ทรู-กสท ดอดร่วมเซ็นสัญญาแผนให้บริการ 3 จี โดยให้ทรูพัฒนาโครงข่ายฮัทชิสันให้รองรับการ 3 จี ก่อนเปิดให้เช้าใช้ให้บริการแบบเอ็มวีเอ็นโอ
ที่มาของภาพประกอบ : munjeed.com
เมื่อเวลา 07.45 น. นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม และนายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารไร้สาย กสท ร่วมกับ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และผู้บริหารระดับสูงของทรู ลงนามเซ็นสัญญาแผนการทำธุรกิจมือถือของกสท ด้วยการพัฒนาโครงข่ายซีดีเอ็มเอให้เป็นโครงข่ายเอชเอสพีเอร่วมกัน หลังจากที่ทรูสามารถเข้าซื้อกิจการโทรศัพท์มือถือระบบซีดีเอ็มเอของบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส หรือ ฮัทช์ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยการเซ็นสัญญาครั้งนี้เป็นไปอย่างลับๆโดยไม่ได้แจ้งกำหนดการให้สื่อมวลชน ได้ทราบ
รายงานข่าวแจ้งว่า การลงนามในครั้งนี้ เป็นความต้องการของทั้ง กสท และ ทรู ที่ต้องการเปิดให้บริการ3 จี โดยเร็วที่สุด โดยจะมีการปรับโครงข่ายซีดีเอ็มเอทั้งหมด 3,000 สถานีทั่วประเทศ ให้เป็นโครงข่ายเอชเอสพีเอภายในปี 2554 ซึ่งกลุ่มทรูจะเป็นผู้ติดตั้งอุปกรณ์เอสเอชพีเอในส่วนกลาง 25 จังหวัด ตามสถานีฐานเดิมของซีดีเอ็มเอ 1,400 แห่ง แล้วเปิดให้ กสทเช่าใช้โครงข่ายหรือขายส่ง ให้กสท
ขณะที่ กสท จะเช่าอุปกรณ์เอสเอชพีเอจากกลุ่มทรู เพื่อนำมาติดตั้งตามสถานีฐานซีดีเอ็มเอของกสทในส่วนภูมิภาค 51 จังหวัด จำนวน 1,600 แห่ง และเปิดให้กลุ่มทรูเช่าใช้โครงข่ายและขายส่งให้กลุ่มทรู และรายย่อยอื่นๆ ที่ต้องการทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือในลักษณะเอ็มวีเอ็นโอ หรือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เสมือน(Mobile Virtual Network Operator)
ทั้งนี้ กสท กับทรู ได้ตกลงทำสัญญาระหว่างกัน เป็นลักษณะสัญญาเช่าอุปกรณ์ รวมถึงสัญญาการขายส่ง ซึ่งสัญญาจะมีอายุตามใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือ ประเภทที่ 3 ที่ กสทได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เป็นระยะเวลา 14.5 ปี โดยร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบแล้วเพื่อความรอบคอบแล้ว
นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสทฯ กล่าวว่า การที่ต้องลงนามแต่เช้านั้น เนื่องจากกลุ่ม ทรู คอร์ปอเรชั่น ต้องการฤกษ์เวลานี้ ไม่ได้เป็นขั้นตอนที่รวบรัดแต่อย่างใด เพราะได้ผ่านกระบวนการพิจารณาจากทางคณะกรรมการ หรือ บอร์ด เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงรอการตรวจสอบสัญญาจากทางอัยการสูงสุด ซึ่งไม่ได้แก้ไขในรายการที่สำคัญ การลงนามจึงเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมาได้มีการประชุมบอร์ดบริหารตั้งแต่เวลา 16.00-22.00น. เพื่อพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพราะการประชุมบอร์ด กสทฯ ชุดใหญ่ที่มีนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ เป็นประธานนั้นตามกำหนดจะต้องประชุมในวันที่ 28 ม.ค.
“ยืนยันว่าการลงนามครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวบรัด เพราะการประชุมบอร์ดเมื่อวานนี้ก็มีการพิจารณาในหลายเรื่องไม่ใช่เรื่องนี้ เรื่องเดียว และการเซ็นสัญญากับทางทรูก็ได้ผ่านความเห็นจากประธานบอร์ดแล้ว รวมทั้งจะแจ้งให้ที่ประชุมบอร์ดใหญ่ทราบในวันพรุ่งนี้เช่นกัน” นายจิรายุทธกล่าว
นายจเรรัฐ ปิงคลาศัย ที่ปรึกษนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ไอซีที กล่าวว่า การเซ็นสัญญาครั้งนี้เป็นเรื่องที่ผิดปกติ เพราะวันที่ 28 ม.ค.จะมีการประชุมบอร์ดกสทฯ อยู่แล้ว และมีเรื่องนี้อยู่ในวาระด้วย เหตุใดจึงไม่รอให้ผ่านบอร์ดใหญ่ก่อนแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการเซ็นสัญญา ซึ่งหากกสทฯ ตัดสินใจจะดำเนินการเช่นนี้ คงพิจารณาดีแล้ว
ด้าน นายสุขุม ชื่นมะนา ประธานสหภาพ กสท โทรคมนาคม กล่าวว่า การเซ็นสัญญาครั้งนี้ ทางสหภาพฯ เห็นด้วยเนื่องจากมองว่าการทำธุรกิจ 3จี ร่วมกับทรู จะทำให้ กสท ได้ประโยชน์ และ ดำเนินธุรกิจ และมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจ มือถือ
อย่างไรก็ตาม สหภาพฯ ได้ยื่นหนังสือขอตรวจสอบรายละเอียดของสัญญาทั้งหมด โดยเสนอข้อเรียกร้อง 2 ข้อ คือ 1.ขอให้กสท เร่งดำเนินการโอนสัญญาสร้าง โอน บริการ (บีทีโอ) กับบริษัท ทรูมูฟ ให้เร็วที่สุด เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน 2.การเซ็นสัญญาแลกใช้อุปกรณ์โดยมีอายุ 14 ปีนี้ คลื่นความถี่ที่ให้บริการทั้งหมดจะต้องเป็นกรรมสิทธิ์ของกสท
ขอบคุณที่มา : www.insure.co.th