บูชาแม่นางกวัก กวักทรัพย์และโชคลาภ
หากเอ่ยชื่อ "นางกวัก" ไม่ว่าใครคงรู้จัก เรามักจะเห็นนางกวักนั้นอยู่ตามร้านค้าต่างๆ วางบนหิ้งอยู่หน้าร้าน หันหน้าของนางกวักออกหน้าร้าน เพราะจะได้เรียกลูกค้าและโชคลาภ เงินทองเข้ามาในร้าน นางกวักเรียกได้ว่าเป็นวัตถุมงคลชนิด เครื่องรางของขลังแบบหนึ่ง หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่มี นางกวักไว้คอยเรียกลูกค้าให้เข้าประตูมาจับจ่ายซื้อของ เรียกเงินทองเข้าร้าน
ตำนานนางกวักมีอยู่หลายตำนาน บางตำนานก็กล่าวว่านางกวักมีที่มาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของปู่เจ้าเขาเขียว ที่ไปอยู่กับนางศรีประจันต์ซึ่งเป็นหญิงที่น่ารังเกียจของชาวบ้าน (ตามตำนานไม่อ้างเหตุผลว่าทำไมจึงรังเกียจ) พอนางกวักไปอยู่ด้วยก็เริ่มมีคนนิยมชมชอบนางศรีประจันต์
ส่วนอีกตำนานหนึ่งเป็นคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา โดยนางกวัก มีชื่อจริงว่า “นางสุภาวดี” มี บิดาชื่อ สุจิตพราหมณ์ มีมารดาชื่อนาง สุมณฑา เกิดที่เมืองมัจฉิกาสัณฑ์ เป็นเมืองเล็ก ๆที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองสาวัตถี แห่งแคว้นโกศล ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย ต่อมาสุจิตตพราหมณ์ได้ขยายกิจการซื้อเกวียนมา 1 เล่ม นำสินค้าไปเร่ขายในต่างถิ่นและนางสุภาวดีบุตรสาวขออนุญาตเดินทางไปด้วย เพื่อเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ
ระหว่างทาง นางสุภาวดีได้มีโอกาสพบกับ พระมหากัสสปะเถระ และท่านได้โปรดแสดงธรรมให้นางฟัง หลังจากสุภาวดีฟังธรรมอย่างตั้งใจแล้ว พระมหากัสสปะได้กำหนดจิตซึ่งเป็นอำนาจจิตพระอรหันต์ ประสาทพรให้สุภาวดีและครอบครัวทำมาค้าขายดีและได้มีโอกาสฟังธรรมบ่อย ๆ
ต่อมาสุภาวดีได้เดินทางติดตามบิดาไปทำการค้าอีกเช่นเดิม ก็ได้มีโอกาสฟังธรรมจากพระอริยสงฆ์ผู้เป็นเอตทัคคะด้านมีลาภมากอย่าง “พระสิวลี” นางสุภาวดีก็ได้ฟังธรรมอย่างตั้งใจ สุภาวดีจึงมีความรู้แตกฉานในหลักธรรมต่างๆ เป็นอันมาก ทุกครั้งที่สุภาวดีได้ฟังธรรมและลากลับ พระสิวลีเถระเจ้าได้กำหนดกุศลจิต ประสาทพรให้สุภาวดีและครอบครัวให้เข้าถึงธรรมและอำนวยพรให้ค้าขายดีเช่นเดียวกัน เมื่อจิตที่สะอาดและมีพลังของนางสุภาวดีจึงได้รับประสาทพรจากพระอรหันต์ถึงสององค์ ส่งผลให้บิดาทำการค้าได้กำไรไม่เคยขาดทุน
สุจิตต์พราหมณ์ รู้ว่า นางสุภาวดีบุตรสาวคือผู้ฟังธรรมปฏิบัติธรรมและได้รับพรที่เป็นสิริมงคลที่แท้จริง อันเป็นที่ไหลมาแห่งทรัพย์สมบัติของครอบครัวจึงได้ฟังธรรมและปฏิบัติธรรมตาม ครอบครัวจึงร่ำรวยขึ้นเป็นมหาเศรษฐีมีเงินทองและกองเกวียนสินค้ามากมาย เทียบได้กับ “ธนัญชัยเศรษฐี” บิดาของนางวิสาขามหาอุบาสิกา ผู้เป็นฝ่ายทายิกา ( ถวายทานฝ่ายหญิง ส่วนฝ่ายชายคือ อนาถบิณฑิกเศรษฐี)
เมื่อนางสุภาวดีสิ้นชีวิตแล้ว ชาวบ้านจึงปั้นรูปแม่นางสุภาวดีไว้บูชา ขอให้การค้ารุ่งเรือง และความเชื่อดังกล่าวนี้ ก็แพร่หลายเข้ามายังประเทศไทยจากการเผยแพร่ของพราหมณ์ และยังคงเป็นความเชื่อที่สืบมาจนถึงทุกวันนี้ การบูชานางกวักให้ดีก็คือต้องปฏิบัติบูชาเช่นเดียวกับนาง คือ ค้าขายอย่างสุจริตและฟังธรรมปฏิบัติธรรมตามโอกาสเสมอ ส่วนการนำนางกวักมาจัดวางในบ้านหรือร้านค้า ควรนำไปวางอยู่บนหิ้งที่อยู่หน้าร้าน ให้หันหน้าของนางกวักออกหน้าร้านจะได้เรียกลูกค้าและโชคลาภเงินทองเข้ามาได้สะดวก หรือไม่ก็ตั้งหิ้งไว้ด้านขวาของประตูให้มือของนางกวักอยู่ใกล้ประตูมากที่สุด แต่ต้องต่ำกว่าหิ้งพระ และห้ามตั้งไว้ในที่ต่ำหรือใต้ที่ของต่ำจะผ่านได้เช่น ใต้บันได หน้าห้องน้ำ
การบูชาด้วยวัตถุควรใช้ ผลไม้ ดอกไม้สีแดง เครื่องคาวหวานตามกำลัง จากนั้นให้ ท่องคาถาบูชา นางกวักด้วยจิตที่สงบว่า ตั้งนะโม 3 จบ
“โอม มหาสิทธิโชคอุดม โอม ปู่เจ้าเขาเขียวมีลูกสาวคนเดียว ชื่อว่าแม่นางกวัก หญิงเห็นหญิงรัก ชายเห็นชายรัก อยู่ทุกถ้วนหน้า เอหิมามะมะ อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ เอหิมามะมะ จะค้าขายก็ขอให้เป็นเศรษฐี หนึ่งปีให้เป็นพ่อค้าสำเภาทอง จะค้าเงินขอให้เงินเข้ามากอง จะค้าทองขอให้ไหลมาเทมาเต็มบ้านเต็มเรือน จะค้าขายสิ่งหนึ่งประการใด ขอให้ซื้อง่ายขายคล่อง ขอให้ซื้อง่ายขายดี ขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี
อาคัจเฉยยะ อาคัจฉาหิ เอหิมามะมะ นะมะอะอุ นะชาลีติ อิกะวิติ พุทธะสังมิ ทุสะมะนิ อิธะคะมะ จะพะกะสะ นาสังสิโม สุมะโมโล นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ นะเมตตา โมขายดี พุทธไม่ต่อ ธาซื้อดี ยะใจดี มิใจอ่อน รักพุทโธ ปฏิรูปัง สัมปะฏิจฉามิ เพี้ยง สิทธิโภคา สิทธิพะลา สิทธิจะมหาเดชา นะชาลีติ เอหิจงมา พุทธะสังมิ นิมามะมามา มาช่วยกันค้า มาช่วยกันขาย กวักเอาเงินมา กวักเอาทองมา กวักเอาโชคลาภ แก้วแหวนเงินทองข้าวของ หน้าที่การงาน ผู้คน ชื่อเสียงเกียรติยศ ข้าทาสหญิงชายมา มาด้วยนะโมพุทธายะ ปฏิรูปัง สัมปะฏิจฉามิ เพี้ยง พุทธังขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ธัมมังขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี สังฆังขอให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี เตชะสุเนมะภูจะนาวิเวอิติ นะเยปะรังยุตเต ขอจงนำเอาโชคลาภ แก้วแหวนเงินทองข้าวของ มาสู่ในสถานที่นี้ด้วย เทอญ
พุทธังรักษา ธัมมังรักษา สังฆังรักษา พุทธังคุ้ม ธัมมังคุ้ม สังฆังคุ้ม เอหิพุทธานุภาเวนะ เอหิธัมมานุภาเวนะ เอหิสังฆานุภาเวนะ อายุ วรรณโณ สุขัง พลัง”
สามารถดลบันดาลโชคลาภให้บังเกิดแก่ผู้กราบไหว้บูชา และทำมาค้าขึ้น เทพีแห่งโชคลาภ เป็นเครื่องรางของคลังและวัตถุมงคลที่คนไทยรู้จักและนับถือมาเป็นเวลาช้านาน มีความหมายในทางทำมาหากินคล่องเจริญก้าวหน้า