LG : 42PG60UR Plasma TV

LG : 42PG60UR Plasma TV

LG : 42PG60UR Plasma TV
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

‘Living with the EDGE’

ณ เวลานี้เราก็ยังคงเถียงกันไม่จบอยู่ดีว่าจอภาพที่ดีในยุคดิจิตอลนั้นจะจบลง ที่ Plasma TV หรือ LCD TV กันแน่ ด้วยว่าการฮึดขึ้นมาอีกเฮือกของกระแสพลาสมาทั้งแบรนด์ดังทางฝั่งญี่ปุ่นและ เกาหลี ตอบรับกับกระแสความกังวลเรื่องสุขภาพสายตาต่างๆ นาๆ จนใช้มาโจมตีกัน เลยกลายเป็นว่าทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเทคโนโลยีหนึ่งเป็นผู้ร้าย ส่วนอีกเทคโนโลยีหนึ่งเป็นพระเอก นี่แหละครับอิทธิพลของสื่อโฆษณา

แล้วจริงๆ น่ะมันยังไงกันแน่....

การ พัฒนาพาเนลของ LCD TV ปัจจุบันเน้นการพัฒนาจอให้มืดลงจะด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ละครับ จะใส่ฟิล์มกรองแสง หรือเข้าไปเล่นกับ blacklight (หลอดไฟนีออนที่ให้ความสว่างอยู่หลังจอ) ก็ค้นคิดหาวิธีกัน ส่วนพลาสมานั่นหรือครับ เหมือนรถที่วิ่งสวนทางกันเลย คือพัฒนาให้สว่างมากขึ้น (เพราะอาศัยการให้สีดำของพาเนลที่ดีอยู่แล้ว) อย่างที่หยิบยกมาในเล่มนี้เป็นรุ่น 42PG60UR พลาสมาของ LG เป็นสถิติของโลกที่ต้องจารึกไว้ว่า นี่คือพลาสมาที่เป็น single panel ตัวแรกที่ให้ความสว่างสูงถึง 1,000 แรงเทียน โดยอาศัยการออกแบบส่วนประกอบการเร่งให้แต่ละเซลล์เพื่อคลายประจุด้วยวิธี ใหม่ ที่ LG คุยไว้ ทำให้ประสิทธิภาพของการแสดงผลเพิ่มขึ้นมาทันทีอีก 30 เปอร์เซ็นต์ พลาสมาของ LG ตัวนี้จึงมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับใครที่กำลังจะตกลงปลงใจกับจอแบนขนาดกำลังดี คงต้องเน้นไปที่พลาสมาทีวีตัวนี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวให้มันรู้กันไปเลย ว่า การกลับมาคราวนี้ของพลาสมาจาก LG นี่ไม่ได้เกาะยึดไปตามกระแสคนอื่นเขา     
 
• New Age…No Edge
ก่อน อื่นคงต้องมาว่ากันเรื่องรูปลักษณ์การออกแบบที่ LG เริ่มเอามาเปิดเป็นประเด็นแข่งกับชาวบ้านกันก่อน พลาสมาของ LG รุ่นนี้เป็นขนาด 42 นิ้วจอไวด์ เป็นขนาดที่นิยมเอามาตั้งในห้องรับแขก หรือห้องนอนใหญ่ๆ จริงๆ มันออกมาพร้อมเพื่อนฝูงอยู่สามขนาด ตั้งแต่ 42, 50 และ 60 นิ้ว แต่ก็มีตัว 42 นิ้วที่เราเอามาทดสอบนี่แหละที่รายละเอียดของจออยู่ที่ 1024 x 768 ทุกตัวในรุ่นมีชื่อเรียกกันเล่นๆ ว่า ‘Edge’ บางคนว่าตามบุคลิกของจอที่ไร้ขอบ แต่ถ้าดูจากความตั้งใจของ LG ที่จะสื่อออกไปจากชื่อ น่าจะเป็นเรื่องอะไรหลายๆ ด้านของจอตัวนี้ที่มีเทคโนโลยีที่สุดขอบ อะไรประมาณนั้นมากกว่า

แต่ ด้วยโครงสร้างของแผ่นกระจกหน้าก็อาจมองในมุมของการออกแบบได้เหมือนกัน คือพลาสมารุ่นนี้ของ LG เขาจะใช้กระจกแผ่นนอกแผ่นเดียวห่อหุ้มด้านหน้าของจอทั้งหมด ทำให้ขอบนูนๆ แบบจอแบนสมัยก่อนเอาต์ไปถนัดตา แต่ดูดีๆ ก็ยังมีลักษณะของขอบจออยู่เป็นขอบดำขนาดร่วม 2 นิ้วกว่าๆ ล้อมรอบอยู่ เพียงแต่ฝังอยู่ด้านในไม่นูนออกมาให้จับต้องได้เท่านั้น ตัวจริงสวยไม่หยอกครับ มีรางวัลการออกแบบพ่วงท้ายมาด้วย โดยได้รางวัลการออกแบบจากงาน CES2008 ครั้งที่ผ่านมา เมื่อวางบนขาตั้งที่เข้าชุดกันช่วยให้หมุนปรับมุมซ้าย-ขวาได้ 20 องศา ด้านล่างของจอหักมุมลงมานิดหน่อย เอาปุ่มควบคุมต่างๆ ซ่อนไว้ด้านล่างทางขวามือ และยังซ่อนลำโพงที่  LG เรียกว่า ‘Invisible Speaker’ เอาไว้อีกคู่หนึ่ง ซึ่ง LG ภูมิใจนัก ภูมิใจหนา เพราะได้ปรมาจารย์ทางด้านเครื่องเสียงในวงการคนหนึ่งอย่าง Mr.Mark Levinson ทำการออกแบบปรับจูนลำโพงของ LCD TV ตัวนี้

ส่วน การต่อเชื่อมก็เน้นอยู่ทางด้านหลัง ไล่ลดหลั่นความสำคัญกันไปทั้งดิจิตอลและอะนาล็อก โดยมี HDMI INPUT ให้สองชุด มาอยู่ด้านข้างคู่กับ USB INPUT อีกหนึ่งชุดรวมเป็นสามชุด แต่ช่อง HDMI 1 จะเป็นช่องที่รองรับการต่อเชื่อมแบบ DVI เดิมได้ด้วย พลาสมาของ LG ตัวนี้ถือว่าเป็นพลาสมาที่มีขนาดบางมากเมื่อเทียบกับรุ่นก่อนๆ ประมาณเพียง 8 ซ.ม. บวกกับน้ำหนักเมื่อคิดเฉพาะจออย่างเดียวอยู่ที่ 25 ก.ก. นับว่าไม่เป็นภาระมากนักกับขาแขวนขนาดย่อมที่ส่วนใหญ่รับโหลดได้ในช่วงไม่ เกิน 30 ก.ก. ถือเป็นการพัฒนาเชิงแข่งขันที่แก้ไขจุดที่คู่แข่งใช้โจมตีให้ตกไปได้
 
มีช่อง HDMI ให้ไว้ด้านข้างหนึ่งช่อง พร้อมกับช่อง USB เล่นได้ทั้ง MP3/JPEG/AVI ที่ ตอบสนองการสั่งงานได้เร็วมาก
 
รวมๆ แล้วการออกแบบพลาสมาของ LG ใน EDGE ซีรีส์นี้สวยถูกตาผมมากกว่ารุ่นก่อนหน้ามาก บวกกับความสามารถของเทคโนโลยีจอแบน ซึ่งเริ่มให้ความสำคัญกับการตอบสนองการแสดงผล (Respone Time) ใน LCD TV เขาพูดกันที่ ms (millisecond) แข่งกันที่หลักหน่วย แต่พลาสมาของ LG ตัวนี้ว่ากันที่ 0.001 ms!! เรียกได้ว่าทิ้งคู่แข่งไปไกล เป็นตัวเลขที่คู่แข่งอย่าง LCD TV ต้องฝันอีกหลายรอบหากคิดจะทำลายสถิตินี้ลงได้ คนที่ชอบดูกีฬา หรือการถ่ายทอดสดที่มีการเคลื่อนไหวไวๆ จึงรู้สึกสบายตาคุ้นเคยกันมากกว่าภาพที่เกิดจาก LCD TV

แต่ก็ไม่ใช่ทุกอย่างจะโรยด้วย กลีบกุหลาบนะครับ ในเรื่องของสเปคจะเป็นรองก็ตรงที่รายละเอียดของพาเนลในรุ่นนี้เพียงแค่ 1024 x 768 ซึ่งในแง่ของการใช้งาน LG ไม่ได้ทำให้รายละเอียดระดับ XGA ของ 42 นิ้วตัวนี้มีข้อจำกัดในการแสดงผลแต่อย่างใด ด้วยวงจรที่ LG เรียกว่า ‘Dual XD Engine’ ทำให้มันรองรับสัญญาณได้ทุกชนิด โดยเฉพาะ 1080p ที่จัดไว้ทุกความถี่ตั้งแต่ /60/50/24 Hz คงหายห่วงสำหรับแฟนไฮเดฟฯทั้งหลาย 
 
 
• ชัยชนะของดิสเพลย์
ถ้า มองเรื่องรายละเอียดของจอ 42PG60UR ตัวนี้อาจถูกปรามาศว่าเป็นรายละเอียดที่น้อยเกินไปสำหรับการรองรับกับแหล่ง โปรแกรมรายละเอียดสูง ลองมองในด้านบวกดูบ้าง รายละเอียดขนาดนี้ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่วงจรสเกลเลอร์ในตัวมันเองไม่ต้องรับ ภาระมาก ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เรามักคิดว่าการป้อนค่าสูงๆ จากดีวีดี ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เน้นสเกลกันไปได้ไกลถึง 1080p กับจอตัวนี้คงไม่ต้องการถึงขนาดนั้น เมื่อใส่แผ่นทดสอบของ HQV แชปเตอร์ที่ใช้ทดสอบรอยขยักของภาพ มันทำคะแนนกินขาดภาพจากเพลเยอร์หลักที่เรานำมาอ้างอิงอย่างไม่มีข้อกังขา ทำให้ใครก็ตามที่คิดว่าสเกลเลอร์ในจอภาพมักจะเป็นของแถมที่ไม่ชอบจะยอมใช้ กันนัก (ไปหลงตัวเลขค่าเอาต์พุตที่สูงๆ จากดีวีดีอย่างเดียว) ต้องฉุกคิดให้รอบคอบเชียวล่ะครับกับพลาสมาของ LG ตัวนี้ ชัยชนะนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นว่าอย่าประมาทเทคโนโลยีของจอภาพเป็นอันขาด ครับ  ในการทดสอบผมใช้ช่อง HDMI input โดยเลือกการแสกนจากแหล่งโปรแกรมสลับกันระหว่าง 480i/480p/720p/1080p ที่ 480i เป็นค่าที่ทำให้ขอบของภาพเกลี้ยงเกลาสวยงามที่สุด ที่ค่าอื่นมันจะมีลักษณะเหมือนการเร่ง shapnessโด่งขึ้นมา ดูแรกๆ เหมือนคมชัดขึ้น แต่นานๆ เข้า ทั้งน้อยส์ที่เต้นยิบๆ ไม่หยุด และขอบของภาพ มันสร้างความรำคาญจนทำให้ต้องลดความคมชัดที่จอลงมา สรุปชัยชนะครั้งนี้ต้องยกความดีให้วงจร

ดี อินเทอร์เรซซิ่งจาก Dual XD Engine ของ LG เขาล่ะครับ ในวงจรนี้ยังปรับทั้งสีและคอนทราสต์ได้ตามต้องการ ในหน้าเมนู ‘XD’ ผมให้ค่าไว้หน่อยเผื่อลองปรับตามนี้ดูก่อนก็ได้
      XD Contrast ----> High
      XD Colour   ----> Low
      XD NR       ----> Off

 
 
 พิสูจน์ ของจริงกันจากแผ่นดีวีดีจากเรื่อง ‘Bring it on’ เมื่อป้อนสัญญาณเป็น 480i อย่างที่ว่า น้ำหนักของสีสันสดใสหายห่วงครับแต่ต้องเลือกปรับเอาในโหมด ‘User’ ที่มีให้สองเมมโมรี อุณหภูมิสีใช้ค่า ‘Warm’ เป็นหลัก บุคลิกของภาพออกไปทางนุ่มๆ หน่อย ทำให้หน้าตา สิวฝ้า ริ้วรอยผิวพรรณของนักแสดงน้อยไปนิด แต่ดีกว่าพวก LCD TV ที่มักมีเหมือนรอยเปื้อนเป็นชั้นๆ ที่แปะอยู่บนใบหน้า ใครที่สังเกตเห็นเหมือนผมคงทำใจลำบากเหมือนกัน อาการอย่างที่ว่าไม่ทำให้ผมรู้สึกกับพลาสมาตัวนี้เลยแม้แต่น้อย ยิ่งถ้าอยากได้ภาพสวยๆ เด้งลอยขึ้นมาอีก ก็ต้องปิดไฟดูครับ สีดำที่ทำได้ดำสนิท ขนาดคอนทราสต์เรโช 30,000:1 นี่ภาพดีขึ้นอีกผิดหูผิดตา นี่ก็เป็นข้อเด่นของพลาสมา LG อีกข้อหนึ่งที่คุณไม่สามารถทำแบบนี้กับ LCD TV ได้ เรื่องสีสันผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องเด่นนัก เพราะทุกคนที่เคยดูทีวีจอแก้วก็จะคุ้นกับสีสันของพลาสมาแบบนี้อยู่แล้ว สีมันไม่ล้น ไม่เกิน อยู่เป็นที่ มีขอบมีบริเวณกว่า CRT เสียอีก ค่าอุณหภูมิสีที่ปรับมาจากโรงงานนี่ก็มีให้สามค่า เลือกปรับเองได้แต่มีให้แค่ R-G-B ชุดเดียวเท่านั้น     
อีกสิ่งที่ น่าให้ความสนใจกับพลาสมาตัวนี้ของ LG ก็คือการปรับจูนค่าแกรมม่าให้ได้ที่ ถ้าในเมนูของจอตัวนี้มันจะอยู่ในหัวข้อ ‘Advanced’ มีให้ปรับสามระดับตั้งแต่ สว่างจนถึงออกไปทางมืดหน่อย ที่ ‘meduim’ เป็นตำแหน่งของค่าแกรมม่าซึ่งให้ภาพที่เข้าตาที่สุด อันที่จริงอยากปรับลดลงไปให้ละเอียดกว่านี้ครับ ก็ต้องยอมรับว่าหมดสิทธิ์ ทางออกก็คือหาเครื่องเล่นดีวีดีที่มีคุณสมบัติในการปรับค่าแกรมม่าได้ด้วย อันนี้ฝากแฟนๆ ที่ชอบดูดีวีดีทั้งหลายแนะนำเครื่องเล่นตระกูลไพโอเนียร์ เข้ากันได้กับพลาสมาตัวนี้เป็นอย่างดีครับ (เพราะนอกจากการปรับภาพแล้วมันยังปล่อย 480i ทาง HDMI ด้วย)

ลอง เอามาเล่นกับบลู-เรย์เพลเยอร์ซะหน่อย กับแผ่น ‘The Water Horse: legend of the deep’ คราวนี้เรื่องรายละเอียดแทบไม่ใช่ปัญหาเลยครับ ผมปล่อยไปเต็มๆ ที่ 1080p/24Hz ซึ่งพลาสมาตัวนี้ก็ขานรับได้สบาย ผมเห็นดีด้วยหากต้องการลงทุนกับแหล่งโปรแกรมรายละเอียดสูงๆ กับดิจิตอลดิสเพลย์ที่รับ 1080p ได้ ต้องการความละเอียด ก็ต้องเปลี่ยนแหล่งโปรแกรมที่ละเอียด แต่ฉากที่สวยงามก็ไม่ได้ขึ้นอยู่แต่เพียงความละเอียดเสมอไป อยากฉากเริ่มต้นเปิดตัวหนังเรื่องนี้ในแชปเตอร์ที่สอง เป็นฉากเมืองเก่าข้างทะเลสาบในสก็อตแลนด์ สิ่งที่ขาดหายไปคือความรู้สึกของภาพที่ลึกเข้าไปในจอ พอคมมากขึ้นภาพมันมักจะแบนลง ผมกลับไปนึกถึงเรื่องการปรับภาพแบบละเอียดที่ไล่เกรย์สเกลทีละนิดทีละนิด จะมีผลทำให้การเกลี่ยแสง และเงาที่ถูกต้องขึ้น ถามว่าพลาสมาของ LG ตัวนี้เหมาะกับการปรับอย่างนั้นไหม ปรับได้ครับ แต่ข้อจำกัดของมันคงยากให้ไปจบในสิ่งที่อยากได้ การเลือกจับคู่กับบลู-เรย์เพลเยอร์ที่เหมาะสมกว่านี้จึงน่าจะเป็นทางเลือก ที่ง่ายกว่า อย่าง LG BH200 Dual format HD player ของเขาเองผมเชื่อว่าน่าเป็นคู่ที่เกิดมาคู่กันเป็นอย่างยิ่ง ชัดอย่างเดียวจึงยังไม่พอสำหรับ 42 ตัวนี้

มา สาธยายเกี่ยวกับภาครับสัญญาณโทรทัศน์ของมันเสียหน่อย ถือว่าเกี่ยวเนื่องเป็นเรื่องเดียวกับช่องรับสัญญาณคอมโพสิต เพื่อใช้งานสำหรับดูเคเบิ้ลทีวีไปด้วยเลย ในการทดสอบผมใช้เสา 300 โอห์ม แบบสองเสาธรรมดา ต้องบอกว่าภาครับของทีวี LG ทุกตัวดีกว่าค่าเฉลี่ยมาตลอด มีภาพซ้อนเกิดขึ้นบ้าง แต่ก็น้อยกว่าจูนเนอร์ของค่ายอื่น ถ้าลงทุนตั้งเสาให้ดีเผลอๆ ดีกว่าจูนเนอร์ที่เป็นดิจิตอลจาก UBC เพราะเดี๋ยวนี้เริ่มเห็นอาการแปลกๆ จากจูนเนอร์ดาวเทียมบ้างแล้ว เห็นเป็นรอยปื้นๆ ที่เกิดจากการบีบอัดข้อมูลบนหน้าคนเวลาซูมลงไปใกล้ๆ นี่แหละครับวิถีของดิจิตอล ถ้าปล่อยปะละเลยกันไปเรื่อยๆ ภาพของมนุษย์ก็จะกลายเป็นวัตถุที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากคอมพิวเตอร์ดีๆ นี่เอง ยิ่งช่องเยอะๆ ข้อมูลจึงถูกบีบกันหน้าเขียว แต่กับภาครับทีวีของ LG ตัวนี้พอฝากผีฝากไข้ได้ก็แล้วกัน

ฟังก์ชัน ของพลาสมา 42 นิ้วที่สร้างขึ้นมารองรับกับสัญญาณบ้านเราขณะที่ยังที่วิ่งไล่ตามฮาร์ดแวร์ ไม่ทัน ก็เห็นจะเป็นเรื่องของการสเกลภาพ 4:3 ธรรมดาด้วยฟังก์ชัน ‘ZOOM’ LG ตัวนี้ปรับค่าซูมได้สองแบบ ทั้งสองแบบมีการสเกลที่ต่างกัน ผมชอบแบบ ‘ZOOM1’ มากกว่า ความกว้างของภาพใช้พื้นที่อย่างเต็มจอ แต่ความสูงจะล้นออกมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็มีฟังก์ชัน ‘ZOOM Setting’ ปรับเนื้อหาของภาพเลื่อนให้เห็นแล้วแต่ว่าอยากจะเห็นภาพเต็มในส่วนบน หรือเลื่อนตัวหนังสือที่วิ่งอยู่ด้านล่างขึ้นมา เป็นที่น่าพอใจครับ ดีกว่าดูแบบ 4:3 ที่รู้สึกว่าซื้อมาแล้วไม่ค่อยคุ้ม หรือดูแบบ 14:9 ที่ยังมีแถบด้านข้างอยู่ดี ช่วงทดสอบมีโอกาสได้ดูกีฬาอย่างจุใจ การเคลื่อนไหวที่รวดเร็วไม่เป็นอุปสรรคต่อการแสดงผลเลยกับพลาสมาตัวนี้
 
 ปุ่มคำสั่งที่ซ่อนหลบอยู่ด้านขวามือ จึงไม่น่าได้รับการตอบรับในการใช้งานเท่าไหร่
 
 ช่องต่อต่างๆ ที่เรียงรายอยู่ด้านหลังเป็นอุปสรรคในการแขวนชิดผนังเป็นอย่างยิ่ง
เพราะเมื่อเสียบสายเข้าไปจะค้ำออกมาอย่างน้อยก็ 3- 4 นิ้ว ต้องใช้แบบเป็นแขนยื่นออกมาแทน
 
ใน ช่วงสุดท้ายของการทดสอบได้ลองต่อกับสเกลเลอร์ภายนอกดู ให้รู้แล้วรู้รอด 42 นิ้วตัวนี้รับค่า 1024x768 พิกเซลเฉพาะที่ 60Hz เท่านั้นทางช่อง HDMI ได้ความสว่างของพิกเซลขึ้นมาอีกไม่น้อยเลยครับ พลังของคอนทราสต์ที่เกิดขึ้นในภาพคนละเรื่อง รายละเอียดต่างๆ พรั่งพรูขึ้นมาโดยไม่ขึ้นขอบ น่าประทับใจครับกับภาพที่เห็นรายละเอียดแค่ XGA เท่านั้น สุดท้ายกับปัญหาเรื่องภาพที่แช่อยู่บนหน้าจอนานๆ เรามักโดนเป่าหูอยู่ตลอดว่าจอจะไหม้ หรือจะกลายเป็นภาพค้างอยู่อย่างถาวร LG ตัวนี้ให้ทั้งวิธีป้องกัน และขั้นตอนการแก้ไข อยู่ในเมนู ‘ISM Method’ อธิบายสั้นๆ ว่าอย่างฟังก์ชัน ‘Orbiter’ เป็นการขยับภาพทุกๆ 2 นาทีเพื่อไม่ให้ติดนิ่งนานเกินไป หรือแสดงผลพื้นที่สีขาวเต็มจอล้างภาพโดยใช้ ‘White Wash’ ทำให้พาเนลกลับมาเป็นปกติเหมือนเดิม
 
• สรุป
กระแส จอแบนคงห้ำหั่นกันดุเดือดขึ้น เพราะพลาสมาดิสเพลย์ดูจะเข้ามาให้เป็นทางเลือกเพิ่มขึ้นอีกหลายรุ่น LG 42PG60UR ตัวนี้เป็นความตั้งใจของ LG ที่กลับมาพร้อมทั้งรูปลักษณ์และประสิทธิภาพ ลดช่องว่างที่ LCD TV โจมตีให้น้อยลง ขณะเดียวกันจุดขายหลักของการทำสีดำให้ดำสนิทกว่าของพลาสมาก็ยังเป็นประเด็น ซึ่ง LCD TV เริ่มเข้าใจแล้วว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผู้บริโภคหันไปหาเทคโนโลยีคู่แข่ง ข้อเดียวของ 42PG60UR ที่มีรายละเอียดที่น้อยกว่า ณ ตอนนี้หากมองในมุมกลับมันก็เหมาะกับบ้านเราที่สถานการณ์เรื่องฮาร์ดแวร์กับ ซอฟต์แวร์ เรื่องการใช้ประโยชน์จากภาพในแบบไฮเดฟฯ จึงยังไม่มาบรรจบกันซักที (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอีกเมื่อไหร่เหมือนกัน)

‘สิบ ปากว่าไม่เท่าตาเห็น’ เป็นสุภาษิตที่คุ้นเคยกันอยู่แล้วสำหรับคนไทย ซึ่งใช้ได้กับเทคโนโลยีจอภาพดิจิตอลตอนนี้  ผมขอเพิ่มเติมอีกนิดว่าการได้เป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาสำหรับ แสดงภาพเคลื่อนไหวโดยแท้แล้ว พลาสมาตัวนี้มันเกิดขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เห็นกันทะลุปรุโปร่งมาหมดแล้วทั่วโลก...มากกว่าสิบตาเสียอีก
....................................................................................................


• นำเข้าและจัดจำหน่ายโดย:
บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด โทร.0-2878-5757
ราคา : 54,990 บาท

 
• อุปกรณ์ร่วมทดสอบ:
เครื่องเล่นบลู-เรย์ดิสก์ :  Pioneer BDP-LX70A
เครื่องเล่นดีวีดี :   Pioneer DVR-745H, Pioneer XV-DV777
วิดีโอโปรเซสเซอร์:   DVDO Iscan VP-50
เอซี-ดิสตริบิวเตอร์ :  Clef PowerBRIDGE-8
สายสัญญาณ:   WireWizard HDMI, QED Qunnex HDMI-P
ชั้นวางเครื่อง :   Rezet

 
Specification
Brand    LG
Type     Plasma TV
Model    42PG60UR
Native Resolution  1024 x 768 Pixels
Contrast Ratio   30,000 : 1
Brightness   1,500 cd/m?
Response time   0.001 ms
Viewing Angle   180 Degree
HDMI (v. 1.3) Input  3
Component Video Input  1
D-sub 15 pin Input  1
S-Video Input   1
USB Port    1
Composite Video Input  2
Headphone    -
Dimension (W x H x D) mm 1,044 x 680.6 x 79.6

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook