เมื่อสมาร์ตโฟนเป็น “ศัตรู” ในห้องเรียน UN จึงสนับสนุนให้ “แบน”

เมื่อสมาร์ตโฟนเป็น “ศัตรู” ในห้องเรียน UN จึงสนับสนุนให้ “แบน”

เมื่อสมาร์ตโฟนเป็น “ศัตรู” ในห้องเรียน UN จึงสนับสนุนให้ “แบน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้ใคร ๆ ก็มีสมาร์ตโฟนไว้ใช้งาน ด้วยไลฟ์สไตล์หลาย ๆ อย่างที่เปลี่ยนไปหลังการมาของโซเชียลมีเดีย รวมถึงราคาของสมาร์ตโฟนที่ไม่ได้แพงมาก ใครต่อใครก็สามารถเข้าถึงได้ไม่ยากเย็นนัก ซึ่งใคร ๆ ที่ว่านี้ก็มีทั้งผู้ใหญ่ วัยแรกเริ่มทำงาน วัยทำงาน วัยกลางคน วัยเกษียณ รวมไปถึงเด็กนักเรียน ตั้งแต่วัยอนุบาล ประถม มัธยม ที่ต่างก็มีสมาร์ตโฟนที่พ่อแม่อนุญาตให้พกติดตัวไว้สำหรับทำกิจกรรมต่าง ๆ แถมบางคนใช้สมาร์ตโฟนแพงกว่าผู้ใหญ่วัยทำงานด้วยซ้ำไป ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องปกติมาก ๆ ที่คนวัยต่าง ๆ ในสังคมจะมีสมาร์ตโฟนไว้ใช้งานอย่างน้อยคนละเครื่อง

อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กนักเรียนแล้ว การมีสมาร์ตโฟนใช้งานอาจถูกมองเป็น 2 แง่ ทั้งในแง่ที่จำเป็นและออกจะเกินความจำเป็น ในแง่ของความจำเป็น ก็คือการใช้ฟังก์ชันปกติของโทรศัพท์ ติดต่อสื่อสารกับผู้ปกครอง โทรออก-รับสาย ในยุคที่ไม่มีตู้โทรศัพท์สาธารณะแบบหยอดเหรียญให้ใช้งาน ส่วนในแง่ที่เกินความจำเป็นก็มีอยู่เหมือนกัน เพราะการมีสมาร์ตโฟนที่ปัจจุบันทำได้แทบทุกอย่างอยู่กับตัว บ่อยครั้งที่เด็กนำออกมาใช้งานแบบไม่รู้จักเวล่ำเวลา จดจ่อหรือเสพติดการใช้งานต่าง ๆ มากเกินไป ทำให้ไม่สนใจการเรียน ประสิทธิภาพทางการเรียนลดลง และที่สำคัญก็คือ ปัญหาด้านสุขภาพจิต เกิดความอ่อนไหวด้านอารมณ์กับเด็กโดยไม่รู้ตัว รวมถึงปัญหาการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต

istock-482948608

ปัญหาสมาร์ตโฟนกับเด็ก ๆ ในห้องเรียน

สิ่งหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ เด็กสมัยใหม่เกิดและเติบโตมาพร้อม ๆ กับเทคโนโลยี โดยเฉพาะคนในช่วงวัยตั้งแต่ Gen Z ลงไป ช่วงอายุแรกเริ่มในการได้สัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของคน Gen Z จะมีอายุที่ต่ำกว่าคนในช่วงวัยอื่น ๆ ในสมัยนั้น คน Gen Z ที่อายุประมาณ 10-12 ปีเริ่มเข้าถึงเทคโนโลยีมาใหม่ ในขณะที่คน Gen Y ปลาย ๆ ที่อาจจะอายุมากกว่าคน Gen Z ต้น ๆ แค่ไม่กี่ปี พวกเขาได้สัมผัสกับเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่งแพร่หลายช่วงที่พวกเขาอายุประมาณ 15-16 ปีเข้าไปแล้ว พวกเขาทันยุคแอนะล็อกมากกว่าคน Gen Z ก่อนที่จะเปลี่ยนผ่านมาเป็นดิจิทัล ส่วนคนที่ Gen สูงกว่านี้ก็ไม่ต้องพูดถึง พวกเขาได้สัมผัสกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ตอนที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่กันหมดแล้ว

นั่นทำให้เด็กรุ่น Gen Z จะคุ้นเคยกับการมีสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตใช้ในห้องเรียนมากกว่าเด็ก Gen Y ที่แม้ว่าจะอายุมากกว่าแค่ 2-3 ปีเท่านั้น คน Gen Y หลายคนหันมาเริ่มใช้สมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตในห้องเรียนก็สมัยที่เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ Gen Z จำนวนมากใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นหนึ่งในอุปกรณ์การเรียนมาตั้งแต่วัยมัธยม ทั้งเลกเชอร์วิชาเรียน หรือถ่ายภาพกระดานที่ครูสอนเก็บเป็นภาพไว้ในอุปกรณ์เหล่านั้น

หลังจากกาลเวลาผ่านมานานนับ 10 ปี บัดนี้เทคโนโลยีต่าง ๆ พัฒนาขึ้นจากเมื่อสมัยก่อนหลายเท่า ช่วงอายุของเด็กที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ก็ยิ่งลดต่ำลง เด็ก 5-6 ขวบก็ใช้สมาร์ตโฟนเป็นแล้ว เพราะเด็กบางคนถูกเลี้ยงให้โตมากับมือถือและยูทูบ ถึงจะอ่านหนังสือยังไม่ค่อยคล่อง แต่ก็จำได้ว่าต้องกดตรงนี้เพื่อเข้าไปตรงนั้น ทำให้เด็กถูกผูกติดอยู่กับสมาร์ตโฟนมากกว่าเดิม และดูเหมือนว่าสมาร์ตโฟนและเทคโนโลยีทั้งหลายจะถูกหลอมละลายให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่พวกเขาจะขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว ทั้งเพื่อกิจกรรมความบันเทิงและเพื่อเป็นอุปกรณ์การศึกษา

มีเด็กหลายคนใช้สมาร์ตโฟนให้เป็นประโยชน์ในด้านการเรียน แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ใช้งานอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนในชั้นเรียน เพราะเด็กหลายคนเสพติดการใช้งานสมาร์ตโฟนชนิดที่วางแทบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย เกมมือถือ ดูหนังดูซีรีส์ อ่านการ์ตูน หรืออะไรก็ตามที่ใช้งานเพื่อความบันเทิง การใช้สมาร์ตโฟนในห้องเรียนแบบนี้ทำให้เด็กกลุ่มนี้ไม่สนใจเรียน ไม่ยอมเรียนหนังสือ เนื่องจากความสนใจทั้งหมดอยู่ที่สมาร์ตโฟนเท่านั้น และไม่เพียงแต่ใช้งานคนเดียวและทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนของตัวเองลดลง แต่บ่อยครั้งที่มันยังขัดจังหวะการเรียนการสอนในชั้นเรียน รบกวนสมาธิของเด็กคนอื่น รวมไปถึงสร้างโอกาสในการโกงข้อสอบ อีกทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กด้วย

เพราะการเสพติดมือถือไม่ใช่เรื่องเล็กแม้แต่กับผู้ใหญ่ มันเป็นปัญหาที่คุกคามชีวิตอย่างมาก แรกเริ่มเราอาจจะไม่รู้ตัวว่าเราค่อย ๆ ติดมือถือทีละนิด ๆ จากการที่ใจจดจ่ออยู่แต่กับการเช็กโทรศัพท์ ตอบ-ส่งข้อความตอบโต้กับผู้อื่น เข้าไปอ่านเรื่องราวดราม่าต่าง ๆ ในโซเชียลมีเดียเพราะกลัวจะตกข่าว พลาดไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับโพสต์ต่าง ๆ หรือติดตามดูชีวิตของคนอื่นแล้วเปรียบเทียบกับตัวเอง คอยเช็กอยู่ตลอดว่าภาพหรือวิดีโอหรือแคปชันของตนเองมีคนเข้ามากดไลก์หรือคอมเมนต์อะไรบ้าง หรืออาจจะเป็นได้ทั้งผู้กระทำหรือเหยื่อในกรณีของการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตก็ได้เช่นกัน เกิดปัญหาความมั่นคงทางอารมณ์ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสุขภาพจิตทั้งสิ้น

ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่นั่งเทียนคิดกันขึ้นมา เพราะมีงานวิจัยนานาชาติที่เชื่อถือได้หลายชิ้นที่ชี้ชัดว่าเมื่อเด็กนักเรียนติดสมาร์ตโฟน จะส่งผลให้ผลการเรียนรู้ของเด็กตกต่ำลง เพราะเด็กขาดความสนใจต่อบทเรียน ขาดสมาธิในการเรียนรู้ ขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และครู แสดงให้เห็นถึงการไม่รู้จักเวล่ำเวลาที่จะใช้งานสมาร์ตโฟน อีกทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพจิตและทำให้เด็กพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งมันเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของเด็ก ด้วยเหตุนี้ ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศมีแนวคิดที่จะควบคุมการใช้งานสมาร์ตโฟนของเด็กในโรงเรียนด้วยการห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน เพื่อที่จะให้นักเรียนกลับมาสนใจบทเรียนและทำกิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัย

1

องค์การสหประชาชาติก็สนับสนุนให้ “แบน” มือถือในห้องเรียน

ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเด็กนักเรียนไทย แต่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียนทั่วโลก เพราะพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เร็วมาก บวกกับการที่เด็กในช่วงวัยนี้เติบโตมากับมือถือแทบทั้งสิ้น การใช้มือถือสมาร์ตโฟนจึงไม่ใช่แค่ปัญหาเล็ก ๆ ในห้องเรียนอีกต่อไป แต่กลายเป็นวาระระดับโลก ที่องค์การระดับโลกอย่างสหประชาชาติ (UN) ยังต้องเข้ามามีบทบาท โดยมีรายงานขององค์การสหประชาชาติที่แนะนำว่า ควรมีการห้ามใช้สมาร์ตโฟนในโรงเรียน ด้วยเหตุผลที่ว่ามันส่งผลเสียต่อการศึกษาของเด็ก รวมถึงเกิดปัญหาห้องเรียนหยุดชะงัก และเพื่อช่วยปกป้องเด็ก ๆ จากการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ตด้วย

โดยยูเนสโก (UNESCO) หน่วยงานด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ มีหลักฐานว่าการใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไป เชื่อมโยงกับประสิทธิภาพการศึกษาที่ลดลง และการใช้เวลาบนหน้าจอนาน ๆ จะส่งผลเสียต่อความมั่นคงทางอารมณ์ของเด็ก และที่สำคัญ มือถือไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นในห้องเรียนมากถึงขนาดนั้นด้วย แม้ว่าเด็กรุ่นใหม่ ๆ หลายคนอาจจะใช้เทคโนโลยีอย่างสมาร์ตโฟนและแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์การเรียน แต่คนสมัยก่อนที่เขาไม่มีใช้เขาก็ยังเรียนหนังสือจบกันมาได้ ดังนั้น ก็แค่ย้อนกลับไปใช้สมุดกับหนังสือแบบที่เด็กรุ่นก่อน ๆ เขาเรียนกัน

เพื่อที่จะควบคุมให้มือถือเป็นสิ่งต้องห้ามในห้องเรียน นั่นหมายความว่าเราอาจต้องเมินข้อดีต่าง ๆ ของการใช้สมาร์ตโฟนในห้องเรียน หรืออาจจะมีการยกเว้นเป็นกรณี ๆ ไป อย่างที่ผ่านมา สมาร์ตโฟนไม่ได้ถูกใช้แค่เป็นอุปกรณ์ในการเรียน แต่ยังเป็นสื่อการเรียนการสอนในยุคก้าวทันเทคโนโลยีด้วย อย่างเช่นการใช้เป็นสื่อการสอนของครู เพื่อไม่ให้ห้องเรียนเคร่งเครียดจนเกินไป การทำ quiz สนุก ๆ ต่าง ๆ ให้เด็กได้มีส่วนร่วม ก็ให้ทั้งความรู้และความสนุกสนานได้ รวมถึงการสร้างชุมชนเล็ก ๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ อย่างการที่ครูสร้างกลุ่มรายวิชาต่าง ๆ เพื่อใช้สื่อสารกับนักเรียนโดยตรง ก็ทำได้ง่ายและสะดวกขึ้น และยังเป็นแหล่งการหาข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ในระหว่างการเรียนการสอนด้วย

อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของการใช้สมาร์ตโฟนเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจมากกว่า เพราะมันอาจทำให้เราสูญเสียประชากรคุณภาพได้จากพิษภัยของการใช้มือถือในห้องเรียนที่เป็นศัตรูมากกว่ามิตร จึงเป็นที่มาให้องค์การระดับโลกเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุน “การแบน” โทรศัพท์มือถือในห้องเรียน อีกทั้งยังระบุอีกว่ามี 1 ใน 4 ประเทศในโลกที่ได้ทำแล้ว กับการ “แบน” มือถือในห้องเรียน

โดยยูเนสโกได้สำรวจ 200 ประเทศ และพบว่า 1 ใน 4 ได้ห้ามการใช้มือถือในโรงเรียนแล้ว ไม่ว่าจะผ่านกฎระเบียบทางการหรือเป็นเพียงคำแนะนำก็ตาม คือฝรั่งเศสซึ่งประกาศใช้นโยบายดังกล่าวในปี 2018 และเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีแผนจะเริ่มใช้ข้อจำกัดตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไป ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ไม่ได้มีกฎห้ามทั่วประเทศ แต่จะมีกฎเฉพาะไปตามแต่ละโรงเรียน อย่างในอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม มีรัฐบาลหลายรัฐที่คิดว่าจำเป็นที่จะต้องห้ามแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ อย่างในฝรั่งเศส ที่อนุญาตให้เด็กนำมือถือมาโรงเรียนได้ แต่ไม่อนุญาตให้ใช้ตั้งแต่ช่วงระหว่างเริ่มเรียนถึงหมดคาบเรียน รวมถึงเวลาพักกลางวันก็ห้ามเล่นเช่นกัน ทว่าเด็ก ๆ สามารถใช้มือถือติดต่อกับผู้ปกครองได้หลังเลิกเรียนแล้ว

โดยออเดรย์ อาซูเลย์ (Audrey Azoulay) ผู้อำนวยการยูเนสโก กล่าวว่า “การปฏิวัติทางดิจิทัลมีศักยภาพเหลือคณานับ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเตือนว่าควรมีการควบคุมอย่างไรในสังคม จะต้องให้ความสนใจเช่นเดียวกันกับวิธีการใช้ในการศึกษา” นอกจากนี้ เธอได้กล่าวเสริมว่า “การใช้งานเครื่องมือดิจิทัลจะต้องเป็นไปเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์การเรียนรู้และเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของทั้งนักเรียนและครู ไม่ใช่เพื่อให้เกิดผลเสียต่อพวกเขา ต้องรักษาความต้องการของผู้เรียนเป็นอันดับแรกและสนับสนุนครูผู้สอนด้วย ปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ไม่สามารถแทนที่ด้วยการเชื่อมต่อทางออนไลน์”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook