KURO KRP-500A
Pioneer
KURO KRP-500A
PlasmaTV with Separate Media Receiver
............................................................................................
‘Definitive display’
ตั้งแต่ไพโอเนียร์มุ่งพัฒนาพลาสมาของตัวเองโดยใช้ชื่อรุ่นที่เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า ‘KURO’ (แปลว่าสีดำ) ไม่ต้องบอกก็รู้นะครับว่าการบุกเบิกบอกออกมาอย่างแน่วแน่ว่ามุ่งไปในแนวทาง ที่ต้องทำให้สีดำสมจริง ซึ่งด้วยเทคโนโลยีของพลาสมาก็ทำให้เจ้า KURO แต่ละตัวสมคำเล่าอ้างกินบรรดาเทคโนโลยีดิสเพลย์ทั้งหลายที่แข่งกันเรื่องตัว เลขของคอนทราสต์เรโชอย่างไม่มีประโยชน์ที่จะเอามาเทียบชั้นกัน แต่วิศวกรของไพโอเนียร์ไม่ได้หยุดอยู่นิ่งครับ ยังพัฒนาพลาสมาของตัวเองออกมาอีกให้กลายเป็นจอแบนที่ถือว่าทำ Black Lavel ได้ดีที่สุดเท่าที่ศักยภาพทางวิศวกรรมมนุษย์จะทำได้ เป็น KURO ซีรีส์ใหม่ล่าสุด ที่ไพโอเนียร์ประเทศไทยของบ้านเรานำเข้ามาสองรุ่น คือรุ่น KRP-600M หกสิบนิ้ว และรุ่นที่ยกมาให้เราได้ยลโฉมกันถึงออฟฟิศ คือรุ่น KRP-500A ขนาดห้าสิบนิ้ว
ความแตกต่างนอกจากขนาดสัดส่วนจอภาพแล้ว ที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่งก็คือเฉพาะรุ่น KRP-500A นั้นแยกเอารีซีฟเวอร์ออกมาเป็นอุปกรณ์อีกชิ้นต่างหาก เรียกว่า Media receiver ก็มีความยืดหยุ่นขึ้นมาหน่อยในแง่ของการใช้งานที่ต้องเชื่อมต่อกับอินพุต หลากหลายชนิด และสะดวกไม่ต้องไปงมกับด้านหลังของจอแบบเดิมๆ ทั่วไป แต่ไม่ว่ามันจะถูกดีไซน์ไปในแนวทางไหนสิ่งที่ทุกคนคาดหวัง และอยากมีประสบการณ์สักครั้งก็คือ ภาพทุกภาพที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาบนจอ ครั้งนี้ก็เหมือนทุกครั้งที่ไพโอเนียร์ไม่ได้ปรับเปลี่ยนเฉพาะพาเนล หรือตั้งชื่อรุ่นให้ดูใหม่สดขึ้น ยังมีการกลั่นกรองเทคโนโลยีหลายอย่างเพื่อให้การใช้งานจอภาพเป็นไปอย่าง สมบูรณ์แบบที่สุด เพื่ออะไรนั่นหรือครับ ก็เพื่อให้สมกับสโลแกนที่ว่า ‘seeing and hearing like never before’ ของไพโอเนียร์นั่นไงล่ะครับ
Black is Back
ขรึม... เรียบหรู...น่าเกรงขาม เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับ KURO 500A ตัวนี้ รู้สึกได้จากการนั่งจ้องมันตอนมันสงบนิ่งอยู่บนชั้นวางเครื่องเสียง มันเป็นพลาสมาขนาด 50 นิ้ว FullHD ที่ดูขรึมมากทีเดียว ด้วยขอบที่เป็นพลาสติกมันวาวสีดำ ขนาบข้างด้วยลำโพงประกบแยกชิ้นอยู่ทั้งสองข้าง ขาตั้งที่เป็นฐานรองก็ดูเหมือนจะออกแบบมาเป็นรูปทรงเราขาคณิตสี่เหลี่ยม บางคนบอกว่าหน้าตาท่าทางของมันถ้าเป็นแฟชั่นก็เหมือนกับกางเกงยีนส์ที่ดูยัง ไงก็ไม่หวือหวา แต่ก็ไม่ล้าสมัยง่ายๆ ตัวพาเนล หรือจอนี่มีแต่พอร์ตที่ทำมาเฉพาะไว้เชื่อมต่อกับมีเดียรีซีฟเวอร์ของเขาเอง ด้วยสายที่ยาวประมาณ 2 เมตรครึ่ง นั่นแสดงว่าทั้งสองเครื่องคงอยู่ห่างกันได้สูงสุดแค่นี้ ด้านหน้าของจอภายใต้กรอบที่ดำทะมึนยังใช้ประโยชน์ในการฝังเซ็นเซอร์เอาไว้ ด้านขวาของจอสองตัว ตัวหนึ่งเป็นรีโมตเซ็นเซอร์ และ room light sensor ที่เอาไว้ชี้วัดสภาพแสงสว่างภายในห้อง และเซ็นเซอร์ที่เพิ่มเติมอีกตัวหนึ่งก็คือ colour sensor อันนี้จะใหม่สักหน่อยสำหรับเทคโนโลยีของจอภาพเวลานี้ แต่น่าเสียดายที่ต้องซื้อเป็นออพชั่นเสริมนะครับ ทางไพโอเนียร์ไทยแลนด์เขาบอกมาอย่างนั้น ด้านหลังก็ไม่มีอะไรมากนอกจากช่องต่อ system cable, RS-232, colour sensor port, speaker connector และรูเสียบสายไฟ A/C ที่ซ่อนสวิตช์ ปิด-เปิด เอาไว้ด้านล่างทางซ้ายมือใกล้ๆ กับไฟ LED ดวงเล็กๆ สองดวงที่เอาไว้บอกสถานะการทำงานว่าอยู่ในสถานะไหน ทุกช่องอยู่ในเหลือบเป็นองศาที่ต้องเสียบสายจากข้างล่างขึ้นมา ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องสายเมื่อต้องการแขวนให้จอตัวนี้ชิดผนัง
มาถึงอุปกรณ์ชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่ทำ ให้ KURO 500A ตัวนี้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบมีชื่อรหัสว่า KRP-M01 ตัวนี้เป็นมีเดียรีซีฟเวอร์ที่ทำขึ้นมาเพื่อให้ใช้งานในบ้านเรา ตัดภาครับจูนเนอร์แบบดิจิตอลจาก satellite ออก เหลือแต่ภาคจูนเนอร์อะนาล็อกสำหรับฟรีทีวี ซึ่งอันที่จริงแม้แต่ตามต่างจังหวัดบ้านเราเดี๋ยวนี้ก็เห็นใช้แต่ภาครับที่ เป็นจานดาวเทียมกันถมไป หลายเจ้ายังกล้าๆ กลัวๆ กันอยู่กับการออกแบบ satellite receiver ติดมากับจอ ส่วนช่องอินพุต-เอาต์พุตอื่นก็ไม่แตกต่างจากการยกเอาขั้วต่อด้านหลังของจอ ทีวีมาไว้ที่มีเดียรีซีฟเวอร์เครื่องนี้ มีช่องซับวูฟเฟอร์เอาต์ที่เพิ่มเติมขึ้นมา และช่องอินพุต HDMI 3 ช่องเป็นช่องหลักที่เราจะคาดหวังคุณภาพที่เป็นที่สุดของมัน ขนาดตัวเครื่องเท่าๆ กับดีวีดีเรคคอร์เดอร์ยุคแรกๆ มีพัดลมระบายความร้อนขนาด 2 นิ้วครึ่งติดมาด้วยเรียกว่าเตรียมพร้อมสำหรับเมืองร้อนอย่างเรากันเต็มที่ ด้านหน้าเห็นเป็นฝาปิดเรียบๆ แต่เปิดออกได้ข้างในยังอุตส่าห์ให้ปุ่มปรับเสียง, เลือกอินพุต มาอีกนิดหน่อยอยู่ข้างๆ ปุ่มเพาเวอร์ ขั้วต่อแบบจานด่วนมีเป็นชุด เอ/วี กับ DB15Pin ที่เอาไว้เสียบจากคอมพิวเตอร์ หรือต่อพวกการ์ดรีดเดอร์เพิ่ม เพื่ออ่านภาพจากมีเดียไซส์จิ๋วๆ สมัยนี้ ทั้งหมดสั่งงานผ่านทางรีโมตคอนโทรลสีดำที่มีบอดี้ผสมกันระหว่างโลหะ, พลาสติก และปุ่มที่เป็นยางหยุ่นๆ เล็กๆ สีดำอย่างที่ไพโอเนียร์นิยมใช้
ฟังก์ชันการปรับแต่ง และการเชื่อมต่อ
หน้า ตาเมนูของไพโอเนียร์ KURO ไม่แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้า โดยหลักๆ แล้วมีทางเลือกที่เราต้องให้ความสนใจอยู่สองอย่างคือ ‘picture’ และ ‘sound’ ที่การปรับแต่งภาพเมื่อกดเข้าไปรูปแบบของมันจะแตกต่างกันในแต่ละอินพุต ที่ผมสนใจก็คือค่า ‘standard’ สำหรับเป็นค่าเริ่มต้นเพื่อให้เราปรับเอง กับ ‘optimum’ ที่ก้าวไปสู่ยุคใช้ซอฟต์แวร์ปรับแต่งแบบเรียลไทม์ทุกฟังก์ชันที่ไม่เหมือน กับเครื่องอื่นๆ ที่โหมดอื่นๆ ยังฟังก์ชันเกี่ยวกับการปรับแต่งภาพที่ลึกลงไปอีก 6 ฟังก์ชันตัวอย่างเช่น Purecinema, Intelligent Mode, Picture Detail ect. ทั้งหมดนี้ที่แน่ๆ สำหรับคนที่ต้องการจอที่ปรับโดยเครื่องไม่เครื่องมืออย่างละเอียดก็ได้ดั่ง ใจ KURO ตัวนี้เห็นจะสมใจอยากล่ะครับ แต่ถ้าพลิกอีกด้านหนึ่งแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ก็จะกลายเป็นว่าจอตัวนี้คุณไม่ต้องปรับอะไรเลย มันปรับให้เองหมดด้วย optimum mode อย่างที่บอก แต่ถ้าคุณเป็นแบบครึ่งๆ กลางๆ อยากปรับโน่น ปรับนี่เอง อยากลองผิดลองถูกด้วยตัวเองงานนี้ไม่หมู เพราะหลายฟังก์ชันที่ KURO ให้มามันละเอียดลออ บางอย่างก็มีผลกับอินพุตบางแบบอย่างน้อยคุณก็ต้องเข้าใจคอนเซ็ปต์ของการปรับ จอดิจิตอลดิสเพลย์สมัยนี้ที่มีฟังก์ชันเกี่ยวข้องมาให้เลือกใช้เป็นสิบ
ผมลองป้อนทั้ง colour pattern จาก DVDO Edge และแผ่นปรับแต่งที่เป็นดีวีดีในแบบ 480i เข้าไป ในหน้าเมนูแรกผมขยับจากค่าเดิมที่มาจากโรงงานไปเล็กน้อยเท่านั้นยกเว้นการ ปรับความคมชัดที่ต้องลดลงมาซึ่งเป็นวิสัยของจอแบนเกือบทุกตัวอยู่แล้ว มีเหตุผลสนับสนุนอยู่เยอะครับที่ทำให้พลาสมาตัวนี้เป็นที่คาดหวังสำหรับคน ชอบดูหนังแบบ ‘เข้าเส้น’ ผมเลยไม่อาจผ่านจุดนี้ไปได้ อย่างแรกก็คือเรื่อง color filter ที่พลาสมาตัวนี้ใช้ มันจึงทำให้ชั้นของฟิลเตอร์ตัวนี้บางที่สุดในบรรดาพลาสมาด้วยกัน ข้อดีก็คือมันขับความสว่างของแสงออกมาตรงๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องการสะท้อนจากชั้นฟิลเตอร์ต่างๆ หลายชั้นเหมือนสมัยก่อน คาดหวังได้ว่ามันต้องได้สีที่สวยสดขึ้น อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของพลาสมาตระกูล KURO มาตลอดก็คือเรื่องแบล็คเลเวล ยิ่งในตัว 500A ตัวนี้ออกแบบเทคโนโลยีพลาสมาพาเนลให้หลุมมันลึกขึ้น ไพโอเนียร์คุยว่าทำให้สีดำ ดำสนิทขึ้นกว่าตัวก่อนอีกห้าเท่า!!! ส่งผลต่อเฉดสีต่างๆ แน่นอนครับ เพราะเหมือนไปถ่างเกรย์สเกลที่เป็นพื้นฐานของสีทุกสีออก แต่ความคาดหวังอันนั้นยังไม่ได้มาง่ายๆ ในทันทีหรอกนะครับ ต้องลงมือปรับค่าอุณหภูมิสี (color temp) อีกสักหน่อย คราวนี้ยอมรับว่าไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือช่วยหรอกนะครับต้องลงมือปรับเอง (ด้วยตา) ตรง colour detail ->manual พอได้ภาพที่คุ้นเคยก็รู้สึกว่าต้องลดสีแดง กับสีน้ำเงินลงไปไม่น้อยสำหรับใครที่คุ้นเคยการดูหนังจากดีวีดีก็ลองใช้สาย ตา และประสบการณ์ของตัวเองให้เป็นประโยชน์ ปรับแล้วภาพใสขึ้นครับไม่มีหมอกสีน้ำเงินบางๆ มาเจือบนสีสันอื่นๆ ผมไม่แน่ใจว่าถ้าได้ color sensor มาทดสอบด้วยอาจจะเหนื่อยน้อยลงกว่านี้ก็ได้ อันนี้สันนิฐานในทางที่ดีไว้ก่อนแล้วกัน
การสเกลภาพของ มีเดียรีซีฟเวอร์จัดการกับสัญญาณต้นฉบับจากแผ่นดีวีดีทั้ง NTSC/60Hz และ PAL/50Hz ได้ดีกว่าเครื่องเล่นดีวีดีที่เราใช้อ้างอิง หมายความว่ามันต้องการแค่สัญญาณอินเทอร์เลซจากต้นฉบับเท่านั้นป้อนเข้าไปและ แน่นอนว่าทางช่อง HDMI มันจะให้รายละเอียดได้สูงที่สุดในบรรดาขั้วต่อต่างๆ ที่มีไว้ให้เลือก ถ้าเลือกสัดส่วนของภาพแบบ standard full ด้วยกันทางช่องคอมโพสิตวิดีโอจะสเกลให้ซูมขึ้นมาเล็กน้อย แต่สีสัน และคอนทราสต์ก็ยังคงความเป็น KURO อยู่ ดูเหมือนสิ่งหนึ่งที่มักจะมีคนพูดอยู่บ่อยๆ เรื่องการเอาจอแบนไปต่อเข้ากับเคเบิลทีวีแล้วได้ภาพที่ไม่คุ้ม เท่าที่ดูผมว่า KURO ตัวนี้ทำงานกับสัญญาณภาพทางช่องคอมโพสิตได้ดีกว่าจออื่นที่เคยทดสอบไป มันยังมีบุคลิกของสีสันแต่ละสีที่ไม่ล้ำเส้น ล้นออกมามากนัก บางคนที่เป็นห่วงเรื่องความคมชัด KURO ตัวนี้ก็ทำทีว่าไม่ได้ถูกเน้นจนเกินเลย คิดว่าน่าจะถูกประคบประหงมมาอย่างดีกับช่องสัญญาณนี้
Enhanced Optimum Mode
ไพโอเนียร์ ยังเชื่อในหลักการที่ว่า ‘การปรับแต่งจอภาพให้ดีที่สุด ได้มาซึ่งคุณภาพของภาพที่ดีที่สุด’ ไม่ใช่ว่ามีฮาร์ดแวร์ที่ดีที่สุดอย่างเดียวแล้วจะหมดหน้าที่ เราจึงได้เห็นการปรับแต่งเชิงซอฟต์แวร์ที่เราไม่เคยเห็นกับดิสเพลย์เครื่อง ไหนมาก่อน เกิดขึ้นกับ KURO ตัวนี้ ซึ่งก็แน่นอนว่าสำหรับผู้บริโภคทั่วๆ ไป ไพโอเนียร์พัฒนาทุกสเต็ปให้เป็นไปอย่างอัตโนมัติ เรียกขนานนามชื่อโหมดนี้ว่า ‘Optimum Mode’ หรือจะเรียกว่าการปรับแต่งภาพแบบเรียลไทม์ก็ย่อมได้ โดยมันมีเครื่องไม้เครื่องมือคือเซ็นเซอร์สองตัวได้แก่ room light sensor และ colour sensor (อันหลังนี้เป็นออพชั่นเสริม) คือถ้าคุณเลือกโหมดนี้ เครื่องจะไม่อนุญาตให้เราปรับแต่งอะไรได้เลย และเมื่อกดดูที่ฟังก์ชัน Picture->Optimum Perfor-mance ก็จะเห็นแถบสถานะของการทำงานอัตโนมัติทั้งหลายทำงานอย่างขยันขันแข็ง คอยเพิ่ม-ลดพารามิเตอร์ที่เกี่ยวกับคุณภาพของภาพ contrast, brightness, color, sharpness, colour temp และ gamma อย่างเช่นถ้าแสงน้อยมันก็ลดแกรมม่าลงเพื่อให้รายละเอียดในที่มืดดีขึ้น มีประโยชน์มากในแง่การนำไปใช้งานสำหรับยูสเซอร์ทั่ว ๆไป แต่ในทางปฏิบัติคงต้องแนะนำให้เรียกหาตัว color sensor ด้วยนะครับ เหมือนมันทำขึ้นมาให้ใช้ด้วยกัน คราวนี้ไม่ต้องห่วงว่าสภาพแสงของห้องจะเป็นอย่างไร หรือหนังที่เราต้องการชมมันจะเป็นหนังที่มีแต่ฉากมืดๆ ทึมๆ เสียส่วนใหญ่ โหมดนี้จะปรับให้อย่างอัตโนมัติ
คุณภาพการใช้งาน
หลัง จากปรับแต่งอุณหภูมิสีดีแล้วอะไรๆ มันก็ดูสดสวยงดงามไปหมด ต้องซูฮกโดยสดุดีครับว่าเทคโนโลยีของพลาสมาตัวนี้ยอดเยี่ยมในการให้สีสัน ทั้งสีสันที่ปรุงแต่งในแบบการ์ตูนเอนิเมชั่น และสีสันที่ปรุงแต่งเหมือนกันแต่แต่งให้ออกมาเป็นธรรมชาติอย่างเรื่อง ‘the Water Horse: legend of the deep’ เป็นที่ภาพที่มีสีสันแตกต่างไปจากจอแบนตัวอื่นที่เคยเจอ มันมีน้ำหนัก มีรายละเอียดของแต่ละสีเพิ่มขึ้นมาได้อย่างโดดเด่น โดยเฉพาะการแยกแยะสีที่แบ่งเป็นเฉด เป็นโทนออกจากกันมีให้เห็นอย่างชัดเจน หาไม่ได้ง่ายๆ โดยเฉพาะจากเทคโนโลยีอื่น จากสีผมของนางเอก Leeloo ในเรื่อง The Fifth Element (Blu-ray) เฉดสีผมที่เป็นสีส้มของเธอ KURO ตัวนี้ไล่เฉดสีตั้งแต่อ่อนไปจนเข้มให้เห็นกันจะๆ ที่สำคัญมันยังรักษาความกลมกลืนของแสง มีลำดับขั้นของการให้ความสว่างที่เสมอต้น เสมอปลาย ถึงแม้จะเป็นฉากที่เป็นของแสลงของจอแบนทั่วๆ จากเรื่อง The Dark Knight อย่างฉากที่ไล่ล่ากันระหว่างตัวตลกร้ายของเรา กับอัศวินรัตติกาลที่บึ่งมอเตอร์ไซค์คู่ชีพไล่บี้กับสิบแปดล้อ อันที่จริงถ้าเปิดฉากนี้ดูกับจอแบนอื่นๆ เราอาจต้องเร่งความสว่างขึ้นมาหน่อยเพื่อเรียกร้องภาพที่ทำให้ไม่มืดทึมเกิน ไป แต่ KURO ตัวนี้พิเศษตรงที่มันแสดงให้ดูว่าแท้จริงแล้วฉากนี้มันไม่มืดอย่างที่คิด มันไม่ต้องการความสว่างเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น แสงไฟจากโคมไฟที่อยู่ข้างถนนเป็นแสงหลักที่แต่งแต้มฉากนี้ได้อย่างสวยงาม ภาพแบบนี้แหละที่ทำให้ KURO เวอร์ชั่นใหม่นี้ทำได้ดีขึ้นกว่าเวอร์ชั่นก่อนหน้า เรื่องสีดำที่มักจะเกิดเป็นปื้นๆ ที่ฝรั่งเข้าเรียกว่า ‘The black level contouring problem’ ก็หมดความหมาย หายไปจากพลาสมาตัวนี้อย่าสิ้นเชิง เท่าที่ใช้งานตลอดสองสัปดาห์ก็ไม่มีความข้องใจกับสีดำของ KURO ตัวนี้เลยแม้แต่น้อย ตรงจุดนี้ต้องยกให้ฟังก์ชัน CTI (Colour Transient Improvement) ที่เปิดเอาไว้เพื่อจัดการกับปัญหานี้โดยเฉพาะ
และถ้าใครอยากให้ความรู้สึกของการชม ภาพยนตร์เพิ่มอรรถรสยิ่งขึ้นแนะนำให้ลดแสงแวดล้อมลงครับ แสงสะท้อนที่ตกกระทบบนหน้าจอมีส่วนทำให้ความรู้สึกของคอนทราสต์เรโชเสียไป อีกอย่างน้อยก็ 10% ทุกครั้งที่ปิดไฟ KURO ตัวนี้มีแสดงศักยภาพของสีดำออกมาแบบที่จอแบนตัวอื่นๆ ต้องชิดซ้าย เมื่อไม่มีแสงใดๆ มารบกวน เหมือนกำลังเอาตาเพ่งลงไปบนช่องมองภาพขนาดใหญ่ ภาพบนจอมันจะชัด มันจะคมขึ้นอย่างทันทีทันใด น่าแปลกตรงที่ค่าเดิมตอนที่ผมปรับไว้ก็ไม่ได้ปรับไว้ตอนดับไฟมืดซะหน่อย แสดงว่าช่วงสว่างสุด และมืดสุดของพลาสมาตัวนี้ถูกจำกัดปริมาณมาให้ทำงานในช่วงที่ดีที่สุดตั้งแต่ ปิดไฟมืดจนถึงระดับแสงสว่างปกติในห้องทั่วไป ถ้าสว่างกว่านี้ข้อดีของคอนทราสต์เรโชที่เป็นหมื่นๆ แสนๆ ก็ค่อยๆ ลดทอนความสำคัญลง ทฤษฏีนี้ไม่ใช่เป็นเฉพาะพลาสมาตัวนี้นะครับ มันเป็นสัจธรรมที่ใช้ได้กับจอภาพทุกตัว แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกจอจะให้ความพึ่งพอใจกับคุณภาพของภาพได้ดีเท่าๆ กันหมด
เดี๋ยวแฟนหนังดีวีดีจะน้อยใจ โดยเฉพาะแฟนๆ หนังทีวีซีรีส์ที่เดี๋ยวนี้นิยมทำเป็นแผ่นดีวีดีกัน สำหรับหนังจากทางฝั่งอเมริกาที่อยู่ในฟอร์แมต 480i มันให้ความคมชัดจากการสเกลขึ้นมาของวิดีโอโปรเซสเซอร์ในตัว KRP-M01 แต่กว่าจะได้อย่างนี้มามันถูกขัดเกลาจากฟังก์ชันที่เรียกว่า noise reduction ตามสมควร ผมให้ตัวอย่างการปรับกับดีวีดี NTSC ไว้แล้วกัน เผื่อทำให้บางคนประหยัดเวลาลงไปได้บ้าง
3DNR -> Mid
Field NR -> Mid
Block NR -> On
Mosquito NR -> On
ผม นั่งคิดดูว่าอะไรที่ทำให้มันแตกต่างจากจอแบนเครื่องอื่นๆ อีกบ้าง เลยฉุกคิดว่าความไหลเลื่อนของภาพที่เรานั่งดูอยู่นี้ มันไม่ได้สร้างความน่ารำคาญจากการที่มีภาพเงาเป็นริ้วๆ สาเหตุน่าจะมาจากการที่พลาสมาเองมี respond time เหนือกว่าพวกแอลซีดีทีวีอยู่มาก ภาพฉากต่อสู้เร็วๆ หรือการแข่งกีฬาที่ต้องมีความเคลื่อนไหวเร็วๆ ไม่อาศัยภาพเบลอๆ หลายภาพเลื่อนไปเลื่อนมา จะมีบ้างที่บางจังหวะธรรมชาติของการเคลื่อนไหวเราจะจับต้นชนปลายภาพนั้นให้ ชัดได้ยาก แต่เมื่ออยู่ในวิสัยความเร็วของสายตามนุษย์โปรเซสเซอร์ของพลาสมาไพโอเนียร์ ตัวนี้ก็ทำออกมาได้ดีอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ก็คงด้วยเหตุผลนี้อีกเหมือนกันล่ะครับที่ไพโอเนียร์เอาใจคนดูหนังไฮเดฟฟินิ ชั่นชูค่าว่า ‘ture 24 FPS’ อย่างยืดอก เพราะยิ่งสปีดของการสแกนภาพแต่ละเฟรมช้าลง และต้องนำมาใช้กับภาพเคลื่อนไหวยิ่งเสี่ยงต่อการจับความผิดปกติง่ายขึ้นถ้า จัดการกำจัดภาพแบบเฟรมต่อเฟรมไม่หมดจด เป็นข้อสงสัยที่ทำไมเราเห็นภาพแบบ 24 เฟรมที่อยู่บนจอแอลซีดีทีวีมักไม่ค่อยจะราบรื่นนัก
KURO ตัวนี้ พบว่ามันคุ้มค่าไม่เฉพาะกับภาพที่เพียงแค่ภาพเท่านั้น ในด้านของเสียงจากลำโพงทั้งสองตัวที่ขนาบอยู่ซ้ายขวา ไพโอเนียร์ไม่ได้คิดเพียงแค่ประกอบลำโพงขึ้นมาเพื่อใช้งานกับพลาสมาง่ายๆ ภาคขยายที่อยู่ในจอภาพ ถือว่าเป็นภาคขายเสียงกำลังต่ำที่พิถีพิถันมากกว่าฟังก์ชันที่จัดการ เสียงอย่าง SRS wowHD เพียงพอกับการชมในระดับที่ทำใครคุณปฏิเสธพวกลำโพง sound bar ต่างๆ ที่มีให้เลือกกันจนเกลื่อนตอนนี้ หากคิดจะเพิ่มเติมขยับขยายถ้าไม่เลยไป 5.1 หรือ 7.1 แชนเนลไปเลย ก็แนะว่าให้ลองหาซับวูฟเฟอร์มาพ่วงดู โดยต่อจากช่อง sub-out ด้านหลังมีเดียรีซีฟเวอร์นั่นแหละครับ แค่นี้ก็ได้เสียงที่รองรับความกระหึ่มแบบเธียเตอร์โดยไม่ต้องมีลำโพงมาวาง เกะกะให้ขัดตาแล้ว
สรุป อันที่จริงเราคิดอยู่ตลอดเวลาว่าวันหนึ่งระบบภาพดิจิตอลดิสเพลย์จะเข้ามาแทน ระบบภาพแบบอะนาล็อกอย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยข้อดีต่างๆ นาๆ ที่หลายๆ คนปูทางไว้ให้ระบบดิจิตอลทั้งนั้น แต่ถ้าพูดกันอย่างไม่เกรงใจใคร ที่ผ่านมาระบบภาพดิจิตอลจอแบนทั้งหมดยังมีคุณสมบัติที่ด้อยกว่าจอ CRT อยู่ดีในเรื่องของ ‘คุณภาพของภาพ’ โดยเฉพาะการให้สีดำ ซึ่งกลายเป็นคุณสมบัติเฉพาะของจอภาพไพโอเนียร์ที่ค้นพบว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ จะทำให้จอแบนถูกพัฒนาทดแทนเทคโนโลยีเดิมได้ทั้งหมด KURO KRP-500A พิสูจน์ให้ผมเห็นกับตา แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทดแทนได้กับทุกหลังคาเรือน ไพโอเนียร์เลือกยืนหยัดที่จะสร้างสินค้าของตัวเองให้ให้โดดเด่นอยู่ภายใต้วง ล้อมของสินค้ายี่ห้ออื่นๆ ที่อาจได้เปรียบในเชิงธุรกิจ KURO ตัวนี้มันทำสำเร็จสมความมุ่งหมาย ด้วยคุณภาพที่สุดยอด ฟังก์ชันการใช้งานที่ครบครัน สมแล้วครับที่จะเป็นดาวเด่นของดิจิตอลดิสเพลย์ได้อย่างไม่ยากเย็น
............................................................................................
เครื่องและอุปกรณ์ประกอบการทดสอบ
เครื่องเล่นบลู-เรย์ดิสก์ Pioneer BDP-LX70A
เครื่องเล่นดีวีดี Pioneer DVR-745H
วิดีโอโปรเซสเซอร์ DVDO Edge
เอซี-ดิสตริบิวเตอร์ Clef PowerBRIDGE-8
สายสัญญาณ WireWizard HDMI, QED Qunnex HDMI-P
ชั้นวางเครื่อง Rezet
SPECIFICATION
Brand Pioneer
Type Plasma TV
Model KRP-500A (KRP-500P and KRP-M01)
Native Resolution 1920 x 1080 Pixels
Contrast Ratio Extreme
Brightness ----
Compatible Signal
480i, 480p, 576i, 576p, 720p 60Hz/50Hz, 1080i 60Hz/50Hz, 1080p 60Hz/50Hz, 1080p 24Hz @ HDMI Input (Component Video : 480i, 480p, 576i, 576p, 720p 60Hz/50Hz, 1080i 60Hz/50Hz)
HDMI (v. 1.3) Input 3
Component Video Input 2
D-sub 15 pin Input 1
S-Video Input 3
USB Port 1
Composite Video Input 3 (rear), 1 (front)
Headphone 1
Weight Without Stand 31.4kg (KRP-500P)/ 4.3kg (KRP-M01)
Dimension (W x H x D) mm 1233 x