฟอร์เนีย เป็นผู้นำในการพัฒนายานสำรวจนี้

วิศวกรของนาซ่าเผยว่า EELS ถูกสร้างขึ้นเพื่อการสำรวจด้วยตัวเอง โดยไม่มีการควบคุมของมนุษย์แบบเรียลไทม์ มันถูกออกแบบมาเพื่อสามารถใช้งานได้ทั้งบนบก ในน้ำ และในสภาวะเยือกแข็งที่รุนแรง และปัจจุบันกำลังได้รับการทดสอบในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ส่วนการพัฒนาในอนาคตจะขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของโมเดลปัจจุบัน

คณะวิศวกรกล่าวว่า แนวคิดสำหรับหุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายงูนี้เกิดขึ้นจากความต้องการของนาซ่าที่จะค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรบนดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) ของดาวเสาร์ ซึ่งเชื่อกันว่ามหาสมุทรนั้นอยู่ใต้พื้นผิวน้ำแข็งของดวงจันทร์

ทั้งนี้ EELS รุ่นปัจจุบันมีน้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัมและมีความยาวสี่เมตร ประกอบด้วยชิ้นส่วนที่เหมือนกัน 10 ชิ้น เรียกว่า สกรู ซึ่งสามารถหมุนไปในทิศทางต่าง ๆ ได้โดยใช้หัวสว่านเพื่อเคลื่อนตัวไปตามพื้นผิว ส่วนต่าง ๆ ของหุ่นยนต์สามารถเคลื่อนตัวขึ้นหรือลงเพื่อจะเข้าไปถึงบริเวณต่าง ๆ ได้เพื่อการเก็บข้อมูล

การทดสอบ EELS มีขึ้นโดยการใช้สกรูที่ทำจากพลาสติกพิมพ์ 3 มิติ และสกรูที่ทำจากโลหะ ผลปรากฏว่าสกรูพลาสติกทำงานได้ดีกว่าบนพื้นผิวทั่วไป ในขณะที่สกรูโลหะทำงานได้ดีในน้ำแข็ง และวิศวกรได้ทดสอบ EELS ไปแล้วในหลาย ๆ สภาพแวดล้อม ซึ่งรวมทั้งทราย หิมะ และน้ำแข็ง

ฮิโร โอโนะ (Hiro Ono) หัวหน้าคณะสำรวจของ JPL ในโครงการพัฒนา EELS กล่าวในแถลงการณ์ว่า การพัฒนาหุ่นยนต์นี้ต้องใช้วิธีการที่แตกต่างจากที่ใช้กับยานอวกาศและยานสำรวจแบบดั้งเดิม

ขณะเดียวกัน บรรดานักพัฒนากล่าวว่า EELS ได้รับการออกแบบให้ทำงานด้วยตัวมันเอง เนื่องจากความล่าช้าในการสื่อสารระหว่างโลกกับห้วงอวกาศ ดังนั้น ทีมงานจึงพยายามทำให้เทคโนโลยีของหุ่นยนต์สามารถรับรู้สภาพแวดล้อม ประเมินความเสี่ยงและการเดินทาง และเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ยังคงมีการพัฒนากันอยู่ และสิ่งที่สำคัญสำหรับยานสำรวจนี้ก็คือ การที่สามารถฟื้นตัวได้เองโดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากมนุษย์เมื่อประสบปัญหาต่าง ๆ

โรฮาน ทัคเกอร์ (Rohan Thakker) หัวหน้านักวิจัยของโครงการ เปรียบเทียบเทคโนโลยี EELS กับเทคโนโลยีที่ใช้ในยานยนต์ไร้คนขับ แต่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันมาก โดยให้ลองนึกภาพรถที่ขับด้วยระบบอัตโนมัติ แต่ไม่มีป้ายหยุด ไม่มีสัญญาณไฟจราจร ไม่มีแม้แต่ถนนสักเส้น หุ่นยนต์จะต้องค้นหาว่าตรงไหนคือถนนและต้องไปตามเส้นทางนั้น

แมทธิว โรบินสัน (Matthew Robinson) จาก JPL ซึ่งเป็นผู้ดูแลโครงการพัฒนา EELS กล่าวว่า ขณะนี้ทีมงานกำลังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการพัฒนาการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์และความสามารถในการทำงานด้วยตัวเอง และหลังจากนี้จะมีการพิจารณาว่าเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ชนิดใดที่จะสามารถนำไปติดตั้งบน EELS ได้

เขากล่าวส่งท้ายว่า “นักวิทยาศาสตร์จะเป็นผู้ที่บอกว่าพวกเขาต้องการจะไปสำรวจที่ไหนบ้าง และเราก็จะพัฒนาหุ่นยนต์ที่จะนำพาพวกเขาไปยังจุดที่ต้องการ”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook