ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของอินเดียส่อไปไม่สุด หลังยาน ‘หลับไม่ยอมตื่น’

ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของอินเดียส่อไปไม่สุด หลังยาน ‘หลับไม่ยอมตื่น’

ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของอินเดียส่อไปไม่สุด หลังยาน ‘หลับไม่ยอมตื่น’
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยานลงจอดและยานสำรวจภาคพื้นดินดวงจันทร์ของอินเดียที่สร้างสถิติเป็นภารกิจแรกของโลกที่ลงจอดที่ขั้วใต้ของดาวบริเวณดวงนี้สำเร็จเมื่อเดือนที่แล้ว กำลังตกอยู่ในสภาพ “ปลุกไม่ตื่น” หลังเข้าสู่โหมดพักเครื่อง หรือ โหมดนอนหลับ (sleep mode) ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมา

นักวิทยาศาสตร์จากองค์การวิจัยอวกาศอินเดีย (Indian Space Research Organization – ISRO) ยังไม่ประสบความสำเร็จในการทำการเชื่อมต่อการสื่อสารกับยานลงจอด (lander) วิกรม (Vikram) และยานสำรวจภาคพื้นดิน (rover) ปรัชญาน (Pragyan) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยานอวกาศ “จันทรายาน-3” ที่ลงจอดที่ขั้วใต้ของดวงจันทร์สำเร็จเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม

การลงจอดครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเพียง 5 วันหลังยานอวกาศของรัสเซียสูญเสียการควบคุมและตกลงบนดวงจันทร์ก่อนถึงเป้าหมาย ตามมาด้วยการปล่อยยานสำรวจภาคพื้นดินเป็นระยะทางกว่า 100 เมตรในช่วงเวลา 10 วันบนโลก เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีการส่งกลับมายังโลกในรูปแบบภาพและข้อมูลที่ยืนยันว่า พื้นผิวดวงจันทร์มีองค์ประกอบกำมะถัน (sulfer) เหล็ก (iron) ไทเทเนียม (titanium) และออกซิเจนอยู่

และก่อนที่พระอาทิตย์จะตกลงในวันที่ 2 กันยายน นักวิทยาศาสตร์ของ ISRO ได้กดปุ่มสั่งให้ยานสำรวจภาคพื้นดินพักการทำงานและเข้าสู่ sleep mode เพื่อปกป้องชิ้นส่วนที่มีความอ่อนไหวของตัวยานจากสภาพอากาศเยือกแข็งในช่วงค่ำคืนของดวงจันทร์ ส่วนตัวยานลงจอดนั้น นักวิทยาศาสตร์กดปุ่มให้เข้าสู่โหมดพักเครื่องในวันที่ 4 กันยายน

อนึ่ง ช่วงเวลา 1 วันและ 1 คืนบนดวงจันทร์นั้นยาวนานเท่ากับกว่า 14 วันบนพื้นโลก และในช่วงค่ำของดวงจันทร์นั้น อุณหภูมิจะตกลงเหลือระหว่าง -200 และ -250 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

ภายหลังการกดปุ่มให้ยานทั้งสองพักการทำงานแล้ว ISRO ประกาศผ่านแถลงการณ์ของตนว่า ยานสำรวจภาคพื้นดินสำเร็จงานที่ได้รับมอบหมายชุดแรก ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของภารกิจจันทรายาน-3 แล้ว พร้อมแสดงความมั่นใจว่า ตัวยานจะสามารถรอดพื้นช่วงเวลาค่ำคืนอันหนาวเยือกแข็งของดวงจันทรได้

ทั้งนี้ ISRO เชื่อว่า ยานอวกาศของตนจะตื่นขึ้นมาอีกครั้งในวันศุกร์ที่ผ่านมาตามเวลาบนโลก หลังพระอาทิตย์ขึ้นและส่องแสงไปยังแผงโซลาร์ของตัวยานซึ่งจะช่วยชาร์จแบตเตอรีให้ยานต่อไป แต่ทางองค์การฯ ยอมรับว่า หากยานไม่ตื่นขึ้นมาดังหวัง ทั้งหมดก็จะ “คงอยู่ที่นั่นตลอดไป ในฐานะทูตจันทราของอินเดีย”

อย่างไรก็ดี ในวันศุกร์ ตามเวลาในอินเดีย นักวิทยาศาสตร์ของ ISRO ได้โพสต์รายละเอียดการดำเนินงานปลุกยานของตนทางแพลตฟอร์ม X หรือทวิตเตอร์ในอดีต ที่สรุปความได้ว่า ได้พยายามเชื่อมต่อการสื่อสารกับยานลงจอดวิกรมและยานสำรวจภาคพื้นดินปรัชญานแล้ว แต่ก็ไม่มีสัญญาณตอบรับใด ๆ กลับมา และจะพยายามเดินหน้าทำการดังกล่าวต่อไป

และในอัพเดทล่าสุดนั้น ISRO เปิดเผยว่า ทีมงานจะเดินหน้าพยายามเชื่อมต่อการสื่อสารกับยานของตนต่อไปอย่างน้อยจนถึงเวลาพลบค่ำบนดวงจันทร์ซึ่งจะตรงกับวันที่ 6 ตุลาคมบนพื้นโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook