Samsung UA40B6000 LCD TV

Samsung UA40B6000 LCD TV

Samsung UA40B6000 LCD TV
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
 

‘The First LED in Back’


ถ้าพูดย้อนกลับไปถึงเรื่องการแข่งขันในเทคโนโลยีจอภาพดิจิตอล ระหว่างพลาสมาดิสเพลย์กับแอลซีดี เมื่อสักทศวรรษที่ 90 ดูจะเป็นยุคทองของพลาสมา เพราะด้วยว่าหลายๆ ค่ายต่างมุ่งทุ่มเทพัฒนาวิชาการของตนเพื่อให้การแสดงผลในลักษณะนี้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้น ในขณะที่ช่วงปลายทศวรรษนั้นก็เป็นจังหวะที่แอลซีดีทีวีตัวแรกเริ่มปรากฏให้เห็นอย่างเป็นทางการพอดี และก็ดูเหมือนจะเร่งพัฒนาคู่ขนานแข่งกันระหว่างทั้งสองเทคโนโลยีมาตลอด ตอนแรกๆ ที่เข้ามาให้เราสัมผัสก็อยู่ในช่วงเวลาที่เราจดจำได้ว่ามันเป็นของแพง ของหรู เหมาะสำหรับบางครอบครัวเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้นั่นหรือครับ ราคาของมันย่อมเยาลงมาเยอะ และมีให้เลือกหลายรุ่น จนบางคนบ่นว่าหาความแตกต่างไม่ได้

แต่วันนี้ถ้าคุณยังรู้สึกแบบนั้นอยู่ ต้องนี่ครับ... LED TV ซีรีส์ 6 ตัวใหม่ของซัมซุงที่มีอะไรใหม่ๆ ให้เป็นประสบการณ์อีกครั้งที่เล่นกับจอดิจิตอล ในรอบหลายปีมานี้

ซัมซุงคงอยากจะทำช่วงเวลานี้ให้เป็นที่จดจำอีกครั้งหนึ่ง เร่งประชาสัมพันธ์และส่งสินค้าออกมาสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว และด้วยเทคโนโลยีของการให้ความสว่างกับตัวพาเนล ทำให้แอลซีดีทีวีมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญนับตั้งแต่มันเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความบันเทิงในบ้าน โดยการเปลี่ยนชื่อเรียกแอล ซีดีของตัวเองเป็น ‘LED TV’ ที่เป็นชื่อเรียกของหลอดไฟเพื่อสำหรับส่องให้จอสว่าง แทนหลอดแบบ CCFL (Cold Cathode Fluorescent Lamp) ที่อยู่ในจอแบนรุ่นเก่าที่ถูกใช้ในแอลซีดีทีวีมาตลอดตั้งแต่เริ่มแรก เริ่มต้นกับ รหัส UA40B6000 แอลซีดีทีวีขนาด 40 นิ้วตัวที่เราได้รับมาทดสอบกันจะๆ ในคราวนี้นี่แหละครับ ผมขอเรียกมันว่า ‘ซีรีส์ 6000’ เพื่อจะได้จดจำกันง่ายขึ้นก็แล้วกัน
 
LED Begin
อันที่จริง LCD TV ของซัมซุงที่ใช้ LED เป็นแบล็คไลต์ หรือจะเรียกตามแบบซัมซุงว่า LED TV นั้น ปรากฏตัวเงียบๆ กับสินค้า LCD TV ในระดับพรีเมี่ยมของซัมซุงในซีรีส์ 9 มาก่อนประมาณปลายปีที่แล้ว ความที่มันเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยมมีขนาดของจอให้เล่นไม่มาก ก็เลยอาจจะถูกจำกัดความสำคัญอยู่ในวงแคบๆ แต่มาถึงวันนี้ ซัมซุงเปิดตัวเป็นเรื่องเป็นราวกับอนุกรม 6000, 7000 และ 8000 ที่ใช้หลอด LED นำเอามาเป็นแบล็คไลต์ของจอ LCD TV รุ่นใหม่ เรื่องที่ผมคิดว่าน่าปวดหัวของทางฝั่งผู้ซื้อ และผู้ขายก็คือทำยังไงให้มันแตกต่าง และสื่อว่ามันคือความเหมือนที่แตกต่าง

อย่างน้อยๆ ก็มีอย่างหนึ่งที่สะดุดตาคือความบางของ LED TV ตัวนี้ ที่เหลือเพียงแค่ 3 เซนติเมตร!!! เท่านั้น ทั้ง 3 ขนาด (40”, 46”, 55”)

เป็นสัญญาณบอกว่าต่อไปนี้ ที่ท่านเรียกจอแบน จอแบนน่ะ กับ LED TV ตัวนี้มันใช้ไม่ได้แล้ว มันต้องเรียกว่าแบน แล้วแถมบางสุดๆ อีกต่างหาก แต่เรื่องความบางเป็นเพียงแค่ผลพลอยได้เท่านั้นครับ ในแง่ของประสิทธิภาพของแหล่งกำเนิดแสงที่ใช้ใน LCD TV แต่เดิมที่เป็น CCFL (Cold Cathode Fluorescent Lamps) นั้นก็เริ่มหันมาใช้หลอด LED แทนนั้น รู้ๆ กันว่าข้อได้เปรียบก็เห็นจะเป็นเรื่องของประสิทธิภาพของแสง หรือความสว่างเมื่อเทียบกับขนาดหลอดอันกระจิดริดของมัน  คนล่ะเรื่องกับความสว่างที่ได้จากหลอดประเภทอื่น แถมความสูญเปล่าของพลังงานที่กลายเป็นความร้อนยังน้อยลง ทำให้สบายใจขึ้นว่ามีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้น LED จึงเป็นอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ ที่ให้แสงสว่างได้อย่างน่าอัศจรรย์สำหรับยุคนี้ แน่นอนว่าการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมจอภาพมันลงตัวซะนี่กระไร ถึงขนาดพร้อมที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าของทีวีในยุคดิจิตอลไปด้วยหรือเปล่าเดี๋ยวเราคงจะมาพิสูจน์กัน 
 
กลับมาที่ตัว UA40B6000 กันก่อนว่าภายนอกมันมีอะไรเชิญชวนสายตากันบ้าง ซัมซุงใช้ความรู้สึกแบบเดิมจากแอลซีดีซีรีส์รุ่นก่อนหน้า ยังคงเน้นความใสวาวของคริสตอลออกแบบเฟรมของจอภาพที่เลยพ้นออกมาจากกรอบสีดำ เห็นถึงความใส แวววาว ลงมาจนถึงขาตั้งแบบแท่งกลมแท่งเดียว และแป้นที่รองรับน้ำหนัก รวมๆ แล้วเมื่อมองจากด้านหน้าให้ความรู้สึกถึงดีไซน์ที่บ่งบอกถึงความตั้งใจที่มีอิสระ ไม่มีกฎเกณฑ์ในเรื่องของความที่เป็นสินค้าในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้ามาครอบงำ จริงๆ ก็เป็นคุณลักษณะของ ‘Crytal Design’  ที่ซัมซุงมุ่งเน้นโปรโมต ผมก็ว่าใครที่ต้องการสิ่งนี้อยู่แล้วก็จะพอรับรู้ตรงนั้นได้ เท่ากับว่าถ้าพูดถึงแค่เอา UA40B6000 มาวางแทนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งก็ไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่ามันไม่สวยก็แล้วกัน ยิ่งการออกแบบของ 6000 ตัวนี้มีความบางขนาดแค่กล่องหนังดีวีดีสองเรื่องเรียงซ้อนกันเท่านั้น การออกแบบพวกช่องต่อต่างๆ จึงต้องคำนวณใหม่ ซัมซุงใช้วิธีเรียงขั้วต่อเชื่อมโดยเฉพาะ HDMI ทั้ง 4 ชุดเอาไว้ด้านซ้ายของจอ และจะมีช่องต่ออะนาล็อกที่เหลืออยู่ใกล้ๆ กัน เบี่ยงไปอยู่ด้านหลังแทน 

ซัมซุงเรียกจอภาพของตัวเองว่า ‘Ultra Clear Panel’ เน้นที่ความใสโปร่งแสง และมีสีดำสนิท ความดำของมันเมื่อตั้งอยู่เฉยๆ แทบจะดำกว่าขอบจอเสียอีก แต่ก็จะมีจุดอ่อนตรงที่มันจะปรากฏเงาสะท้อนขึ้นบนจอได้ง่าย ซึ่งวิธีการแก้ไขก็คงต้องลดแสงไฟบริเวณหน้าจอลง สวิตช์การทำงานหน้าจอแทบจะเป็นระบบสัมผัสทั้งหมด ต้องสังเกตดีๆ จึงจะเห็นไฟแสดงสถานะการทำงานก็ซ่อนอยู่ตั้งเสาอะครีลิกที่เชื่อมต่อกับฐาน เป็นไฟเรืองๆ ที่กะพริบให้รับรู้สถานะตามการสั่งงานทุกครั้งที่คุณกดรีโมต 
 
       
 
       
จุดเด่น
อันดับแรกก็คงต้องยกให้พระเอกของเราคือ LED backlight มันคือหัวเรือใหญ่ที่ทำให้ยกระดับคุณภาพภาพของ LCD TV ขึ้นไปได้อีกระดับหนึ่ง ทั้งเรื่องของคอนทราสต์เรโช, เรื่องของสี และในความใสของภาพที่รู้สึกได้ทันทีเมื่อป้อนสัญญาณรายละเอียดสูงๆ ลงไป โดยเฉพาะ Wide Color Enhancer Pro มันมีคุณสมบัติที่รู้สึกได้ตรงที่เราสามารถเปิดใช้ความสว่างได้สูงๆ โดยที่สีสันไม่บวม หรือลอยขึ้นมาหลอกตา เราจึงเห็นถึงพลังแสงที่ถูกใช้ได้กว้างขึ้น ถูกจูนให้ลงตัวกับสัญญาณไฮเดฟฯ มากขึ้น  

อันดับต่อมาคงเป็นประเด็นของเรื่องดีไซน์ ที่ซัมซุงเรียกว่า Ultra Slim Design เอาความโปร่งใส ตัวตนที่เป็นบุคลิกบางอย่างของหยดน้ำมาใช้ อย่างที่พูดถึงไปในตอนแรก 

การสแกนในแบบ 100 Motion Plus ของซัมซุง ซีรีส์ 6000 ตัวนี้มีลูกเล่นตรงที่ให้คุณสามารถเข้าไปปรับการเคลื่อนไหวของภาพได้อย่างละเอียด ถ้าคุณไม่มั่นใจว่าจะสามารถปรับเองได้อย่างลุล่วง LED TV ตัวนี้ก็ยังมีค่ามาตรฐานที่มาจากโรงงานให้คุณเลือกเพียงพอสำหรับเลือกให้เข้ากับแหล่งโปรแกรมแต่ละชนิด 
 
 
จริงอยู่ว่าเรามักจะไม่เคยตระนักถึงเรื่องการบริโภคพลังงานจากพวกดิสเพลย์แบบนี้มาก่อน ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าจะลองเช็กดูว่ามันกินไฟขนาดไหนก็ลองเอามือสัมผัสหน้าจอดูก็ได้ครับ พวก LCD TV หรือ Plasma TV จะมีไอความร้อนออกมาด้วย บางตัวร้อนพอที่จะทำให้เรากระตุกมือกลับทีเดียว ถ้ายิ่งร้อนมากก็แสดงว่ามันช่วยให้คุณจ่ายค่าไฟมากขึ้นตามไปด้วย สำหรับ LED TV ตัวนี้ถือว่าอยู่ในข่ายที่รับได้ ถึงแม้มันจะมีไอคอนแสดงให้เห็นภาพของการประหยัดพลังงาน ผมขอใช้วิธีแบบลูกทุ่งๆ ของผมแล้วกันซึ่งต้องถือว่าดีกว่า LCD TV ตัวอื่น เพราะความที่มันบางนั่นก็เป็นอุปสรรคในการระบายความร้อนเหมือนกัน
 
Cystal clear
ในสภาพของการใช้งานปกติ LED TV ตัวนี้เรียกกว่ามีฟังก์ชันของการปรับแต่งภาพมาให้ใช้อย่างเหลือเฟือ เฉพาะเมนูการปรับแสงทั่วไป และการปรับเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่คันไม้คันมืออยากลองเล่นลองปรับด้วยตัวเอง หากแต่ก็มีคำแนะนำอยู่ด้านล่างของจอตลอดว่าพารามิเตอร์แต่ละตัวว่าเปลี่ยนเพื่ออะไร และเปลี่ยนไปแล้วจะได้อะไร ตั้งแต่การเชื่อมต่อที่มีรูปภาพแนะนำพอที่จะไม่ต้องกางคู่มือตาม ในการทดสอบผมเลือกใช้โหมด ‘Standard’ เป็นหลัก แต่ก็แก้ไขพารามิเตอร์อย่างอื่นไปบ้าง โดยซัมซุงตัวนี้จะแยกเมมโมรีการปรับเก็บไว้คนละตัวในแต่ละอินพุต ซึ่งเราก็พบว่าหากจะให้คุณภาพของภาพดีที่สุดระดับของค่า ‘backlight’ จะต่างกัน สำหรับสัญญาณธรรมดาจากดีวีดีเมื่อป้อนออกมาที่ 480i/576i ค่า backlight จะอยู่ที่ 4-5 เท่านั้น เทียบกับสัญญาณที่เป็น 1080p จากเครื่องเล่นมีเดียเพลเยอร์ Divico TVX-M6500A สามารถปรับ backlight ไปได้ถึง 10 ซึ่งเท่ากับว่าใช้ความสว่างของมันสูงสุด ภาพดูมีพลังมากแต่ไม่เบิร์น
 
ในฟังก์ชันที่ชื่อ ‘Black Tone’ ก็สำคัญ มันช่วยเพิ่มความเข้มของสีดำลงได้อย่างที่เราต้องการ ปรับไว้ที่ ‘Darkest’ เลยโดยที่ไม่ต้องไปยุ่งกับแกรมม่า เพราะโอกาสที่สีเพี้ยนจะมีสูงกว่า อีกข้อหนึ่งตรงเรื่องของการสเกล จอตัวนี้สามารถปรับการสเกลได้โดยการกดที่รีโมต ตรงค่า ‘Screen Fit’ เป็นค่าที่ LED TV ตัวนี้จะไม่ไปแตะต้องเรื่องสัดส่วนหากคุณป้อนสัญญาณ 1080p เข้าไป แต่กลับกัน หากเป็นสัญญาณชนิดอื่นที่ค่านี้มันจะสเกลเพื่อให้เต็มจอ เพราะฉะนั้นหากต้องการให้ภาพที่ป้อนไปจากต้นทางไม่ตกหล่นหายไปไหนก็ต้องคอยเช็กที่ Picture Size ด้วยครับกระผม
 
   
คุณภาพการใช้งาน
เมื่อก่อนเราจินตนาการไม่ถูกว่าถ้าจอทีวีที่มันบางนั้น มันจะบางได้ขนาดไหน ด้วยยุคของ LCD TV ที่พัฒนามาถึงการที่ผู้บริโภคเริ่มยอมในคุณภาพ เราก็เริ่มเข้าสู่อีกยุคหนึ่งของ LED พอดี มันทำให้เราเห็นว่า จอทีวีมันทำให้บางได้อีก แต่จะบอกว่าไม่ต้องกลัวว่าการออกแบบจะมาบดบังอุปสรรคในการทำหน้าที่หลักของมัน LED backlight คือคำตอบที่มาแก้โจทย์ต่างๆ ที่ CCFL บรรจงพัฒนากันมาเสียเนิ่นนาน เรื่องของความคมชัด และพลังแสงของคอนทราสต์ด้านสว่างที่ลงตัวกับสี ทุกองค์ประกอบขยับตามกันขึ้นมาหมด ที่สัญญาณ 576i จากหนังดีวีดีแผ่น PAL ที่เราใช้อยู่เป็นประจำ สังเกตเห็นอย่างหนึ่งว่า ความใสของภาพที่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเพราะซัมซุงเลือกไม่เอาอะไรมาฉาบกันแสงสะท้อนที่หน้าจอให้ลดทอนความใสลงไปด้วย อีกอย่างก็เพราะเราไม่เห็นการขยับ หรือพิกเซลที่เป็นขยะให้เห็นด้านหลังเลยแม้แต่น้อย ภาพจึงใส และนิ่งไม่ว่าจะกวาดตาไปทางไหนก็เห็นรายละเอียดตามมา ความรู้สึกของการเคลื่อนไหวกับโหมด 100Hz ถ้าจะเปรียบเทียบแล้ว LED TV ตัวนี้ให้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวที่เป็นไดนามิกกว่า เมื่อปรับ 100Hz Motion ไปที่ ‘Standard’ จริงๆ ผมก็เพิ่งจะเริ่มชินตากับการเคลื่อนไหวของแอลซีดีทีวีตัวที่ทดสอบไปก่อนหน้า แต่ตัวนี้มันมีช้า มีเร็ว ไม่บังคับให้เราต้องติดอยู่กับการเคลื่อนไหวในสปีดเดียวนานๆ   
 
ความประทับใจมาเริ่มถึงจุดแตกหักก็ตรงเมื่อเราป้อนสัญญาณไฮเดฟฯ ให้มันนี่แหละ ความสุกสว่างของสีที่เราไม่เคยเห็นจากแอลซีดีทีวีตัวใดมาก่อน 6000 ซีรีส์ของซัมซุงมีพลังแสงตุนไว้เหลือเฟือจากฉากที่มีแสงทึมๆ แต่อยู่ๆ ก็มีอะไรสว่างโพลนเข้ามาในฉาก อย่างในเรื่อง Gladiator ที่เป็นไฮเดฟฟินิชั่น ในฉากกองทัพโรมันเข้าเผชิญหน้ากับข้าศึก ลูกไฟโรมัน ที่ยิงไปสร้างความหายนะให้ฝั่งตรงข้าม ตอนมันพุ่งเข้าชนต้นไม้ระเบิด สว่างเปล่งปลั่งมีพลังทำลายล้าง เห็นสะเก็ดไฟที่ระเบิดกระจาย ผมไม่เคยเห็นเปลวไฟในฉากนี้ที่ให้อารมณ์ได้มากเท่านี้มาก่อน 

การปรับมาใช้หลอด LED เอามาเป็น black light นับว่ามีส่วนอย่างมากในการเพิ่มความคม และชัดให้กับภาพ ความฟุ้งของแสง และพิกเซลที่เต้นยิบๆ ในฉากที่มีความสว่างต่ำๆ นั้นเป็นสิ่งที่คุณจะเห็นได้น้อยมากจากจอแบนตัวนี้ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้ใช้วงจรช่วยปรับภาพใดๆ มาช่วยเลย เรียกว่าใสดุจคริสตอลก็คราวนี้แหละครับ ผมชอบมองเครื่องแต่งกายของนักแสดงในหนังเรื่องนี้ ดูความพิถีพิถันของวงการภาพยนตร์ที่เราจะเห็นแต่ที่นี่เท่านั้นที่กล้าลงทุน ถึงแม้ว่าเครื่องแต่งกายบางอย่างที่มีความมันวาวของโลหะมันจะถูกตั้งข้อสงสัยว่าไม่ใช่ของจริงก็ตามที
 
กับหนังการ์ตูนแอนิเมชั่น อย่างเรื่อง CARS นี่ไม่ต้องพูดถึงเลยครับ มันได้ใช้คอนทราสต์ได้เต็มที่ลงไปถึงระดับที่ต่ำมากๆ  อย่างฉากตอนที่พระเอกของเราเดินทางข้ามรัฐ แล้วถูกลอยแพก่อนที่จะหลงเข้าไปในถนน 66 สายเดิม ในฉากนี้ตลอดทั้งซีน เราเห็นรายละเอียดข้างทางได้อย่างแจ่มแจ๋ว คือแค่เห็นเป็นรูปเป็นร่างลางๆ อย่างที่เราโผล่ไปนอกบ้านดึกๆ ตอนคืนเดือนหงายประมาณนั้นแหละครับ นี่เป็นฉากที่ใช้โชว์เรื่องประโยชน์ที่ได้รับจากตัวเลขที่ชอบคุยกันเป็นหมื่นเป็นแสนของคอนทราสต์เรโชเต็มๆ ฉากนี้ต่อให้โปรเจ็กเตอร์บางตัวที่ขุนยังไงก็ขุนไม่ขึ้นเหมือนกันครับ

 กับหนังที่เป็นสุดยอดเรื่องรายละเอียดของการทำแอนิเมชั่นอย่างเรื่อง Transformer ยอมรับว่าต้องยกให้มันเป็นเบอร์หนึ่งตอนนี้เรื่องความใสของภาพ ถ้าอยากรู้ว่าการทำแอนิเมชั่นระดับปรมาจาร์ยที่ผสมกันระหว่างของจริงกับของปลอมจนแยกไม่ออก ความแวววาวของ Chevrolet Camaro GT ของหุ่นที่ชื่อ Bum blebee ที่เมื่อต้องแสงเมื่อไหร่มันสว่างวาบเข้าตา  ผมชอบฉากที่จัดแสงสว่างเป็นหย่อมๆ ในฉากหลังมืดๆ ของเรื่องนี้มาก มันสะใจกับความเข้มของสีสัน พร้อมๆ กับมีฉากหลังที่เป็นสีดำเข้มข้นหนักแน่น พร้อมยกระดับ

คอนทราสต์ให้ภาพหลุดลอยขึ้นมาเป็นทรวง เป็นทรง นี่แหละครับสิ่งที่เราชอบพูดกันว่าภาพที่เป็นสามมิติ มันต้องถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง ความคมชัด, ระดับคอนทราสต์ และก็ความใสที่รอคอยเราอยู่ในแหล่งโปรแกรมไฮเดฟฯ ทั้งหลาย 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook