อย่าเพิ่งผิดหวังกับ iPhone 4S

อย่าเพิ่งผิดหวังกับ iPhone 4S

อย่าเพิ่งผิดหวังกับ iPhone 4S
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย่าเพิ่งผิดหวังกับ iPhone 4S

หลังงานแถลงข่าว iPhone เมื่อคืนที่ผ่านมา หลายคนที่คาดหวังว่าแอปเปิลจะเปิดตัว iPhone 5 ที่มีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ตามธรรมเนียม อาจจะรู้สึกผิดหวังเมื่อแอปเปิลเปิดตัวแค่ iPhone 4S ที่เป็นรุ่นอัพเกรดเล็กเท่านั้นแต่ถ้าเราพิจารณาสิ่งที่แอปเปิลแถลงให้มากขึ้น ก็จะเห็นว่ามีประเด็นที่น่าสนใจหลายอย่าง มากกว่าการเปิดตัว "ฮาร์ดแวร์สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่" เพียงอย่างเดียว


แอปเปิลเปิดตัวอะไรบ้าง?

ถ้าไม่นับการประกาศความสำเร็จต่างๆ และไม่สนใจ iPod nano/touch รุ่นใหม่ มุ่งเป้ามาสนใจเพียงสิ่งที่เกี่ยวข้องกับ iPhone เท่านั้น สิ่งที่แสดงนัยยะได้ดีที่สุดคือ press release อย่างเป็นทางการของแอปเปิล ซึ่งเขียนชื่อเรื่องว่า...

Apple Launches iPhone 4S, iOS 5 & iCloud

ส่วนคำกล่าวของ Phil Schiller ใน press ก็เขียนไว้ว่า (ดูที่เน้นตัวหนา)

iPhone 4S plus iOS 5 plus iCloud is a breakthrough combination that makes the iPhone 4S the best iPhone ever,” said Philip Schiller, Apple’s senior vice president of Worldwide Product Marketing. “While our competitors try to imitate iPhone with a checklist of features, only iPhone can deliver these breakthrough innovations that work seamlessly together.

ใช่แล้วครับ แอปเปิลไม่ได้เปิดตัว iPhone 4S เพียงอย่างเดียว แต่เราต้องมองว่ามันมาเป็นแพ็กสามคือ ฮาร์ดแวร์ iPhone 4S ซอฟต์แวร์ iOS 5 และบริการออนไลน์ iCloud

เพียงแต่ว่าแอปเปิลเปิดตัวสองอย่างหลัง iOS 5 กับ iCloud ไปแล้วเมื่อกลางปีก่อน ทำให้งานรอบนี้ลดความตื่นเต้นลงไปบ้าง แต่คนที่วิจารณ์ iPhone 4S ว่า "14 เดือนทำได้แค่นี้" ก็อาจจะไม่ถูกนักเช่นกัน เพราะการแถลงข่าวในปีนี้แบ่งเป็นสองรอบนั่นเอง (ถ้าเมื่อคืนแอปเปิลแถลงพร้อมกัน 3 อย่างเลย ปฏิกิริยาก็คงออกมาอีกแบบ)

ถ้าเข้าใจแบบนี้ตรงกันแล้ว ทีนี้เรามาดู "ชิ้นส่วน" แต่ละอย่างว่ามีรายละเอียดอย่างไรกันบ้าง

ฮาร์ดแวร์ iPhone 4S

ในเว็บของแอปเปิลเขียนไว้ชัดเจนว่า iPhone 4S คือ "Picking up where amazing left off" ซึ่งเป็นการบอกใบ้กลายๆ ว่า iPhone 4 = amazing นั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงจาก iPhone 4S จาก iPhone 4 เดิม ได้แก่

  • เปลี่ยนซีพียู จาก A4 มาใช้ A5
  • ปรับปรุงกล้อง จากเดิม 5MP มาเป็น 8MP
  • พัฒนาการถ่ายวิดีโอ จากเดิม 720p เป็น 1080p
  • รวมรุ่นย่อย GSM/CDMA มาเป็นรุ่นเดียวกัน (world phone)
  • ปรับปรุงอายุการใช้งานแบตเตอรี่
  • เพิ่มฟีเจอร์สั่งงานด้วยเสียง Siri (ซึ่งจะมีเฉพาะ iPhone 4S เท่านั้น)

การเปลี่ยนแปลงในเชิงฮาร์ดแวร์มีไม่มากนักจริงๆ จุดที่เปลี่ยนแบบเห็นชัดๆ คงเป็นซีพียูกับกล้องเท่านั้น เรื่อง GSM/CDMA เป็นการปรับปรุงที่ดีทั้งในแง่ผู้ใช้ (ไปใช้ประเทศไหนก็ได้) และตัวแอปเปิลเอง (สต๊อกของรุ่นเดียว) แต่คงมีคนจำนวนไม่มากนักที่จะได้ใช้ฟีเจอร์นี้ และมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรนัก (มือถือคู่แข่งทำมาก่อนแล้ว เช่น Droid 2 Global)

แต่ถ้าพิจารณากันละเอียดๆ ฟีเจอร์ทางฮาร์ดแวร์ที่เพิ่มเข้ามา กลับเป็นฟีเจอร์ระดับ "สำคัญและจำเป็น" ต่อการใช้งานสมาร์ทโฟนในยุคใหม่เลย

  • ซีพียูเร็วขึ้น ประสิทธิภาพกราฟิกดีขึ้น อันนี้ใครๆ ก็ชอบอยู่แล้ว แถมเป็นการปรับให้แพลตฟอร์ม iPhone ขึ้นมาเท่ากับ iPad ในแง่พลังของการประมวลผล
  • กล้องดีขึ้น ในยุคสมัยที่การถ่ายภาพด้วยสมาร์ทโฟนกลายเป็นเรื่องปกติ กล้องดีขึ้นย่อมมีประโยชน์มากขึ้นมาก นอกจากความละเอียดสูงขึ้นตามสเปกแล้ว แอปเปิลยังปรับปรุงคุณภาพของเซ็นเซอร์ และความเร็วในการทำงานของกล้องด้วย
  • แบตเตอรี่ เรื่องแบตยังเป็นสิ่งที่ iPhone เหนือกว่า Android อยู่ (เพราะการปรับแต่งประสิทธิภาพที่ดี) และในรอบของ iPhone 4S ก็พัฒนาไปอีกขั้น
  • เสาอากาศ แอปเปิลบอกว่าปรับปรุงให้สลับจุดส่งสัญญาณได้อัตโนมัติ อันนี้ถึงแม้จะเป็นการยอมรับกลายๆ ว่าแก้ปัญหาใน iPhone 4 แล้ว ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดีเช่นกัน

แน่นอนว่ามีหลายๆ อย่างที่ยังสามารถปรับปรุงได้อีก แต่เราก็ไม่เห็นมันใน iPhone 4S อาจจะด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยี ธุรกิจ หรือยุทธศาสตร์ของแอปเปิล เช่น

  • ดีไซน์ใหม่ - คงต่างจากนี้ได้ไม่มากนัก เหตุผลในการเลือกทำหน้าตาเหมือนเดิม อาจเป็นเรื่องความเข้ากันได้ของอุปกรณ์เสริมด้วย และอาจเป็นเรื่องจิตวิทยาด้วย เพราะสเปกฮาร์ดแวร์ภายในเปลี่ยนไม่เยอะ ถ้าใช้ดีไซน์เดิมคนจะได้ไม่คาดหวังมาก
  • ความละเอียดหน้าจอยังเท่าเดิม - ตรงนี้อาจต้องการรักษาเรื่อง fragmentation เอาไว้ไม่ให้เกิด
  • ยังไม่รองรับ LTE - แอปเปิลอธิบายใน keynote ว่าต่อให้ไม่มี LTE ก็ยังเร็วเท่าๆ กับมือถือคู่แข่งที่แปะท้ายด้วย 4G (เอาจริงแล้ว คนที่จะได้ใช้ LTE ในโลกนี้ก็ยังมีไม่เยอะเท่าไร อาจไม่ใช่ข้อด้อยที่สำคัญนัก)
  • ไม่มีช่องเสียบหน่วยความจำภายนอก - คงเป็นนโยบายของแอปเปิลอยู่แล้ว
  • ยังไม่รองรับ NFC - ที่ผ่านมาแอปเปิลก็ยังไม่เคยออกมาสนับสนุน NFC เต็มตัวสักครั้ง คงจับยุทธศาสตร์เดิมคือรอไปก่อน ถ้ากระแสติดแล้วค่อยทำ (เหมือนตอน iPhone รุ่นแรกก็ยังไม่มี 3G)

สรุปโดยรวมแล้ว ในเรื่องฮาร์ดแวร์ iPhone 4S ไม่มีนวัตกรรมพลิกโลกให้เห็น แต่ก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้นในหลายๆ จุด แถมเป็นเรื่องที่สำคัญต่อการใช้งานในชีวิตประจำวันด้วย

ซอฟต์แวร์ iOS 5

สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ iOS 5 ที่เปิดตัวไปตั้งแต่งาน WWDC

ถ้าเราไม่สนเรื่องความเก่าใหม่ในการเปิดตัว iOS 5 พัฒนาจาก iOS 4 เยอะมาก โดยเฉพาะส่วนของตัวแกนระบบปฏิบัติการที่เป็นจุดอ่อนมานาน อย่างเรื่อง notification ที่ปรับปรุงให้สู้กับคู่แข่งได้แล้ว (สักที) และการคิดใหม่ทำใหม่ เลิกพึ่งพิงการเชื่อมต่อกับ iTunes ที่เริ่มล้าสมัย หันมาเชื่อมต่อตรงกับอินเทอร์เน็ตแทน

นอกจากนี้ยังมีแอพและความสามารถในระดับแอพพลิเคชันอื่นๆ เช่น iMessage (ออกมาสู้กับ BBM), Newsstand (ออกมาเกาะกระแสอีบุ๊ก) หรือ Twitter ในตัว ในงานรอบนี้ยังเปิดตัวฟีเจอร์ย่อยอื่นๆ อย่าง Cards และแท็บใน Safari อีกด้วย

ฟีเจอร์ใหญ่ที่เปิดตัวในงานรอบนี้คงหนีไม่พ้น Siri ที่ช่วยสั่งงานด้วยเสียง ในแง่ความสามารถอาจไม่ใช่ของใหม่ 100% (สาวกอย่าหลงเข้าใจกันผิด) เพราะ Voice Actions ของกูเกิลทำได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เพียงแต่ความเป็นแอปเปิลทำให้รูปแบบการนำเสนอของ Siri มีความแตกต่างออกไป และดูเป็นมิตรกว่า Voice Actions เยอะ

Siri จะดี-แย่แค่ไหน ต้องรอทดลองใช้กันจริงๆ (แถมคนไทยก็มีปัญหากับการสั่งงานด้วยเสียงภาษาอังกฤษแน่นอน) แถม Siri ยังใช้ได้เฉพาะบน iPhone 4S เท่านั้น จึงทำให้กลุ่มคนที่ได้ใช้ยังมีไม่เยอะนักในช่วงแรก อันนี้ถือว่าน่าผิดหวังเช่นกัน (แอปเปิลไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมมีเฉพาะ iPhone 4S แต่คาดว่าเป็นเรื่องพลังประมวลผลของซีพียูด้วยส่วนหนึ่ง)

โดยรวมแล้ว iOS 5 ถือเป็นพัฒนาการที่ดีมากของ iOS ในการตามคู่แข่งให้ทันในหลายๆ จุด ไม่ว่าจะเป็น notification หรือ voice recognition และปรับปรุงฟีเจอร์ของระบบปฏิบัติการให้สมบูรณ์มากขึ้นในหลายจุด

ผมคิดว่า iOS 5 เป็นก้าวสำคัญของแพลตฟอร์ม iOS เฉกเช่นเดียวกับ iPhone 4 (ไม่ใช่ 4S) เป็นก้าวที่สำคัญของฮาร์ดแวร์สาย iPhone ดังนั้นใน iOS รุ่นหน้า เราอาจไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระดับเดียวกันนี้อีก

บริการออนไลน์ iCloud

iCloud เปิดตัวไปเมื่อกลางปีแล้วเช่นกัน รอบนี้ไม่มีอะไรใหม่จากเดิม แต่ยุทธศาสตร์ในภาพรวม มันคือการ "สร้างฐาน" ของแอปเปิลในโลกอินเทอร์เน็ต

ในกลุ่ม 3 ก๊กที่ เคยนำเสนอไปหลายรอบ จุดอ่อนสำคัญที่สุดของแอปเปิลคือ "ออนไลน์" เพราะแอปเปิลมีรากเหง้ามาจากบริษัทฮาร์ดแวร์ (เลยทำฮาร์ดแวร์ได้ดี แต่บริการออนไลน์ยังขาด) ในขณะที่กูเกิลมาจากบริษัทออนไลน์ จึงไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ ส่วนไมโครซอฟท์ถึงแม้จะไม่มีรากเหง้ามาจากออนไลน์เช่นกัน แต่ก็ลงทุนใน Bing และ Windows Live ไปมากในรอบสิบปีที่ผ่านมา

iCloud จึงเป็นความพยายามของแอปเปิลในการขึ้นมาตีเสมอคู่แข่งทั้งสอง เป็นการนำไอเดียหลายๆ อย่างใน Mobile Me ที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไรนักมาปรับปรุงใหม่อีกครั้ง ในภาพรวมมันจะช่วยให้แอปเปิลพร้อมจะแข่งขันมากขึ้นในระยะยาว ส่วนในระยะสั้นคงยังสู้คู่แข่งทั้งสองไม่ได้ แต่ก็ช่วยให้ผู้ใช้สะดวกมากขึ้นในหลายด้าน (แถมแอปเปิลได้ตังค์ด้วยเพราะคิดเงิน ในขณะที่กูเกิลกับไมโครซอฟท์ไม่คิดเงิน)

ช่องทางการขาย-สายผลิตภัณฑ์

ประเด็นเล็กๆ อีกสองประการที่ไม่ควรมองข้ามไป คือ ช่องทางการขาย และสายผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล หลังประกาศ iPhone 4S

อย่างแรกคือช่องทางการขาย iPhone 4S ในสหรัฐอเมริกา เพิ่มจำนวนโอเปอเรเตอร์เข้ามาอีกหนึ่งคือ Sprint ทำให้ตอนนี้แอปเปิลมี iPhone ขายกับ 3 ใน 4 เครือข่ายใหญ่ของสหรัฐแล้ว (AT&T, Verizon, Sprint) ขาดแต่เพียง T-Mobile รายเดียวเท่านั้น ตรงนี้ไม่มีผลมากต่อบ้านเรา แต่ในสหรัฐที่เป็นตลาดหลักของแอปเปิลและพึ่งพิงการขายผ่านโอเปอเรเตอร์ เรื่องนี้มีผลมาก และจะทำให้ iPhone 4S ขายดีมากขึ้นไปอีก

อย่างที่สองคือสายผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล อยากให้ดูรูปนี้ครับ (รูปจากเว็บแอปเปิล หน้า Compare iPhone models)

iPhone lineups

นี่เป็นครั้งแรกที่แอปเปิลมี iPhone ขายพร้อมกันถึง 3 รุ่น! ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การออก iPhone รุ่นใหม่ราคาถูกมาทำตลาดโดยตรง แต่สังเกตว่าแอปเปิลเริ่มอุดช่องว่างเรื่องราคา โดยนำ iPhone รุ่นเก่ามาลดราคาขายแทน

ยุทธศาสตร์นี้เริ่มใช้มาตั้งแต่ปีก่อน โดยลดราคา iPhone 3GS ลง ในรอบนี้แอปเปิลทำแบบเดียวกันกับ iPhone 4 แต่กลับไม่ได้ตัด iPhone 3GS ออกไปจากสารบบ

ยุทธศาสตร์นี้มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีคือไม่ต้องแตกสายผลิตภัณฑ์ใหม่ ลดปัญหาเรื่อง fragmentation และบริการหลังขายไปได้มาก ส่วนข้อเสียคือลูกค้าจะรู้สึกว่าใช้ iPhone ตกรุ่น ซึ่งตรงนี้แก้ปัญหาด้วย "ราคา" นั่นเอง

สรุป

  • ฐานเดิมของ iPhone 4 ทำมาดีอยู่แล้ว ยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมาชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน รอบนี้เป็นการพัฒนาประสบการณ์ของ iPhone ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
  • ต้องมองผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นองค์รวม คือ iPhone 4S + iOS 5/Siri + iCloud
  • อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวของใหม่น้อยลง ย่อมเป็นโอกาสทองของคู่แข่งที่จะไล่กวด-แซงหน้าให้ได้ รายที่ต้องจับตาในระยะอันใกล้คือ Google Nexus รุ่นหน้า และ Nokia Windows Phone

ผมคิดว่าการเปิดตัว iPhone 4S ลักษณะนี้ จะทำให้รอบของ iPhone 5 (ซึ่งไม่ว่าจะยังไง ก็ต้องมีแน่ๆ) จะออกมาเร็วกว่าเดิม น่าจะกลับมาใช้รอบเดือนมิถุนายนเหมือนเดิม ทำให้ระยะระหว่าง iPhone 4S > iPhone 5 ลดลงมาอีกสักหน่อย ชดเชยกับรอบของ iPhone 4 > 4S ที่ยาวเกินปกติมาบ้าง (แต่นี่คือการคาดการณ์ของผมคนเดียวนะครับ)

ฟันธงสำหรับลูกค้าคนไทย

มี iPhone 4 อยู่แล้ว และคิดจะใช้ iPhone ต่อไป

สองทางเลือก

  • ถ้าเห็นว่า iPhone 4S ดีพอ ก็รอ iPhone 4S ซึ่งคงเข้ามาขายอย่างเป็นทางการในอีกไม่นานนัก (น่าจะเร็วกว่ารอบ iPhone 4 เยอะ)
  • ถ้าคิดว่าไม่จำเป็น เปลี่ยนรุ่นไปก็เปลืองเงินเปล่าๆ ก็ข้ามรุ่นนี้ไปได้เลย เหมือนกับ iPhone/iPhone 3G/iPhone 3GS

ยังไม่มี iPhone 4 และอยากจะซื้อ iPhone เป็นเครื่องถัดไป

สองทางเลือกเช่นกัน

  • รอ iPhone 4S เข้ามาขาย ซึ่งราคาน่าจะเท่ากับ iPhone 4 ปัจจุบัน
  • ซื้อ iPhone 4 ทันที แต่ซื้อในราคาที่ลดลงจากราคาปัจจุบัน เช่น ซื้อต่อคนอื่น

ผมคิดว่าการซื้อ iPhone 4 ราคาเต็มในตอนนี้คงจะไม่คุ้มแล้ว แต่ถ้าพิจารณาแล้วคิดว่าเหมาะก็ขึ้นกับวิจารณญาณครับ

คิดจะซื้อสมาร์ทโฟน แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะซื้ออะไร

  • รองานแถลงข่าวของกูเกิลสัปดาห์หน้า แล้วว่ากันอีกที

 

ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ
By: mk

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook