ARV-AIS 5G ต่อยอดความร่วมมือในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ดึงศักยภาพปัญญาประดิษฐ์
จากการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องระหว่าง AIS 5G และ กลุ่ม ปตท. ตั้งแต่ปี 2561 ในการนำ 5G และแพลตฟอร์มมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ พัฒนาโดยกลุ่ม ปตท. และเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ผ่านการทำงานอย่างใกล้ชิดกับบริษัท ARV ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ของไทย ภายใต้ ปตท.สผ. เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์ม อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน เพื่อนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรม
วันนี้ได้ยกระดับการทำงานของโดรนไปอีกขั้นสู่ 5G AI Autonomous Drone System (Horrus) ครั้งแรกของไทยที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทย ซึ่งนำเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ มีความฉลาดและอัจฉริยะเข้ามาเสริมขีดความสามารถการทำงาน และเป็นครั้งแรกของโดรนที่ทำงานจริงบนโครงข่ายอัจฉริยะ 5G ผ่านเทคโนโลยี Autonomous Network มาใช้ในการบริหารจัดการระบบ Network ได้อย่างคล่องตัว ช่วยให้บริหารจัดการระบบการรักษาความปลอดภัยได้ตลอด 24 ชม. ในพื้นที่เมืองอัจฉริยะวังจันทร์วัลเลย์ มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานของ Smart City พร้อมทั้ง Regulatory & Innovation Sandbox หรือ พื้นที่ผ่อนปรนกฎระเบียบสำหรับการพัฒนานวัตกรรม ทั้งหมด 4 ด้าน ได้แก่ ด้านอากาศยานไร้คนขับ ด้านยานยนต์อัตโนมัติ ด้านนวัตกรรมพลังงาน และด้านคลื่นความถี่พิเศษ ซึ่งเป็นจุดแข็งของพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ทำให้พื้นที่นี้มีความพร้อมและเหมาะสมอย่างยิ่งต่อการพัฒนานวัตกรรมแห่งอนาคต นับเป็นการพลิกโฉมการทำงานของโดรนที่จะเข้ามามีบทบาทต่อภาคอุตสาหกรรม ช่วยลดความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงหรือมีข้อจำกัด
นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร AIS กล่าวว่า “จากเป้าหมายการทำงานของ AIS ที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีโทรคมนาคมอัจฉริยะหรือ Cognitive Tech-Co ผ่านแนวคิด Ecosystem Economy ด้วยการสร้างการเติบโตแบบร่วมกัน ผ่านการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันของภาคอุตสาหกรรมและองค์กรภาคธุรกิจของประเทศ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับ กลุ่ม ปตท. ในฐานะ Strategic Partner ที่ร่วมทำงานกันเพื่อพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่สำหรับภาคอุตสาหกรรมในหลากหลายพื้นที่รวมถึงการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม ในพื้นที่โครงการวังจันทร์วัลเลย์และ EECi ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาและทดสอบโซลูชัน โดยมุ่งเน้นการขยายผลเพื่อการใช้งานจริงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทีมวิศวกรของ AIS ได้จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานไว้อย่างสมบูรณ์ อาทิ การออกแบบ Network Architecture หรือ สถาปัตยกรรมโครงข่าย 5G SA (Standalone) บนคลื่น 2600 MHz โดยใช้ศักยภาพของเทคโนโลยี Autonomous Network ซึ่งมีความอัจฉริยะในการจัดการระบบได้ด้วยตัวเอง, การใช้ Network Slicing เพื่อตอบสนองแอปพลิเคชันที่ต้องการคุณสมบัติทางเครือข่ายที่แตกต่างกัน รวมถึงบริการ MEC (Multi-access EDGE Computing) และ PARAGON Platform เพื่อรองรับการบริหารจัดการ และพัฒนาโซลูชันที่ต้องการความหน่วงต่ำด้วย ถือเป็น 5G Testbed พื้นที่สำหรับทดสอบทดลองที่เปิดกว้างให้องค์กรธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยในการพัฒนาโซลูชันเพื่อการใช้งานจริง
ครั้งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของทีมงานทุกฝ่ายที่ สะท้อนให้เห็นถึงความสามารถของคนไทยในการพัฒนาแพลตฟอร์มอัตโนมัติสำหรับโดรน ด้วยการผสานเทคโนโลยี AI และขีดความสามารถของ 5G เป็นครั้งแรก เพื่อรองรับและตอบโจทย์การทำงานของ AI Autonomous Drone System(Horrus) ที่พัฒนาโดยบริษัท ARV ในด้านต่างๆ ที่ต้องครอบคลุมเส้นทางการบินให้มีความเสถียรและปลอดภัย สามารถทำงานได้อย่างอัจฉริยะในการตรวจสอบ รับและส่งต่อข้อมูลทั้งภาพ เสียง และวิดีโอ กลับมายังศูนย์ควบคุมได้แบบรวดเร็วและ Real time นับเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของ AIS ในการนำขุมพลังของ 5G เข้ามาสร้างโอกาสใหม่ให้กับภาคอุตสาหกรรม และนำไปสู่การสร้างจุดแข็งให้กับประเทศต่อไป”
ด้าน ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ในเครือ ปตท. สผ. กล่าวเสริมว่า “ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและให้บริการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ของไทย เรามุ่งสร้างความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนความเป็นอยู่ของผู้คนในทุกระดับ โดย 5G AI Autonomous Drone System (Horrus) เป็นอีกหนึ่งใน Use Case ที่ประสบความสำเร็จ สามารถใช้งานได้จริงแล้วในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ที่มีความพร้อมด้านพื้นที่เพื่อการทดสอบทดลอง จากการผ่อนปรนกฎระเบียบพิเศษ สำหรับทดลองทางวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม หรือ UAV Regulatory Sandbox และความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล 5G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่นำมาใช้พัฒนา Solution นี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการพัฒนาโดรนอัจฉริยะฝีมือคนไทยที่มีระบบ AI เข้ามาเป็นหัวใจหลักในการทำงานด้วยเครือข่ายไร้สายอัจฉริยะ”
5G และ Network Slicing ช่วยเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูล ลดความหน่วงในการสั่งการควบคุมโดรน อีกทั้งยังรองรับการควบคุมระยะไกลที่เสถียรมากกว่าสัญญาณวิทยุและ Wifi การทำงานร่วมกับ AIS ในครั้งนี้เป็นการยกระดับศักยภาพการทำงานของโดรนให้ก้าวไปอีกขั้น ด้วยการทำงานได้แบบอัตโนมัติตามเวลาและเส้นทางการบินที่กำหนด นอกจากนี้ยังสามารถตรวจจับสิ่งผิดปกติและส่งแจ้งเตือนกลับมาที่ศูนย์ควบคุมได้แบบ Real time ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในการบริหารจัดการความปลอดภัย และยังลดความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงหรือมีข้อจำกัด อาทิ การใช้โดรนตรวจสอบการทำงานในพื้นที่โรงงาน หรือในพื้นที่สำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติ และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ในธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ดังนั้นการทำงานร่วมกันในครั้งนี้จึงเป็นการเชื่อมโยงกับภารกิจหลักของบริษัท ARV และที่สำคัญยังสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกที่ต้องการสร้าง New
S-Curve ด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลเทคโนโลยี
ARV และ AIS พร้อมร่วมผลักดันการพัฒนานวัตกรรมให้กับองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม เพื่อร่วมขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่โลกยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน ผู้สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อมูลโครงการวังจันทร์วัลเลย์ได้ที่ www.wangchanvalley.com หรือ ข้อมูลการพัฒนานวัตกรรมและโซลูชั่นบน 5G ได้ที่ https://business.ais.co.th/5g/
อัลบั้มภาพ 19 ภาพ