ยิ่งใหญ่! “หางโจวเกมส์ 2022” ขนเทคโนโลยีอวดชาวโลกอื้อ!
กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 หรือหางโจวเกมส์ 2022 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 23 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา ในระหว่างนี้เป็นช่วงระหว่างทำการแข่งขันกีฬา
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการแข่งขันกีฬาสุดตื่นเต้นที่ให้ประชาชนจากทั้ง 46 ประเทศได้ร่วมเชียร์และส่งกำลังใจให้กับเหล่านักกีฬาแล้ว ยังมีความคาดหวังจากทั้งเจ้าภาพอย่างจีน ที่หวังจะประสบความสำเร็จในเรื่องของการจัดการคาร์บอนและนำเสนอเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ให้สมกับที่นครหางโจวได้ชื่อว่าเป็นเมืองยุทธศาสตร์ทางด้านเทคโนโลยีและโลกดิจิทัลที่สำคัญที่สุดเมืองหนึ่งของจีนและสำหรับผู้ชมอย่างเรา ๆ ที่คาดหวังจะได้เห็นการนำเสนอเทคโนโลยีที่น่าตื่นตาตื่นใจในเอเชียนเกมส์ครั้งนี้
เอเชียนเกมส์ เป็นเกมการแข่งขันกีฬาของเหล่านักกีฬาของทวีปเอเชียเพื่อชิงความเป็นเจ้าเหรียญทอง ถึงอย่างนั้น ปัจจุบันโลกของเราขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ทำให้เรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่โดดเด่นล้ำสมัยจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สาธารณชนให้ความสนใจ บวกกับการที่เจ้าภาพอย่างจีนมีความพยายามอย่างมากที่จะให้การแข่งขันกีฬาในครั้งนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสุดชาญฉลาดในรูปแบบของ Smart Asian games และนำเสนอศักยภาพในฐานะผู้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของโลก
ทำให้เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 หรือหางโจวเกมส์ 2022 นับเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีมากที่สุดงานหนึ่งของโลก ซึ่งจีนก็พยายามอย่างมากที่จะแสดงศักยภาพในฐานะหนึ่งในผู้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของโลก เรามาดูกันว่าในการจัดการแข่งขันกีฬาครั้งนี้ จีนขนเทคโนโลยีอะไรมานำเสนอแก่ชาวโลกบ้าง
พิธีเปิดสุดยิ่งใหญ่แบบดิจิทัล
เริ่มต้นกันที่พิธีเปิด มีเทคโนโลยีขั้นสูงที่ถูกใช้ในงานพิธีเปิดกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 19 ไม่ว่าจะเป็น พลุดอกไม้ไฟแบบดิจิทัล ภาพสามมิติแบบไม่ต้องสวมแว่น และความเป็นจริงเสริม (AR) ที่ช่วยให้ผู้ชมได้สัมผัสวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมของหางโจวได้อย่างลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
ไฮไลต์ของพิธีเปิดซึ่งเป็นที่ตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก คือการใช้ “มนุษย์ดิจิทัล” เป็นผู้จุดไฟคบเพลิงการแข่งขันนับเป็นการจุดคบเพลิงด้วยมนุษย์ดิจิทัลเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการกีฬาโลก โดยจีนได้ใช้เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม หรือ Augmented Reality (AR) เข้ามาใช้ ผ่านการสร้างนักวิ่งคบเพลิงที่เป็นมนุษย์ดิจิทัลขนาดยักษ์ วิ่งข้ามแม่น้ำเฉียนถัง ก่อนใช้คบเพลิงจุดไฟให้ลุกโชติช่วงสวยงาม ร่วมกับ “หวัง ชุน” นักกีฬาว่ายน้ำ เดี่ยวผสม 200 เมตรชาย เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก โตเกียว 2020
โดยนักวิ่งคบเพลิงดิจิทัลคนดังกล่าวมีชื่อว่า “เสี่ยว หั่วเหมียว” ถูกสร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม หรือ AR เทคโนโลยีที่ผสานวัตถุ ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือแอนิเมชันต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นผ่านกระบวนการดิจิทัลกับโลกจริง ๆ ของเราเข้าด้วยกัน
กระบวนการสร้างมนุษย์ดิจิทัล มีการเรียกคัดตัวผู้ที่จะมาเป็นต้นแบบของมนุษย์ดิจิทัลดังกล่าว โดยทีมงานได้ไปพบกับหนุ่มมัธยมต้นที่มีชื่อว่า “เกา หยู” ซึ่งมีอายุราว 14-15 ปี แต่มีส่วนสูงถึง 180 เซนติเมตร มีรูปร่างแข็งแรง ท่วงท่าดี และมีพื้นฐานการเล่นกีฬาที่ดี ส่วนแสงไฟที่ประกอบรูปร่างขึ้นมาเป็นมนุษย์ดิจิทัลนั้น มาจากการเปิดให้ประชาชนชาวจีนกว่า 105 ล้านคน ลงทะเบียนร่วมจุดคบเพลิงแบบดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชันทางการเงินชื่อดังของจีนอย่างแอปฯ อาลีเพย์ โดยจะเป็นการฉายผ่านเครื่องฉายขนาดยักษ์ และนอกจากมนุษย์ดิจิทัลแล้ว ยังใช้กราฟิก AR ที่ออกแบบอย่างสวยงาม กับการจุดพลุดอกไม้ไฟ และแสดงทิวทัศน์ธรรมชาติต่าง ๆ อย่างสวยงาม
ในเรื่องของการจุดพลุดอกไม้ไฟ ซึ่งปกติจะเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงความยิ่งใหญ่ของชาติเจ้าภาพ แต่จีนเคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าจะไม่จุดพลุจริงเพื่อลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในอากาศ ดังนั้น จีนจึงใช้พลุดอกไม้ไฟดิจิทัล ซึ่งใช้กราฟิกสร้างขึ้นมาในการเฉลิมฉลองแทน โดยพลุดิจิทัลนี้จะสามารถเห็นได้ผ่านการถ่ายทอดสดเท่านั้น ส่วนคนที่อยู่ในสถานที่จริงจะไม่เห็นอะไรเลย
Alibaba Cloud ตัวช่วยในการถ่ายทอดสด
จีนสร้างประวัติศาสตร์ในการใช้เทคโนโลยีประมวลผลคลาวด์ สำหรับการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬารายการต่าง ๆ ในมหกรรมเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 เป็นครั้งแรก ซึ่งดำเนินการผ่านระบบคลาวด์อย่างสมบูรณ์ ที่ช่วยส่งเสริมความเป็นดิจิทัลของการจัดงานขนาดใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น เทคโนโลยีคลาวด์ที่ใช้นี้ได้รับการสนับสนุนหลักจาก Alibaba Group ได้วาง Core System ทั้งหมดด้วย Cloud-Natives เพื่อเชื่อมต่อกิจกรรมหรือการแข่งขันรวมเข้ากับระบบสำคัญได้โดยไม่มีข้อติดขัด รวมถึงแอปพลิเคชันอัจฉริยะต่าง ๆ นี่จึงเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ที่รองรับการถ่ายทอดสดคุณภาพสูง
โดยการออกอากาศผ่านคลาวด์ คือ การนำภาพต่าง ๆ ที่เคยส่งด้วยสัญญาณดาวเทียม มาออกอากาศผ่านอินเทอร์เน็ตโดยใช้เทคโนโลยีคลาวด์ หรือการเก็บข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ที่อื่นเป็นตัวกลางในการส่งและกระจายไปยังที่อื่น ๆ ทั่วโลก คล้ายกับการที่เรากดไลฟ์สดบน Youtube นั่นเอง เพียงแต่นี่เป็นระบบที่ใหญ่กว่านั้น และถูกออกแบบให้ทีวีหลายร้อยช่องทั่วโลกสามารถดึงสัญญาณสดได้พร้อม ๆ กันโดยคุณภาพไม่ลดลง
ระบบหลักของ Core System ประกอบด้วย Games Management Systems (GMS), Results Distribution Systems (RDS) และ Games Support Systems (GSS) ที่สนับสนุนการดำเนินงานตลอด 24 ชั่วโมงให้กับสถานที่แข่งขัน 56 แห่ง และสถานที่สำคัญอื่น ๆ อย่าง ศูนย์จัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ, ศูนย์หลักสำหรับสื่อมวลชน และหมู่บ้านเอเชียนเกมส์หางโจว รองรับผู้ใช้บริการที่ลงทะเบียนมากกว่า 100,000 ราย รวมถึงนักกีฬา ผู้แพร่ภาพกระจายเสียง ผู้สื่อข่าว เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครจาก 45 ประเทศและทุกภูมิภาคทั่วโลก เมื่อมีการออกอากาศผ่านระบบคลาวด์ ก็ทำให้เจ้าภาพสามารถส่งภาพไปยังทั่วโลกได้ผ่านศูนย์ข้อมูล Data Center ที่จัดตั้งอยู่ตามหัวเมืองทั่วโลกได้ ขอเพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตเท่านั้น
เอเชียนเกมส์ ที่เมืองหางโจว จะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การจัดการแข่งขันที่ผู้ออกอากาศที่มีสิทธิ์ (Right-Holding Broadcasters: RHBs) จะได้รับฟุตเทจสดผ่านโครงสร้างพื้นฐาน Public Cloud โดย Alibaba Cloud คาดว่าจะมีฟุตเทจสดมากกว่า 5,000 ชั่วโมงส่งผ่านฟีดที่มีความคมชัดสูง (HD) และความคมชัดสูงพิเศษ (UHD) มากถึง 68 รายการระหว่างงาน และนอกจากการถ่ายทอดสดแล้ว ไฮไลต์ของเกมต่าง ๆ และข่าวด่วน ก็จะถูกส่งให้ RHBs ผ่านคอนเทนต์แพลตฟอร์มบนคลาวด์ เพื่อเผยแพร่ไปยังอุปกรณ์ของผู้ชมได้ทันที
หมู่บ้านนักกีฬาอัจฉริยะ
นอกจากจะใช้ระบบคลาวด์เป็นตัวช่วยในการออกอากาศแล้ว Alibaba Cloud ยังถูกนำมาใช้ในการจัดการภายในหมู่บ้านนักกีฬาและที่พักของพนักงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เนื่องจากการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติเช่นนี้ย่อมมาพร้อมการใช้พลังงานมหาศาล การใช้ระบบคลาวด์เข้ามาช่วยจัดจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้คนจำนวนมากแล้วนำไปให้ปัญญาประดิษฐ์ประมวลผลเพื่อลดการใช้พลังงาน
โดย Intelligent Operation Platform เป็นเทคโนโลยีที่ใช้บริหารจัดการการดำเนินงานของหมู่บ้านนักกีฬาเอเชียนเกมส์ 3 แห่ง ซึ่งรองรับนักกีฬา ผู้สื่อข่าว และเจ้าหน้าที่มากกว่า 20,000 คน แพลตฟอร์มนี้ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ Virtualization ที่ล้ำสมัยของ Alibaba Cloud เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลอัจฉริยะแบบเรียลไทม์ และนำไปปรับปรุงระบบบริหารจัดการต่อไป
Alibaba Cloud จะใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ไปวิเคราะห์การบริหารจัดการการจราจรและความหนาแน่นของกลุ่มคน หากพื้นที่สาธารณะมีผู้คนหนาแน่นเกินไป ระบบจะแจ้งเตือนบนแดชบอร์ดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีการแจ้งเตือนสภาพอากาศที่รุนแรง ไฟดับ และไฟไหม้ เพื่อให้ผู้จัดงานตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม
นอกจากนี้ Alibaba Cloud ยังใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (NLP) ผ่านหุ่นยนต์บริการอัจฉริยะ ที่ให้บริการคำปรึกษาออนไลน์แก่ผู้พักอาศัยในหมู่บ้านนักกีฬาเอเชียนเกมส์ตลอดทั้งวันด้วยภาษาอังกฤษและภาษาจีน ผ่านบริการเว็บแอปพลิเคชัน ซึ่งแชตบอตนี้ตอบโต้และให้ข้อมูลได้ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับหมู่บ้านนักกีฬา
ไม่หมดเพียงเท่านั้น ภายในหมู่บ้านนักกีฬาเอเชียนเกมส์ยังเต็มไปด้วย “หุ่นยนต์อัจฉริยะ” ที่ถูกนำมาให้บริการและสร้างความสะดวกสบายให้กับเหล่านักกีฬา หุ่นยนต์เหล่านี้ถูกตั้งค่าให้ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การต้อนรับแขก การลาดตระเวน การดับเพลิง และการจัดจำหน่ายสินค้า รวมถึงการให้บริการฟังก์ชันในการปฏิบัติงานประจำวัน การแสดงในที่สาธารณะ การฝึกกีฬา และอื่น ๆ อีกมากมาย หรือนวัตกรรมที่น่าสนใจภายในหมู่บ้านนักกีฬาเอเชียนเกมส์ คือ รถบัสอัจฉริยะที่มีการติดตั้งเทคโนโลยี AR เข้าไปที่ตัวกระจกรถ ทำให้ผู้โดยสารสามารถสัมผัสประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ AR นำเสนอผ่านกระจกอัจฉริยะระหว่างเดินทาง
ไม่เพียงแต่การใช้เทคโนโลยีคลาวด์ในการจัดการภายในหมู่บ้านนักกีฬาและหมู่บ้านสื่อมวลชนเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนเรื่องการลดใช้พลังงานงานเชื้อเพลิงและการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ มีการติดตั้งสถานีชาร์จไร้สายแบบ Vehicle-to-grid (V2G) กำลังแรงสูงแห่งแรกของประเทศ โดยติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จไฟขนาด 500 กิโลวัตต์จำนวน 8 เครื่อง ที่จอดรถสำหรับชาร์จไร้สายจำนวน 8 คัน และเสาชาร์จ V2G จำนวน 8 เสา เพื่อช่วยบริการการชาร์จไฟรถบัสขนส่ง EV ที่มีประสิทธิภาพและสะดวกสบายเพื่อรักษาระบบขนส่งแบบไร้คาร์บอนในพื้นที่
แอปฯ แชต DingTalk เวอร์ชันใช้เฉพาะเอเชียนเกมส์
การใช้ประโยชน์จาก Alibaba Cloud ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพื่อให้การบริหารจัดการการแข่งขันมีประสิทธิภาพสูงสุด Alibaba Cloud ได้พัฒนาแอปฯ DingTalk ขึ้นมาในเวอร์ชันที่ใช้เฉพาะเอเชียนเกมส์โดยเฉพาะ เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคณะผู้จัด ทีมงาน นักกีฬา และผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ นับแสนคน รองรับการติดต่อหากันไม่ว่าจะทั้งการโทรหาและประชุมผ่านวิดีโอคอล
DingTalk for Asian Games เป็นดิจิทัลโซลูชันคลาวด์ ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการทำงานร่วมกันแบบที่เดียวจบ มีการเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในทุกขั้นตอนของการจัดการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดงานและซัพพลายเออร์ ไปจนถึงอาสาสมัครและผู้ดำเนินงานที่ประจำอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ DingTalk จึงเป็นแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่นำเสนอวิธีการใหม่ ๆ ในการทำงาน การแชร์ข้อมูล และการทำงานร่วมกัน
รถยนต์ไร้คนขับ วิ่งรับส่งภายในพื้นที่จัดการแข่งขัน
มีการนำรถมินิบัสไร้คนขับจำนวน 5 คัน ที่ได้รับการตกแต่งในธีมของเอเชียนเกมส์ และมีการติดตั้งกล้อง HD เรดาร์เลเซอร์ เรดาร์คลื่นมิลลิเมตร เรดาร์อัลตราโซนิก และระบบกำหนดตำแหน่งเพื่อความปลอดภัย มาใช้บริการวิ่งรับส่งผู้มาเยือนภายในพื้นที่จัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้ โดยจะให้บริการการสัญจรในเส้นทางรวมระยะทางทั้งสิ้น 5.7 กิโลเมตร และมีจุดขึ้นลงทั้งหมด 8 จุดทั่วเมืองหางโจว
จุดแวะพักของเส้นทาง Hangzhou Asian Games Smart Driving Experience จะรวมเอาสถานที่สำคัญต่าง ๆ อย่าง หมู่บ้านเอเชียนเกมส์ ศูนย์สื่อหลัก และกลุ่มสถานที่จัดงานของศูนย์กีฬาโอลิมปิกหางโจว ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่หลักที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือนบ่อยที่สุดในระหว่างการแข่งขัน รถยนต์ไร้คนขับ 5 คันในเส้นทางนี้จะให้บริการขนส่งอัจฉริยะสำหรับกลุ่มต่าง ๆ คือนักข่าว นักกีฬา และประชาชนทั่วไป