กล้องดูดาวยุโรปจับภาพเบิกทางภารกิจสำรวจ ‘จักรวาลอันมืดมิด’
นักดาราศาสตร์ในยุโรปเปิดเผยภาพชุดจากกล้องยูคลิดที่ออกแบบมาเพื่อศึกษาความลับของสสารและพลังงานมืด (dark matter/dark energy) ซึ่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นและเชื่อกันว่า เป็นองค์ประกอบ 95% ของจักรวาล ตามรายงานของรอยเตอร์ในวันอังคาร
องค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ที่ร่วมทำภารกิจสำรวจอวกาศกับองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซ่า ระบุว่า ภาพชุดดังกล่าวถือว่ามีความคมชัดที่สุดในหมู่ภาพประเภทเดียวกัน และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิด (Euclid) ที่สามารถมองเห็นกาแล็กซีเป็นพันล้านกาแล็กซี ซึ่งอยู่ห่างออกไปได้ถึงหนึ่งหมื่นล้านปีแสง
ESA ระบุว่า ภาพชุดดังกล่าวครอบคลุม 4 พื้นที่ของจักรวาลที่อยู่ใกล้เคียงกันกับโลกของเราอยู่ ซึ่งรวมถึง ภาพของกาแล็กซีจำนวน 1,000 แห่งที่อยู่ในกระจุกกาแล็กซีเพอร์เซอุสที่อยู่ห่างไป 240 ล้านปีแสง และมีพื้นหลังเป็นกาแล็กซีอีกมากกว่า 100,000 แห่ง
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า โครงสร้างที่ดูเหมือนมีการจัดวางอย่างดีและกินพื้นที่มหาศาล อย่างเช่น กระจุกกาแล็กซีเพอร์เซอุส (Perseus cluster) นั้น เกิดขึ้นได้เพราะสิ่งที่มองไม่เห็นที่เรียกว่า สสารมืด
ผู้อำนวยการ ESA แคโรล มุนเดล กล่าวกับรอยเตอร์ว่า “เราคิดว่าเราเข้าใจเพียงแค่ 5% ของจักรวาล นั่นคือสิ่งที่เรามองเห็น” และกล่าวด้วยว่า “เราบอกว่าส่วนที่เหลือของจักรวาลนั้นมืด เป็นเพราะมันไม่ได้ผลิตแสงในสเปกตรัมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั่วไป แต่เรารู้ว่ามันมีตัวตน เพราะเห็นผลกระทบของตัวมันจากสิ่งที่เรามองเห็นได้”
รอยเตอร์รายงานว่า ตัวอย่างสัญญาณที่เชื่อว่า บ่งชี้ถึงการมีอยู่ของพลังงานมืด คือ การหมุนตัวของกาแล็กซีที่เร็วกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดไว้
ขณะที่ สสารมืดเป็นสิ่งที่อธิบายได้ยาก คำว่า ‘พลังงานมืด’ นั้นยิ่งเป็นปริศนามากยิ่งกว่า เพราะเพิ่งมีการตั้งสมมติฐานการมีอยู่ของมันในช่วงทศวรรษที่ 1990 ผ่านงานการศึกษาการระเบิดของดาวฤกษ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ซูเปอร์โนวา” (supernova) โดยงานศึกษาดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์อเมริกันสามรายได้รับรางวัลโนเบลไปในปี 2011
แผนที่จักรวาล 3 มิติ
หลังมีการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคต่าง ๆ ของกล้องโทรทรรศน์ยูคลิดเสร็จแล้ว อุปกรณ์นี้จะทำการสร้างแผนที่สามมิติที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 ใน 4 ของท้องฟ้าเพื่อช่วยสังเกตความเป็นไปที่เกี่ยวข้องกับจักรวาลอันมืดมิดด้วย
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์หวังว่า ข้อมูลความรู้ใหม่ ๆ จากกล้องนี้ที่เกี่ยวกับพลังงานและสสารมืด จะช่วยให้ทุกฝ่ายเข้าใจเกี่ยวกับการก่อตัวและการกระจายตัวของกาแล็กซีไปตามพื้นที่ที่เรียกว่าเป็น “เส้นใยจักรวาล” (Cosmic Web) ต่อไป
นอกจากภาพชุดจักรวาลที่กล่าวมาแล้ว ESA ยังได้เผยแพร่ภาพอื่น ๆ เช่น ภาพของกาแล็กซีรูปทรงไม่ปกติ ที่เชื่อว่าเป็นโครงสร้างฐานรากของจักรวาลและกาแล็กซีรูปทรงเกลียวที่คล้ายกับกาแล็กซีที่เราอาศัยอยู่ ซึ่งบ่อยครั้งมักถูกบดบังด้วยแสงและฝุ่นผงจากทางช้างเผือก
กล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิด คือ ตัวอย่างของการที่ยุโรปต้องพึ่งพาหน่วยงานนอกพื้นที่ในการดำเนินภารกิจ เพราะการนำยูคลิดขึ้นสู่วงโคจรนั้น เดิมทีต้องใช้ยานอวกาศโซยุซของรัสเซีย ก่อนจะต้องเปลี่ยนมาใช้บริการจรวดฟัลคอน 9 ของบริษัทสเปซเอ็กซ์แทน เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ย่ำแย่ลง หลังรัสเซียรุกรานยูเครน