AIS ฉายภาพเส้นทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ก้าวสำคัญของการวิวัฒน์สู่การสร้าง Sustainable Nation
“โลกเดือด” คือสัญญาณเตือนของสภาวะโลกร้อนที่กำลังเข้าสู่วิกฤติ สาเหตุหลักเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่เกินกว่าโลกจะรับไหว ถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ถึงเวลาที่ความสามารถของ Digital จะเข้ามาช่วยลดหรือแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดย AIS เชื่อว่าพลังของดิจิทัลและพลังของทุกคน จะสามารถสร้าง Green Network ที่แข็งแรง เพื่อช่วยสนับสนุนภารกิจ Sustainable Nation หรือการเติบโตร่วมกันของผู้คน สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตของประเทศไทยที่ยั่งยืน
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า “นอกเหนือจากการเติบโตทางธุรกิจที่เราได้สร้างความแข็งแกร่งของ Intelligence Infrastructure ให้กับลูกค้าและคนไทยแล้ว วันนี้ AIS ยังมีเป้าหมายใหญ่ในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศ ทั้งในมิติของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ด้วยความตั้งใจของเราในครั้งนี้จะเป็นการวิวัฒน์ครั้งสำคัญของโลกดิจิทัลและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีเป้าหมายในการสร้าง Sustainable Nation หรือทำให้ประเทศไทยของเราเติบโตอย่างยั่งยืน”
สำหรับแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนนโยบายที่ยืนหยัดด้านสิ่งแวดล้อมของ AIS ถูกวางไว้ใน 2 แกนหลัก คือ 1) ลดผลกระทบผ่านการบริหารจัดการกระบวนการดำเนินธุรกิจและห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ 2)ลดและรีไซเคิลของเสียจากการดำเนินธุรกิจและส่งเสริมให้คนไทยร่วมกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS ได้ฉายภาพให้เห็นถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมโทรคมนาคมว่า “การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยบริหารจัดการ การใช้พลังงานกับการทำงานเครือข่าย เป็นเรื่องสำคัญและถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั่วโลก ซึ่งในส่วนของเอไอเอส ที่วันนี้นอกจากการปรับอุปกรณ์สถานีฐาน และเริ่มนำพลังงานทางเลือกจากธรรมชาติ อาทิ พลังงานจากแสงอาทิตย์ และพลังงานลม มาเริ่มใช้ควบคู่กับพลังงานหลัก ภายใต้แนวคิด Green Network แล้ว เรายังเริ่มทดลอง ทดสอบ นวัตกรรม โซลูชันต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการ Traffic ของระบบเครือข่ายทั้งหมด กับเป้าหมายการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้วเช่นกัน”
เราเชื่อว่าการจะเป็น Go Green ได้นั้นต้อง Go Digital ควบคู่กันไปด้วย ทำให้เราเดินหน้า Moving to The Cloud เพื่อยืดอายุการใช้งานอุปกรณ์ภายในสถานีฐานให้ยาวนานขึ้น รวมถึงความตั้งใจในการพัฒนา Autonomous Network ที่นำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในสถานีฐานเพื่อบริหารจัดการพลังงานให้เหมาะสมกับปริมาณการใช้งานของลูกค้า ได้แบบ More Bits, Less Watts เพื่อให้ลูกค้ายังคงได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ตรงใจ พร้อมกับการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ในส่วนของแนวทางการทำงานของ AIS เพื่อลดและรีไซเคิลของเสียจากการดำเนินธุรกิจรวมถึงมุ่งส่งเสริมให้คนไทยร่วมกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS อธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า “เมื่อเราเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น ก็จะส่งผลให้ปริมาณอุปกรณ์ ดีไวซ์ เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย สอดคล้องกับข้อมูลของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือ ITU ที่พบว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งหรือเผาทำลาย มีมูลค่าถึง 57,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีแค่ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น ที่มีการจัดเก็บอย่างถูกวิธีและนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ AIS ลุกขึ้นมาพูดและให้ความสำคัญกับปัญหา E-Waste เป็นรายแรกในอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 2019
เราอยากสร้าง HEALTHY ECOSYSTEM ในการทำงานด้าน E-Waste โดยที่ผ่านมาเราเริ่มต้นจากภายในองค์กรด้วยการชวนพนักงานให้มีส่วนร่วมกับการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้งอย่างถูกวิธี นำมาสู่การเชิญชวนเพื่อนบ้านองค์กรใกล้เคียงจนกลายเป็นกลุ่มกรีนพหลโยธินที่มาเข้าร่วมโครงการคนไทยไร้ e-waste หลังจากนั้นเราก็ขยายความร่วมมือไปยังภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ที่วันนี้มีกว่า 190 องค์กรเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังเป็น Green Partnership ที่ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาด้าน E-Waste นอกจากนี้เรายังนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามายกระดับกระบวนการจัดการด้วยแอปพลิเคชัน E-Waste+ ที่สามารถติดตาม รับรู้เส้นทางของการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงคำนวณปริมาณ Carbon Scores ได้อีกด้วย
วันนี้ AIS พร้อมเป็นแกนกลางด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือ HUB of e-waste ที่มีความครอบคลุมทั้งในด้านการสร้างองค์ความรู้ ด้านเครือข่ายที่มาช่วยกันแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ ๆ ด้านจุดรับทิ้ง ด้านการขนส่ง หรือแม้แต่ด้าน รีไซเคิลตามเป้าหมาย Zero e-waste to Landfill โดยเราอยากเชิญชวนให้ทุกองค์กรส่งต่อความตระหนักรู้ในด้านนี้ไปยัง พนักงาน ลูกค้า หรือแม้แต่ Stakeholder ทุกกลุ่ม เพื่อต่อยอดการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในระดับประเทศต่อไป”
อัลบั้มภาพ 12 ภาพ