'โถส้วมอัจฉริยะ' เก็บข้อมูลสุขภาพก่อนกดทิ้งลงชักโครก
อุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้ที่โถสุขภัณฑ์อัจฉริยะรุ่นใหม่ ช่วยให้แพทย์สามารถติดตามดูสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่องจากสถานที่ที่เป็นส่วนตัวที่สุด
ในแต่ละวัน ข้อมูลด้านสุขภาพจำนวนมากมายมหาศาลถูกกดทิ้งลงไปในชักโครก แต่ ซุง มิน พาร์ค อาจารย์ภาควิชาระบบทางเดินปัสสาวะจากคณะการแพทย์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford School of Medicine) กล่าวว่า การติดตามดูสิ่งปฏิกูลของมนุษย์อย่างใกล้ชิด อาจช่วยให้คนเหล่านั้นมีสุขภาพที่ดีขึ้นได้
จากแนวคิดดังกล่าว เขาได้คิดค้นพัฒนา Smart Toilet หรือโถส้วมอัจฉริยะ ที่สามารถรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับของเสียที่ผู้ใช้ขับถ่ายออกมา และส่งข้อมูลนั้นไปยังผู้ให้บริการด้านสุขภาพ
พาร์ค กล่าวว่า แพทย์จะศึกษาสิ่งปฏิกูลเหล่านั้นด้วยคอมพิวเตอร์และระบบปัญญาประดิษฐ์เพื่อตรวจหาอาการเจ็บป่วยในระยะเริ่มต้นหรือแม้แต่วิธีการป้องกันโรค โดยการติดตั้งกล้องไว้ตรงด้านหลังของโถสุขภัณฑ์
พาร์ค ร่วมงานกับบริษัท IZEN ผู้ผลิตสุขภัณฑ์ของเกาหลีใต้ในการพัฒนาโถส้วมอัจฉริยะเวอร์ชั่นแรกสำหรับผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นส่วนเสริมของโถสุขภัณฑ์ที่มีอยู่แล้ว โดยอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถส่งคำแนะนำด้านสุขภาพและโภชนาการเบื้องต้นไปยังโทรศัพท์ของผู้ใช้ได้ทันที
พาร์ค กล่าวด้วยว่า อุปกรณ์รุ่นต่อ ๆ ไปจะสามารถตรวจสอบอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ หรือแม้แต่ตรวจหาสัญญาณเริ่มต้นของโรคมะเร็งได้ด้วย
นอกจาก Smart Toilet แล้ว ยังมี U-Scan จากบริษัท Withings ของฝรั่งเศส ซึ่งใช้ในการเก็บตัวอย่างปัสสาวะ
จูเลียส ดูเวอแรง ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ U-Scan กล่าวว่า “ปัสสาวะเป็นแหล่งข้อมูลด้านสุขภาพที่น่าทึ่ง ทั้งยังประกอบไปด้วยสารเคมีมากมายถึง 3,000 ชนิด”
อุปกรณ์นี้ใช้กล่องเทปแบบเปลี่ยนได้โดยมีความยาวที่เพียงพอสำหรับการเก็บตัวอย่างได้เก้าสิบวัน โดยผู้ใช้เพียงนั่งแค่ปัสสาวะตามปกติ ปั๊มขนาดเล็กจะทำงานด้วยความร้อนและส่งหยดปัสสาวะของผู้ใช้ไปยังแผ่นทดสอบ
ดูเวอแรง อธิบายว่า “แผ่นทดสอบดังกล่าวจะทำปฏิกิริยากับปัสสาวะและเปลี่ยนสี ซึ่งเราสามารถตรวจพบได้ด้วยเซนเซอร์ออปติคัล” จากนั้น ผลการทดสอบจะไปปรากฏบนแอปฯ ภายในเวลาไม่กี่นาที
ทั้งนี้ กล่องเทปที่ใช้สำหรับตรวจสอบภาวะการตั้งครรภ์และข้อมูลด้านโภชนาการจะออกวางจำหน่ายก่อน
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าที่ไหนบนโลกก็ไม่สามารถหนีพ้นจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ไปได้ แม้แต่ในสถานที่ที่เป็นส่วนตัวที่สุด ถึงกระนั้นยังคงต้องรอดูกันต่อไปว่า ในที่สุดแล้วผู้บริโภคพร้อมที่จะต้อนรับนวัตกรรมเหล่านี้เข้าสู่กิจวัตรสำคัญประจำวันของคนเรา เช่น การเข้าห้องส้วม มากน้อยแค่ไหน