ดีอี ผนึก สสช. และไปรษณีย์ไทย เปิดตัว "Postman Cloud" ใช้เครือข่ายบุรุษไปรษณีย์เสริมทัพสำมะโนประชากร

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี), สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.), และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ร่วมมือครั้งสำคัญในการดำเนินโครงการสำรวจสำมะโนประชากรและเคหะ ปี 2568 โดยมีเป้าหมายหลักคือการรวบรวมข้อมูลการเปลี่ยนแปลงประชากรและที่อยู่อาศัยอย่างครอบคลุม เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนและพัฒนานโยบายระดับประเทศในอนาคต
สำหรับปีนี้ การสำรวจจะผสมผสานวิธีการที่หลากหลาย โดยเน้นไปที่ สำมะโนแบบดิจิทัล (Digital Census) และการแจ้งเตือนผ่าน ข้อความสั้น (SMS) เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ไฮไลท์สำคัญคือการนำ เครือข่ายบุรุษไปรษณีย์ ภายใต้โครงการ “Postman Cloud” เข้ามามีบทบาทในการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกในการตอบแบบสอบถามผ่านช่องทางดิจิทัล ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเดือนเมษายนนี้
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กล่าวถึงความสำคัญของการสำรวจครั้งนี้ว่า ข้อมูลประชากรเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารจัดการประเทศ รัฐบาลจึงมอบหมายให้ไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงดีอี ใช้ความเชี่ยวชาญและเครือข่ายที่เข้าถึงประชาชนในทุกพื้นที่ เข้ามาสนับสนุนการเก็บข้อมูลให้ครอบคลุมและแม่นยำยิ่งขึ้น
“รัฐบาลและกระทรวงดิจิทัลฯ มั่นใจว่าการสำรวจสำมะโนประชากรฯ ในปีนี้จะมีความแม่นยำสูงขึ้น ด้วยการผสมผสานการสำรวจแบบดิจิทัล, SMS และความร่วมมือจากไปรษณีย์ไทย ที่จะช่วยเติมเต็มการเข้าถึงกลุ่มประชากรที่ไม่สะดวกใช้งานช่องทางออนไลน์ ด้วยความสัมพันธ์อันดีของบุรุษไปรษณีย์ จะสร้างความไว้วางใจและส่งผลให้ได้ข้อมูลที่นำไปใช้ในการขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายประเสริฐกล่าว
ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ไปรษณีย์ไทยพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยจะใช้ “Postman Cloud” ซึ่งเป็นระบบการทำงานของบุรุษไปรษณีย์ ในการจัดเก็บข้อมูลจากประชาชนที่ไม่สะดวกตอบผ่านช่องทางดิจิทัล โดยจะเริ่มดำเนินการสำรวจในพื้นที่ 11 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, สมุทรปราการ, ปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, ชลบุรี, ศรีสะเกษ, ร้อยเอ็ด, เชียงใหม่, นครศรีธรรมราช, ภูเก็ต และสงขลา ซึ่งมีครัวเรือนเป้าหมายประมาณ 4 ล้านครัวเรือน โดยคาดว่าจะเริ่มปฏิบัติงานได้ภายในเดือนเมษายน 2568
“นอกเหนือจากการใช้เครือข่ายบุรุษไปรษณีย์ในการสำรวจข้อมูลแล้ว ไปรษณีย์ไทยยังให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนถึงประโยชน์ของโครงการฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านโครงสร้างอายุและเพศ, การกระจายตัวของประชากร, และลักษณะทางเศรษฐกิจสังคม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาประเทศในอนาคต รวมถึงเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการจัดการข้อมูลให้กับไปรษณีย์ไทยเองด้วย” ดร.ดนันท์ กล่าวเสริม
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ