รีวิว ThinkPad Edge E320: มันคือ X1 ราคาถูก
รีวิว ThinkPad Edge E320: มันคือ X1 ราคาถูก ThinkPad Edge เป็น ThinkPad สายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่ถึง 2 ปี โดยมันถูกวางตลาดให้จับกลุ่มผู้ใช้หน้าใหม่ ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่สวยงามดึงดูดคนทั่วไปมากกว่า ThinkPad รุ่นพี่ แต่ภายในยังคงประสิทธิภาพไว้ พร้อมทั้งตุ่มแดงอันเป็นเอกลักษณ์ของ ThinkPad และการมี body สีแดงให้เลือก จึงไม่แปลกเลยที่สาวๆ หลายคนจะเริ่มหันมาสนใจ ThinkPad กันบ้างแล้ว และวันนี้ ผมจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ ThinkPad Edge E320 กันครับ
สำหรับปีก่อนนั้น ThinkPad Edge แต่ละโมเดลก็จะได้รับชื่อรุ่นจากขนาดหน้าจอของมัน แต่อาจเป็นเพราะความสับสนในรุ่นย่อยๆ ของแต่ละโมเดล ทำให้ปีนี้ ThinkPad Edge หันมาตั้งชื่อโมเดลเป็นเลข 3 หลักตามรุ่นพี่แทน โดยเลขหลักแรกนั้นจะบ่งบอกขนาดหน้าจอ (+10 นิ้ว) หลักที่ 2 คือเวอร์ชันของโมเดลนั้นๆ และหลักสุดท้ายบอกหน่วยประมวลผลภายใน โดยสำหรับตระกูล Edge แล้ว เลข 0 จะใช้ชิปจากฝั่ง Intel ส่วนเลข 5 นั้นใช้ชิปของ AMD ครับ
ตัวเครื่อง
ด้านซ้ายไล่จากด้านบนสุดมี Kensington Security Slot เว้นที่ว่างเล็กน้อยก่อนจะพบกับพอร์ต VGA ถัดมาคือ USB 2.0 จำนวน 2 พอร์ต (พอร์ตแรกสีเหลืองสามารถใช้ชาร์จแบตเตอรี่อุปกรณ์ต่อพ่วงได้แม้ยามปิด เครื่อง) ต่อด้วยช่องเสียบสายแลน และปิดท้ายด้วยการ์ดรีดเดอร์ซึ่งตัวการ์ดรีดเดอร์นั้น เมื่อเสียบการ์ดเข้าไปแล้ว ปลายการ์ดจะยังโผล่ออกมาอยู่ครึ่งเซนติเมตร จึงไม่สะดวกที่จะเสียบอแดปเตอร์ microSD ค้างไว้ตลอดเวลาได้ครับส่วนด้านขวาเริ่มจากช่องเสียบหูฟัง/ไมโครโฟน ตามมาด้วย USB 2.0/e-SATA ต่อมาเป็นพอร์ต HDMI คั่นด้วยช่องระบายอากาศ แล้วก็ไปจบที่ช่องชาร์จแบตเตอรี่ สำหรับด้านหน้า-หลังของเครื่องนั้น เรียบๆ ไม่มีพอร์ตหรือไฟแสดงสถานะใดๆ ครับ พอมองดูรอบเครื่องเสร็จ ก็เกิดความสงสัยว่าลำโพงอยู่ตรงไหน?
จ๊ะเอ๋ ซ่อนอยู่ตรงนี้นี่เอง! คุณภาพเสียงก็ค่อนข้างน่าผิดหวังครับ เบสหายไปหมดเลย ถ้าต้องการฟังเพลงจริงจังควรต่อลำโพงแยก/ใช้หูฟังเลยดีกว่า
ตัวบานพับนั้นกางได้ประมาณ 135 องศา และถึงแม้ว่าจะได้รับการปรับปรุงจาก Edge 13 เมื่อปีก่อนแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากมันไม่ได้ทำจากเหล็กกล้า เมื่อต้องไปอยู่ในสถานที่ที่มีการสั่นไหวอย่างรถไฟฟ้า ตัวจอก็ยังคงสั่นอยู่ดี สำหรับจอภาพนั้น รุ่นที่นำมาขายในไทยเป็นจอกระจก ถ้าใช้ในอาคารก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเอาไปสู้กับท้องฟ้าขาวๆ ก็จบข่าวทันที
คีย์บอร์ดเป็นแบบกันน้ำหกใส่เล็กน้อย ไม่มีรูให้ระบายออกด้านล่าง สำหรับที่ขัดใจอีกจุดคือ ปุ่ม Delete นั้นไม่ได้อยู่ข้างนอกสุด แถมยังมีขนาดเท่ากับปุ่มรอบข้างอีกด้วย (น่าจะใช้รูปแบบการจัดวางคีย์บอร์ดแบบ Edge E125) ถึงอย่างไรก็ดี ในรุ่นนี้ไม่ได้ตัดปุ่ม Insert ทิ้งไปไหนครับ
นอกจากนี้ ตระกูล Edge ยังคงความดั้งเดิมของคีย์บอร์ดที่ปุ่ม Ctrl อยู่ทางด้านในครับ แต่ด้านบนนั้นกลับเอาปุ่ม F1-F12 หลบเข้าไปด้านใน แล้วเอาปุ่มควบคุมต่างๆ (เพิ่มลดเสียง, ความสว่างหน้าจอ ฯลฯ) ออกมาแทน ซึ่งแน่นอนว่า ทั้ง 2 อย่างนี้สามารถปรับได้ในไบออสครับ
อีกเรื่องที่หลายๆ คนน่าจะสงสัยก็คือ จะสกรีนโลโก้ ThinkLight มาทำไมในเมื่อรุ่นนี้ไม่ได้ใส่หลอดไฟมาให้ ผมสอบถามแล้วพบว่าเป็นเหตุผลด้านการลดต้นทุนการผลิตครับ แต่ก็ไม่แน่ว่ารุ่นหน้าอาจจะใส่คีย์บอร์ดมีไฟเหมือนอย่าง X1 มาให้ก็ได้
ส่วนตัว touchpad นั้นก็เปลี่ยนเป็น ClickPad ผิวขรุขระไปแล้ว ทำให้มันสามารถใช้ลูกเล่นอย่าง multi-touch ได้ ส่วนด้านการใช้งานนั้น ยังไม่กลมกล่อมเหมือนสัมผัสของทาง MacBook แต่ก็ใช้งานได้ดีในระดับหนึ่งครับ (คาดว่าหลายคนแถวนี้คงไม่สนเท่าไหร่ เพราะใช้ TrackPoint มากกว่า)
ท้ายสุดคือน้ำหนักขนาด 1.6 kg ของมันนั้น อาจดูเยอะไปซักนิดเมื่อเทียบกับอุปกรณ์พกพาอื่นๆ (มือถือ, แทบเล็ต, เน็ตบุ๊ค) แต่ถ้าเทียบในหมู่โน้ตบุ๊คด้วยกันแล้ว ก็ถือว่าทำได้คุ้มค่าสมราคาเลย
แกะเครื่อง
ด้านหลังของเครื่องนั้นเป็นฝาใหญ่ๆ ที่ขันน๊อต 3 ไว้ตัวเพียงแค่ฝาเดียว ที่ชอบมากๆ คือเครื่องทั้งเครื่องสามารถแกะออกได้ง่ายๆ โดยใช้ไขควงขนาดเล็กเพียงขนาดเดียวเท่านั้นแกะออกมาแล้วด้านบนจะพบที่ระบายความร้อนอันใหญ่ ถัดมาด้านขวาเป็นช่องใส่แรม 2 ช่อง (ใส่มาให้แล้ว 2GB) ต่อด้วย Ericsson F5521gw ที่รองรับการเชื่อมต่อ 3G เลื่อนลงมาด้านล่างเป็นฮาร์ดดิสก์ขนาด 320GB และวนกลับไปทางซ้ายจะเจอ Intel WiFi Link 1000 bgn ครับ
แกะเรียบร้อยแล้วก็ถือโอกาสเพิ่มแรมเลยละกัน
ซอฟต์แวร์
น่าเสียดายที่ ThinkPad Edge แทบทุกรุ่นที่ขายในไทยไม่แถม Windows มาให้ด้วย (เพื่อกดราคาให้ต่ำสุด?) ผมเลยไปขุด Windows 7 มาลงเพื่อทดสอบคะแนน Windows Experience Index ครับ
บอกไว้ก่อนว่าคะแนนแรมที่เห็นนั้น เป็นตอนที่ผมได้เพิ่มมันเป็น 4GB แล้วนะครับ
สำหรับคนที่สงสัยว่า การ์ดจอออนบอร์ดของ Intel นั้น มันจะไหวเหรอ ก็ขอตอบว่าสามารถเล่นเกม Portal ที่เพิ่งเปิดให้โหลดฟรีได้ลื่นดี ไม่มีกระตุกครับ
ด้านแบตเตอรี่ ผมทดลองใช้งานแบบกึ่งกลางกึ่งหนัก คือปรับเป็นโหมด high performance แล้วเปิดไวร์เลสตลอดเวลาเพื่อเล่นเกมบน Facebook สลับกับเพลงใน YouTube ไปเรื่อยๆ อายุการใช้งานออกมาที่ประมาณ 4 ชั่วโมงครับ ส่วนการใช้งาน Ubuntu นั้น ต้องบอกว่าน่าประทับใจมาก เพราะเห็นไดรเวอร์ครบทุกอย่างเลย สามารถใช้งานไวเลสและ 3G ได้ทันทีจาก Live DVD ครับ
ทดลองต่อจอ 2 ผ่านพอร์ต HDMI ราบรื่นดี ไม่มีปัญหา ถ้า ต่ออย่างเดียวไม่ไปยุ่งกับระบบครับ ถึงจะต่อจอได้ แต่โดยส่วนตัวก็ยังคิดว่า Unity ยังไม่พร้อมสำหรับ 2 จอเท่าไหร่ สังเกตได้จาก Workspace Switcher ที่แสดงจอย่อยๆ ถึง 8 จอ (Workspace ละ 2 จอ) ก็ดูน่าเวียนหัวไม่น้อย หรือแถบ Unity Launcher ที่สามารถเรียกได้จากด้านซ้ายสุดของจอซ้ายสุดเท่านั้นอีก
นอกจากนี้ ถ้าเข้าไปยุ่งกับการจัดตำแหน่งหน้าจอที่สองแล้ว ก็อาจพบกับปัญหา Docky ลอยบ้าง หรือบางทีจอใดจอหนึ่งก็ไม่สามารถแสดงผลได้เลย ส่วนด้านการเล่นไฟล์ 1080p นั้น พบว่า Ubuntu ทำได้ไม่ดีเลยครับ วีดีโอบน YouTube ยังกระตุกเบาๆ ให้พอดูรู้เรื่องอยู่บ้าง แต่พอเป็นไฟล์ MKV นั้นก็จอดสนิทเล่นไม่ได้เลย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะหมดไปเมื่อใช้เล่น Linux Mint 11 เล่นครับ
สรุป
สั้นๆ ครับ มันคือ ThinkPad X1 เวอร์ชันราคาถูกที่ตัดลูกเล่นต่างๆ ออกไปนั่นเอง
ชอบ
- หน่วยประมวลผลทรงพลัง
- สัมผัสคีย์บอร์ด
- อายุแบตเตอรี่
- พอร์ต VGA และ e-SATA
- ไม่มี Fingerprint Reader - ไฟไม่ดูด
ไม่ชอบ
- ไม่แถม Windows มาให้
- ตำแหน่งปุ่ม delete
- ลำโพงทำเบสหาย
- จอกระจก (รุ่นขายในไทย)
- ไม่มีพอร์ต USB 3.0
ข้อมูลเชิงเทคนิค
- รหัสรุ่น: 1298RZ2
- ราคา: 23,900 บาท
- หน่วยประมวลผล: Intel Core i3 รุ่นที่ 2 รหัส 2330M ความเร็ว 2.20 GHz แคช L3 ขนาด 3 MB
- ชิปเซ็ต: Mobile Intel HM65 Express Chipset
- กราฟฟิกการ์ด: Intel HD Graphics 3000
- จอแสดงผล: 13.3" แบบ WXGA ความละเอียด 1366x768 ระบบหลอดไฟแบบ LED จอกระจก
- แรม: 2GB แบบ DDR3 ความเร็วบัส 1333
- ฮาร์ดดิสก์: 320GB ความเร็ว 5400 รอบต่อนาที
ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ
By: neizod