'แชตจีพีที' กับการศึกษา นักเรียนจะได้ประโยชน์หรือไม่?

'แชตจีพีที' กับการศึกษา นักเรียนจะได้ประโยชน์หรือไม่?

'แชตจีพีที' กับการศึกษา นักเรียนจะได้ประโยชน์หรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ChatGPT ซึ่งเป็นแชทบอตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์ของผู้คน ตลอดจนการใช้ในทางที่ผิด ๆ และในขณะที่นักการศึกษาบางคนพยายามไม่ให้มีการใช้ AI ในชั้นเรียน แต่บางคนก็สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีนี้ในการเรียนการสอน

istock-1486626507

เมื่อ ChatGPT ซึ่งเป็นแชทบอตที่ขับเคลื่อนด้วย AI ที่พัฒนาโดย OpenAI ได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ บางแห่งเลือกที่จะบล็อกแอปฯ ดังกล่าวบนอุปกรณ์ดิจิทัลของโรงเรียน เช่น แท็บเล็ตและแล็ปท็อป เพื่อป้องกันการคดโกงต่าง ๆ

แต่โรงเรียนในเขตการศึกษาอิสระของนครดัลลัส หรือ Dallas ISD (Dallas Independent School District) กลับเปิดรับเทคโนโลยีใหม่นี้

Dallas ISD เชื่อว่า การเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี AI อย่างมีความรับผิดชอบและมีจริยธรรมนั้น จะช่วยให้นักเรียนสามารถเข้าใจถึงความสำคัญของการสร้างเนื้อหาต้นฉบับ และการอ้างอิงแหล่งที่มาเพื่อหลีกเลี่ยงการลอกเลียนได้

อาจารย์บางคนเห็นพ้องต้องกันว่า ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ที่จะไปต่อสู้กับเทคโนโลยีใหม่นี้ อย่างเช่น บีทตา โจนส์ อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเท็กซัส คริสเตียน (Texas Christian University) ซึ่งกำลังสอนให้นักเรียนของเธอมองว่า ChatGPT เป็นเทคโนโลยีที่ชาญฉลาดที่สามารถช่วยในเรื่องการเรียนได้ แต่ไม่มีความน่าเชื่อถือ

โจนส์ กล่าวว่า “นักเรียนสามารถคิดค้นและแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นได้ เพราะพวกเขามี AI คอยช่วย ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลอันกว้างใหญ่ได้ แน่นอนว่าพวกเขาต้องตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้เสียก่อนเพื่อยืนยันความถูกต้อง ซึ่งเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้ความคิดในเชิงวิเคราะห์อีกด้วย”

อย่างไรก็ตาม การพยายามตรวจสอบว่านักเรียนใช้ ChatGPT ในการช่วยทำการบ้านหรือไม่นั้นยังคงเป็นปัญหาอยู่ บรรดาบริษัทต่าง ๆ ที่พัฒนาซอฟต์แวร์ตรวจจับการคัดลอกผลงานของ AI เช่น เทิร์นอิทอิน (Turnitin) กล่าวว่า เมื่อพวกเขาสามารถตรวจจับกลโกงได้ดีขึ้น กลุ่มคนที่ใช้วิธีโกงเหล่านั้นก็เก่งขึ้นตามไปด้วย

แอนนี เชชิเทลลี ผู้บริหารของ Turnitin อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า เมื่อนักเรียนใช้ ChatGPT ในการทำงานแล้วก็อาจใช้ระบบอื่นในการตรวจสอบซ้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมข้อมูล เพื่อช่วยหลีกเลี่ยงการตรวจจับกลโกง

ในขณะที่โจนส์กล่าวว่า มหาวิทยาลัยต่าง ๆ ล้วนมีความกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า False Positive หรือผลการตรวจจับที่ระบุว่ามีการกระทำผิดแต่ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น เช่น ผลตรวจสอบอาจชี้ว่านักศึกษาใช้ AI ทำงาน ทั้งที่จริง ๆ แล้วพวกเขาอาจทำงานด้วยตัวเอง

โจนส์ กล่าวต่อไปว่า “เราไม่สามารถบอกได้อย่างแน่ชัดว่านักเรียนโกงหรือไม่ บรรดาเทคโนโลยีตรวจจับ AI ที่ว่าดีที่สุดทั้งหลายล้วนกล่าวอ้างว่าตนมีความแม่นยำและเชื่อถือได้ 99.6% แต่ก็ไม่เคยให้ข้อมูลเกี่ยวกับ False Positive และนั่นก็อาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาและคณาจารย์แย่ลง ตลอดจนทำให้ชื่อเสียงของนักเรียนที่ดีเหล่านั้น แย่ลงไปด้วย”

แต่สิ่งที่ชัดเจนก็คือ AI จะไม่หายไปไหน และตัวมนุษย์เองก็กำลังล้าหลังลงไป

ทั้งนี้ การสำรวจของ UNESCO ที่มีขึ้นในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย 450 แห่งพบว่า มีเพียง 10% เท่านั้นที่ได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ในสถาบันของตน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook