รู้จัก LEED และ WELL มาตรฐานสถาปัตยกรรมที่ต่อสู้กับมลภาวะในเมือง และสร้างอากาศบริสุทธิ์
จากวิกฤตมลพิษฝุ่นละอองอนุภาคขนาดเล็ก ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่ปกคลุมทั่วกรุงเทพฯ และหลายจังหวัดในประเทศไทย ส่งผลให้คนไทยใส่ใจต่อความสำคัญของอากาศบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นอย่างมาก การแก้ไขในระยะยาวเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน จึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนควรร่วมกันดำเนินการ
จากผลสำรวจชาวออฟฟิศเมืองกรุง เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าคุณภาพอากาศในอาคารที่ย่ำแย่คือปัจจัยหลักที่เหล่าพนักงานออฟฟิศกังวลมากที่สุดเพราะพนักงานออฟฟิศในกรุงเทพฯ กว่า 90% ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในอาคาร ดังนั้นอาคารจึงต้องมีสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาวะที่ดีและเอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในประเทศไทยจึงหันมาใส่ใจการสร้างสถาปัตยกรรมยั่งยืนและอาคารสีเขียว ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารระดับสากล อย่าง LEED และ WELL มากขึ้น เป็นการมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต ที่มาพร้อมกับอากาศที่บริสุทธิ์ในอาคารนั่นเอง แต่ก่อนอื่นมาทำความรู้จักมาตรฐาน LEED และ WELL คืออะไร
LEED และ WELL มาตรฐานอาคารที่ใส่ใจผู้คนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
มาตรฐานอาคาร LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) คือมาตรฐานอาคารสีเขียวที่ได้รับ
การยอมรับระดับสากลและนิยมไปทั่วโลก เป็นมาตรฐานที่มุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์อย่างยั่งยืน ตั้งแต่
ต้นน้ำยันปลายน้ำ เช่น การใช้นวัตกรรมวัสดุก่อสร้างซึ่งเน้นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน การลดการปล่อยมลภาวะ และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สอดคล้องกับบริบททางสังคมปัจจุบันที่หลายบริษัทต่างกำลังมองหาพื้นที่สำนักงานระดับคุณภาพ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตในองค์กร และยกระดับคุณภาพชีวิตของบุคลากรให้สูงขึ้น
มาตรฐานอาคาร WELL บุกเบิกวงการสถาปัตยกรรมด้วยการเป็นมาตรฐานอาคารที่มอบคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้นให้ผู้ใช้อาคาร ด้วยการปฏิวัติแนวคิดและการออกแบบอาคารสมัยใหม่เต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้วัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงระบบระบายอากาศและแสงสว่าง เน้นบูรณาการแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในการก่อสร้างและการออกแบบ เข้ากับการวิจัยทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของผู้คน ข้อมูลของ Global Wellness Institute (GWI) เมื่อปี พ.ศ. 2560 เปิดเผยว่าในภาพรวมทั่วโลก พื้นที่ของโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนกับ WELL แล้วนั้นมีมากกว่า 224 ล้านตารางฟุต สะท้อนถึงกระแสสุขภาพที่กำลังมาแรงอย่างต่อเนื่องในระดับสากล
มาตรฐาน WELL ได้รับการรับรองจากสถาบันระดับสากล International Well Building Institute (IWBI) ส่วนมาตรฐาน LEED นั้นได้รับการรับรองโดยสภาอาคารเขียวแห่งสหรัฐอเมริกา (US Green Building Council) ซึ่งทั้งสองมาตรฐานนั้นมีหลายระดับ โดยข้อมูลจาก GBIG เผยว่ามีอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยเพียง 20 โครงการเท่านั้นที่ได้รับการรับรองระดับสูงสุด LEED Platinum แม้ว่าจะยังมีไม่มาก แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา การยื่น
จดทะเบียนอาคารที่ได้การรับรองมาตรฐาน LEED ในไทยนั้นพุ่งสูงขึ้นถึง 70% เลยทีเดียว
ความคืบหน้าของสถาปัตยกรรมสีเขียวในกรุงเทพฯ
โครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการรับรองทั้ง LEED และ WELL ในประเทศไทยนั้นไม่เพียงแค่ผลักดันมาตรฐานใหม่ในการใช้ชีวิตและการทำงานเท่านั้น แต่ยังโดดเด่นด้วยบริการสมาร์ทเซอร์วิสแบบครบวงจร เช่น บริการน้ำดื่มกรองที่สะอาดปลอดภัยในอาคาร มีแสงธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แสงสะท้อนต่ำช่วยลดความล้าของสายตา เสริมประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้น พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก บริการเพื่อสุขภาพต่างๆ ศูนย์อาหารที่มีตัวเลือกหลากหลาย สปาและยิม รวมไปถึงนิทรรศการศิลปะ และพื้นที่สีเขียวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ