Creative SoundBlaster
Creative SoundBlaster
X-Fi Go!
Portable USB Sound Card+1GB Flash Memory
เรื่อง: Voyager
ภาพ : ปฐวี โอฐสร้อยสำอางค์
............................................................................................
‘Extra-Fidelity on GO’
ใครที่ ใช้งานคอมพิวเตอร์หรือต้องนั่งอยู่กับคอมพิวเตอร์ครั้งละนานๆ คงไม่ปฏิเสธว่าบ่อยครั้งได้ ‘แก้เบื่อ’ ด้วยการนั่งฟังเพลงเพลินๆ ไม่ว่าจะฟังจากหูฟังหรือลำโพงที่ต่อกับชุดคอมพิวเตอร์ บางครั้งอาจจะถือโอกาสดูหนังหรือเล่นเกมกับคอมพิวเตอร์ไปด้วยต่างหาก
คุณเคยสังเกตไหมครับว่า คอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องน่ะมันให้เสียงออกมาดีไม่เท่ากัน บางเครื่องก็เสียงดีมากเรียกว่าสามารถใช้ทดแทนเครื่องเสียงดีๆ ได้เลย แต่คอมพิวเตอร์บางเครื่องก็ให้เสียงฟังไม่ได้เลย มีทั้งเสียงรบกวนและเสียงคมแข็งไม่น่าฟัง ความแตกต่างที่ว่าโดยหลักแล้วมาจากส่วนของวงจรจัดการกับระบบเสียงที่เรานิยม เรียกว่าการ์ดเสียงหรือ sound card นั่นแหละครับ
สำหรับคอมพิวเตอร์ PC ทั่วไป โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์แบบสั่งประกอบ ถ้าสุ้มเสียงเวลาดูหนัง ฟังเพลงหรือเล่นเกมออกมาไม่ถูกใจ ไม่กระหึ่มหนักแน่นพอแล้วล่ะก็การปรับปรุงคุณภาพเสียงสามารถทำได้โดยง่าย ครับ แค่เปลี่ยนแผง sound card ใหม่ที่เสียงดีกว่าเข้าไปแค่นี้ก็เรียบร้อย คอมพิวเตอร์ประเภท desktop ที่ชิ้นส่วนต่างๆ ออกแบบมาให้เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ค่อยมีปัญหาหรอกครับ แต่กับเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่อย่างเช่นพวก laptop, note book หรือ UMPC (Ultra Mobile PC) ผมเห็นว่าน้อยเครื่องนักที่ออกแบบมาให้เปลี่ยน sound card ได้ง่ายๆ และถ้าไม่ใช่เครื่องรุ่นสูงๆ แล้วล่ะก็อย่าได้หวังเสียเลยว่าผู้ผลิตเขาจะให้ sound card ออนบอร์ดอย่างดีติดตัวมา ผู้ใช้ส่วนมากจึงจำเป็นต้องก้มหน้าก้มตาฟังเสียงแย่ๆ จาก sound card คุณภาพต่ำกันไปอย่างตามมีตามเกิด
SoundBlaster X-Fi Go! เล็กกว่า คล่องตัวกว่า แต่ไม่ลดคุณภาพ
หลัง จากที่ได้พัฒนา sound card ออกมาหลายรูปแบบ ทั้งปรับปรุงเรื่องคุณภาพของชิพเสียง คุณภาพของฟังก์ชัน การใช้งานและการเชื่อมต่อต่างๆ ล่าสุดค่าย Creative ขาใหญ่อีกรายหนึ่งของวงการผู้ผลิต sound card ตระกูล SoundBlaster ที่ได้สร้างชื่อในหมู่คนใช้คอมพิวเตอร์มานานหลายปีก็ได้พัฒนา sound card รูปแบบใหม่ออกมา รูปแบบใหม่ที่ว่านี้คือการเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ผ่านทางช่องเสียบ USB ครับ มันมาในรหัสชื่อรุ่นว่า SoundBlaster X-Fi Go!
SoundBlaster X-Fi Go! หรือที่ผมจะขอเรียกอย่างย่อว่า XFG เป็นการ์ดเสียงรูปแบบใหม่ที่ผมเองก็ไม่ค่อยคุ้นเคยนัก มันถูกออกแบบให้มีขนาดเล็กจนสามารถพกพาได้สะดวกแทบไม่ต่างอะไรจากพวงกุญแจ หรือแฮนดี้ไดรฟ์ทั่วไปที่เราคุ้นตากันดี การติดตั้งฮาร์ดแวร์ก็แสนจะเรียบง่าย เพราะมันอาศัยการเชื่อมต่อกับพอร์ต USB ของคอมพิวเตอร์เหมือนแฮนดี้ไดรฟ์ทั่วไป เอาเสียบกับพอร์ต USB ของคอมพิวเตอร์ได้เลยไม่ต้องเปิดเครื่องมาเสียบแผงวงจรให้วุ่นวาย
ข้อมูลจากผู้ผลิตแจ้งว่า XFG ออกแบบมาสำหรับใช้เพิ่มคุณภาพเสียงของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ sound card คุณภาพต่ำด้วยวิธีการติดตั้งและใช้งานที่แสนเรียบง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน ไม่ว่าคุณจะใช้ประโยชน์จากการ์ดเสียงทั้งในการดูหนัง ฟังเพลงหรือเล่นเกมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ การใช้เทคนิควงจรเอฟเฟ็กต์เสียงแปลกใหม่เฉกเช่นเดียวกับที่จะพบได้ในการ์ด เสียงคุณภาพรุ่นอื่นๆ จากค่ายครีเอทีฟ เรียกว่าถึงตัวเล็กแต่ลูกเล่นไม่ได้เล็กตามตัวเลย ให้เอฟเฟ็กต์เสียงมาเอาใจบรรดาเกมเมอร์สุดๆ เหมือนกัน ตัวที่ค่าย Creative ภูมิใจนำเสนอก็คือ EAX? ADVANCED HD? ที่อ้างว่ามีเกมมากกว่า 400 เกม แล้วที่ใส่เอฟเฟ็กต์นี้มาให้คนเล่นเกมต้องหูผึ่งตะลึงกับความสมจริงของเสียง เหมือนได้เข้าไปในอยู่ในเกมจริงๆ หรือจะเป็น Creative Alchemy ระบบสร้างสนามเสียงรอบทิศทางในเกมสำหรับคนที่ใช้ Windows Vista นี่ก็น่าสนใจครับ
สำหรับคนที่ชอบใช้คอมพิวเตอร์ดูหนัง -ฟังเพลงอย่างผม XFG ก็เอาใจด้วยระบบเสียง X-Fi หรือ Xtreme Fidelity audio technology ที่ผู้ผลิตอ้างว่าสามารถถ่ายทอดทุกรายละเอียดของเสียงจากภาพยนตร์หรือ เพลงออกมาได้อย่างสมจริงอย่างยิ่ง แม้แต่ไฟล์เพลงแบบ MP3 ! ฮ้า…จริงหรือนี่
มีอะไรในกล่อง
ในกล่องใส่ตัวการ์ดเสียง XFG มีอุปกรณ์ติดมาให้เพียงไม่กี่ชิ้น อย่างแรกที่ต้องมีแน่นอนก็คือตัวการ์ดเสียง XFG สายต่อ USB ชุดหูฟังระบบเสียงสเตอริโอที่มีไมโครโฟนพ่วงติดมาด้วย และแผ่นพับคู่มือใช้งานแบบ quick start อีก 1 ชุด
มีมาให้แค่นั้นแหละครับ
ผมพยายามมองหาแผ่นไดรเวอร์สำหรับการ์ดเสียงแต่ไม่เจอ และคิดว่าตัวแทนจำหน่ายเขาคงลืมส่งมาให้ แต่มาทราบที่หลังว่าผมนั่นแหละที่เข้าใจผิดเอง เข้าใจผิดอย่างไรลองติดตามอ่านไปเรื่อยๆ ครับแล้วจะทราบ
ตัวการ์ดเสียง XFG เองมีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีดำ ทรงแบน มิติรูปทรงมีขนาดใหญ่กว่าแฮนดี้ไดรฟ์ที่ผมใช้งานอยู่เล็กน้อย มองเผินๆ เหมือนที่ห้อยพวงกุญแจหรือกุญแจรถเบนซ์แบบที่พับเก็บดอกกุญแจได้ บอดี้เป็นพลาสติกสีดำ ด้านหน้าเป็นแบบมันเงาสวยงามแต่เปื้อนรอยนิ้วมือได้ง่าย มีโลโก้ ‘X-Fi’ สีขาวปรากฏอยู่ ปลายด้านหนึ่งเป็นฝาปิดกันฝุ่นเมื่อเปิดออกก็เห็นปลั๊ก USB เหมือนที่เห็นในแฮนดี้ไดรฟ์ปกติทั่วไป ปลายอีกด้านที่เหลือเป็นช่องเสียบมินิปลั๊กขนาด 3.5 มิลลิเมตร มีสัญลักษณ์กำกับเอาไว้ชัดเจนว่าช่องหนึ่งสำหรับเสียบหูฟังสเตอริโอ อีกช่องเอาไว้เสียบไมโครโฟน
และถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า บริเวณขอบด้านขวามือค่อนลงมาด้านล่างมีแถบสไลด์พร้อมทั้งสัญญาณแม่กุญแจล็อก และเปิดล็อกกำกับอยู่ นั่นคือแถบเลื่อนที่มีไว้ใช้ล็อกป้องกันการลบหรือเขียนทับข้อมูลที่มีอยู่ใน XFG เนื่องจากตัว XFG เองนั้นภายในตัวมันมีหน่วยความจำความจุ 1 GB พ่วงมาด้วยในตัว ส่วนหนึ่งเอาไว้ใช้เก็บไดรเวอร์ของตัวมันเอง (นี่แหละครับสาเหตุที่ผมหาแผ่นไดรเวอร์ไม่เจอ) ความจุที่เหลือก็สามารถใช้งานได้เหมือนแฮนดี้ไดรฟ์ทั่วไป คือเก็บข้อมูลต่างๆ ที่ต้องการไม่ว่าจะเป็นไฟล์เพลง หนัง คลิปหรือข้อมูลที่เซฟจากเกมเพื่อนำไปใช้เล่นที่เครื่องอื่น
สำหรับชุดหูฟังที่ให้มาด้วยนั้น หน้าตาดูเข้าทีเลยทีเดียวครับ สายหูฟังยาวที่สุดเกือบๆ 2 เมตร มีชุดไมโครโฟนแบบเหน็บปกเสื้อติดมาในชุดหูฟังด้วย ปลายสายเป็นปลั๊กมินิ 3.5 มิลลิเมตร มีสัญลักษณ์กำกับชัดเจนว่าขั้วไหนเป็นหูฟัง ขั้วไหนเป็นไมโครโฟน ถ้าไม่เฟอะฟะเองรับรองว่าไม่มีเสียบผิดช่องแน่นอนครับ
คุณสมบัติของคอมพิวเตอร์ที่จะใช้งานร่วม กับการ์ดเสียงรุ่นนี้ก็แค่ใช้ CPU Intel? Pentium? 4 1.6 GHz, AMD? Athlon XP 2000+ processor หรือเร็วกว่าเช่น Pentium 4 2.2 GHz, AMD Athlon XP 2400+ processor ระบบปฏิบัติการ Microsoft? Windows Vista? 64-bit, Windows Vista 32-bit, Windows? XP Professional x64 Edition, Windows XP ที่ลง Service Pack 2 (SP2) หน่วยความจำ RAM ขั้นต่ำ 512 MB ที่ว่างในฮาร์ดดิสก์อย่างน้อย 600 MB และแน่นอนว่าต้องมีช่องเสียบ USB
ทดลองใช้งาน
ทันทีที่เสียบ XFG เข้าไปที่ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ ไฟล์ติดตั้งไดรเวอร์จะขึ้นมาถามอัตโนมัติ ขั้นตอนการลงไดรเวอร์ก็เหมือนไดรเวอร์การ์ดเสียงของ Creative ทั่วไปไม่มีอะไรแปลกใหม่ นอกจากไดรเวอร์แล้ว XFG ยังมีโปรแกรมแอพพลิเคชั่นให้ลงเพิ่มอีกเล็กน้อยเช่น Console Launcher และ Creative MediaSource
ในระหว่างเสียบใช้งานสังเกต ว่าตรงตำแหน่งโลโก้ ‘X-Fi’ บนตัวเครื่องจะเรืองแสงสว่างขึ้นมาเป็นการบ่งบอกสถานะให้ทราบว่ามันพร้อมทำ งานแล้ว
ทันทีที่เสียบปลั๊กหูฟังเข้าไป โปรแกรมตรวจจับการเสียบสายสัญญาณจะมีหน้าต่างโผล่ขึ้นมาถามในคอมพิวเตอร์ว่า อุปกรณ์ที่เสียบเข้าไปนั้นเป็นหูฟังหรือลำโพง เพื่อให้เลือกปรับตามความเหมาะสม แต่ฟังก์ชันนี้เท่าที่ผมลองมันจะไม่สามารถใช้งานได้กับหูฟังที่มีอิมพีแดนซ์ ค่อนข้างสูง
ผมเริ่มฟัง XFG ด้วยไฟล์เพลงธรรมดา เทียบกับการ์ดเสียงออนบอร์ดเดิมๆ ที่มากับโน้ตบุ๊ครุ่นกลางๆ ของ Acer และ Compaq ที่ผมใช้งานอยู่ การฟังในช่วงนี้ได้ปิดเอฟเฟ็กต์เสียงทั้งหมด ฟังกันแบบดิบๆ ไม่มีการปรุงแต่งเสียงใดๆ สิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมชัดเจนก็คือเนื้อเสียงที่อิ่มหนากว่าเดิม นั่นคือผลพวงที่ทำให้ไฟล์เพลงหลายๆ เพลงฟังสบายหูขึ้นอย่างมาก เสียงทุ้มมีน้ำหนักเสียงดีกว่าเดิม ให้ความกระหึ่มมากกว่าชัดเจนชนิดใครๆ ก็ฟังออก มันทำให้คอมพิวเตอร์ที่มีการ์ดเสียงคุณภาพงั้นๆ กลายเป็นเครื่องเล่นเพลงคุณภาพสูงเทียบเท่าเครื่องเล่นหลายๆ รุ่นที่ผมเคยลองฟังเสียงมา
ตัวหูฟังที่ให้มาด้วยนั้นค่อนข้าง ให้เสียงทุ้มนุ่มหนาเป็นหลัก ถ้าไม่ใช่พวกหูหาเรื่องมากก็ใช้งานได้สบายๆ ไม่ได้ขี้เหร่อะไร แต่ถ้าคุณมีหูฟังดีๆ ใช้งานอยู่แล้วก็เก็บหูฟังที่แถมมาเอาไว้ในกล่องได้เลยครับ XFG สามารถขับหูฟังอิมพีแดนซ์สูง 60 โอห์มได้ดังลั่น ดังนั้นหูฟังทั่วไปที่มีอิมพีแดนซ์แถวๆ 16-32 โอห์มจึงไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องเกนขยายกับ XFG แต่อย่างใด
การควบคุมระดับเสียงและลูกเล่นฟังก์ชัน
เอ ฟเฟ็กต์ต่างๆ เพิ่มเติมของ XFG สามารถกระทำได้โดยผ่านโปรแกรม Console Launcher เมนูต่างๆ ที่ Console Launcher นั้นผมเองใช้เวลาเรียนรู้และเข้าใจการใช้งานได้ภายในเวลาไม่นานนัก จัดว่าใช้ง่ายและไม่มีอะไรซับซ้อน เมนู EAX นั้นเป็นการเลือกใช้หรือไม่ใช้ระบบเสียง EAX ซึ่งเป็นการสร้างบรรยากาศจำลองสภาพอะคูสติกที่ต่างกันไป อาทิเช่น Jazz Club, Opera Hall,…นอกจากนั้นสามารถเลือกปรับปริมาณของการแต่งเสียงได้
เมนู 3D เป็นระบบจำลองเสียงรอบทิศทาง X-Fi CMMS ของครีเอทีฟเอง เป็นระบบเสียงที่ผมคิดว่าเหมาะกับการดูหนังบางประเภทและการเล่นเกมที่ต้อง การจำลองเสียงรอบทิศทางเพื่อเพิ่มความเร้าใจ ซึ่งการสร้างเอฟเฟ็กต์รอบทิศทางระบบนี้สามารถเลือกปรับปริมาณของสนามเสียง ว่าต้องการให้แผ่ไปทางด้านหน้าหรือด้านหลังมากกว่า ลองใช้แล้วจะติดใจครับ
เมนู X-Fi Crystalizer ระบบเสียงที่อ้างว่าสามารถยกระดับไฟล์เพลงเดิมๆ ที่มีคุณภาพแย่ๆ ให้ฟังดูดีขึ้นได้ จากการทดลองเล่นดูผมพบว่ามันสามารถทำได้อย่างที่คุยไว้จริงๆ ครับ มันเติมความอิ่มเข้มและเพิ่มการเน้นเสียงในย่านความถี่หลักๆ เช่นเสียงทุ้มหัวเสียง เสียงกลางและแหลมให้เปิดเผยโดดเด่นกว่าปกติ จะมีก็แค่ไฟล์เสียงที่แย่มากจริงๆ เท่านั้นแหละครับที่โปรแกรมนี้ช่วยอะไรไม่ได้เท่าไร ถ้ามันพูดได้คงอยากบอกว่า ‘ไฟล์ต้นฉบับมันแย่เกินเยียวยา’
อีกหัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจคือเมนู Performance ครับ ถ้าคอมพิวเตอร์ของคุณไม่มีปัญหาเรื่อง resource แล้วล่ะก็ผมแนะนำให้ปรับเอาไว้ที่ระดับสูงสุดเลยครับคือ 24 bit ค่าแซมปลิ้ง 48 kHz สุ้มเสียงที่ได้จะออกมาคุณภาพดีที่สุดครับ สำหรับคนที่ชอบเล่น Chat หรือเกมที่มีการใช้เสียงประกอบด้วย ลองเล่นเมนู Microphone Effects ดูแล้วจะชอบเช่นกันครับ มันทำให้เสียงของคุณเปลี่ยนไปเป็นเสียงต่างๆ ได้จนน่าตกใจ เช่นเสียงของเอเลี่ยน เอลฟ์ ชายเป็นหญิง หญิงเป็นชาย ฯลฯ เหมาะกับเอาไว้แกล้งเพื่อนหรือเล่นเกมให้เข้าบรรยากาศเป็นที่สุด
สรุป
นี่คือการ์ดเสียงจิ๋วแต่แจ๋วอีกตัวหนึ่ง สำหรับผู้ที่นิยมใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพาเป็นที่สุดครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นคนที่ชอบใช้คอมพิวเตอร์ทำอะไรมากกว่าใช้ทำงาน แล้วล่ะก็ ผมว่า SoundBlaster X-Fi Go! คือการ์ดเสียงที่คุณใช้งานได้คล่องตัวที่สุดรุ่นหนึ่งแล้วล่ะครับ
ที่สำคัญคุณภาพเสียงที่ได้ดูดีกว่าหน้าตาทื่อๆ ของมันเยอะเลยล่ะครับ
ราคา 2,090 บาท
AUTO-REVERSE
ในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1981 มีกระทาชายคนหนึ่งเปิดร้านซ่อมคอมพิวเตอร์ ด้วยการที่ร่ำเรียนมาในสายนี้ เขาจึงเริ่มพัฒนาและประกอบแผงวงจรที่ใช้งานร่วมกับ Apple II คอมพิวเตอร์ ในเวลาเดียวกัน เขาก็เริ่มประกอบคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานสำหรับภาษาจีน ซึ่งเพิ่มจุดขายตรงที่ใส่ระบบเสียงของเขาเองเข้าไป ทำให้เสียงพูด และเสียงดนตรีที่ออกมาจากคอมพ์ที่เขาประกอบมีความไพเราะเกินหน้าเกินตา เครื่องแบรนด์เนมที่วางขายอยู่ตอนนั้น ร้านคอมพิวเตอร์ร้านนั้นมีชื่อว่า Creative และชายหนุ่มคนนั้นคือ Mr.Sim Wong Hoo ผู้ร่วมก่อตั้ง Creative Technology ซึ่งเดี๋ยวนี้เขากลายเป็นเศรษฐีพันล้านไปแล้วจากการหากินกับระบบเสียงที่ อยู่ในคอมพิวเตอร์ PC จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูลจาก wikipedia.com)