Solar Rooftop ติดตั้งเองได้อย่างไร ช่วยประหยัดไฟได้เท่าไหร่

Solar Rooftop ติดตั้งเองได้อย่างไร ช่วยประหยัดไฟได้เท่าไหร่

Solar Rooftop ติดตั้งเองได้อย่างไร ช่วยประหยัดไฟได้เท่าไหร่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ต้องยอมรับว่าผู้คนหันมาให้ความสนใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งในแง่ของการใช้ชีวิตทั่วไปและนำมาประกอบอุตสาหกรรมต่าง ๆ หนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมคือการใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานสีเขียวอย่าง "พลังงานแสงอาทิตย์" ทำให้ Solar Rooftop ได้รับความสนใจมากขึ้นในปัจจุบัน และด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปมากทำให้ Solar Rooftop มีราคาไม่แพง และมีขั้นตอนการติดตั้งไม่ยุ่งยาก

ลองมาดูกันว่า Solar Rooftop นี้เป็นอย่างไร มีกี่ประเภท มีข้อดีอย่างไร และช่วยประหยัดค่าไฟได้เท่าไหร่

Solar Rooftop คือ

ระบบสร้างพลังงานแสงอาทิตย์ที่นำไปใช้เป็นพลังงานขับเคลื่อนระบบต่าง ๆ ภายในที่อยู่อาศัย อาคาร หรือโรงงานอุตสาหกรรม โดยใช้แทนพลังงานไฟฟ้า เพื่อช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยทั่วไปแล้ว ระบบสร้างพลังงานแสงอาทิตย์หรือ Solar Rooftop จะเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Current; DC) ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternate Current; AC) จากนั้นจะเชื่อมต่อระบบจำหน่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยพลังงานแสงอาทิตย์จาก Solar Rooftop จะนำไปขายหรือใช้แทนไฟฟ้าก็ได้ทั้งนั้น

Solar Rooftop มีกี่ประเภท

จริง ๆ แล้ว ประเภทของ Solar Rooftop จะแบ่งตามวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้งาน ผู้ที่สนใจติดตั้ง Solar Rooftop สามารถเลือกประเภทการติดตั้งที่เหมาะกับการความต้องการและความใช้งานได้ ดังนี้

1. Solar Rooftop สำหรับขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้า

การติดตั้ง Solar Rooftop ประเภทนี้จะติดตั้ง เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์และส่งขายให้กับการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยต้องติดตั้งมิเตอร์แยกจากมิเตอร์ที่ใช้วัดค่าไฟฟ้าทั่วไป ทั้งนี้ ราคาของหน่วยวัดค่าไฟก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐว่าต้องจ่ายเท่าไหร่ ที่สำคัญผู้ติดตั้ง Solar Rooftop สำหรับผลิตพลังงานและขายให้กับหน่วยงานดังกล่าวจำเป็นต้องทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร

2. Solar Rooftop สำหรับใช้เอง

หากคุณต้องการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อผลิตพลังงานไว้ใช้เองและลดค่าไฟนั้นก็ทำได้เช่นกัน โดยพลังงานแสงอาทิตย์จะช่วยทุ่นการใช้พลังงานไฟฟ้า กล่าวคือ เริ่มแรกระบบจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ช่วยขับเคลื่อนการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในที่อยู่อาศัยหรือโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อพลังงานแสงอาทิตย์ถูกนำมาใช้จนเกือบหมดแล้ว ระบบจะเปลี่ยนมาเชื่อมต่อและใช้พลังงานไฟฟ้าแทน ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ เพราะทำให้เราจำกัดการใช้ไฟฟ้าได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังแบ่งประเภท Solar Rooftop ตามที่ใช้งานในปัจจุบันได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. ระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบ On Grid

ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์แล้วแปลงกระแสไฟฟ้าตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับด้วยตัวอินเวอร์เตอร์ นิยมใช้ผลิตไฟฟ้าสำหรับนำไปขายให้กับการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จุดเด่นของระบบนี้จะใช้พลังงานจากแผงโซลาร์และการไฟฟ้าพร้อมกัน ทำให้หมดปัญหาเรื่องไฟตกหรือไฟกระชาก ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่ รวมทั้งใช้ได้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด

2. ระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Off Grid

ผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์ได้ต่างหาก โดยไม่ต้องอาศัยแหล่งกำเนิดไฟฟ้าจากการไฟฟ้า ทำให้ผลิตไฟฟ้าใช้ได้เอง ผู้ติดตั้ง Solar Rooftop ประเภทนี้จึงต้องเลือกโหลดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จะใช้ให้เหมาะสมกับแรงดัน

3. ระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Hybrid

ระบบนี้คือ Solar Rooftop ที่รวมเอาการทำงานแบบ On Grid และ Off Grid มารวมกัน โดยจะมีระบบแบตเตอรี่สำรองใช้งานเมื่อไม่มีแสงอาทิตย์หรือผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ไม่เพียงพอ

Solar Rooftop มีข้อดีอย่างไร

ปัจจุบันการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในไทยกำลังได้รับความนิยมและมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยพลังงานแสงอาทิตย์นับเป็นต้นกำเนิดของการพัฒนาพลังสีเขียวอย่างยั่งยืน โดยมีข้อดีดังนี้

1. ลดค่าใช้จ่าย Solar Rooftop ช่วยผลิตพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับนำไปใช้แทนไฟฟ้าได้ ซึ่งช่วยลดการใช้ไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้มากกว่าเดิม

2. อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ช่วยส่งเสริมเรื่องพลังงานสะอาดและการนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างยั่งยืน

3. ลดการก่อมลพิษ เมื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยลง จะช่วยลดระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้

4. ลดความร้อน Solar Rooftop ช่วยลดอุณหภูมิได้ประมาณ 10 องศาเซลเซียส

5. กระตุ้นการใช้พลังงานหมุนเวียน การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

6. สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ชาติ การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์มีส่วนช่วยในการลดหรือชะลอการสร้างโรงงานผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล โรงไฟฟ้าน้ำ และนิวเคลียร์ อันนำไปสู่การบรรเทาและประนีประนอมประเด็นความรุนแรงในสังคม

Solar Rooftop ช่วยประหยัดไฟได้เท่าไหร่

ขนาดของแผงโซลาร์ 120 X 60 เซนติเมตร จะมีพื้นที่ 0.72 ตารางเมตร และมีกำลังการผลิตแผงละ 102 วัตต์จะต้องใช้แผงทั้งสิ้นประมาณ 10 แผง ดังนั้น ทุก ๆ 1 กิโลวัตต์ของแผงโซลาร์ จะกินพื้นที่บนหลังคาเท่ากับ 7.2 ตารางเมตร

โดยทั่วไปแผงโซลาร์เซลล์จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ดีที่สุด คือ ช่วง 10.00-15.00 น. ซึ่งเท่ากับว่าช่วงเวลานั้นบ้านที่ติด Solar Rooftop จะได้ใช้ไฟฟรีทันทีโดยตรงผ่าน Inverter ยกตัวอย่าง

แผงขนาด 3 กิโลวัตต์ จะผลิตไฟฟ้าได้ 4,380 หน่วย/ปี ใช้พื้นที่ติดตั้งประมาณ 20-25 ตารางเมตร ใช้ได้กับ หลอดไฟ 14 วัตต์ 10 ดวง, โทรทัศน์ LED ขนาด 42 นิ้ว 3 เครื่อง, ตู้เย็น 15 คิว 2 เครื่อง, แอร์ 12,000 BTU 2 เครื่อง ช่วยประหยัดไฟได้ถึง 945,295 บาท ใน 25 ปี

แผงขนาด 5 กิโลวัตต์ จะผลิตไฟฟ้าได้ 7,300 หน่วย/ปี ใช้พื้นที่ติดตั้งประมาณ 35-40 ตารางเมตร ใช้ได้กับ หลอดไฟ 14 วัตต์ 20 ดวง, โทรทัศน์ LED ขนาด 42 นิ้ว 5 เครื่อง, ตู้เย็น 15 คิว 3 เครื่อง, แอร์ 12,000 BTU 4 เครื่อง ช่วยประหยัดไฟได้ถึง 1,575,491 บาท ใน 25 ปี

แผงขนาด 10 กิโลวัตต์ จะผลิตไฟฟ้าได้ 14,600 หน่วย/ปี ใช้พื้นที่ติดตั้งประมาณ 70-80 ตารางเมตร ใช้ได้กับ หลอดไฟ 14 วัตต์ 40 ดวง, โทรทัศน์ LED ขนาด 42 นิ้ว 6 เครื่อง, ตู้เย็น 15 คิว 3 เครื่อง, แอร์ 12,000 BTU 6 เครื่อง ช่วยประหยัดไฟได้ถึง 3,150,982 บาท ใน 25 ปี

(ข้อมูลจาก บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์)

Solar Rooftop ติดตั้งด้วยตัวเองอย่างไร

โดยทั่วไปแล้ว การติดตั้ง Solar Rooftop ทำได้กับหลังคาหรือกันสาดแทบทุกแบบ เพราะการถ่ายน้ำหนักของแผงโซลาร์บนหลังคาน้อยมาก ซึ่งจะถ่ายน้ำหนักลงบนหลังคาประมาณ 10-12 กิโลกรัม/ตารางเมตร ทั้งนี้ เจ้าของบ้านอาจคำนึงถึงปัจจัยอื่นประกอบ เพื่อปรึกษากับผู้ติดตั้งได้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัสดุหลังคา ขนาด อายุการใช้งาน และน้ำหนักที่รับได้ของประเภทหลังคาหรือกันสาดแต่ละประเภทว่ารับได้เท่าไหร่

เมื่อจะเริ่มติดตั้ง Solar Rooftop ลองมาทำความรู้จักอุปกรณ์ ข้อควรรู้ก่อนติดตั้ง ขั้นตอนติดตั้ง วิธีการดูแลรักษา ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

อุปกรณ์สำคัญของการติดตั้ง Solar Rooftop

ประกอบด้วย

- แผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Module)

- โครงรองรับแผง (Mounting Structure)

- ตู้ไฟฟ้า DC BOX และตู้ไฟ AC (MDB Solar to Main Owner)

- เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าแบบเชื่อมต่อระบบจำหน่าย (Grid-tie INVERTER)

ข้อควรรู้ก่อนติดตั้ง

- ควรเลือกบริเวณติดตั้งที่แสงเข้าถึงได้ ไม่ถูกเงาบัง

- ควรเลี่ยงติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาที่ทำจากไม้หรือหลังคาที่ไม่มีคุณสมบัติรองรับได้

- ควรเลี่ยงติดตั้ง Solar Rooftop บนหลังคาที่มีอายุการใช้งานนาน 10 ปี

- ควรเลือกแผงโซลาร์ที่มีการรับประกันคุณภาพนาน 10 ปี

- ควรเลือกโซลาร์อินเวอร์เตอร์ที่มีประกันคุณภาพนาน 5 ปี รวมทั้งมีตัวอินเวอร์เตอร์พร้อมเปลี่ยนให้ทันที

ขั้นตอนการติดตั้ง

- จัดเตรียมอุปกรณ์และโครงสร้างสำหรับยึดแผงโซลาร์ โดยเลือกวัสดุที่ทำจากโลหะ กันสนิม รวมทั้งรับน้ำหนักและทานแรงลมได้

- ดูค่าแรงดันไฟฟ้าวงจรเปิดและค่ากระแสไฟฟ้าลัดวงจรของแผงโซลาร์ทุกแผงก่อนติดตั้งและยึดแผงโซลาร์บนโครงสร้าง

- ค่อย ๆ ติดตั้งแผงโซลาร์ตามรายละเอียดในคู่มือ โดยนำหัวต่อต่อเข้ากับแผงโซลาร์

- ติดตั้งตู้รวมสายไฟกระแสตรง อินเวอร์เตอร์ และอุปกรณ์อื่น ๆ ตามคำแนะนำของผู้ผลิตและคู่มือ

- นำสายไฟของแผงโซลาร์มาไว้ที่ตู้รวมสายไฟกระแสตรงทีละวงจร จากนั้นจึงนำสายไฟไปเชื่อมกับแผงโซลาร์ เพื่อเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าและระบบผลิตพลังงานแสงอาทิตย์

- นำสายไฟที่เชื่อมไว้ตรงตู้รวมสายไฟกระแสตรงมาเชื่อมต่อกับอินเวอร์เตอร์

- นำสายไฟที่เชื่อมต่ออินเวอร์เตอร์มาที่เบรกเกอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ จากนั้นไล่ปิดวงจรระบบทีละชุดจนครบทุกเบรกกอร์

- ตรวจสอบระบบและค่าต่าง ๆ ให้เป็นไปตามคู่มือ

วิธีดูแลรักษา Solar Rooftop หลังติดตั้ง

- อ่านคู่มือการใช้งานและการทำความสะอาดแผงโซลาร์ให้ละเอียด

- หมั่นตรวจสอบแผงทำงานว่าเรียบร้อย อยู่ในสภาพสมบูรณ์หรือไม่ มีตรงไหนหลุดหรือเสียหายหรือไม่

- หมั่นตัดเล็มกิ่งไม้ไม่ให้เกยบน Solar Rooftop

- ใช้ผ้าสะอาดหรือโฟมชุบผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่ปราศจากสารเคมีกัดกร่อนโลหะ มาทำความสะอาดแผงโซลาร์บ้าง

การใช้พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานหมุนเวียนไม่เพียงช่วยลดค่าไฟฟ้าลดลง ซึ่งเป็นผลดีที่เราเห็นได้ชัดจากการติดตั้ง Solar Rooftop แต่ยังช่วยส่งเสริมทรัพยากรธรรมและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook