‘ไมโครซอฟต์’ เปิดตัวชิปใหม่ ปูทางพัฒนาบริการด้านเอไอ
ไมโครซอฟต์ บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังเปิดตัวคู่ชิปคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบเอง เดินตามรอยบริษัทร่วมวงการเพื่อแก้ปัญหาการให้บริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีต้นทุนสูง ตามการรายงานของรอยเตอร์
ชิปตัวใหม่ดังกล่าวมีชื่อว่า ‘ไมอา’ (Maia) และถูกเปิดตัวในงานประชุม Ignite ซึ่งเป็นเวทีสำหรับคนในแวดวงการพัฒนาไอทีที่ไมโครซอฟต์เป็นผู้จัด ที่เมืองซีแอตเติล
ไมโครซอฟต์ระบุว่า ไม่มีแผนการที่จะขายชิปนี้ โดยชิปจะถูกนำไปใช้สนับสนุนการให้บริการด้านซอฟต์แวร์อื่น ๆ รวมถึงระบบบริการด้านแพลตฟอร์มที่ชื่อ Azure
ไมอา จะถูกนำไปใช้เพิ่มความเร็วในการประมวลผลของ AI ในผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ ‘โคไพลอท’ (Copilot) ซึ่งเป็นบริการด้าน AI สำหรับลูกค้าภาคธุรกิจและภาคไอที ที่คิดค่าใช้งานเดือนละ 30 ดอลลาร์ (ราว 1,065 บาท) และบริการ Azure OpenAI ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากความร่วมมือกับบริษัท OpenAI ผู้ผลิตแชทบอทชื่อดัง ChatGPT
รอยเตอร์รายงานว่า บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างอัลฟาเบตและไมโครซอฟต์ กำลังเผชิญกับปัญหาเรื่องต้นทุนการให้บริการระบบ AI ที่สามารถมีต้นทุนมากกว่าการให้บริการทั่วไปอย่างบริการระบบค้นหา (search engine) ถึง 10 เท่า
ผู้บริหาร ไมโครซอฟต์กล่าวว่า พวกเขามีแผนที่จะแก้ไขปัญหาด้านต้นทุนด้วยการนำไมอาเข้ามาเป็น AI ตัวพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของบริษัทที่ใช้ AI เป็นองค์ประกอบ
สกอตต์ กัธรี รองประธานบริหารกลุ่มคลาวด์และ AI ของไมโครซอฟต์ กล่าวว่า “เราคิดว่าสิ่งนี้ (ไมอา) จะทำให้เรามีทางออกที่ดีขึ้นสำหรับลูกค้าของเรา ที่มีความรวดเร็วกว่า ต้นทุนต่ำกว่า และคุณภาพสูงกว่า”
ไมโครซอฟต์ยังระบุด้วยว่า ในปีหน้า จะมีการให้บริการระบบคลาวด์แก่ลูกค้าในแพลตฟอร์ม Azure ที่ใช้ชิปจาก Nvidia และ Advanced Micro Devices (AMD) สองแบรนด์ระบบประมวลผลชื่อดัง และยังเปิดเผยด้วยว่า ไมโครซอฟต์กำลังทดลองระบบ GPT-4 ที่เป็นโมเดลที่ล้ำหน้าที่สุดของผลิตภัณฑ์ OpenAI ด้วยชิปของ AMD อีกด้วย
เบน บาจาริน ประธานบริหารของบริษัทนักวิเคราะห์ Creative Strategies มองว่า การใช้ AMD ทดลองระบบ ไม่ได้หมายความว่าไมโครซอฟต์จะละทิ้ง Nvidia และยังกล่าวด้วยว่าไมอาจะทำให้ไมโครซอฟต์สามารถขายบริการ AI ในระบบคลาวด์ จนกว่าคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ทั่วไปจะมีกำลังพอที่จะรองรับเทคโนโลยีได้
นอกจากไมอา ไมโครซอฟต์ยังเปิดตัวชิปที่ชื่อ ‘โคบอลท์’ (Cobalt) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา และในวันพุธ ทางบริษัทก็เปิดเผยว่าได้นำโคบอลท์ไปทดสอบในการสนับสนุนผลิตภัณฑ์สื่อสารทางธุรกิจที่ชื่อ Teams แล้ว
นอกจากการใช้งานภายในแล้ว กัธรีกล่าวว่า ทางบริษัทต้องการที่จะขายสิทธิการเข้าถึงโคบอลท์ เพื่อแข่งขันกับชิป ‘กราวิตอน’ ที่ผลิตโดยคู่แข่งอย่าง Amazon Web Services (AWS)
รอยเตอร์รายงานว่า AWS จะจัดงานประชุมผู้พัฒนาด้านไอทีของตนในปีหน้า และโฆษกบริษัทก็เปิดเผยว่าตอนนี้มีลูกค้าที่ซื้อกราวิตอนไปแล้ว 50,000 ราย