แคสเปอร์สกี้ จับมือ สกมช. ลงนามความร่วมมือเพิ่มขีดความสามารถความปลอดภัยไซเบอร์ของไทย
แคสเปอร์สกี้ (Kaspersky) บริษัทระดับโลกด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัวทางดิจิทัล และสำนักงานรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์แห่งชาติ หรือ สกมช. (The National Cyber Security Agency of Thailand - NCSA) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) เพื่อร่วมกันทำงานและเสริมสร้างขีดความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทย
เมื่อพิจารณาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลที่มั่นคงของประเทศไทยแล้ว ความเสี่ยงทางไซเบอร์ก็เพิ่มขึ้นตามการเติบโตนี้เช่นกัน ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ บันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อสร้างกรอบความร่วมมือระหว่างแคสเปอร์สกี้และสกมช. ในการสร้างขีดความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ การแบ่งปันความรู้ การสนับสนุนจากผู้เชี่ยวชาญ การแลกเปลี่ยนทางเทคนิค และโครงการริเริ่มร่วมกันอื่นๆ เพื่อเสริมสร้างการปกป้องไซเบอร์สเปซของประเทศไทย
นายยูจีน แคสเปอร์สกี้ ซีอีโอของแคสเปอร์สกี้ กล่าวถึงบันทึกความเข้าใจดังกล่าวว่า “ประเทศไทยเปิดรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อาชญากรไซเบอร์ก็ปรับปรุงเทคนิคการโจมตีของตนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างการป้องกันทางไซเบอร์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงรู้สึกตื่นเต้นที่จะขยายความร่วมมือกับสกมช. เพื่อสร้างโลกที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ เรายังมุ่งมั่นที่จะขยายความพยายามของเราในการสร้างเสริมขีดความสามารถ”
นางสาวจีนี่ กัน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการของรัฐและนโยบายสาธารณะ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง ตุรกีและแอฟริกา กล่าวว่า “บันทึกความเข้าใจฉบับนี้เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว เนื่องจากความร่วมมืออันยาวนานระหว่างสกมช. และแคสเปอร์สกี้ ด้วยการลงนามบันทึกความเข้าใจอย่างเป็นทางการ เราหวังว่าจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของเราให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ผ่านการแลกเปลี่ยนที่บ่อยขึ้น ซึ่งจะเสริมสร้างความสามารถของ สกมช. ในการจัดการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทย”
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า “ตัวเลขภัยคุกคามทางไซเบอร์ของประเทศไทยในปี 2566 เพิ่มขึ้นถึง 114.25% จากปีก่อน ภัยความเสี่ยงสามอันดับแรก ได้แก่ การแฮ็กเว็บไซต์ การโจมตีเว็บไซต์เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลที่เผยแพร่
และเว็บไซต์ปลอม หน้าที่ความรับผิดชอบของเราไม่เพียงแต่กำหนดนโยบาย กฎระเบียบ และมาตรฐานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการบรรเทาภัยคุกคามและการดำเนินคดีกับอาชญากรไซเบอร์อีกด้วย ทั้งสกมช. และแคสเปอร์สกี้ต่างมุ่งมั่นสร้างอนาคตที่มีการทำงานร่วมกันเป็นรากฐานสำคัญของนวัตกรรมและความเป็นเลิศในโลกดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว”
พลตรี ธีรวุฒิ วิทยากรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กล่าวว่า “ผมยินดีที่ได้เห็นความร่วมมือระหว่างสกมช. กับแคสเปอร์สกี้อย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ ก่อนการลงนามบันทึกความเข้าใจ แคสเปอร์สกี้ได้มีส่วนร่วมในงานของเรามากมาย รวมถึงการบรรยายสาธารณะของคุณยูจีน แคสเปอร์สกี้ เรื่องภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์สำหรับโลกดิจิทัลที่ปลอดภัย ในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ตลอดจนโครงการสร้างขีดความสามารถทางไซเบอร์ของแคสเปอร์สกี้แก่บุคลากรของ สกมช. ซึ่งครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น Cyber Threat Intelligence และ Adversary Attack Emulation”
ก่อนหน้านี้บุคลากรของ สกมช. ได้เดินทางไปเยี่ยมชม Transparency Center หรือศูนย์โปร่งใสของแคสเปอร์สกี้ที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในปี 2565 และได้รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติทางวิศวกรรมของแคสเปอร์สกี้ กฎการตรวจจับภัยคุกคาม และการอัปเดตซอฟต์แวร์ นอกจากนี้ แคสเปอร์สกี้ยังได้รับเกียรติจากพลตรี ธีรวุฒิ วิทยากรณ์ ขึ้นพูดในงาน Kaspersky's Security Analyst Summit (SAS) 2023 ซึ่งได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกเรื่องกฎระเบียบจากมุมมองของหน่วยงานกำกับดูแล และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้ร่วมงาน