Toshiba REGZA 19AV550T LCD TV
‘Baby face’
รูปแบบการดำเนินชีวิตมักจะเป็นตัวกำหนดความเป็นไปของสินค้าที่มักจะทำขึ้นมาตอบสนองความสะดวกสบายของมนุษย์เสมอ ยกตัวอย่างเช่น ความบันเทิงที่เกาะติดกับชีวิตที่ต้องเดินทาง ก็ย่อขนาดของเครื่อง ของสื่อ กลายเป็นเครื่องเล่นแบบพกพาที่มีทั้งภาพและเสียง หลายคนก็พึงพอใจถึงแม้ว่าขนาดจอของมันมองดูแล้ว เล็กกว่ากระจกแต่งหน้าของคุณผู้หญิงเสียอีก จะเล็ก จะใหญ่ ขอให้ใช้งานมันได้ถูกกาละเทศะผมว่ามันก็เป็นประโยชน์ทั้งนั้นแหละครับ ผมกำลังจะพาคุณไปรู้จักกับ LCD TV ที่ขนาดของมันอยู่ที่ 19 นิ้ว เป็นจอแบบ 16:9 หรือที่เรียกว่าจอไวด์ ของโตชิบารุ่น 19AV550T นับว่าเป็นจอ LCD TV ขนาดเล็กซึ่งกำลังเป็นทางเลือกใหม่ของการใช้งานในห้องนอนเล็กๆ หรือในห้องครัว ก็นับว่าไม่เลว ยิ่งกับนักศึกษาที่ไม่ต้องการลงทุนสูงแต่ต้องทราบข่าวสารจากโทรทัศน์ และยังท่องอินเตอร์เน็ต ต้องการจอภาพสำหรับต่อคอมพิวเตอร์ LCD TV ขนาด 19 นิ้วรุ่นนี้ดูจะเป็นสินค้าที่คุณหมายตาอยู่เป็นแน่ ถ้างั้นเรามาแยกแยะคุณภาพของการใช้งานดูสักหน่อยว่า LCD TV ตัวเล็กขนาดนี้มันพกพาความสามารถอะไรให้คุณบ้าง
ฟังก์ชันหรูสำหรับดูทีวี
รายละเอียดตามที่แจ้งไว้ในสเปคคือ 1366x768 พิกเซล เป็นรายละเอียดระดับ WXGA ถ้าเทียบกับพีซีฟอร์แมต มันก็ไม่ได้แตกต่างจาก LCD TV เครื่องใหญ่ๆ ทั่วไป อินพุตต่างๆ ก็ยังมีอยู่ครบด้านหลัง ทั้ง HDMI อินพุต และอินพุตที่ใช้เชื่อมต่อในแบบสัญญาณอะนาล็อกทุกชนิด โครงเป็นกรอบพลาสติกสีดำเงา เลยลงมาด้านล่างจอเป็นช่องที่ให้เสียงเล็ดลอดออกมาจากลำโพงสองข้างที่อยู่ภายใน ทั้งหมดตั้งอยู่บนขาตั้งที่ประกอบมาเข้าชุด ให้อิสระกับคุณเพียงปรับให้มันก้ม หรือเงยขึ้นเท่านั้น ส่วนถ้าจะเอาไปประยุกต์ใช้ติดกับผนังด้วยขาแขวนก็ไม่เลว เพราะขนาด และน้ำหนักคงไม่ต้องการอุปกรณ์ที่ใหญ่โตเทอะทะ เพียงถอดขาที่ติดมาด้วย ติดด้วยขาแขวนที่ปรับได้อย่างอิสระ ประหยัดเนื้อที่ได้อีกไม่น้อยครับ
ด้านข้างทางขวาของจอเป็นที่วางของปุ่มต่างๆ เอาไว้ควบคุม ปิด-เปิด และช่องเสียบเสียงออกหูฟัง ซึ่งทั้งหมดสามารถควบคุมผ่านรีโมตคอนโทรลที่ให้มาด้วยจะสะดวกกว่า ดูแต่เพียงภายนอกอาจจะไม่ต่างอะไรกับแอลซีดีมอนิเตอร์ทั่วไป แต่แท้จริงแล้ว โตชิบา 19AV550T มันอยู่ห่างชั้นกับแอลซีดีมอนิเตอร์ที่ตั้งอยู่คู่คอมพิวเตอร์ของคุณนัก ถ้าวัดกันที่สัญญาณวิดีโอที่เป็นอินพุตจากฟรีทีวี จากวงจรที่จัดการกับภาพ หรือที่เรียกว่าวิดีโอโปรเซสเซอร์ที่อยู่ในตัวแอลซีดีทีวีตัวนี้นั่นเอง นอกจาการปรับภาพที่เป็นพื้นฐานของ LCD TV ทั่วไปแล้ว โตชิบายังผนวกฟังก์ชัน ‘Active Backlight Control’ ที่ทำให้ความสามารถในการให้ค่าคอนทราสต์เรโชสูงถึง 19000:1 ในการวัดแบบไดนามิกคอนทราสต์ คือจะเป็นวงจรที่คอยตรวจจับความสว่างของภาพบนหน้าจอว่ามีความต้องการใช้แสงสว่างจาก back-light ขนาดไหน ถ้ามากกว่า 50% ของภาพที่เป็นส่วนที่มืด ความสว่างของ backlight ก็จะลดลงมาอัตโนมัติ ยิ่งภาพที่มืดลง ก็จะปรับความสว่างของ backlight ให้ลดลง มีผลทำให้การแสดงผลสีดำของจอตัวนี้ดีขึ้น เรื่องที่ LCD TV ตัวนี้ทำได้ดีมากๆ เห็นจะเป็นการสเกลภาพสัญญาณทีวีเพื่อให้มาปรากฏเป็นสัดส่วนที่เหมาะกับการรับชมบนจอไวด์ ผมแนะนำให้ปรับสัดส่วนของภาพเป็น ‘super live 1’ ดูจะใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด
และเมื่อลองเช็กกับรูปแบบสัญญาณสำหรับวัดรายละเอียดของภาพที่อยู่ในแผ่น AVIA พบว่าทางช่อง HDMI นั้น ผมชอบที่รายละเอียดเมื่อเซ็ตที่ดีวีดีเป็น 1280x720 มากที่สุด (ใกล้เคียงกับรายละเอียดเนทีฟของจอตัวนี้มากที่สุด) ภาพอาจจะดูซอฟต์ๆ ไปบ้างเมื่อเทียบกับการป้อนแบบรายละเอียดต่ำๆ ถึงแม้ว่ามันสามารถรองรับสัญญาณได้ถึง 1080p ทางช่อง HDMI แต่มันก็จะดูซอฟต์ลงไปอีก ก็อาจเป็นเพราะสเกลเลอร์ในตัวมันทำงานหนักเกินไปก็เป็นได้ แต่ที่ 720p ผมก็สามารถเร่งชาร์ปเนสที่จอขึ้นมาชดเชยได้ ต่างจากตอนการใช้รายละเอียดต่ำที่ลดชาร์ปเนสลงไปจนสุดภาพก็ยังแข็งขึ้นขอบอยู่เลย ดูเหมือนเรื่องสีสันของจอตัวนี้ดูจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจพอๆ กับเรื่องรายละเอียดของภาพ เพราะก่อนหน้าที่จะปรับแต่งอย่างละเอียด ผมก็รู้สึกว่าโตชิบาใช้มาตรฐาน และประสบการณ์ของการออกแบบทีวีมาใช้กับ LCD ตัวนี้อย่างไม่ต้องสงสัย แนะนำว่าให้เปิด blacklight ไว้สูงสุด แล้วเปิด Active blacklight = On เอาไว้ มันฉลาดพอที่จะเร่งคอนทราสต์ตอนฉากสว่างๆ หรือปรับลดให้เห็นน้ำหนักของสีดำตอนฉากมืดๆ ด้วยตัวมันเอง สีผิวหนังของมนุษย์ก็ดูมีชีวิตชีวา หากได้รับการปรับที่ละเอียดมากกว่านี้เชื่อว่ากับแอลซีดีที่เป็นได้ทั้งทีวี และมอนิเตอร์ที่คุ้มค่าตัวหนึ่งทีเดียว
กับการต่อเชื่อมเข้ากับพีซีทางช่อง HDMI มันกลับทำงานได้ดีในรายละเอียดที่ 1280x768 มากกว่าค่าเนทีฟของมัน ผมคงสรุปอะไรตอนนี้ไม่ได้ เพราะกับจอภาพที่มีรายละเอียดระดับ WXGA นี้ค่อนข้างมีปัญหากับการบายพาสต์สเกลเลอร์ในตัวมันอยู่บ่อยๆ ที่ 1280x768 ภาพดูดีมากครับ ตัวหนังสือก็คมพอประมาณ ขึ้นเงาตรงขอบเพียงเล็กน้อย respond time ก็ดูไม่ใช่ปัญหาในการเคลื่อนไหวแบบเฟรมต่อเฟรม ในโหมดของการเชื่อมต่อผ่านพีซีฟังก์ชันการปรับแต่งพิเศษอื่นๆ จะไม่สามารถใช้งานได้ เหลือเพียงพื้นฐานของการปรับคอนทราสต์ และไบร์ทเนสกับการปรับค่าแบล็คไลต์เท่านั้น ระบบเสียงหากเป็นช่องต่อ HDMI เราก็มักจะใช้งานให้มันคุ้มโดยบอกที่มาของสัญญาณเสียงให้ใช้จากช่องเดียวกันด้วยการเข้าไประบุในหน้าเมนูได้ และถ้าใครนึกว่าคอมพิวเตอร์ของคุณมีแต่เอาต์พุตที่เป็น DVI แนะนำให้ใช้อะแดปเตอร์ และไปหาสาย HDMI มาใช้ แค่อัพเดตไดรเวอร์ของการ์ดจอสมัยนี้ คุณก็สามารถให้เสียงมันออกที่เอาต์พุตช่องนี้ได้เหมือนกัน
สรุป
แม้ว่าตลาดของทีวีจอแก้วจะยังไม่วายอย่างที่เราเห็นๆ กัน แต่ด้วยการเชื่อมต่อที่หลากหลาย และความกะทัดรัดของจอแบบนี้ดูจะเป็นสิ่งดึงดูดให้ตลาดแอลซีดีทีวีจอเล็กค่อยๆ เกิดขึ้นมาทีละน้อย ด้วยคุณภาพของโตชิบา 19AV550T ตัวแรกที่ออกมาปูทาง แรกๆ อาจช่วงชิงความได้เปรียบที่เพียงตัวมันวางบนโต๊ะ แต่เล่นได้ทั้งหนังจากดีวีดี ดูโทรทัศน์แถมยังท่องอินเตอร์เน็ตจากการเชื่อมต่อเป็นมอนิเตอร์ของคอมพิวเตอร์ได้ในเครื่องเดียว อย่างนี้ก็เห็นแววจะเข้าทางน้องๆ นักศึกษาที่อยู่ตามหอพักที่มีพื้นที่ให้ใช้จำกัด คุณภาพของภาพก็ไม่ต่างอะไรกับแอลซีดีรุ่นใหญ่ของโตชิบาตั้งแต่แกะออกจากกล่อง ต้องการเพียงการปรับเซ็ตให้เหมาะกับแหล่งโปรแกรมแต่ละตัวเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ติดอยู่ตรงช่องต่อเชื่อม HDMI อาจจะมีให้น้อยไปนิดสำหรับการใช้งานที่อุปกรณ์ของคุณล้วนแล้วแต่ต้องการใช้มันแสดงผลทางช่องนี้ แต่ก็มีทางออกด้วยการหา HDMI Swicthing มาเพิ่มได้ทีหลัง กับ REGZA ตัวเล็กตัวนี้ไม่ได้ให้คุณมองแค่ผ่านๆ แต่ต้องมองมันใกล้ๆ หน่อย นั่นแหละมันเกิดขึ้นมาเพื่อการนี้เลยครับ
คุณสมบัติทางเทคนิค
Brand Toshiba
Type LCD TV
Model 19AV550T
Native Resolution 1366 x 768 Pixels
Contrast Ratio 19,000 : 1
Brightness ---
Compatible Signal
480i, 480p, 576i, 576p, 720p 60Hz/50Hz, 1080i 60Hz/50Hz, 1080p 60Hz/50Hz, 1080p 24Hz @ HDMI Input (Component Video : 480i, 480p, 576i, 576p, 720p 60Hz/50Hz, 1080i 60Hz/50Hz)
HDMI Input
1 (1.3a with Lip sync)
Component Video Input 1
D-sub 15 pin Input 1
S-Video Input 1
USB Port ---
Composite Video Input 1 (1 Output)
Headphone 1